จ.ตรัง นับว่าเป็นพื้นที่แหล่งหญ้าทะเลเป็นจำนวนมาก ที่กระจายตัวอยู่ตามแนวชายฝั่งและบริเวณเกาะในหลายพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็น เกาะลิบง เกาะมุกด์ แหลมหยงหลำ บ้านปากคลอง-เกาะผี บ้านแหลมไทร อ่าวบุญคง เกาะค้างคาว เกาะสุกร และ อ่าวขาม
สำหรับพื้นที่เกาะลิบง มีความอุดมสมบูรณ์สูง มีความหลากหลายของสัตว์น้ำ ได้แก่ หอยชักตีน หอยซองพลู หอยหลอด ปูม้า กุ้งทะเล กั้ง ปลา กะรัง ปลิงทะเล และดาวทะเล เป็นต้น
หญ้าทะเลใน จ.ตรัง พบเริ่มเสื่อมโทรมมาตั้งแต่ปี 2562 ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศและสัตว์ใต้ท้องทะเลเป็นอย่างมาก และในอนาคตอาจส่งผลต่อพฤติกรรมการหากินของพะยูน ที่จะอพยพย้ายถิ่นอาศัย หรือวงจรชีวิตเมื่อแหล่งอาหารลดลง
ผลกระทบของจากความเสื่อมโทรมของหญ้าทะเล ยังเกิดขึ้นกับอาชีพประมงชายฝั่ง เพราะหญ้าทะเล เป็นแหล่งอนุบาลสัตว์ทะเลหลายชนิดที่ชาวบ้านอนุรักษ์ไว้ แหล่งยังเป็นแหล่งอาศัยของหอยชักตีน สัตว์ทะเลราคาสูงสร้างรายได้ให้ชาวบ้านทั้งเกาะลิบงและเกาะมุกต์
อ่านข่าว : “บิ๊กป๊อด” เคาะ 3 มาตรการเร่งด่วน โซนนิ่ง-คุมท่องเที่ยว แก้หญ้าทะเลตรังเสื่อมโทรม
จากฐานข้อมูลทรัพยากรหญ้าทะเลของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ปี พ.ศ. 2563 สรุปขอบเขตพื้นที่ศักยภาพเป็นแหล่งหญ้าทะเล ทั้งหมดมีพื้นที่ประมาณ 160,628 ไร่ ใน 17 จังหวัดชายฝั่ง โดยฝั่งอ่าวไทย 11 จังหวัด มีพื้นที่ทั้งหมด 54,148 ไร่ ฝั่งทะเลอันดามัน 6 จังหวัด มีพื้นที่ 106,480 ไร่
โดย จ.ตรัง ครอบคลุมพื้นที่ที่มีศักยภาพเป็นแหล่งหญ้าทะเลรวม 34,869.5 ไร่ ใน 8 พื้นที่ พบหญ้าทะเลรวม 12 ชนิด ได้แก่
- หญ้ากุยช่ายเข็ม (Halodule pinifolia : Hp)
- หญ้ากุยช่ายทะเล (Halodule uninervis : Hu)
- หญ้าคาทะเล (Enhalus acoroides : Ea)
- หญ้าเงาใบ เล็ก (Halophila minor : Hm)
- หญ้าเงาใบใหญ่ (Halophila major : Hj)
- หญ้าเงาใส (Halophila decipiens : Hd)
- หญ้าชะเงาเต่า (Thalassia hemprichii : Th)
- หญ้าชะเงาใบฟันเลื่อย (Cymodocea serrulata : Cs)
- หญ้าชะเงาใบมน (Cymodocea rotundata : Cr)
- หญ้าใบพาย (Halophila beccarii : Hb)
- หญ้าใบมะกรูด (Halophila ovalis : Ho)
- หญ้าต้นหอมทะเล (Syringodium isoetifolium: Si)
และปี พ.ศ. 2564 รายงานพบหญ้าทะเลมีพื้นที่ รวม 99,325 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 62 ของพื้นที่ที่มีศักยภาพเป็นแหล่งหญ้าทะเลของประเทศ (160,628 ไร่) จ.ตรัง ลดลงเหลือ 25,767 ไร่
