วันนี้ (14 ก.พ.2567) พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ลงพื้นที่บ้านเกาะมุกด์ จ.ตรัง เพื่อติดตามสถานการณ์หญ้าทะเลเสื่อมโทรม และรับฟังปัญหาของชาวบ้าน
พร้อมได้วางทุ่นแนวเขตอนุรักษ์หญ้าทะเล ปล่อยพันธุ์หอยชักตีน 1,500 ตัว และเยี่ยมชมนิทรรศการหญ้าทะเลและรับฟังการบรรยายเกี่ยวกับสถานการณ์หญ้าทะเลเสื่อมโทรม ในพื้นที่ จ.ตรัง และ จ.กระบี่ อีกทั้งร่วมปล่อยพันธุ์ปูม้าคืนสู่ท้องทะเล และชมการสาธิตการช่วยเหลือพะยูนเกยตื้น
ระหว่างทางเดิน พล.ต.อ.พัชรวาท ได้แวะชมพะยูนกำลังหากินหญ้าทะเล บริเวณหน้าหาดเกาะมุกด์
พล.ต.อ.พัชรวาท กล่าวว่า จ.ตรัง มีแหล่งหญ้าทะเลมากที่สุดเป็นอันดับ 1 ของประเทศ และจะต้องมีความสมบูรณ์ในอันดับ 1 ตลอดไป ทั้งนี้หญ้าทะเลมีมากในพื้นที่อุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม ซึ่งครอบคลุมพื้นที่หาดหยงหลำ เกาะมุกด์ และพื้นที่อ่าวขาม รวมทั้งเขตห้ามล่าสัตว์ป่าเกาะลิบง
เมื่อต้นเดือน ก.พ. เริ่มมีแนวโน้มที่หญ้าทะเล จ.ตรัง ลดลง ต้องรีบฟื้นฟู จึงไม่ได้นิ่งนอนใจ และสั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการแก้ไขในระยะสั้นอย่างเร่งด่วน และวางแผนฟื้นฟูในระยะยาว
เนื่องจากหญ้าทะเลสำคัญสำหรับวงจรชีวิตเป็นแหล่งอาหาร ธรรมชาติสำหรับสัตว์น้ำขนาดเล็ก และขนาดใหญ่ โดยเฉพาะพะยูนและเต่าทะเล
ทั้งนี้ได้กำหนด 3 มาตรการ เพื่อฟื้นฟูสภาพเสื่อมโทรมของแหล่งหญ้าทะเล อาทิ กำหนดเขตการใช้ประโยชน์แหล่งหญ้าทะเล การควบคุมผู้ประกอบการให้ดำเนินการตามมาตรการป้องกันและลดผลกระทบสิ่งแวดล้อมอย่างเข้มข้นตามรายงานการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA)
กำหนดขอบเขตแนวหญ้าทะเลด้านนอกชายฝั่งทะเล ป้องกันไม่ให้มีการใช้ประโยชน์พื้นที่แหล่งหญ้าทะเลอย่างไม่ถูกวิธี หาก 3 มาตรการดังกล่าวดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพ เชื่อได้ว่าแหล่งหญ้าทะเล จ.ตรัง สามารถฟื้นตัวกลับมาสมบูรณ์ได้
“หัวใจสำคัญของการฟื้นฟูหญ้าทะเล คือ ความร่วมมือในการบูรณาการร่วมกันระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และเครือข่ายชุมชนชายฝั่ง หากทุกภาคส่วนจะต้องปฏิบัติตามมาตรการอย่างเต็มที่ต่อเนื่อง หญ้าทะเลจะกลับมาสมบูรณ์และไม่เข้าสู่ภาวะสูญพันธุ์อีกต่อไปและยืนยันว่าจะทำให้หญ้าทะเลจังหวัดตรังกลับมาสมบูรณ์ให้ได้”
พล.ต.อ.พัชรวาท กล่าวอีกว่า ส่วนการเพิ่มจำนวนพะยูนอย่างยั่งยืน ได้จัดตั้งสถาบันวิจัยเพื่อการอนุรักษ์พะยูนและสัตว์ทะเลหายาก ซึ่งจะเป็นหน่วยงานหลักในการอนุรักษ์พะยูนและประสานแนวทางการบริหารจัดการอนุรักษ์พะยูนครบวงจรในทุกมิติ จะสามารถดูแลและอนุรักษ์พะยูนได้อย่างดี
ตั้งคณะทำงานขับเคลื่อนการดำเนินงานฟื้นฟูแหล่งหญ้าทะเล
นายปิ่นสักก์ สุรัสวดี อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กล่าวเพิ่มเติมว่า กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) ได้จัดตั้งคณะทำงานขับเคลื่อนการดำเนินงานฟื้นฟูแหล่งหญ้าทะเลในบริเวณ จ.ตรัง และ จ.กระบี่ ให้เป็นรูปธรรม พร้อมกับประชุมหารือร่วมกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อหาแนวทางในการแก้ไขปัญหา และกำหนดแนวทางการจัดการในรายละเอียด ให้เหมาะสมกับสถานการณ์
ให้มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในชุมชนและนักวิชาการที่เกี่ยวข้อง รวมไปถึงเผยแพร่ข่าวสารองค์ความรู้ ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับหญ้าทะเลสู่ประชาชนทุกกลุ่มทุกระดับ เมื่อประสานการดำเนินการในระยะสั้นแล้ว กรมฯ จะรีบกำหนดนโยบายหรือมาตรการฟื้นฟูหญ้าทะเลอย่างถาวร
เพื่อให้หญ้าทะเลสามารถฟื้นฟูตัวเองตามธรรมชาติ รวมถึงการบริหารจัดการเชิงพื้นที่เป็นรายพื้นที่ ซึ่งจะมีการศึกษาเพื่อกำหนดเขตรักษาพืชพันธุ์ ออกจากเขตการใช้ประโยชน์ เช่น เขตอนุญาตสำหรับกิจกรรมประมงพื้นบ้าน รวมทั้งส่งเสริมการวิจัยเพื่อการอนุรักษ์ การฟื้นฟูหญ้าทะเล
ที่สำคัญคือจะมีแนวทางการอนุรักษ์พะยูน สร้างกลุ่มและขยายเครือข่ายช่วยชีวิตสัตว์ทะเลหายาก กับชุมชน และเจ้าหน้าที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และเพิ่มการลาดตระเวนคุ้มครองเชิงคุณภาพ (Smart Patrol) ในการเฝ้าระวังพะยูน และแหล่งที่อยู่อาศัยและลดผลกระทบจากอุบัติเหตุทางทะเลต่อพะยูน ซึ่งจะเป็นมาตรการสำคัญที่ให้เกิดความยั่งยืนในระยะยาว
ทะเลตรังมีพะยูน 194 ตัว
นายสันติ นิลวัตน์ ผอ.ศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลอันดามันตอนล่าง กล่าวว่า ตั้งแต่ปี 2562 หญ้าทะเล จ.ตรัง เริ่มเสื่อมโทรมจนถึงปัจจุบัน
จากปัญหาดังกล่าวทุกภาคส่วนจึงร่วมกันบูรณาการในการแก้ปัญหา หาสาเหตุถึงความเสื่อมโทรมของหญ้าทะเลที่เกิดขึ้นเป็นอันดับแรก
ส่วนประเด็นที่สองต้องการแก้ปัญหาให้กับประชาชนที่ประกอบอาชีพชาวประมง และอีกประเด็นที่สำคัญหญ้าทะเลเป็นอาหารอย่างเดียวของพะยูนสัตว์ทะเลหายากซึ่งจากการสำรวจเมื่อปี 2566 พะยูนในพื้นที่มีจำนวน 194 ตัว และใน สิ้นเดือนกุมภาพันธ์ก็จะมีการสำรวจอีกครั้ง
ทั้งนี้ นายสันติ ยังระบุว่า หลังจากคณะวิจัยทราบสาเหตุแล้ว นำไปสู่การวางหลักมาตรการป้องกันเรื่องการทำกิจกรรมทางทะเลเพื่อเป็นการลดผลกระทบต่อหญ้าทะเล รวมถึงการสร้างจิตสำนึกให้ชาวบ้านตระหนักถึงความสำคัญของหญ้าทะเลด้วยเพื่อจะได้ช่วยกันอนุรักษ์
ชาวบ้านร่วมอนุรักษ์หญ้าทะเล-ยื่นข้อเรียกร้องเร่งแก้ปัญหาชุมชน
น.ส.มณีวรรณ สันหลี ตัวแทนมูลนิธิอันดามัน กล่าวว่า เครือข่ายองค์กรชุมชนบ้านเกาะมุกด์ และสมาคมชาวประมงพื้นบ้าน จ.ตรัง ซึ่งส่วนใหญ่ได้จดแจ้งเป็นกลุ่มองค์กรชุมชนชายฝั่ง สังกัดกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ร่วมกับภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง ดำเนินกิจกรรมอนุรักษ์ฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2550
โดยร่วมกันจัดทำพื้นที่แนวเขตอนุรักษ์พันธุ์สัตว์น้ำวัยอ่อนสี่หมู่บ้าน (เขตเลเสบ้าน) ร่วมกัน 4 หมู่บ้าน ได้แก่ บ้านเกาะมุกด์ บ้านน้ำราบ บ้านฉางหลาง และบ้านควนตุ้งกู มีการกำหนดกติกาชุมชนในการควบคุมเครื่องมือประมงที่ผิดกฎหมายและเป็นอันตรายต่อพะยูนและระบบนิเวศหญ้าทะเล
สถานการณ์ปัญหาความเสื่อมโทรมของระบบนิเวศหญ้าทะเลในพื้นที่หน้าเกาะมุกด์ หาดหยงหลำ และพื้นที่อื่น ๆ ในทะเลตรัง นอกจากจะส่งผลกระทบต่อความมั่นคงด้านอาหารและรายได้ของชาวประมงแล้ว ยังส่งผลกระทบต่อแหล่งอาหารของพะยูนฝูงใหญ่ที่สุดในทะเลตรัง ที่อาศัยอยู่ในบริเวณดังกล่าว ทำให้พะยูนต้องเข้ามาหากินบริเวณใกล้ฝั่งมากขึ้น และบ่อยขึ้น
จนเป็นที่กังวลว่าพะยูนจะได้รับอันตราย จากการสัญจรของเรือที่วิ่งผ่านไปมา โดยได้ดำเนินการจัดทำทุ่น ธง และป้ายประชาสัมพันธ์ เรียบร้อยแล้ว และได้มีการซ่อมแซมทุ่น ธง ในพื้นที่เขตชะลอความเร็วเรืออย่างต่อเนื่องเช่นกัน
ทั้งนี้ ได้ยื่นข้อเรียกร้องเพื่อให้ พล.ต.อ.พัชรวาท ดำเนินการแก้ปัญหาและส่งเสริมสนับสนุนการพัฒนาคุณภาพชีวิตของชาวประมงพื้นบ้าน ทั้งในเรื่องเร่งสำรวจหาสาเหตุของปัญหาหญ้าทะเลเสื่อมโทรมอย่างจริงจัง
และกำหนดมาตรการแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วน ให้หาแนวทางช่วยเหลือประชาชนเรื่องที่ดินทำกินให้กับประชาชนในพื้นที่บ้านเกาะมุกด์ ปัญหาขยะทะเลและขยะบนเกาะมุกด์ รวมถึงน้ำดื่มน้ำใช้ ปัญหาร่องน้ำตื้นเขินในบริเวณใกล้ร่องน้ำปากคลองบ้านควนตุ้งกู ส่งผลต่อการสัญจรไปมาของประชาชน พร้อมพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน โดยเฉพาะถนนเพื่ออำนวยความสะดวกแก่นักท่องเที่ยวและรองรับการขยายตัวของชุมชนเกาะมุกด์