เฉพาะปัญหาขณะนี้ที่ราคาตั๋วเครื่องบินปรับตัวสูงขึ้น ก็กระทบกับจำนวนนักท่องเที่ยวอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เช่น ที่จังหวัดเชียงใหม่ กลุ่มนักท่องเที่ยวร้อยละ 50 เป็นคนไทย ผู้ประกอบการกลุ่มโรงแรม มองว่า การเพิ่มเที่ยวบินอาจไม่ใช่ทางออก เพราะสุดท้ายสายการบินแบกรับไม่ไหวก็ไม่สามารถแก้ปัญหาได้เหมือนเดิม
ก่อนการระบาดของโควิด-19 กลุ่มนักท่องเที่ยวใน จ.เชียงใหม่ จะมีสัดส่วนเป็นต่างชาติ 30 คน ไทย 70 คน แต่หลังโควิด-19 คลี่คลาย พบว่าเป็นคนไทยเพิ่มขึ้นมาเป็นร้อยละ 50 ส่วนต่างชาติอีกร้อยละ 50 ส่วนใหญ่เป็นการเดินทางต่อมาจากทะเลภาคใต้ หรือกรุงเทพฯ
ดังนั้นราคาตั๋วเครื่องบินในประเทศ จึงส่งผลต่อการตัดสินใจเดินทางของนักท่องเที่ยวโดยเฉพาะคนไทย
ละเอียด บุ้งศรีทอง นายกสมาคมการค้าวิศิษฏ์ล้านนา มองว่า แม้กระทรวงคมนาคมประกาศให้เพิ่มเที่ยวบินในช่วงเทศกาล แต่ถ้าภาครัฐยังไม่ได้รับฟังปัญหาจากสายการบิน และไม่ได้ศึกษาความต้องการของเดินทางของนักท่องเที่ยว การประกาศให้เพิ่มเที่ยวบินอาจไม่ใช่ทางออก เห็นได้จากตอนประกาศให้ สนามบินเชียงใหม่ 24 ชั่วโมง ที่สุดท้ายไม่มีคนเดินทาง และสายการบินก็ไม่ได้จัดเที่ยวบินตามนโยบาย
ห่วงระยะยาว "คนไทย" เลือกเที่ยว ตปท. มากกว่า
สิ่งที่น่ากังวลคือ ผลกระทบระยะยาวที่คนไทยจะเดินทางไปต่างประเทศในช่วงวันหยุดยาว เพราะราคาตั๋วเครื่องบินไม่ต่างกันมาก อีกทั้งยังมีมาตรการฟรีวีซา ปัญหานี้เริ่มสะท้อนให้เห็นจาก ช่วงสงกรานต์ปีนี้ การจองที่พักยังถือว่าเงียบมาก ทำให้ภาคการท่องเที่ยว จ.เชียงใหม่ ตั้งเป้าไปไว้แค่ร้อยละ 70 เท่านั้น
ราคาตั๋วเครื่องบินทั่วโลกแพงขึ้นเฉลี่ย ร้อยละ 17 หลังการระบาดของโควิด-19 สาเหตุ มาจาก จำนวนพนักงาน เครื่องบิน และโครงสร้างพื้นฐานอื่นๆ ลดลง และ อีกปัจจัยที่มีผลกับราคาตั๋ว คือ "เทศกาล และ ระยะเวลาการจองตั๋วล่วงหน้า"
ยกตัวอย่าง 2 เส้นทาง ใน 2 ช่วงเวลา ได้แก่ สุวรรณภูมิ-ภูเก็ต และ ดอนเมือง-กระบี่ พบว่า ราคาบัตรโดยสารระหว่างช่วงเวลาปกติกับช่วงเทศกาล ราคาปรับตัวขึ้นไปเกิน 2 เท่าตัว โดยช่วงเวลาปกติ อยู่ระดับหลักพัน แต่เมื่อเข้าสู่เทศกาลราคาก็พุ่งขึ้นไปเป็น 3-4,000 บาท
คำถามตามมาอีกว่า ตั๋วเครื่องบินที่แพง เป็นเพราะเพดานราคาตั๋วเครื่องบินสูงเกินไปหรือไม่ กพท. ชี้แจงว่า โครงสร้างต้นทุนที่นํามากําหนดเป็นอัตราควบคุม ไม่ให้สายการบินกําหนดราคาตั๋วสูงเกินไป
โดยสายการบินต้นทุนตํ่า กําหนดเพดานราคาไว้ที่ 9.40 บาท/กิโลเมตร
สายการบินบริการเต็มรูปแบบ มีเพดานราคาที่ 13 บาท/กิโลเมตร
ในจำนวนนี้เป็นค่าน้ำมันเชื้อเพลิง ร้อยละ 25 - 33
ร้อยละ 20 - 31 เป็นค่าใช้จ่ายในการปฏิบัติการบิน
ร้อยละ 8 - 16 เป็นค่าซ่อมบํารุง
นอกจากนั้น ยังมีค่าบริการสนามบิน ค่าบริการการเดินอากาศ และค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการอื่นๆ
เพดานที่ กพท. กำหนด สำหรับ "ภูเก็ต" สายการบินต้นทุนต่ำจะต้องไม่เกินเที่ยวละ 6,561 บาท ส่วนบริการเต็มรูปแบบ ต้องไม่เกิน 9,074 บาท/เที่ยว ซึ่งเป็นราคาที่ยังไม่ได้รวมค่าภาษีมูลค่าเพิ่มและค่าธรรมเนียมสนามบิน รวมทั้งบริการอื่นๆ เช่น ค่าสัมภาระ ค่าเลือกที่นั่ง ค่าอาหาร และ ค่าประกัน เป็นต้น
เพิ่ม 38 เที่ยวบินรองรับการเดินทาง "สงกรานต์"
และการหารือ ระหว่าง กพท.กับสายการบินประเทศไทย ได้ข้อสรุปว่า เบื้องต้น มีแผนเพิ่มเที่ยวบินพิเศษจำนวน 38 เที่ยวบิน ในช่วงระหว่างวันที่ 11-12 เม.ย. และวันที่ 15-16 เม.ย.2567 ซึ่งจะทำให้มีตั๋วโดยสารเครื่องบินเพิ่มขึ้นประมาณ 13,000 ที่นั่ง และสายการบิน เตรียมจัดโปรโมชัน เพื่อให้ราคาถูกลง
การแก้ปัญหานี้สอดคล้องกับ การที่นายกฯ ประกาศผลักดันสนามบินสุวรรณภูมิติด 1 ใน 50 ของโลก ภายใน 1 ปี และ ติด 1 ใน 20 ของโลก ภายใน 5 ปี ซึ่งถ้าย้อนไปในปี 2548 สนามบินสุวรรณภูมิเคยอยู่ในอันดับที่ 13 ของโลก แต่ปัจจุบันตกมาอยู่อันดับที่ 68 แล้ว โดยเพิ่มขีดความสามารถในการรองรับผู้โดยสาร เป็น 150 ล้านคนต่อปี ภายในปี 2573 และปรับปรุงขั้นตอนการตรวจคนเข้าเมืองให้มีความคล่องตัวขึ้น
อ่านข่าวอื่น :
วีรกรรมเพียบ! โซเชียลแห่ขุดพฤติกรรมชายต่างชาติทำร้าย พญ.