การก่อตัวของแหล่งหญ้าทะเลเขต จ.ตรัง ในแต่ละบริเวณ ได้รับอิทธิพลจากสิ่งแวดล้อมแตกต่าง กันไป ทั้งนี้ เนื่องจากอิทธิพลของคลื่นลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ และปริมาณตะกอนบนพื้นทะเล รวมถึงในมวลน้ำทะเลเป็นปัจจัยสิ่งแวดล้อมที่สำคัญที่ควบคุมพัฒนาการของแหล่งหญ้าทะเล ทำให้แหล่งหญ้าทะเลในแต่ละ พื้นที่มีลักษณะโดดเด่นแตกต่าง
พื้นที่ศักยภาพเป็นแหล่งหญ้าทะเล คือ พื้นที่ที่มีและเคยมีรายงานการพบหญ้าทะเล และมีปัจจัย สิ่งแวดล้อมเหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของหญ้าทะเล ซึ่งพื้นที่ของหญ้าทะเลในแต่ละแหล่ง สามารถ เคลื่อนย้ายไปมาตามความเหมาะสมของสภาพแวดล้อมได้ตลอด หากพื้นที่ใดสำรวจไม่พบหญ้าทะเลใน 2 วงรอบการสำรวจ (มากกว่า 8 ปี) จะตัดออกจากการเป็นพื้นที่ศักยภาพเป็นแหล่งหญ้าทะเล
เนื่องจากปัจจัยสภาพแวดล้อมต่าง ๆ เช่น ความรุนแรงของคลื่นลม ลักษณะพื้นทะเล การผึ่งแห้งและ ฤดูกาล มีผลสำคัญต่อการแพร่กระจายของชนิดและปริมาณของหญ้าทะเลในแต่ละพื้นที่
อ่านข่าว : ต้นตอวิกฤต "หญ้าทะเล" จ.ตรัง ระบบนิเวศเปลี่ยน หรือ มือมนุษย์
การติดตามสถานภาพแหล่งหญ้าทะเล จ.ตรัง กำหนดแหล่งหญ้าทะเลบริเวณเกาะลิบง และ บริเวณใกล้เคียงเป็นตัวแทนของแหล่งหญ้าทะเลของจังหวัด โดยพิจารณาจากเกณฑ์เป็นแหล่งหญ้าทะเลที่มี ความเปราะบางจากภัยคุกคามต่าง ๆ เช่น มลภาวะ ตะกอน และผลกระทบจากการประมง โดย ในปีงบประมาณ 2565 ได้ดำเนินการติดตามสถานภาพหญ้าทะเลบริเวณเกาะลิบง และบริเวณใกล้เคียง (บริเวณทิศเหนือของเกาะลิบง อ่าวทุ่งจีน เกาะนก แหลมพระม่วง และปากคลองเจ้าไหม) ในพื้นที่เดิมรวม 20,835.7 ไร่ พบพื้นที่หญ้าทะเลแพร่กระจายลดลงเหลือ 15,238 ไร่ มีหญ้าทะเลรวม 12 ชนิด
คือ หญ้ากุยช่าย เข็มหญ้ากุยช่ายทะเล หญ้าคาทะเล หญ้าเงาใบเล็ก หญ้าเงาใบใหญ่ หญ้าชะเงาเต่า หญ้าชะเงาใบฟันเลื่อย หญ้าชะเงาใบมน หญ้าใบพาย หญ้าใบมะกรูด หญ้าเงาใส และต้นหอมทะเล มีการปกคลุมของหญ้าทะเลเฉลี่ย ร้อยละ 21.26 สถานภาพสมบูรณ์เล็กน้อย หญ้าชนิดเด่น ได้แก่ หญ้าใบมะกรูด หญ้าคาทะเล และหญ้าชะเงา ใบมน
เมื่อทำการเปรียบเทียบข้อมูลสถานภาพหญ้าทะเลกับข้อมูลใน ปี 2564 ที่ผ่านมา พบว่าหญ้าทะเลมีการแพร่กระจายเพิ่มขึ้นเล็กน้อย ทำให้ภาพรวมของแหล่งหญ้าทะเล จ.ตรัง เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมาคงที่
