ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

พิสูจน์เงินรั่ว ตั๋วเต็นท์อุทยาน

สังคม
20 ก.พ. 67
16:40
3,977
Logo Thai PBS
พิสูจน์เงินรั่ว ตั๋วเต็นท์อุทยาน
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
ลานกางเต็นท์เป็นหนึ่งในจุดหมายที่ได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวโดยเฉพาะในช่วงหน้าหนาวของทุกปี อุทยานแห่งชาติหลายแห่งมีรายได้เป็นกอบเป็นกำจากการให้บริการเช่าเต็นท์และอุปกรณ์พักแรมแก่นักท่องเที่ยว แต่ก็มีนักท่องเที่ยวจำนวนหนึ่งตั้งคำถามกับรายได้เหล่านี้ว่าเข้าสู่กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช เต็มเม็ดเต็มหน่วยหรือไม่

ร้องเรียนเช่าเต็นท์ไม่ได้ใบเสร็จ

ไทยพีบีเอสได้รับแจ้งเบาะแสจากนักท่องเที่ยวที่เข้าพักในลานกางเต็นท์ของอุทยานแห่งหนึ่งในพื้นที่ภาคเหนือว่า ถูกเจ้าหน้าที่ปฏิเสธไม่ออกใบเสร็จของกรมอุทยานแห่งชาติฯให้ แต่กลับให้ “ตั๋ว” ที่ระบุเป็นบัตรสวัสดิการแทน จนเกิดคำถามว่าเงินที่พวกเขาจ่ายถูกส่งให้กรมอุทยานแห่งชาติฯเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ตามที่ควรจะเป็นหรือไม่

ขณะที่บางส่วนแจ้งว่าเจ้าหน้าที่นำเต็นท์ส่วนตัวมากางในพื้นที่อุทยานเพื่อเก็บเงินจากนักท่องเที่ยว

ตรวจสอบข้อเท็จจริง

ทีมข่าวเริ่มต้นด้วยการโทรศัพท์ไปสอบถามรายละเอียดกับอุทยานที่ถูกร้องเรียน ปลายสายแจ้งว่าในลานกางเต็นท์มีเต็นท์ให้บริการ 50 หลัง แต่จองผ่านเว็บไซต์ได้ไม่เกิน 20 หลัง ที่เหลืออีก 30 หลัง นักท่องเที่ยวต้องเดินทางไปติดต่อขอเช่าที่อุทยานฯโดยตรง

เมื่อทดลองจองผ่านเว็บไซต์ของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช พบว่าต้องระบุอุทยานและวันที่ต้องการเข้าพัก รวมถึงระบุจำนวนเต็นท์และอุปกรณ์ที่ต้องการจอง โดยขั้นตอนสุดท้ายผู้จองต้องโอนเงินเข้าบัญชีของกรมอุทยานแห่งชาติฯ ตามยอดที่ทำการจอง และเมื่อเดินทางไปถึงลานกางเต็นท์ ต้องแสดงหลักฐานการจองให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบอีกครั้ง ผู้ที่จองล่วงหน้าจะถูกจัดให้พักในเต็นท์ลายพรางของอุทยาน

เต็นท์ลายพรางที่กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืชจัดให้อุทยานไว้บริการนักท่องเที่ยว

เต็นท์ลายพรางที่กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืชจัดให้อุทยานไว้บริการนักท่องเที่ยว

เต็นท์ลายพรางที่กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืชจัดให้อุทยานไว้บริการนักท่องเที่ยว

 

จากนั้นทีมข่าวแจ้งความประสงค์ขอเช่าเต็นท์เพิ่ม โดยครั้งนี้ใช้วิธีเช่ากับอุทยานโดยตรงโดยไม่จองผ่านเว็บไซต์

เจ้าหน้าที่สอบถามรายละเอียดต่าง ๆ เช่น จำนวนเต็นท์ อุปกรณ์ต่าง ๆ ที่ต้องการเช่า ก่อนแจ้งยอดเงินที่ต้องจ่าย โดยครั้งนี้เจ้าหน้าที่ระบุว่าต้องจ่ายเป็นเงินสดเท่านั้น และเมื่อทีมงานขอให้เจ้าหน้าที่ออกใบเสร็จของอุทยานให้ กลับถูกปฏิเสธ

เจ้าหน้าที่ชี้แจงว่านักท่องเที่ยวแบบ walk-in จะถูกจัดให้เข้าพักในเต็นท์สีขาวซึ่งเจ้าหน้าที่รวมเงินกันซื้อ แตกต่างจากเต็นท์ลายพรางของกรมอุทยานฯ เงินที่ได้จะถูกเก็บเข้างบสวัสดิการของเจ้าหน้าที่จึงออกใบเสร็จของอุทยานให้ไม่ได้

 

เต็นท์สีขาวซึ่งเจ้าหน้าที่แจ้งว่าเป็นรายได้สวัสดิการ

เต็นท์สีขาวซึ่งเจ้าหน้าที่แจ้งว่าเป็นรายได้สวัสดิการ

เต็นท์สีขาวซึ่งเจ้าหน้าที่แจ้งว่าเป็นรายได้สวัสดิการ

 

จากการสังเกตพบว่าลานกางเต็นท์แห่งนี้มีเต็นท์ 3 แบบ คือ เต็นท์ลายพรางของกรมอุทยานฯ เต็นท์สีขาวของสวัสดิการ และเต็นท์อื่น ๆ ที่นักท่องเที่ยวนำมาเอง วันที่ทีมงานลงพื้นที่ มีนักท่องเที่ยวเช่าเต็นท์ทั้งหมด 26 หลัง แต่ถูกจัดให้เข้าพักในเต็นท์ลายพรางของกรมอุทยานแห่งชาติฯเพียง 5 หลัง ที่เหลืออีก 21 หลัง ถูกจัดให้เข้าพักในเต็นท์สีขาว

สิ่งที่ผู้ร้องเรียนตั้งคำถามคือ เหตุใดนักท่องเที่ยวแบบ walk-in จึงไม่มีสิทธิได้รับใบเสร็จของกรมอุทยานฯ และ เงินที่จ่ายไปจะเข้ารัฐอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วยหรือไม่ 

 

คำตอบจากกรมอุทยานฯ

ทีมข่าวตรวจสอบข้อเท็จจริงไปยังนายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร ผอ.สำนักอุทยานแห่งชาติ ได้รับข้อมูลว่า การที่อุทยานแต่ละแห่ง จัดหาเต็นท์มาให้นักท่องเที่ยวเช่าเพื่อเป็นรายได้เข้างบสวัสดิการอุทยานนั้นสามารถทำได้ แต่ต้องคำนึงถึงความเหมาะสมในการให้บริการ เช่น รอให้เต็นท์ลายพรางของกรมอุทยานแห่งชาติฯเต็มก่อนจึงนำเต็นท์ของสวัสดิการมาเสริม หรือ ให้นักท่องเที่ยวมีสิทธิเลือกว่าต้องการใช้บริการเต็นท์แบบใด โดยไม่บังคับว่าต้องเช่าเต็นท์สวัสดิการเท่านั้น

เจ้าหน้าที่ไม่สามารถบังคับผู้บริโภค หรือผู้ใช้บริการได้ว่าจะต้องเช่าเต็นท์ของอุทยานหรือไปบังคับเช่าของสวัสดิการ โดยบอกว่าถ้าไม่จองออนไลน์มาต้องใช้ของสวัสดิการเท่านั้น อย่างนี้ถือว่าผิด

 

ชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร ผอ.สำนักอุทยานแห่งชาติ

ชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร ผอ.สำนักอุทยานแห่งชาติ

ชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร ผอ.สำนักอุทยานแห่งชาติ

 

ผอ.สำนักอุทยานแห่งชาติ ยังระบุว่าตามระเบียบของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืชกำหนดให้อุทยานแต่ละแห่งสามารถจัดหารายได้เข้างบสวัสดิการได้ โดยต้องระบุว่าจะหารายได้ในรูปแบบใดบ้าง และต้องรายงานรายได้พร้อมกับส่งกำไรร้อยละ 15 ให้กับกรมอุทยานแห่งชาติฯ เป็นรายไตรมาส

E-ticket แก้ปัญหาเงินรั่วไหล?

เดือน ม.ค.66 สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) จัดทำข้อเสนอเร่งด่วน 7 ข้อเพื่อลดช่องโหว่การทุจริตในกรมอุทยานแห่งชาติฯ หนึ่งในนั้นคือ ให้กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช จัดทำและพัฒนาระบบการจัดเก็บเงินค่าบริการ และระบบการจองล่วงหน้าด้วยระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ หรือระบบออนไลน์ (E-Ticket) อย่างเร่งด่วน

ก่อนหน้านั้นกรมอุทยานแห่งชาติฯนำระบบ E-ticket มาทดลองใช้ในอุทยานนำร่อง 6 แห่ง ได้แก่ อุทยานแห่งชาติอ่าวพังงา อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลัน อุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธารา-หมู่เกาะพีพี อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ อุทยานแห่งชาติเอราวัณ และภายในปี 2567 จะนำไปใช้เพิ่มในอุทยานอีก 61 แห่งทั่วประเทศ

 

ระบบนี้จะให้นักท่องเที่ยวจ่ายเงินค่าเข้าอุทยานแบบออนไลน์ เงินที่จ่ายจะเข้าคลังโดยตรง โดยไม่ต้องให้เจ้าหน้าที่อุทยานจัดเก็บเงินสดและส่งเข้าคลังในภายหลัง ซึ่งผอ.สำนักอุทยานแห่งชาติมองว่าช่วยให้การส่งเงินเข้าคลังมีความความปลอดภัยมากขึ้น นอกจากนี้ E-Ticket ยังทำให้ทราบจำนวนนักท่องเที่ยวในแต่ละวัน เพื่อให้สามารถบริหารจัดการให้อุทยานไม่ต้องรองรับนักท่องเที่ยวมากเกินไปอีกด้วย

แต่อีกด้านหนึ่งระบบนี้ก็มีข้อจำกัด คือ อุทยานหลายแห่งสัญญาณโทรศัพท์ยังเข้าไม่ถึง กรมอุทยานแห่งชาติฯ แก้ปัญหานี้ด้วยการขออนุมัติงบ 161 ล้านบาทจาก กสทช.เพื่อเพิ่มเครือข่ายโทรศัพท์ในพื้นที่อุทยานอีก 151 จุด คาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2568

กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืชรายงานว่า ปีงบประมาณ 2566 ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2565 ถึง กันยายน 2566 มีนักท่องเที่ยวเข้าอุทยานแห่งชาติทั่วประเทศ 15 ล้าน 8 แสนคน สร้างรายได้กว่า 1,467 ล้านบาท และ มีเป้าหมายจัดเก็บรายได้เพิ่มเป็น 2,000 ล้านบาทภายในปี 2567

ข่าวที่เกี่ยวข้อง