วันนี้ (7 ก.พ.2567) นพ.ธงชัย กีรติหัตถยากร อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า เดือนม.ค.ที่ผ่านมา พบผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกแล้ว 8,197 คน มากกว่าปี 2566 ถึง 1.9 เท่า สถติ 4,286 คน และมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง
พบผู้ป่วยสูงสุดในกลุ่มอายุ 5-14 ปี พบมากทางภาคใต้ และภาคกลาง รายงานผู้เสียชีวิตยืนยันแล้ว 13 คน กระจายใน 11 จังหวัด และเสียชีวิตมากสุดในกลุ่มที่อายุมากกว่า 65 ปี
กรมควบคุมโรค ขอเน้นย้ำให้ประชาชนทายากันยุง เพื่อป้องกันตนเองจากการถูกยุงกัด โดยเฉพาะผู้ป่วยไข้เลือดออก เพื่อป้องกันการกระจายเชื้อไข้เลือดออกในตัวผู้ป่วยสู่ชุมชน เพราะผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกหากถูกยุงลายกัดสามารถส่งต่อเชื้อไข้เลือดออก (หลังผ่านระยะฟักตัวในยุง) ให้ผู้อื่นได้
การทายากันยุงในผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกจะช่วยตัดวงจรดังกล่าว และลดการระบาดของโรคไข้เลือดออก นอกจากนี้ต้องขอความร่วมมือประชาชนให้ช่วยกันสำรวจ และทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายตามมาตรการ 3 เก็บ ป้องกัน 3 โรค อย่างต่อเนื่องเพื่อลดจำนวนยุงลายรุ่นต่อไป
พญ.จุไร วงศ์สวัสดิ์ โฆษกกรมควบคุมโรค กล่าวว่า หากประชาชนมีอาการสงสัยโรคไข้เลือดออก เช่น มีอาการไข้สูงลอย ร่วมกับอาการปวดศีรษะ ปวดกระบอกตา หน้าแดง คลื่นไส้ อาเจียน อาจมีผื่นหรือมีจุดเลือดออกที่ลำตัว แขน ขา
ไม่ควรซื้อยามารับประทานเอง ยาลดไข้ที่ปลอดภัยคือยาพาราเซตามอล ตามขนาดยาที่กำหนด ควรหลีกเลี่ยงยาลดไข้ในกลุ่มเอ็นเสด (NSAIDs) เช่น ไอบูโพรเฟน ไดโคลฟีแนค แอสไพริน รวมถึงยาชุด ซึ่งอาจมีผลให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรง เช่นเลือดออกในทางเดินอาหารและยากต่อการรักษา
ทั้งนี้หากรับประทานยาลดไข้หรือเช็ดตัวแล้วไข้ไม่ลดภายใน 1-2 วัน (นับจากวันที่เริ่มมีไข้) ควรรีบไปพบแพทย์ทันที ซึ่งโรคไข้เลือดออกหากได้รับการรักษาเร็วจะสามารถป้องกันอาการรุนแรงและเสียชีวิตได้
อ่านข่าวอื่นๆ
"กัญจนา" ปะหน้า "พังดัมมี่" ช้างขี้บ่น แม่ๆ ส่งใจอาหารเต็มพุง
จับตา "ทักษิณ" กลับบ้าน 22 ก.พ.นี้ ห่วง ขรก.เสี่ยงคุก