อย่างไรก็ตาม หญ้าคาทะเลบริเวณอ่าวทุ่งจีนยังคงมีสภาพ เสื่อมโทรม ลักษณะต้นเล็ก ใบขาดสั้น ไม่สมบูรณ์ มีสีเขียวและสีน้ำตาลปะปนกันมีตะกอนปกคลุมใบหญ้า ทะเลค่อนข้างมาก และบางส่วนมีลักษณะยืนต้นตาย รากเน่าเปื่อย แต่บางส่วนเริ่มมีการฟื้นตัวมีการแตกตัว ของต้นอ่อนจากเหง้าหญ้าคาทะเลเดิม และเมื่อทำการขุดลึกลงไปด้านล่างของต้นหญ้าคาทะเลบางส่วนยังพบ เหง้าของหญ้าคาทะเลที่มีชีวิตและมีใบอ่อนของหญ้าคาทะเลขึ้นอยู่ ซึ่งจัดได้ว่าเป็นประเภทหญ้าทะเลมีชีวิต สามารถเจริญเติบโตและฟื้นตัวกลับได้ หากไม่มีปัจจัยหรือภัยคุกคามอื่น ๆ ที่จะส่งผลกระทบต่อหญ้าทะเล
ขณะเดียวกันก็พบว่าหญ้าทะเลใบขนาดเล็กและใบขนาดกลาง เช่น หญ้าใบมะกรูด หญ้าชะเงาใบมน และหญ้า ชะเงาใบฟันเลื่อยเข้าปกคลุมพื้นที่เพิ่มมากขึ้น จึงทำให้มีการแพร่กระจายของหญ้าทะเลเพิ่มขึ้น
ปัจจุบันทรัพยากรชายฝั่งทะเลมีแนวโน้มเสื่อมโทรมลงมาก โดยระบบนิเวศหญ้าทะเลเป็นระบบนิเวศแรก ๆ ที่ได้รับกระทบจากกิจกรรมต่างๆและการพัฒนาชายฝั่งทะเลเช่นเดียวกับป่าชายเลนและแนวปะการังทั้งนี้ การเสื่อมโทรมของแหล่งหญ้าทะเลนั้นเกิดได้ทั้งจากปัจจัยทางธรรมชาติและปัจจัยจากสิ่งที่กระทำโดยมนุษย์ทั้งทางตรงและทางอ้อม
สาเหตุที่ทำให้หญ้าทะเลเสื่อมโทรม หรือลดพื้นที่ลง
1) ภาวะโลกร้อน ส่งผลให้อุณหภูมิเฉลี่ยของอากาศใกล้พื้นผิวโลกและน้ำในมหาสมุทรตั้งแต่ช่วงครึ่งหลังของคริสต์ศตวรรษที่ 20 เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งการที่อุณหภูมิของโลกเพิ่มสูงขึ้นทำให้ระดับน้ำทะเลสูงขึ้นด้วย โดยอุณหภูมิน้ำทะเลที่สูงมากกว่าภาวะปกติของแหล่งหญ้าทะเลนั้นๆ จะมีผลต่อวงจรชีวิตของหญ้าทะเล มีผลต่อการเจริญเติบโต นอกจากนี้ การโผล่พ้นน้ำทะเลนานๆ อุณหภูมิและแสงแดดที่เพิ่มขึ้นทำให้หญ้าแห้งความร้อนมีผลทำให้หญ้าตายได้
2) การเปลี่ยนแปลงจากกิจกรรมมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนแปลงสภาพพื้นท้องทะเลต่างๆ เช่น การขุดลอกร่องน้ำเพื่อการเดินเรือ และการก่อสร้างท่าเรือ การพัฒนาชายฝั่งทะเลเช่นการก่อสร้างที่ก่อให้เกิดตะกอนชะล้างลงสู่ทะเล การเดินเรือ และการสัญจรทางน้ำ ส่งผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อแหล่งหญ้าทะเล ทำให้ใบหญ้าทะเลถูกตัดขาด หน้าดินถูกคุ้ย เกิดการฟุ้งกระจายของตะกอนในน้ำ การทำประมงบางประเภท เช่น คราดหอย เรืออวนลากขนาดเล็ก เรืออวนรุน รวมถึงน้ำเสียตามชายฝั่งทะเล ที่ทำให้เกิดสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของหญ้าทะเล
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :