โรคหลงตัวเอง Narcissistic Personality Disorder (NPD) เป็นความผิดปกติทางบุคลิกภาพที่ส่งผลต่อพฤติกรรมผิดปกติในระยะยาว ผู้ป่วยมักแสดงออกว่าเป็นคนที่เชื่อมั่นในตัวเองสูง ไม่ยอมรับผู้อื่น ก่อให้เกิดพฤติกรรมต่อต้านสังคม เช่น ชอบโอ้อวด เรียกร้องความสนใจ ดูถูกดูแคลนผู้อื่น ไม่เห็นอกเห็นใจผู้อื่น และบังคับผู้อื่นให้ทำตามสิ่งที่ตนต้องการ โดยสาเหตุคาดว่ามาจากปัจจัยทางสังคมและสิ่งแวดล้อมที่หล่อหลอมตัวตนตั้งแต่เด็ก
รักตัวเอง หรือ หลงตัวเอง
มีเส้นกั้นบางๆ ระหว่าง "โรคหลงตัวเอง" กับ "การรักตัวเอง" โดยที่ ผู้ป่วยโรคหลงตัวเอง มักให้ความสำคัญกับตนเอง มากกว่า ผู้อื่น ไม่เอาใจใส่ความรู้สึกหรือความต้องการของคนรอบข้าง รวมถึงคาดหวังว่าตนเองจะได้รับการปฏิบัติที่เหนือกว่า โดยไม่คำนึงถึงสถานะความสำเร็จที่แท้จริงของตน นอกจากนี้ ผู้ป่วยโรคนี้มักมีอาการอัตตาอ่อนแอ (Fragile Ego) คือไม่สามารถทนต่อคำวิจารณ์ของคนอื่น และ มักดูถูกคนอื่นเพื่อให้รู้สึกว่าตนเหนือกว่า เช่น
- การได้รับการยอมรับ
- ผู้ที่ รักตัวเอง จะมีความรู้สึกนับถือตัวเองมากเพียงพออยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องได้รับการยอมรับจากผู้อื่น
- ผู้ที่ หลงตัวเอง ต้องการเป็นที่ยอมรับและจดจำจากผู้อื่น หากไม่มีคนคอยชม พวกเขาก็จะไม่พยายามทำอะไรเลย
- การยอมรับข้อบกพร่อง
- ผู้ที่ รักตัวเอง จะสามารถยอมรับข้อผิดพลาดและข้อบกพร่องของตัวเองได้ และพร้อมที่จะเปลี่ยนแปลงตัว
- ผู้ที่ หลงตัวเอง จะไม่ยอมรับว่าตัวเองมีข้อบกพร่อง จะคิดว่าตัวเองสมบูรณ์แบบที่สุด
- การรับรู้ความรู้สึกของผู้อื่น
- ผู้ที่ รักตัวเอง จะสามารถรับรู้และเข้าใจความรู้สึกของผู้อื่นได้ ทำให้สามารถเห็นอกเห็นใจ ให้คำแนะนำผู้อื่นได้อย่างจริงใจ
- ผู้ที่ หลงตัวเอง จะไม่สนใจความรู้สึกของคนอื่น ไม่มีความรู้สึกเห็นอกเห็นใจ และอาจจะแกล้งทำเป็นเห็นใจผู้อื่น
- การยอมรับความสามารถของผู้อื่น
- ผู้ที่ รักตัวเอง นั้นแม้ว่าจะมีความนับถือตนเองสูง แต่ก็สามารถยอมรับในความสามารถของผู้อื่นได้ และรู้สึกยินดีเมื่อผู้อื่นประสบความสำเร็จ
- ผู้ที่ หลงตัวเอง จะไม่ได้มองผู้อื่นมีคุณค่า แต่จะดูแค่ว่าใครมีประโยชน์กับตนเองบ้าง ส่วนคนอื่นนั้นไร้ค่าและไม่ควรเสียเวลาไปยุ่งด้วย
เช็กอาการเข้าข่าย "หลงตัวเอง" หรือไม่
คู่มือการวินิจฉัยและสถิติสำหรับความผิดปกติทางจิตโดยสมาคมจิตเวชศาสตร์สหรัฐอเมริกา ระบุว่าบุคคลที่เป็น "โรคหลงตัวเอง" มักมีอาการบางข้อหรือทุกข้อ ต่อไปนี้
- บูชาวัตถุ โอ้อวดตนเองผ่านวัตถุต่างๆ เช่น การใช้ของราคาแพง หรือ ของทันสมัย เพื่อให้ตัวเองรู้สึกอยู่เหนือคนอื่น
- ลุ่มหลงในรูปลักษณ์และเสน่ห์ของตนเอง
- จินตนาการว่าตัวเองมีอำนาจ ประสบความสำเร็จ ฉลาด มีเสน่ห์ มากกว่าคนอื่น
- จินตนาการว่าตัวเองเป็นคนพิเศษ อยู่คนละระดับกับคนอื่น รู้จักหรือเกี่ยวข้องกับบุคคลที่มีชื่อเสียง หรือจินตนาการว่า
- ตนเองเป็นคนมีชื่อเสียงเสียเอง
- ต้องการให้คนอื่นชื่นชมตลอดเวลา ชอบทำให้ตนเองเป็นศูนย์กลางในสังคม
- รู้สึกว่าตนเองต้องได้รับการปฏิบัติแบบพิเศษจากคนอื่น
- เอาเปรียบผู้อื่นเพื่อผลประโยชน์ของตนเอง
- ไม่มีความเข้าใจ ความรู้สึก ความต้องการ และความจำเป็นของคนอื่น
- อิจฉาผู้อื่นและเชื่อว่าผู้อื่นก็อิจฉาตนเองเช่นกัน
- มีพฤติกรรมดื้อรั้น ทนไม่ได้กับการถูกวิพากษ์วิจารณ์ ไม่ฟังคำเตือนจากคนอื่น
- แต่ต้องการให้ผู้อื่นเชื่อฟังคำเตือนจากตนเอง
- มีความคิดหรือพฤติกรรมที่เย่อหยิ่ง จองหอง ไม่ยินดีกับความสำเร็จของคนอื่น
- คบกับใครไม่ได้นาน อยู่ร่วมกับคนอื่นยาก ระแวงว่ามีแต่คนอิจฉาตนเองเสมอ
- ตอบโต้คนอื่นด้วยความโกรธ และพยายามดูถูกคนอื่นเพื่อทำให้ตนเองดูเหนือกว่า
- เล่นบท "เหยื่อ" เพื่อให้คนรอบข้างรู้สึกสงสาร เพื่อให้ได้รับการดูแลเป็นพิเศษ
"หลงตัวเอง" ผลพวง "พ่อแม่รังแกฉัน"
นักพฤติกรรมศาสตร์เชื่อว่า ปัจจัยทางสภาพแวดล้อมและสังคมมีส่วนก่อให้เกิด "โรคหลงตัวเอง" ผู้ป่วยมักขาดความรักความเอาใจใส่ในวัยเด็ก พ่อแม่เลี้ยงดูอย่างละเลย เด็กรู้สึกโดดเดี่ยว ถูกปฏิเสธบ่อย ๆ ทำให้บุคลิกภาพแบบหลงตนเองพัฒนาขึ้นเพื่อป้องกันตนเองจากความรู้สึกสูญเสีย ถูกทอดทิ้ง ส่งผลให้เป็นคนหวาดกลัวกับการมีความสัมพันธ์กับคนอื่น เลือกที่จะไม่สนใจและเพิกเฉยต่อคนอื่น เชื่อว่าตนเองเท่านั้นที่สามารถเชื่อถือได้ ส่วนคนอื่นนั้นเชื่อใจและไว้ใจไม่ได้
และยังมีอีกแนวคิดหนึ่งที่ว่า "โรคหลงตนเอง" เกิดจากครอบครัวที่ให้คุณค่ากับเด็กสูงเกินไป เด็กถูกเลี้ยงดูอย่างเอาใจใส่และปกป้องจากพ่อแม่มากเกินไป ราวกับว่าตนเป็นคนพิเศษ ความรักของพ่อและแม่ที่มีต่อเด็ก ทำให้เด็กคิดว่าตนเป็นที่สนใจ เป็นที่รักของพ่อแม่และบุคคลรอบข้าง และรู้สึกว่าตนเองเป็นบุคคลที่สมบูรณ์แบบ เด็กจึงหลงตนเอง
ผู้ที่มีอาการป่วยหลงตัวเอง จะเป็นคนที่น่าสงสารมาก เพราะจิตใจผู้ป่วยจะมืดบอด ไม่ยอมมองเห็นข้อผิดพลาดของตัวเอง อาจทำให้เห็นภาพบางอย่างผิดเพี้ยนไป และลุกลามจนไม่เกิดการปรับปรุง แก้ไข พัฒนาตัวเอง ทั้งยังส่งพลังงานด้านลบให้กับคนรอบข้าง ส่งผลให้คนรอบข้างไม่อยากเข้าไปยุ่งเกี่ยวด้วย
ไม่อยาก "หลงตัวเอง" ต้อง "รักคนอื่นให้เป็น"
ผู้ป่วยบางคนไม่รู้ว่าตัวเองมีความผิดปกติทางด้านจิตใจที่แฝงอยู่ จึงพลาดโอกาสในการเข้ารับการรักษา และได้รับคำแนะนำจากจิตแพทย์หรือนักจิตวิทยา ซึ่งในอนาคตอาจพัฒนาอาการป่วยในระดับขั้นที่อยู่ในภาวะป่วยด้วยโรคซึมเศร้า
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันยังไม่มียาเฉพาะทางเพื่อบำบัดผู้ป่วยที่มีอาการ การรักษาหลักจึงทำโดยใช้วิธีจิตบำบัดหรือบำบัดด้วยการพูดคุย เพื่อช่วยให้ผู้ป่วยเปิดใจ ให้โอกาสตนเองและคนอื่น ให้เข้าใจโลกแห่งความเป็นจริงให้มากขึ้น ผู้ป่วยต้องเรียนรู้ที่จะยอมรับและปรับตัวในด้านต่าง ๆ เช่น
- ยอมรับความสามารถของตนเองตามความเป็นจริง
- มีปฏิสัมพันธ์-กล้าทำงานร่วมกับผู้อื่นให้ได้
- เพิ่มศักยภาพการรับคำวิจารณ์หรือความล้มเหลว
- รู้เท่าทันอารมณ์ พยายามควบคุมอารมณ์ของตนเองให้ได้
- เข้าใจและยอมรับผลกระทบของปัญหาที่มาจากความมั่นใจที่มากเกินไปของตนเอง
- ลดการไม่ไว้วางใจ และการเหยียดหยามผู้อื่น
สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ ผู้ป่วยต้องยอมรับให้ได้ว่า ตนเองกำลังเผชิญอาการป่วยและต้องได้รับการรักษา เมื่อเข้าสู่กระบวนการรักษา ก็ต้องเปิดใจให้เต็มที่ รวมถึงคนรอบข้างต้องคอยเป็นกำลังใจให้ผู้ป่วยเช่นกัน
ต้องหนีแบบไหนให้ไกล "คนหลงตัวเอง"
ผู้ป่วยที่ไม่ยอมรับว่าตนเองกำลังเข้าข่าย "โรคหลงตัวเอง" มักจะส่งคลื่นพลังงานลบออกมาจนทำให้คนรอบข้างรับรู้ วิธีรับมือต้องเริ่มที่ตัวเอง การเผชิญหน้ากับผู้ที่หลงตัวเองหรือคลั่งรักในตัวเองมาก ๆ อาจยิ่งทำให้ความสัมพันธ์แย่ลงได้
- หลีกเลี่ยงการเผชิญหน้า นี่ไม่ใช่การหนี! แต่เป็นวิธีที่ชาญฉลาดที่ทำให้ตัวเราเองไม่ต้องเผชิญกับพลังงานลบจากเพื่อนร่วมงานที่หลงตัวเอง
- มีหลักฐานทุกครั้ง ที่ต้องทำงานร่วมกัน เพราะพฤติกรรมการโทษผู้อื่น ไม่ยอมรับในความผิดพลาดของนักคลั่งรักแต่ตัวเองนั้น อาจเป็นมีดที่กลับมาแทงตัวเราเองเพียงคนเดียวได้
- กำหนดขอบเขตให้ตัวเอง เมื่อเริ่มเห็นพฤติกรรมด้านลบของคนหลงตัวเอง ให้บอกตัวเองถอยออกมา หรือ ตัดสินใจบอกเพื่อนร่วมงานไปว่า เขาทำให้เรามีความกังวลกับพฤติกรรมของเขา อย่าอดทนจนเกินไป จะทำให้เรากลายเป็น "เหยื่อ" ของเขาโดยไม่รู้ตัวและสร้างความเครียดให้กับตัวเองได้
นาร์ซิสซัส (Narcissus) พรานหนุ่มผู้หลงรัก "แต่ตัวเอง"
"เอคโค" นางไม้ตนหนึ่งที่ตกหลุมรักพรานหนุ่ม "นาร์ซิสซัส" ตั้งแต่แรกเห็น แต่เอคโคถูกสาปให้พูดไม่ได้ ทำได้ส่งเสียงสะท้อนตามคำพูดสุดท้ายของผู้อื่น ทำให้นาร์ซิสซัสรำคาญจึงไล่นางออกไป เอคโคเสียใจร้องไห้จนตรอมใจตาย เรื่องราวทั้งหมดอยู่ภายใต้การเฝ้ามองของเทพีแห่งความรัก "เทพีอะโฟรไดต์" จึงโกรธนาร์ซิสซัสที่ไม่เห็นคุณค่าความรักของผู้อื่น
อ่าน : "นาร์ซิสซัส" ชายต้องคำสาปให้รักแต่ตัวเอง
เทพีอะโฟรไดต์ ได้สาปให้นาร์ซิสซัสต้องหลงรัก "คนแรก" ที่ตัวเองเห็น ขณะที่เขากำลังวักน้ำดื่มในลำธารก็เห็นเงาของตัวเองในน้ำ นาร์ซิสซัสจึงต้องคำสาปในทันที หลังจากนั้นก็ไม่ยอมลุกไปไหน เฝ้ามองแต่เงาของตัวเองในน้ำ จนกระทั่งเสียชีวิต ณ ลำธารแห่งนั้นในที่สุด และร่างของนาร์ซิสซัสก็กลายเป็น "ดอกนาร์ซิสซัส" ดอกไม้ป่าสีเหลืองสลับขาวที่มักขึ้นอยู่ริมลำธาร
อ่านข่าวอื่น :
ไม่พลิกโผ "มาดามแป้ง" นั่งนายกสมาคมกีฬาฟุตบอล คนใหม่
"บิ๊กอ๊อด" วางมือไม่ลงชิงนายกฯ สมาคมฟุตบอลหนุน "มาดามแป้ง"
ที่มา : เฮลโหลคุณหมอ, คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, รพ.กลาง สำนักการแพทย์ กทม., พบแพทย์