จาบุ เด็กชาย อายุ 7 ขวบ ลูกหลานกลุ่มชาติพันธุ์ที่เกิดในแผ่นดินไทย แต่ไม่เคยมีเอกสารยืนยันตัวตน เป็นนักเรียน กลุ่ม G ที่อยู่ในระบบการศึกษา เด็กกลุ่มนี้หากคุณสมบัติตรงตามกฎหมาย จะได้รับเลข 13 หลักที่ขึ้นต้นด้วยเลข 0 หรือ บัตรบุคคลไม่มีสถานะทางทะเบียน ซึ่งขณะนี้ จาบุ ได้เข้าทำบัตรบุคคลไม่มีสถานะทางทะเบียนครั้งแรก และเขากำลังจะเข้าถึงสิทธิที่ควรจะได้รับ
อ่านข่าว : “วิกฤตการเกิด” เรื่องกำเนิด ใครกำหนด ?
จาบุ เด็กไร้สัญชาติแต่งตัวเพื่อเตรียมเดินทางมาทำบัตรบุคคลไม่มีสถานะทางทะเบียน ภาพ : เอกศักดิ์ คุ้มทรัพย์, สรายุทธ พงศ์ทักษิณ
เด็กกลุ่มนี้ หากนำเอกสารการเกิดบนแผ่นดินไทย และพ่อแม่ที่เป็นคนไทย หรือ กลุ่มชาติพันธุ์ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนมายืนยัน และเข้าเกณฑ์ตามกฎหมาย หรือ หากเป็นบุคคลที่ทำคุณความดี หรือเรียนจบปริญญาตรี ก็อาจยื่นพิจารณาขอสัญชาติไทยในอนาคตได้
เด็กชาติพันธุ์บริเวณพื้นที่ชายขอบ มีมากกว่าครึ่ง
จำนวนเด็กนักเรียนของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษากาญจนบุรี เขต 3 ที่มีกว่า 20,000 คน ในจำนวนนี้ มีเด็กนักเรียนกลุ่ม G หรือ ไม่มีเลข 13 หลัก กว่า ร้อยละ 50 ซึ่งนักเรียนกลุ่มนี้ ส่วนหนึ่งเป็นเด็กชาติพันธุ์ ที่เกิดในแผ่นดินไทย แต่ไม่มีเอกสารยืนยันตัวตน
จาบุ เข้าทำบัตรบุคคลไม่มีสถานะทางทะเบียนครั้งแรก ภาพ : เอกศักดิ์ คุ้มทรัพย์, สรายุทธ พงศ์ทักษิณ
ข้อจำกัดของเด็กกลุ่มนี้ คือ การเข้าไม่ถึงสิทธิต่าง ๆ รวมถึงการศึกษา ที่เรียนได้เพียงภาคบังคับ หรือ ชั้น ม.3 เท่านั้น การเล็งเห็นความสำคัญของเด็กกลุ่มนี้ของฝ่ายปกครอง และ สพฐ. ทั้งปัจจุบัน และอนาคต จึงมีการจัดทำเลข 13 หลักให้เด็กกลุ่มนี้ เป็นกลุ่มเลข 0 หรือ บุคคลไม่มีสถานะทางทะเบียน เพื่อให้เด็กกลุ่มนี้ สามารถเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐานได้ก่อน
อ่านข่าว : " ปั๊มลูกกู้ชาติ " แก้วิกฤตเด็กเกิดน้อย วัยแรงงานทิ้งช่วงยาว 20 ปี
จาบุ เด็กไร้สัญชาติ ทำบัตรบุคคลไม่มีสถานะทางทะเบียน ภาพ : เอกศักดิ์ คุ้มทรัพย์, สรายุทธ พงศ์ทักษิณ
สิทธิจะได้รับ หลังจากมีเลข 13 หลัก จากข้อมูลโครงการคุ้มครองสิทธิเด็กไร้รัฐ ไร้สัญชาติ คือ การเข้าถึงสิทธิบัตรทอง สิทธิในการศึกษาระดับสูงขึ้น สิทธิการเดินทางข้ามจังหวัด สิทธิอยู่ไทยชั่วคราว และการเข้าถึงบริการต่างๆ ซึ่งสิทธิจะไม่เทียบเท่าเด็กสัญชาติไทย
นโยบายของกระทรวงศึกษาธิการ คือ ต้องรับเด็กที่อยู่ในพื้นที่ทุกคน เพราะฉะนั้น ครูก็มีหน้าที่ที่จะต้องดูแลตรงนี้
รับรองสถานะเด็กชาติพันธุ์ แก้ปัญหาเด็กไทยเกิดลดลง
นายสมชัย จิตสุชน ผอ.วิจัยด้านการพัฒนาอย่างทั่วถึง TDRI เปิดเผยถึง ข้อมูลจากหลายหน่วยงาน เกี่ยวกับอัตราการเกิดของเด็กไทย ปี 2566 พบว่า คงเหลืออยู่ที่ปีละประมาณ 500,000 คน และมีแนวโน้มว่า ภายใน 3 – 4 ปี ข้างหน้า จะลดลงต่อเนื่องอีกประมาณ 100,000 คน เนื่องจากผู้หญิงส่วนใหญ่มีลูกเพียง 1 คนมากขึ้น และบางครอบครัวไม่มีลูกเลย จากปัญหาความกังวลต่อสภาพเศรษฐกิจและสังคมปัจจุบัน
นายสมชัย จิตสุชน ผอ.วิจัยด้านการพัฒนาอย่างทั่วถึง TDRI ภาพ : เอกศักดิ์ คุ้มทรัพย์, สรายุทธ พงศ์ทักษิณ
ที่สำคัญในเด็กเกิดใหม่จำนวนนี้ ยังพบว่า กว่าร้อยละ 60 เกิดในครอบครัวที่ไม่พร้อม และยากจน รัฐบาลจึงจำเป็นที่จะต้องมุ่งพัฒนาคุณภาพทุกด้านให้กับเด็กกลุ่มนี้ ที่จะเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศในอนาคต
อ่านข่าว : "กรมการปกครอง - สพฐ." เดินหน้าจัดทำทะเบียนประวัติเด็กชายขอบ อ.ทองผาภูมิ
การรณรงค์ให้คนไทยมีลูก ที่ดูเหมือนจะเป็นความหวังที่ยาก ผู้อำนวยการวิจัยด้านการพัฒนาอย่างทั่วถึง TDRI จึงมีแนวคิดเกี่ยวกับการรับรองสถานะ หรือ การรับรองสัญชาติให้กับเด็กชาติพันธุ์ และ ลูกแรงงานข้ามชาติ ที่เกิด และอยู่ในไทย โดยคาดว่า น่าจะมีเด็กกลุ่มนี้อยู่หลักแสน ถึงหลักล้านคนในไทย
จาบุ เด็กไร้สัญชาติพร้อมเพื่อน ล่องเรือเพื่อเดินทางมาทำบัตรบุคคลไม่มีสถานะทางทะเบียน ภาพ : เอกศักดิ์ คุ้มทรัพย์, สรายุทธ พงศ์ทักษิณ
นอกจากการรับรองสถานะ และสัญชาติ สิ่งที่รัฐ ควรทำควบคู่กันไป คือ การพัฒนาคุณภาพเด็กกลุ่มนี้ ซึ่งหากทำได้จริง ก็จะช่วยแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ ปัญหาแรงงาน และเศรษฐกิจในอนาคตได้
ในเมื่อเขารู้สึกเป็นคนไทยอยู่แล้ว ทำไมเราไม่มีนโยบายที่โอบรับเขาเข้ามา ให้ความรู้สึกการเป็นคนไทยแรงขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของสัญชาติ หรือให้สิทธิการทำงานและการอยู่ สิ่งที่เราจะได้ เขาจะเป็นแรงงานให้กับไทย และพัฒนาเศรษฐกิจไทย
ขณะที่ ศิวนุช สร้อยทอง หัวหน้าคลินิกกฎหมาย มูลนิธิกระจกเงา เปิดเผยว่า ตั้งแต่ปี 2559 คณะรัฐมนตรี มีมติดูแลนักเรียน นักศึกษา "ซึ่งเกิดในไทย" ที่เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ หรือ ลูกแรงงานข้ามชาติให้มีการรับรองสัญชาติไทย แก้ปัญหาสังคมผู้สูงอายุ
อ่านข่าว : Aging Society ไทยเข้าสู่สังคม"แก่เต็มขั้น" สวนทางเด็กเกิดน้อย
กฎหมายปัจจุบันเปิดช่องในการรับรองสัญชาติให้กับเด็กกลุ่มนี้แล้ว แต่ยังติดปัญหาที่ฝ่ายปกครองที่บังคับใช้กฎหมาย ให้มีการรื้อเอกสารตรวจสอบใหม่ ส่งผลให้ต้องขยายเวลาการรับรองสัญชาติออกไปก่อน
ศิวนุช สร้อยทอง หัวหน้าคลินิกกฎหมาย มูลนิธิกระจกเงา
ผลที่ตามมา คือ การเข้าไม่ถึงสิทธิ และสวัสดิการที่ควรจะได้รับ ทั้งด้านการศึกษา สาธารณสุข จนไปถึงการมีงานทำ โดยเฉพาะนักศึกษา และกลุ่มที่เข้าทำงานแล้ว
หัวหน้าคลินิกกฎหมาย มูลนิธิกระจกเงา ยังเปิดเผยว่า ขณะนี้ ต้องจับตาแนวทางของสภาความมั่นคงแห่งชาติ ที่กำลังมีแนวคิด จะนำนโยบาย “ให้ก่อน ถอนทีหลัง” กลับมาดำเนินการแก้ปัญหาสัญชาติของกลุ่มชาติพันธุ์ และลูกแรงงานข้ามชาติอีกครั้ง ซึ่งหากทำได้จริง ก็จะเป็นการวางรากฐานการแก้ปัญหาเด็กเกิดใหม่ลดลง และการมีแรงงานที่มีคุณภาพในอนาคตได้
ถ้าเราวางแนวคิดผิด แนวนโยบายดูแลประชาชนกลุ่มนี้ก็จะผิด ท้ายที่สุด ผลร้ายก็จะเกิดกับประเทศไทย แทนที่เราจะได้เด็กเข้าสู่ตลาดแรงงาน ในจังหวะที่เขาพร้อม
บทความ : สุชาดา แก้วนาง
อ่านข่าวอื่น ๆ
Aging Society ไทยเข้าสู่สังคม"แก่เต็มขั้น" สวนทางเด็กเกิดน้อย
อัตราการเกิดญี่ปุ่นปี 2023 ต่ำสุดเป็นประวัติการณ์
ญี่ปุ่นเผชิญวิกฤตประชากร อัตราการเกิดต่ำสุดในรอบ 40 ปี
อัตราการเกิดในเกาหลีใต้ ปี 2023 ลดต่ำสุดเป็นประวัติการณ์