ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

"เกาะโลซิน" ตัวอย่างเปลี่ยนการพิพาทเป็นข้อตกลงร่วมสร้าง "ก๊าซธรรมชาติ" ให้ไทย

ไลฟ์สไตล์
7 ก.พ. 67
14:37
3,363
Logo Thai PBS
"เกาะโลซิน" ตัวอย่างเปลี่ยนการพิพาทเป็นข้อตกลงร่วมสร้าง "ก๊าซธรรมชาติ" ให้ไทย
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
เล็กที่สุด ไกลที่สุด แต่สร้างมูลค่ามากที่สุด "เกาะโลซิน" หรือกองหินขนาดเล็กที่อยู่ทางตอนล่างของอ่าวไทย จุดกำเนิดที่สร้างข้อพิพาทของ 2 ประเทศและถูกเปลี่ยนเป็นความร่วมมือทางทรัพยากรธรรมชาติ สร้างมูลค่าที่ประเมินไม่ได้คืนสู่ประเทศไทย

ยังเป็นประเด็นไก่กับไข่อะไรเกิดก่อนกันที่ยังไงก็ยังหาคำตอบไม่ได้ กับการเจรจาพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลอ่าวไทยของประเทศไทยและกัมพูชา ที่ต่างฝ่ายต่างถือ "เส้นเขตแดนทางทะเล" คนละเส้น ซึ่งปัญหาเหล่านี้มักเกิดกับประเทศชายฝั่งแทบทั่วโลก ในอดีตประเทศไทยก็เคยประสบปัญหาข้อพิพาทเกี่ยวกับพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลแบบนี้เช่นกัน แต่จากการเจรจาของ 2 รัฐบาล ทำให้ข้อพิพาทกลายเป็นความร่วมมือ และสร้างผลประโยชน์ที่เอื้อต่อกันระยะยาวกว่าครึ่งศตวรรษ 

แหล่งพลังงานที่เรียกว่า "ก๊าซธรรมชาติ"

ในยุคที่มีการสำรวจแหล่งก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยและทะเลอันดามันกันอย่างจริงจังราวปี 2511 ไทยพบว่าบริเวณรอยต่อทางทะเลของไทย-มาเลเซียนั้นเป็นแหล่งก๊าซธรรมชาติขนาดใหญ่ที่อาจมีปริมาณถึง 10 ล้านล้านลูกบาศก์ฟุต ทางการไทยได้ประกาศพิกัดแนวเขตไหล่ทวีปในอ่าวไทย ในเวลาไล่เลี่ยกัน "มาเลเซีย" ก็เริ่มสำรวจแหล่งก๊าซธรรมชาติใต้ทะเลของตนเองเช่นกัน 

และจุดที่ก่อให้เกิดข้อพิพาทคือ การประกาศเขตแดนทางทะเล-การกำหนดไหล่ทวีป ของทั้ง 2 ประเทศ ที่ทับซ้อนกัน

ด้วยอนุสัญญาว่าด้วย "กฎหมายทางทะเล" ที่แต่ละประเทศสามารถประกาศเขตเศรษฐกิจจำเพาะของรัฐชายฝั่งของตนออกมาได้ 200 ไมล์ทะเล หรือประมาณ 370 กิโลเมตร มาเลเซียที่ลากเส้นมัธยฐาน หรือ เส้นเขตแดนทางทะเลของตัวเองจึงทับอาณาเขตบริเวณแหล่งก๊าซธรรมชาติปริมาณมหาศาลนั้น

แต่ด้วยกองหินใต้ทะเลที่โผล่พ้นน้ำขึ้นมาประมาณ 10 ม. อยู่ห่างออกจากชายฝั่ง จ.นราธิวาส ออกไปทางทิศตะวันออกประมาณ 100 กม. ไม่มีหาดทราย ไม่มีต้นไม้ และไม่มีคนอาศัยอยู่ มีแต่ "ประภาคาร" ที่กองทัพเรือไทยสร้างไว้ให้เป็นจุดสังเกต ป้องกันชาวเรือไม่ให้เดินเรือมาชนกองหิน ได้กลายเป็น "หลักเขต" ของประเทศไทย ทำให้ไทยสามารถประกาศเส้นเขตแดนทางทะเลได้กว้างกว่าหากนับจากแผ่นดิน

และพื้นที่นั้นก็ทับอาณาเขตบริเวณแหล่งก๊าซธรรมชาติปริมาณมหาศาล ที่มาเลเซียระบุว่าเป็นเขตเศรษฐกิจจำเพาะของมาเลเซียเช่นกัน เกิดเป็นพื้นที่ทับซ้อนประมาณ 7,250 ตร.กม.

โลซินเป็น "เกาะ"

หลังจากที่มาเลเซียรู้เรื่องว่า ไทยนับอาณาเขตจากกองหินโลซิน มาเลเซียจึงไม่เห็นด้วยกับการประกาศของไทย โดยมาเลเซียอ้างถึงแผนที่ 68A หรือแผนที่ ป.1 ของไทยที่ไม่ได้ให้ความสำคัญกับกองหินโลซินแต่แรก ซึ่งจะทำให้เส้นแบ่งเขตของมาเลเซียสามารถลากเอียงขึ้นทางทิศเหนือมากขึ้น

แต่ไทยอ้างถึงแผนที่ ป.2 ซึ่งเป็นแผนที่ที่ทำขึ้นใหม่เมื่อต้องทำข้อตกลงเพื่อกำหนดเขตน่านน้ำกับประเทศมาเลเซีย ทางการไทยระบุว่า แผนที่ ป.1 นั้นไทยทำและใช้กันเองภายในประเทศ แต่แผนที่ ป.2 ที่นับกองหินโลซินเข้าเป็น "เกาะ" ที่อยู่ในน่านน้ำทะเลไทยนั้น ถูกปรับและจัดทำขึ้นมาใหม่แล้ว นอกจากนั้นไทยยังอ้างข้อตกลงเกี่ยวกับกฎหมายทางทะเล (Convention on the Law of the Sea) ในอนุสัญญาเจนีวา ค.ศ.1958 ว่าโลซินเป็น "เกาะ" ตามนิยามในข้อตกลง อีกทั้งยังมี "ประภาคาร" ซึ่งตั้งอยู่มานานมากแล้วด้วย

ที่มา : กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.)

ที่มา : กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.)

ที่มา : กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.)

อนุสัญญากรุงเจนีวาว่าด้วยกฎหมายทะเล ค.ศ.1958 (UNCLOS I) ข้อ 10 ตีความว่าโลซินเป็น "เกาะ" เพราะมีพื้นที่ดินที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ ล้อมรอบด้วยน้ำ และอยู่เหนือระดับน้ำขณะน้ำขึ้น เมื่อเป็นเกาะจึงสามารถมี ทะเลอาณาเขต เขตต่อเนื่อง เขตเศรษฐกิจจำเพาะ และไหล่ทวีปได้

Win-win Situation 50 ปี คนละ 50%

พอเป็นเรื่องของ "ผลประโยชน์" ย่อมไม่มีใครยอมใคร ต่างฝ่ายย่อมต้องพยายามรักษาผลประโยชน์ในพื้นที่ของตนเองให้ได้มากที่สุด หลังจากที่ 2 ฝ่ายจัดทำแผนที่ทางทะเลของตัวเองกันขึ้นมา และพบข้อขัดแย้งที่เกิดขึ้นบนพื้นที่ทับซ้อน 7,250 ตร.กม. ที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจที่ประเมินค่ามิได้

แผนที่แสดงเส้น baseline และเขตพื้นที่พัฒนาร่วม (Joint Development Area) ที่มา : https://diveshop.in.th/

แผนที่แสดงเส้น baseline และเขตพื้นที่พัฒนาร่วม (Joint Development Area) ที่มา : https://diveshop.in.th/

แผนที่แสดงเส้น baseline และเขตพื้นที่พัฒนาร่วม (Joint Development Area) ที่มา : https://diveshop.in.th/

ตั้งแต่ปี 2515 ทั้งไทยและมาเลเซียต่างพยายามเจรจาเพื่อหาข้อยุติในพื้นที่เจ้าปัญหานี้ ด้วยสถานการณ์โลกที่ความต้องการพลังงานจากก๊าซธรรมชาติเริ่มมากขึ้น แต่การเจรจาไม่เคยหาข้อสรุปร่วมได้เลยตลอด 7 ปี จนถึงปี 2522 ด้วยความสัมพันธ์อันดีของ 2 นายกรัฐมนตรีของ 2 ประเทศ นายเกรียงศักดิ์ ชมะนันท์ และ ดาโต๊ะ ฮุสเซน ออนน์ ที่เห็นว่าหากยังถือเอาการอ้างกรรมสิทธิ์ในพื้นที่เป็นที่ตั้ง ก็รังแต่จะเสียผลประโยชน์กันไปทั้งคู่อีกนาน การเจรจาที่เปลี่ยนจากข้อพิพาทเป็นความร่วมมือจึงเริ่มขึ้นที่ จ.เชียงใหม่ ภายใต้บันทึกข้อตกลงประเด็นสำคัญว่า 

2 ประเทศจัดตั้งองค์กรร่วมเพื่อแสวงหาประโยชน์ในพื้นที่ทับซ้อนดังกล่าว มีอายุ 50 ปี (พ.ศ.2522-2572) ให้สำรวจและใช้ประโยชน์ทรัพยากรธรรมชาติในพื้นที่ดังกล่าวภายใต้ชื่อ Malaysia-Thailand Joint Authority (MTJA) โดยทั้ง 2 ประเทศจะแบ่งกันรับผิดชอบค่าใช้จ่ายและรับผลประโยชน์จากการดำเนินการคนละร้อยละ 50 และแบ่งปริมาณก๊าซที่ผลิตได้คนละร้อยละ 50 เช่นกัน

แต่การประชุมที่จัดขึ้นที่เชียงใหม่เป็นเพียงการพูดคุยกันเท่านั้น ไทยและมาเลเซียยังต้องใช้เวลาอีก 15 ปีร่วมกัน กว่าที่จะได้ข้อสรุปที่เป็นที่พอใจของทั้ง 2 ประเทศและได้ประกาศลงนามร่วมกันอย่างเป็นทางการในวันที่ 23 ม.ค.2534 นำไปสู่การจัดตั้ง บริษัท ทรานส์ ไทย-มาเลเซีย (ประเทศไทย) จำกัด และ บริษัท ทรานส์ ไทย-มาเลเซีย (ประเทศมาเลเซีย) จำกัด ในปี 2543 โดยมีบริษัทการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท. และ บริษัทน้ำมันแห่งชาติมาเลเซีย หรือ Petronas เป็นผู้ถือหุ้นแทนรัฐบาล ลงทุนร่วมกันในอัตราส่วน 50:50

แผนที่แสดงพื้นที่การใช้ประโยชน์ร่วมระหว่างไทยและมาเลเซีย ที่มา :  MALAYSIA-THAILAND JOINT AUTHORITY (MTJA)

แผนที่แสดงพื้นที่การใช้ประโยชน์ร่วมระหว่างไทยและมาเลเซีย ที่มา : MALAYSIA-THAILAND JOINT AUTHORITY (MTJA)

แผนที่แสดงพื้นที่การใช้ประโยชน์ร่วมระหว่างไทยและมาเลเซีย ที่มา : MALAYSIA-THAILAND JOINT AUTHORITY (MTJA)

แต่กว่าที่จะได้ดำเนินการสำรวจ ขุดเจาะ นำก๊าซธรรมชาติขึ้นมาใช้ประโยชน์ได้จริงก็เรื่อยยาวมาจนถึงปี 2548 หรือกว่า 26 ปีหลังจากที่ตกลงทำ MTJA หรือเปลี่ยนชื่อเป็น JDA (Joint Development Agreement) ในปัจจุบัน และหากนับถอยหลัง เท่ากับว่าข้อตกลงนี้จะเหลืออายุเพียง 5 ปีเท่านั้น 

พื้นที่พัฒนาร่วมไทย-มาเลเซีย (Joint Development Area: JDA) ถูกนับเป็นต้นแบบสำคัญที่ใช้เป็นแนวทางให้กับปัญหาข้อพิพาทระหว่างประเทศอีกหลายกรณี ในแง่ของ "ความมั่นคง" ก็ช่วยยืดเวลาที่ประเทศคู่กรณีต้องกลับมาเจรจาเรื่องการแบ่งเขตแดนออกไป อีกทั้งยังสามารถลด "ความขัดแย้ง" ระหว่างประเทศไปได้อีกระยะหนึ่งเช่นกัน

การลดความขัดแย้งระหว่างประเทศลงได้ ย่อมหมายความว่าสร้างความมั่นคงให้กับประเทศได้ด้วยเช่นกัน 

หมดสัญญา อนาคตแหล่งก๊าซธรรมชาติไทยไปทางไหน?

ในบันทึกความเข้าใจที่ทำร่วมกัน ได้เพิ่มข้อตกลงอีกว่า หากเมื่อถึงเวลา 50 ปีที่ข้อตกลงร่วมกันดังกล่าวหมดอายุแล้วนั้น ถ้ายังไม่มีฝ่ายใดหาข้อยุติเรื่องของไหล่ทวีปได้ ให้ใช้ข้อตกลงที่มีอยู่ต่อไป แต่หากได้ข้อยุติก็ให้ยกเลิกข้อตกลงให้เสร็จสิ้น ส่วนทรัพย์สินที่เกิดจากโครงการร่วมดังกล่าว ให้แบ่งกันคนละครึ่งหรือให้ทำข้อตกลงกันใหม่ได้

ที่มา : กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.)

ที่มา : กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.)

ที่มา : กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.)

มุมหนึ่งอาจจะมองได้ว่า JDA เป็นข้อตกลงที่ประนีประนอมเพื่อประโยชน์ร่วมกันทั้ง 2 ฝ่าย แต่อีกมุมหนึ่งก็มองได้ว่า JDA อาจเป็นตู้เย็นที่แช่แข็งข้อพิพาทเรื่องเขตแดนทางทะเลของไทยและมาเลเซียไว้ยาวๆ 50 ปี เท่านั้น เพราะตลอดเวลาทั้ง 2 ประเทศก็ยังไม่สามารถหาข้อสรุปร่วมกันได้ว่า

พื้นที่ทับซ้อนที่เกิดขึ้นกว่า 7,000 ตร.กม. นั้น ใครเป็นเจ้าของพื้นที่ที่แท้จริง 

โลซิน "ไม่ใช่" เกาะอีกต่อไป

มีข้อสันนิษฐานว่า ตลอด 7 ปี (พ.ศ.2515-2522) ที่ทั้งไทยและมาเลเซียพยายามเจรจาหาข้อยุติเรื่องพื้นที่ทับซ้อน ข้อหนึ่งที่ไม่สำเร็จเป็นเพราะ มาเลเซียรอผลการประชุมอนุสัญญาเจนีวาเรื่องข้อตกลงเกี่ยวกับกฎหมายทางทะเลครั้งที่ 3 ที่ยังอยู่ระหว่างการดำเนินการอยู่ ซึ่งมีแนวโน้มว่าจะกำหนดให้เกาะเล็กๆ ไม่มีเขตไหล่ทวีป ซึ่งจะทำให้ไทยไม่สามารถใช้ประโยชน์จาก "เกาะโลซิน" ในการอ้างแนวเขตได้

และก็เป็นดั่งที่มาเลเซียคาดการณ์ไว้ เมื่ออนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล ค.ศ. 1982 (United Nations Convention on the Law Of the Sea 1982) กำหนดนิยามคำว่า "เกาะ (Island)" ไว้ว่า เกาะคือบริเวณแผ่นดินที่ก่อตัวขึ้นตามธรรมชาติ มีน้ำล้อมรอบอยู่เหนือน้ำในขณะน้ำขึ้นสูงสุด ... โขดหินซึ่งโดยสภาพแล้ว "มนุษย์" ไม่สามารถอยู่อาศัยหรือยังชีพทางเศรษฐกิจได้ จะไม่มีเขตเศรษฐกิจจำเพาะหรือไหล่ทวีป 

แปลให้เข้าใจคือ เกาะโลซิน ไม่ได้เป็นเกาะอีกต่อไป มีสถานะเป็นเพียง กองหินโลซิน และเมื่อไม่ใช่เกาะ ก็ไม่สามารถนับเป็นไหล่ทวีปได้ 

แต่เมื่อเซ็นข้อตกลงร่วมกันไปแล้วในปี 2522
โลซินหลุดจากสถานะ "เกาะ" ในปี 2525

ที่ตั้งเกาะโลซิน

ที่ตั้งเกาะโลซิน

ที่ตั้งเกาะโลซิน

วันนี้ไทยจึงต้องลุ้นว่าเมื่อข้อตกลงร่วมระหว่างไทย-มาเลเซียสิ้นสุดลงในปี 2572 แล้วนั้น มาเลเซียจะยื่นกรรมสิทธิ์ในพื้นที่ทับซ้อนทั้งหมดตามที่แผนที่ที่มาเลเซียเองเคยประกาศไว้ตั้งแต่ปี 2515 หรือไม่ หากเป็นเช่นนั้น จากกองหินที่เคยพิทักษ์พื้นที่แหล่งก๊าซธรรมชาติมูลค่านับแสนล้านบาทให้ไทยมาตลอดครึ่งศตวรรษ อาจกลับไปเป็นสถานที่หนึ่งที่ส่องแสงสว่างให้กับชาวเรือยามที่กลางทะเลเข้าสู่ความมืดมิด เหมือนที่เคยเป็นมา 

โลซินที่เคยสร้างประวัติศาสตร์ อาจเหลือแค่ตำนานหลักเขตสุดท้ายของทะเลไทย

รู้หมือไร่ : สถานภาพปัจจุบัน "โลซิน" เมื่อวันที่ 10 เม.ย.2565 นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทส.ในขณะนั้น เปิดเผยว่า ราชกิจจานุเบกษาได้ออกประกาศกฎกระทรวงกำหนดให้บริเวณเกาะโลซิน ต.บ้านน้ำบ่อ อ.ปะนาเระ จ.ปัตตานี เป็นพื้นที่คุ้มครองทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง พ.ศ.2565 โดยได้ประกาศลงในราชกิจจานุเบกษาในวันที่ 31 ม.ค.2565 จะมีผลบังคับใช้วันที่ 28 ก.ค.2565 เป็นต้นไป หากฝ่าฝืนต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ เนื่องจากเกาะโลซินเป็นพื้นที่มีความสำคัญและเปราะบางมาก

อ่านข่าวเพิ่ม :

ทส.ยก "เกาะโลซิน" พื้นที่คุ้มครองทรัพยากรทางทะเล มีผล 28 ก.ค.นี้

สำเร็จ! เก็บกู้ซากอวน 800 กก. คลุมปะการังเกาะโลซิน

ที่มา :

Diveshop, Digitalay, สำนักงานศุลกากรภาคที่ 4, เอกสาวิชาการ "เกาะโลซิน" : ข้อท็จจริงเรื่องเขตแดนและผลประโยชน์แห่งชาติทางทะเลกับการปลุกกระแสสนับสนุนการซื้อเรือดำน้ำ โดย ดร.วิชาญ ศิริชัยเอกวัฒน์ อดีตสมาชิกวุฒิสภา, กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง