"หญ้าทะเล" เป็นแหล่งอาหารสำคัญของสัตว์ทะเลนานาชนิด ทั้งขนาดเล็ก และสัตว์ทะเลขนาดใหญ่อย่างพะยูน และเต๋าทะเล รวมทั้งเป็นแหล่งอนุบาลตัวอ่อนสัตว์น้ำ
จ.ตรัง และ จ.กระบี่ ถือเป็นแหล่งหญ้าทะเลขนาดใหญ่ของทะเลอันดามัน แต่ตั้งแต่ปี 2562 แหล่งหญ้าทะเลมีความเสื่อมโทรม กินพื้นที่กว่า 10,000 ไร่ จนถึงวันนี้ยังหาวิธีป้องกันและฟื้นฟูไม่ได้
ความเสื่อมโทรมนี้เกิดจากผลกระทบการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติและจากมนุษย์เอง
กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) โดยคณะทำงานขับเคลื่อนการดำเนินงานและแก้ไขปัญหาการเสื่อมโทรมของแหล่งหญ้าทะเลในบริเวณ จ.ตรัง และ จ.กระบี่ ลงพื้นที่ติดตามและสำรวจสถานภาพหญ้าทะเล พื้นที่เกาะลิบง และเกาะมุกด์ จ.ตรัง เพื่อติดตามสถานการณ์หญ้าทะเลเสื่อมโทรม พร้อมเก็บตัวอย่างน้ำทะเล หญ้าทะเล และตะกอนดิน นำไปตรวจสอบหาสาเหตุความเสื่อมโทรมของแหล่งหญ้าทะเล
โดยแบ่งทีมออกสำรวจระบบนิเวศทางทะเล ประกอบด้วย
- ทีมสำรวจหญ้าทะเล
- ทีมสำรวจสัตว์ทะเลหายาก
- ทีมสำรวจสมุทรศาสตร์และสิ่งแวดล้อม
อ่านข่าว : “บิ๊กป๊อด” เคาะ 3 มาตรการเร่งด่วน โซนนิ่ง-คุมท่องเที่ยว แก้หญ้าทะเลตรังเสื่อมโทรม
เกาะลิบง พบตะกอนดินทรายเพิ่ม
จากการลงพื้นที่สำรวจแหลมจูโหย เกาะลิบง ได้ข้อสรุปว่าหญ้าคาทะเลมีสภาพเสื่อมโทรม มีร้อยละการปกคลุมพื้นที่น้อย โดยหญ้าคาทะเลมีลักษณะปลายใบขาดสั้น และบางส่วนยืนต้นตาย สาเหตุหลักอาจมาจากการเปลี่ยนแปลงสัดส่วนของอนุภาคตะกอนดิน พบพื้นทะเลมีลักษณะขนาดอนุภาคตะกอนดินโคลนลดน้อยลง ตะกอนทรายเพิ่มมากขึ้น
ตลอดจนมีการเปลี่ยนแปลงทางด้านสมุทรศาสตร์ คือ ระดับน้ำทะเลมีการลดระดับมากกว่าปกติและมีระยะเวลานานขึ้น จึงทำให้เกิดการผึ่งแห้งของหญ้าทะเลนานมากกว่าปกติ ซึ่งอาจทำให้หญ้าทะเลอ่อนแอลงได้
เกาะมุกด์หญ้าใบมะกรูดสมบูรณ์
สำหรับพื้นที่เกาะมุกด์ บริเวณด้านใกล้ชายฝั่งเกาะมุกด์ มีหญ้าใบมะกรูดสมบูรณ์ มีการปกคลุมพื้นที่ 70-80% พบรอยกินของพะยูน แต่พบหญ้าคาทะเลเสื่อมโทรมลง ใบขาดสั้นเช่นเดียวกับหญ้าทะเลบริเวณเกาะลิบง
อช.ระดมนักวิชาการหาสาเหตุ
สันนิษฐานสาเหตุของหญ้าทะเลเสื่อมโทรม คือการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศที่เชื่อมโยงกับการขึ้นลงของระดับน้ำทะเล
นางสุมนา ขจรวัฒนากุล ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กล่าวว่าช่วงที่ผ่านมา มีการลงของน้ำทะเลค่อนข้างมาก ระยะน้ำลงจากฝั่งหากเพิ่มขึ้น 5-6 เมตร ระยะเวลาน้ำลงจะนานขึ้น ทำให้การผึ่งแห้งของหญ้าทะเลได้รับแสงแดดนานขึ้นอาจจะเป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้หญ้าอ่อนแอ อาจจะทำให้ติดโรคและเกิดการเสื่อมโทรมได้
จากเหตุที่หญ้าผึ่งแห้งนาน ส่งผลให้เกิดอาการอ่อนแอ โอกาสที่จะติดโรคอาจจะมีมากขึ้น ซึ่งเชื้อโรคจำพวกนี้มีตามปกติอยู่แล้ว
นางสุมนา ยังกล่าวว่าการฟื้นฟูหญ้าทะเลไม่ใช่เรื่องง่าย ยังมีปัจจัยภายนอกที่ทำให้สภาวะไม่เหมาะสม และต้องหาสาเหตุที่แท้จริงของการเกิดความเสื่อมโทรม
แต่สิ่งที่ต้องดำเนินการควบคู่ คือการแหล่งหญ้าทะเลในพื้นที่อื่นๆ ใน จ.ตรัง ที่สามารถที่เป็นแหล่งอาหารรองรับให้กับสัตว์ทะเลหายาก
ปัญหาที่เกิดขึ้น ยังส่งผลกระทบกับชาวบ้าน ที่ขาดแคลนรายได้จากการทำประมง ซึ่งต้องหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อที่จะส่งเสริมอาชีพของชาวประมงเพื่อให้มีรายได้มาทดแทน
ทั้งนี้จากข้อมูลพบว่า พ.ศ.2566 ในพื้นที่ จ.ตรัง พบพะยูนเกยตื้นทั้งหมด 23 ตัว เจ้าหน้าที่สามารถช่วยชีวิตได้ 4 ตัว จากการตรวจสอบพะยูนที่ตาย พบร่างกายแข็งแรง ในกระเพาะพบหญ้าทะเล ซึ่งสาเหตุไม่ได้เกิดจากการอดอาหาร แต่เป็นการป่วยตาย
ปรากฏการณ์ IOD เรื่องใกล้ตัว
ผศ.ดร.ธนัสพงษ์ โภควนิช ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายวิจัย คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่าอีกหนึ่งสมมุติฐานที่อาจเป็นสาเหตุของหญ้าทะเลเสื่อมโทรม ที่เกี่ยวกับปรากฏการณ์ Indian Ocean Dipole (IOD) มีสถานะเป็นบวก (positive) กับเอลนีโญ ที่มหาสมุทรแปซิฟิก IOD Positive ที่มหาสมุทรอินเดีย ซึ่งจะส่งผลให้น้ำทะเลต่ำ ซึ่งจะผลเป็นลูกโซ่ จะทำให้น้ำจากใต้ดินไหวรุนแรงมากขึ้น จึงทำให้สารพิษที่ฝังอยู่ใต้ดิน ขึ้นมาใกล้ผิวน้ำมากขึ้น ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้หญ้าอ่อนแอ และตายได้ ซึ่งสเต็ปต่อไปก็ต้องพิสูจน์สมมุติฐาน
นอกจากนี้ IOD Positive กับ ENSO ไม่ได้ส่งผลแค่ระดับน้ำอย่างเดียวยังส่งผลต่อระดับน้ำ อาจส่งผลทำให้ฝนตกมากขึ้นซึ่งปริมาณฝนที่ตกมากขึ้นทำให้น้ำทะเลที่จืดลง
เมื่อน้ำทะเลจืดลงก็ไม่ได้ส่งผลดีต่อหญ้าทะเลด้วย ซึ่งต้องไปทำข้อมูลย้อนหลังเก็บข้อมูลทุติยภูมิ
อ่านข่าว : ส่อหายนะ "หญ้าทะเล" อาหารพะยูนเสื่อมโทรม 5,000 ไร่
เสียงสะท้อนจากชาวบ้าน
ช่วงนี้ของทุกปี จะเป็นช่วงที่น้ำลง แต่ปีนี้น้ำลงเยอะและกว่าน้ำจะขึ้นอีกรอบใช้เวลานานกว่าทุกปี
ชาวบ้านเกาะลิบง เปิดเผยว่า สมัยก่อนหน้านี้ 4-5 ปี พื้นที่นี้ชาวบ้านยังสามารถเก็บหอยชักตีน หอยแครง ปลิงดำ สร้างรายได้ แต่ในปัจจุบันสัตว์น้ำดังกล่าว ลดน้อยลง อย่างการเก็บหอยชักตีนจะสามารถเก็บได้ 5-6 กิโลกรัมต่อ 1 ชั่วโมง แต่ตอนนี้ได้วันละไม่ถึงครึ่งกิโลกรัม
ส่วนนักท่องเที่ยวในปีนี้ลดลง 20% เพราะเกาะลิบงขึ้นชื่อเรื่องปลาพะยูน เมื่อหญ้าทะเลหดหายไป นักท่องเที่ยวก็จะไม่มาท่องเที่ยว ทำให้ปีนี้นักท่องเที่ยวลดลง 20%
หญ้าทะเลในปัจจุบันในพื้นที่มีจำนวนน้อยมาก ซึ่งกลัวว่าจะส่งผลให้พะยูนย้ายถิ่นหากิน
ทั้งนี้ชาวบ้านกังวลกับปัญหาที่เกิดขึ้น อยากจะให้เร่งหาเหตุที่แท้จริง ซึ่งทางชาวบ้านพร้อมช่วยกันฟื้นฟูและอนุรักษ์แหล่งหญ้าทะเลด้วย
สำหรับสถานการณ์หญ้าทะเลในพื้นที่ เกาะลิบง มีพื้นที่หญ้าทะเล 15,457 ไร่ จากการสำรวจเมื่อปี 2563 มีพื้นที่หญ้าทะเลเสื่อมโทรม 7,997 ไร่ ทั้งนี้เมื่อ ก.พ.2566 เปอร์เซ็นต์การปกคลุมลดลงจาก 24% ในเดือน ธ.ค.2566เหลือเพียง 9%
ส่วนพื้นที่เกาะมุกด์ มีพื้นที่หญ้าทะเล 9,017 ไร่ จากการสำรวจเมื่อปี 2566 มีพื้นที่หญ้าทะเลเสื่อมโทรม 6,910 ไร่ ทั้งนี้เมื่อ ก.พ.2566 เปอร์เซ็นต์การปกคลุมลดลงจาก 51% ในเดือน ธ.ค.2566เหลือเพียง 14%