วันนี้ (16 ก.พ.2567) ดร.พชรพจน์ นันทรามาศ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ และ Chief Economist ธนาคารกรุงไทย กล่าวว่า ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS ประเมินเศรษฐกิจไทยในปี 2567 จะขยายตัวอย่างจำกัดที่ระดับ 2.7% เนื่องจาก การส่งออกฟื้นตัวได้จำกัด อาจขยายตัวเพียง 1.8% จากเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าหลักชะลอตัว
ดร.พชรพจน์ นันทรามาศ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ และ Chief Economist ธนาคารกรุงไทย
โดยเฉพาะสหรัฐฯ และจีน ส่งผลกระทบต่อการผลิตภาคอุตสาหกรรม เช่น สาขาที่พึ่งพาการใช้แรงงาน และสูญเสียความสามารถการแข่งขันยังผลิตได้ต่ำกว่าช่วงก่อนโควิด-19 ขณะที่รายได้จากภาคการท่องเที่ยวยังต่ำกว่าช่วงก่อนโควิด-19 โดยจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเพิ่มขึ้นจากปีก่อนเป็น 34 ล้านคน แต่ยังต่ำกว่าปกติที่ 40 ล้านคน
แม้จะมีนโยบายฟรีวีซ่านักท่องเที่ยวจีน แต่จำนวนนักท่องเที่ยวจีนยังฟื้นตัวจำกัด จากเศรษฐกิจจีนที่ชะลอ และรัฐบาลจีนเน้นส่งเสริมการท่องเที่ยวภายในประเทศ นอกจากนี้ ไทยยังมีภาระหนี้อยู่ในระดับสูง การบริโภคภาคเอกชนอาจชะลอตัว จากภาระหนี้ครัวเรือนในระดับสูง ขณะที่ธุรกิจเอกชนบางส่วนเผชิญความยากลำบากในการชำระคืนหนี้
ดร.พชรพจน์ กล่าวต่อว่า ปี 2567 เศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทย ต้องตั้งรับกับสถานการณ์โลกที่มีการรีเซ็ตสำคัญ 3 ประการ ประกอบด้วย การรีเซ็ตเทรนด์โลกใหม่ ท่ามกลางความไม่แน่นอนทางภูมิรัฐศาสตร์และกระแสโลกที่เปลี่ยนไป จะนำโลกไปสู่การเมืองแบบหลายขั้วท่ามกลางความขัดแย้ง ขณะที่กระแสรักษ์โลกคืบหน้ามากขึ้น และเทรนด์นวัตกรรม AI เปลี่ยนโลก
การรีเซ็ตเศรษฐกิจโลกภายใต้ภาวะการเงินตึงตัว อัตราดอกเบี้ยในระดับสูงยาวนานจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจชัดเจนมากขึ้นในปีนี้ สร้างความยากลำบากในการระดมทุนและจ่ายคืนหนี้ เพิ่มความเสี่ยงต่อการผิดนัดชำระหนี้ และการรีเซ็ตเครื่องยนต์หลักของเศรษฐกิจโลก
เครื่องยนต์หลักที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลกทั้งสหรัฐฯ และจีนอาจดับลงพร้อมกัน ความเสี่ยงหลักจากความไม่แน่นอนของนโยบายเศรษฐกิจสหรัฐฯ หากทรัมป์กลับมาเป็นประธานาธิบดีรอบใหม่ ขณะที่สงครามการค้าซึ่งมีแนวโน้มรุนแรงขึ้น จะเป็นภัยคุกคามเศรษฐกิจจีนให้อ่อนแอลงไปอีก
อย่างไรก็ตามธุรกิจควรเตรียมพร้อมรับมือกับการรีเซ็ตเศรษฐกิจโลกใหม่ กระจายความเสี่ยงและเพิ่มโอกาสทางการค้าจากขยายฐานลูกค้าไปยังตลาดใหม่ เพื่อรับมือกับความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ที่มีแนวโน้มรุนแรงขึ้น จำเป็นต้องศึกษาและวางแผนจัดการห่วงโซ่อุปทานให้สอดคล้องกับกระแสแยกขั้ว ทั้งการย้ายฐานของบรรษัทข้ามชาติกลับไปยังประเทศแม่ (Reshoring) และการย้ายฐานและทำการค้าเฉพาะประเทศพันธมิตรด้วยกัน (Friend-shoring)
จับตาสถานการณ์ของสหรัฐฯ และจีนในปีนี้เป็นพิเศษ โดยเฉพาะกรณีที่อดีตประธานาธิบดีทรัมป์ชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในช่วงปลายปี 2567 ซึ่งจะเพิ่มความเสี่ยงจากการกลับทิศของนโยบายเศรษฐกิจสหรัฐฯ
ส่วนจีนจะมีความเสี่ยงเพิ่มเติม จากปัญหาในภาคอสังหาริมทรัพย์ และหนี้รัฐบาลท้องถิ่นที่กระทบกำลังซื้อภายในประเทศอยู่แล้ว หากเครื่องยนต์หลักทั้งสองตัวของโลกถูกรีเซ็ต ไทยและประเทศต่างๆ อาจประสบกับพายุลูกใหญ่ในระยะข้างหน้า
นอกจากนี้ ผู้ประกอบการไทยจำเป็นต้องก้าวให้ทันเทคโนโลยีดิจิทัล โดยเฉพาะ Gen-AI และปรับปรุงแผนการดำเนินธุรกิจให้สอดคล้องกับกระแสสังคมคาร์บอนต่ำ และควรร่วมมือผ่านการเชื่อมโยงธุรกิจ สร้างศักยภาพจาก Ecosystem วางกลยุทธ์ลดต้นทุนตลอดห่วงโซ่อุปทาน ซึ่งจะเพิ่มโอกาสการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของภาคธุรกิจโดยเฉพาะรายย่อยและ SME มากยิ่งขึ้น
อ่านข่าวอื่นๆ:
นายกฯ รับปากเอกชนดูแลค่าไฟฟ้า-หนุนติดโซลาร์ลดต้นทุน
"แบงค์ออมสิน" ขานรับแก้หนี้ทั้งระบบ ปล่อยกู้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ
"ชะตากรรม"ข้าวไทย ในเงื้อมมือรัฐ ขาดทุน หนุน-พัฒนาสายพันธุ์