ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ศาลสั่งจำคุกคนละ 15 ปี "5 ตำรวจ ตม." รีดเงินชาวจีน 10 ล้าน

อาชญากรรม
12 ก.พ. 67
13:47
3,513
Logo Thai PBS
ศาลสั่งจำคุกคนละ 15 ปี "5 ตำรวจ ตม." รีดเงินชาวจีน 10 ล้าน
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
ศาลอาญาคดีทุจริตฯ สั่งจำคุกตำรวจตรวจคนเข้าเมือง 5 นาย คนละ 15 ปี ในคดีรีดเงิน 10 ล้านบาท จากนักธุรกิจชาวจีน ส่วนคนชี้เป้า 1 คน ลงโทษจำคุก 10 ปี

วันนี้ (12 ก.พ.2567) ที่ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ศาลออกนั่งบัลลังก์ อ่านคําพิพากษาคดีรีดเงินชาวจีน ที่พนักงานอัยการ สํานักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีปราบรามการทุจริต 2 เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง ด.ต.พีระศักดิ์ ยิ้มไพบูลย์ ผบ.หมู่ สืบสวน บก.ตม.1 กับพวกรวม 6 คน เป็นจำเลยในคดีร่วมกันรีดเงินจากนักธุรกิจชาวจีน 10 ล้านบาท

อัยการโจทก์ ระบุฟ้องความผิดสรุปว่า จำเลยที่ 1-5 ซึ่งเป็นข้าราชการตำรวจ สังกัดกองกำกับการสืบสวน กองบังคับการตรวจคนเข้าเมือง 1 (บก.ตม.1 ) ควบคุมตัวผู้เสียหายชาวจีนทั้ง 2 คน ขึ้นรถยนต์ไปที่ทำการกองบังคับการตรวจคนเข้าเมือง 1 บริเวณศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ แล้วไม่นำตัวผู้เสียหายเข้าสำนักงานฯ แต่กลับขับรถพาผู้เสียหายทั้ง 2 วนไปสถานที่ต่าง ๆ และเจรจาต่อรองเรียกเงินจากผู้เสียหายที่ 1 เพื่อแลกกับการไม่ดำเนินคดีแก่ผู้เสียหายที่ 2 ซึ่งเป็นบุคคลต่างด้าวมีบัตรประจำตัวประชาชนคนไทยโดยมิชอบ

ส่วนจำเลยที่ 6 ไม่ได้เป็นเจ้าพนักงาน แต่เป็นผู้ร่วมวางแผนและนัดหมายผู้เสียหายให้ไปพบ เพื่อให้จําเลยที่ 1-5 จับกุมและเรียกรับเงิน ขอให้ลงโทษจําเลยทั้ง 6 คน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 26, 149, 253, 30, 310

ศาลพิเคราะห์คำเบิกความและพยานหลักฐานทั้งสองฝ่ายแล้วเห็นว่า พยานหลักฐานโจทก์มีน้ำหนักให้ฟังได้มั่นคงว่า ตามวันเวลาเกิดเหตุ จำเลยที่ 1-5 ซึ่งได้รับข้อมูลจากจำเลยที่ 6 แจ้งให้ทราบเกี่ยวกับผู้เสียหายที่ 1 บุคคลสัญชาติจีน มีบัตรประจําตัวประชาชน ที่ออกให้โดยมิชอบ ออกปฏิบัติหน้าที่ติดตามไปพบผู้เสียหายที่ 1 ลักษณะเป็นบุคคลต่างด้าวมีพฤติการณ์อันควรสงสัย มีผู้เสียหายที่ 2 เป็นล่ามให้ จึงเชิญตัวบุคคลทั้งสองขึ้นรถยนต์ แล้วเจรจา เรียกเงินจากผู้เสียหายที่ 1 จนกระทั่งตกลงกันได้เป็นเงิน 10 ล้านบาท

ลูกชายผู้เสียหายที่ 1 โอนเงินดิจิทัล เข้าหมายเลขบัญชีที่จําเลยที่ 2 แจ้งให้โอนเข้า แล้วจําเลยที่ 1-5 จึงปล่อยตัวบุคคลทั้งสองไป อันเป็นเจ้าพนักงานร่วมกันเรียกรับ หรือยอมจะรับทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดสำหรับตนเองหรือผู้อื่นโดย มิชอบฯ

และเป็นเจ้าพนักงานร่วมกันปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต

โดยมีจําเลยที่ 6 ร่วมกันกระทำความผิดดังกล่าวในลักษณะแบ่งหน้าที่กัน เป็นตัวการสมคบร่วมกระทำความผิดกับจําเลยที่ 1-5 แต่เมื่อจําเลยที่ 6 มิได้เป็นเจ้าพนักงาน ขาดคุณสมบัติเฉพาะตัวตามที่กฎหมายกำหนดไว้โดยเฉพาะ จึงมีความผิดเป็นผู้สนับสนุน

เจ้าพนักงานเรียกรับหรือยอมจะรับทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดสำหรับตนเองหรือผู้อื่นโดยมิชอบฯ และสนับสนุนเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบฯ

การกระทำของจำเลยทั้ง 6 ดังกล่าว เป็นการกระทำกรรมเดียว เป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท และเมื่อการกระทำของจำเลยทั้ง 6 เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 149 ซึ่งเป็นบทเฉพาะของบททั่วไปตามมาตรา 157 แล้ว ย่อมไม่จำต้องปรับบทความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ซึ่งเป็นบททั่วไปอีก

เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ในการเชิญผู้เสียหายทั้ง 2 ไป เพื่อตรวจสอบ สืบเนื่องจากผู้เสียหายที่ 1 เป็นบุคคลต่างด้าวมีลักษณะอันควรสงสัยว่ากระทำผิดกฎหมาย

โดยมีผู้เสียหายที่ 2 ร่วมเดินทางไปด้วยเพื่อเป็นล่าม ไม่ปรากฏพฤติการณ์ของจำเลยที่ 1-5 อันมีลักษณะเป็นการใช้กำลังบังคับ ข่มขืนใจ หรือทำให้บุคคลทั้ง 2 กลัวว่าจะเกิดอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย เสรีภาพ ชื่อเสียงหรือทรัพย์สินของบุคคลดังกล่าวหรือของผู้อื่น

นอกจากนี้ เมื่อตามพฤติการณ์ช่วงเกิดเหตุ ผู้เสียหายที่ 1 ก็ไม่ต้องการให้จำเลยที่ 1-5 ดำเนินคดีแก่ตน จึงได้เจรจาต่อรองจำนวนเงินที่จะต้องจ่ายให้แก่จำเลยที่ 1-5 โดยผู้เสียหายที่ 2 ก็ช่วยผู้เสียหายที่ 1 เจรจาต่อรองและขอแบ่งเงินจากจำเลยที่ 1-5 กรณีนี้จึงฟังไม่ได้ว่า การกระทำของจำเลยทั้ง 6 เป็นการร่วมกันหน่วงเหนี่ยวหรือกักขังฯ

และร่วมกันข่มขืนใจผู้อื่นให้กระทำการใด ไม่กระทำการใด หรือจำยอม ต่อสิ่งใดโดยทำให้กลัวว่าจะเกิดอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย เสรีภาพ ชื่อเสียงหรือทรัพย์สินของผู้ถูกข่มขืนใจนั้นเองหรือของผู้อื่น การกระทำของจำเลยทั้ง 6 จึงไม่เป็นความผิดดังกล่าว

ศาลฯ พิพากษาว่า จำเลยที่ 1-5 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 149 ประกอบมาตรา 83, จำเลยที่ 6 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 149 ประกอบมาตรา 83 ลงโทษจำคุกจำเลยที่ 1-5 คนละ 15 ปี และลงโทษจำคุกจำเลยที่ 6 เป็นเวลา 10 ปี

สำหรับมูลเหตุคดีนี้ สืบเนื่องจากเหตุเกิดเมื่อวันที่ 10 มี.ค.2566 ตำรวจ ตม.ก่อเหตุร่วมกันอุ้ม น.ส.นามี แซ่ลี อายุ 38 ปี หญิงชาวไทยที่เป็นล่ามภาษาจีน พร้อมนายฉี เพื่อนชายชาวจีนอีก 1 คน จากบ้านพักย่านซอยประชาสงเคราะห์ 2 แขวงดินแดง เขตดินแดง ก่อนรีดทรัพย์เป็นเงินคริปโตเคอร์เรนซีไป

ต่อมา น.ส.นามี ได้เข้าแจ้งความเมื่อวันที่ 20 มี.ค.2566 ก่อนตำรวจขอศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ออกหมายจับตำรวจรวม 5 นาย และติดตามจับกุมได้ตามลำดับ ได้แก่ พ.ต.ต.สรวิศ สว.กก.สส.บก.ตม.1, ร.ต.ท.สุริยะ รอง สว.สส.บก.ตม.1, ด.ต.พีระศักดิ์ ผบ.หมู่ งาน สส. บก.ตม.1, ร.ต.ท.ประวิต รอง สว.กก.สส.บก.ตม.1 และ พ.ต.ต.จิรภัทร สว.กก.สส.บก.ตม.1 ทั้งหมดไม่ได้รับการประกันตัวร่วมกันจับกุม และนายสุรชัย ในฐานะคนชี้เป้า

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

จับเพิ่มอีก 1 ชายชี้เป้าให้กลุ่ม ตม.อุ้มคนจีนรีดเงิน 

รายงานพิเศษ : สืบ ตม.อุ้มชาวจีนรีดทรัพย์ 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง