หมู่บ้านชุมชนมุสลิมบริเวณริมชายฝั่งทะเลอันดามัน เลียบไปตามแนวถนนระยะทางประมาณ 2 กม. พื้นที่แห่งนี้ลักษณะเป็น "แหลม" ยื่นออกไปในอ่าวป่าคลอก ทางซ้ายของ จ.ภูเก็ต สถานที่อีกหนึ่งเส้นทางของเหล่าบรรดานักปั่นจักยาน และนักเดินทาง ที่ชื่นชอบทัศนียภาพความสวยงามของท้องทะเลและธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ บรรยากาศสุดชิลคู่วิวสวยเช่นนี้คือ "แหลมยามู" เส้นทางสายใหม่ที่นักท่องเที่ยวต่างอยากมาเยือน
จุดเช็กอินหลักของแหลมยามู มีสะพานเก่าแก่คู่ชีวิตบ้านยามู กว่า 25 ปี ที่ใช้ในการทำมาหากิน เรียกสะพานนี้ว่า สะพานเชื่อมใจ เส้นทางสู่ทะเลอันดามัน
ที่มา : สำนักงานเทศบาลตำบลป่าคลอก
บรรยากาศที่เงียบสงบ ผสมผสานกับอากาศบริสุทธิ์ริมทะเล ความสวยงามที่ราวกับธรรมชาติได้จัดฉากไว้ที่พื้นที่ ม.7 ต.ป่าคลอก อ.ภลาง จ.ภูเก็ต เชิญชวนให้ผู้คนมาเยือน ชื่นชมความงดงามของอาทิตย์ยามอัสดงไปพร้อมกับวิวสะท้อนสีทองอร่ามจากน้ำทะเลเบื้องล่าง บางคนใช้เวลาในการเดินทางมาเที่ยว และ ใช้ความสุขในการปลดปล่อยสมองให้ว่างเปล่า เพื่อบันทึกเรื่องราวของช่วงนั้น เพียงเพื่อให้สายตาได้ซึมซับความงามที่อยู่ตรงหน้าให้มากที่สุด
จะมีเพียงแต่รอยยิ้มแห่งความสุข ความอิ่มเอิบในหัวใจ
จนแสงอาทิตย์ยามอัสดงลาลับขอบฟ้าจนมิด
การเดินทางโดยรถยนต์ไป "แหลมยามู" จาก อ.เมืองภูเก็ต ใช้ทางหลวงหมายเลข 402 มาจนถึงอนุสาวรีย์ท้าวเทพกระษัตรีท้าวศรีสุนทร วนเลี้ยวขวาไปยังบ้านป่าคลอก ทางหลวงหมายเลข 4027 ตรงไปประมาณ 7 กม. กลับรถเข้าไปทางเส้นแหลมยามู เข้าไปตามเส้นทางไปสะพานท่าเทียบเรือแหลมยามู สอบถามเพิ่มเติม เทศบาลตำบลป่าคลอก 076-529-500
ที่มา : สำนักงานเทศบาลตำบลป่าคลอก
ยามู มีแต่ "เอกชน" ย้ายมาอยู่
ข้อมูลจาก องค์การความร่วมมือเพื่อการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติอันดามัน เผยให้เห็นข้อมูลในอดีตของพื้นที่ทางทะเลที่มีความอุดมสมบูรณ์ของธรรมชาติโดยเฉพาะ "หญ้าทะเล" ว่า ด้วยสภาพภูมิประเทศของ "แหลมยามู" ทำให้มีบริษัทเอกชนเข้ามากว้านซื้อเพื่อทำท่าเทียบเรือยามู และรีสอร์ตจำนวนมาก จนทำให้ชาวยามูดั้งเดิมนั้นแทบไม่มีที่อยู่ เส้นทางสาธารณะที่ชาวบ้านเคยใช้อยู่เป็นประจำถูกปิดกั้น และต้องเผชิญกับปัญหาการก่อสร้างสิ่งปลูกสร้างริมทะเล รวมถึงปัญหาฝุ่น PM 2.5 มาอย่างยาวนาน
สำหรับแหลมยามูนั้นตั้งอยู่ทางด้านทิศใต้ของอ่าวป่าคลอก มีแหล่งทรัพยากรที่สำคัญทั้งแหล่งหญ้าทะเล แหล่งปะการัง ที่เป็นแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำ เป็นเขตเศรษฐกิจชุมชนที่สำคัญของชาวบ้าน ในการประกอบอาชีพประมงพื้นบ้าน ได้แก่ การตกเบ็ด ทอดแห วางอวน ตกปูดำ เป็นต้น
ที่มา : สำนักงานเทศบาลตำบลป่าคลอก
ในปี 2549 ศูนย์วิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลชายฝั่งทะเลและป่าชายเลน เข้าตรวจสอบทรัพยากรชายฝั่ง หลังพบว่ามีบริษัทเอกชนเตรียมก่อสร้างท่าเทียบเรือยามู พบว่าในบริเวณที่จะสร้างท่าเทียบเรือยามูนั้น มีแนวปะการัง อยู่ด้านขวาของโครงการก่อสร้างเป็นบริเวณกว้างถึงปลายแหลมยามู รวมพื้นที่แนวปะการังทั้งหมดประมาณ 75 ไร่ และยังพบหญ้าทะเล 4 ชนิด ได้แก่ หญ้าคาทะเล หญ้าใบมะกรูด หญ้าชะเงาใบมน และหญ้าชะเงาใบเลื่อย ประมาณ 10 ไร่
ชาวบ้านบ้านยามูเคยบอกว่า เคยพบ "หญ้าทะเล" จำนวนหนึ่งที่ถูกถอนขึ้นมาด้วยฝีมือมนุษย์ เพราะมีทั้งรากและลำต้น และยังพบซากปะการังถูกทำลายอยู่ใกล้บริเวณก่อสร้างท่าเรือ จึงกังวลว่า หากมีการรุกล้ำทรัพยากรทางทะเล จะส่งผลกระทบทั้งต่อวิถีชีวิต ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในระยะยาว
โดยทั่วไปหญ้าทะเลที่ถูกกระแสน้ำพัดพาจะมีสภาพใบขาดเท่านั้น กระแสคลื่นลมถึงขนาดความแรงอย่างสึนามิ ก็ไม่สามารถดึงหญ้าทะเลพัดพาแบบถอนรากถอนโคนได้
หญ้าทะเลที่ถูกมนุษย์ถอนทิ้ง ที่มา : องค์การความร่วมมือเพื่อการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติอันดามัน
ปัจจุบัน ตรวจสอบข้อมูลราคาที่อยู่อาศัยบริเวณแหลมยามูพบว่า มีโครงการของบริษัทเอกชนตั้งขายอยู่หลายโครงการ ราคาตั้งแต่หลักหลายสิบล้านจนถึงร้อยล้าน หากเช่าจะอยู่ที่ราคาหลักแสนจนถึงหลักล้านต่อเดือน หรือแม้แต่ที่ดินเปล่า 20 ไร่ ก็ขายในราคา 300 ล้านบาท หรือตกไร่ละประมาณ 15 ล้านบาท
อ่านข่าวเพิ่ม :
วีรกรรมเพียบ! โซเชียลแห่ขุดพฤติกรรมชายต่างชาติทำร้าย พญ.
ตรวจสอบบันไดวิลลาริมหาดยามู นายอำเภอถลางสั่งรื้อรุกพื้นที่สาธารณะ
ที่มา : เทศบาลตำบลป่าคลอก อ.ถลาง จ.ภูเก็ต, องค์การความร่วมมือเพื่อการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติอันดามัน,