ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

เสือโคร่ง "บะลาโกล" แข็งแรงขึ้น-ตาบวมยุบลง ถกแผนเล็งปล่อยป่าทับลาน

สิ่งแวดล้อม
2 มี.ค. 67
14:54
850
Logo Thai PBS
เสือโคร่ง "บะลาโกล" แข็งแรงขึ้น-ตาบวมยุบลง ถกแผนเล็งปล่อยป่าทับลาน
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
สัตวแพทย์ ติดตามอาการเสือโคร่ง "บะลาโกล" ที่สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าห้วยขาแข้ง พบร่างกายสมบูรณ์ขึ้น ตาที่บวมยุบลง-เริ่มหลับตาข้างที่เจ็บได้ ขณะที่นักวิจัยและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ถกแผนปล่อยคืนธรรมชาติ เล็ง "ป่าทับลาน"

วันที่ 1 มี.ค.2567 นายรุ่งโรจน์ อัศวกุลธารินท์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 12 พร้อมด้วยนางอัจฉรา ซิ้มเจริญ หัวหน้ากลุ่มงานวิชาการ น.ส.พิมพ์ชนก สรงมงคล นายสัตวแพทย์ชำนาญการพิเศษ นายเพิ่มศักดิ์ กนิษฐชาต หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง และ น.ส.อังสนา มองทรัพย์ หัวหน้าสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าห้วยขาแข้ง เข้าตรวจติดตามอาการและสุขภาพเสือโคร่ง "บะลาโกล" ณ สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าห้วยขาแข้ง จ.อุทัยธานี

สัตวแพทย์ให้ยาปฏิชีวนะ พร้อมประเมินเบื้องต้น พบว่า เสือโคร่งตัวดังกล่าวสภาพร่างกายสมบูรณ์มากขึ้น อาการบาดเจ็บที่ดวงตาดีขึ้น ตาที่บวมยุบลง เริ่มหลับตาข้างที่เจ็บได้บ้างแล้ว โดยวางแผนตรวจสุขภาพโดยละเอียด ด้วยการวางยาสลบ เจาะเลือด ในช่วงกลางเดือน มี.ค.2567

อ่านข่าว : "บะลาโกล" เสือโคร่งคลองลาน ผอม-ตาบอด เร่งฟื้นฟู 3 เดือน 

ถกแผนปล่อย "บะลาโกล" คืนป่า

ขณะที่ข้อมูลจากเพจ Thailand Tiger Project DNP โพสต์ถึง "แผนชีวิต บะลาโกล" ว่า กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช โดยกลุ่มงานวิจัยสัตว์ป่า สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า ได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหารือถึงแผนปล่อยเสือโคร่งคืนป่าเมื่อร่างกายแข็งแรงแล้ว เบื้องต้นมองไว้ 3 พื้นที่ป่าที่เหมาะสม คือ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูเขียว และอุทยานแห่งชาติทับลาน ซึ่งเกณฑ์เลือกป่าที่เหมาะสม ผู้เชี่ยวชาญได้ยกโมเดลของรัสเซียและอินเดียที่ประสบความสำเร็จในการปล่อยเสือโคร่งคืนป่าธรรมชาติ ต้องดูปริมาณเหยื่อ ความหนาแน่นของประชากรเสือโคร่ง การดูแลแก้ปัญหาอย่างทันท่วงที การสร้างความรับรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับเสือโคร่งต่อชุมชน

ทั้งนี้ ที่ประชุมมีความเห็นพ้องกันว่า “อุทยานแห่งชาติทับลาน” เป็นพื้นที่ที่เหมาะสมสำหรับการนำบะลาโกลปล่อยคืนสู่ธรรมชาติ และจะวางแผนอย่างละเอียดในการดำเนินการขั้นต่อไป

หัวหน้าสถานีฯ เขานางรำ ให้ข้อมูลว่า ในพื้นที่ 2,200 ตร.กม. มีเสือโคร่งอาศัยอยู่ 12 ตัว มีกวางป่าหนาแน่น 1 ตัวต่อ ตร.กม. หมูป่า 1.8 ตัว ต่อ ตร.กม. ในขณะที่พื้นที่เป้าหมายอื่นมีค่าการสำรวจเป็นดัชนี และมีค่าต่ำกว่าอุทยานฯ ทับลาน ส่วนปัญหาภัยคุกคามที่พบก็ค่อนข้างต่ำ

ขณะที่ผู้ช่วยหัวหน้าอุทยานฯ ทับลาน ระบุว่า ในตอนกลางของพื้นที่ทับลานมีเส้นทางที่สร้างขึ้นเพื่อความมั่นคงแต่ครั้งอดีต หากนำเสือมาปล่อยที่นี่ จะมีความสะดวกเรื่องของเส้นทางในการขนย้าย รวมถึงความสะดวกในการติดตามหลังจากปล่อย และทางพื้นที่ยินดีให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่

นอกจากนี้ ทางสถานีฯ มีโครงการศึกษานิเวศวิทยาของเสือโคร่งในพื้นที่ดงพญาเย็น-เขาใหญ่ จึงมีความสะดวกในเรื่องของอุปกรณ์และทีมงานในการติดตามเสือโคร่งบะลาโกล

สำหรับ “บะลาโกล” เสือโคร่งคลองลาน ตัวเมีย อายุ 2 ปี ออกนอกพื้นที่ และพบบริเวณบ้านกะเหรี่ยงน้ำตก หมู่ที่ 18 ต.คลองลานพัฒนา อ.คลองลาน จ.กำแพงเพชร เมื่อวันที่ 16 ก.พ.ที่ผ่านมา ต่อมานักวิจัย เจ้าหน้าที่ และสัตวแพทย์ ยิงยาสลบและจับเสือตัวดังกล่าวมาดูแลรักษาอาการบาดเจ็บ ตาซ้ายบอดและมีแผลที่กระจกตา รวมทั้งฟื้นฟูสภาพร่างกายที่ผอมเกินเกณฑ์ ตั้งเป้าปล่อยคืนธรรมชาติเมื่อร่างกายแข็งแรง โดยเร็วที่สุดไม่เกิน 3 เดือน เพื่อให้เสือยังคงสัญชาตญาณสัตว์ป่า หากิน และใช้ชีวิตในธรรมชาติได้

อ่านข่าวอื่นๆ :

จับได้แล้ว "เสือโคร่ง" ที่คลองลาน จนท.อุทยานฯ ดูแลฟื้นฟู

"เสือดาว" 2 ตัวเดินชิลกลางป่าทางขึ้นพะเนินทุ่ง

หาดูได้ยาก "ปะการังออกไข่-สเปิร์ม" ปีละ 1 ครั้ง

สถิติ "หญ้าทะเล" ตรัง เสื่อมโทรม เปิด 2 สาเหตุทำลดฮวบ 1 หมื่นไร่ 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง