วันนี้ (5 ก.พ.2567) นางกิ่งกาญจน์ สมร กรรมการผู้จัดการ บริษัท ชินรดา การ์เมนท์ จำกัด จ.เชียงใหม่ ซึ่งผลิตกางเกงลายช้าง กล่าวถึงกรณีที่โรงงานในจีน ผลิตกางเกงลายช้าง มาขายแข่งกับกางเกงที่ผลิตในประเทศไทยว่า ไม่ส่งผลกระทบแต่อย่างใด
พนักงานโรงงานตัดเย็บเสื้อผ้าเอกชนแห่งหนึ่ง ใน อ.ดอยสะเก็ด จ.เชียงใหม่ กว่าร้อยคนต้องเร่งผลิตกางเกงลายช้าง วันละ 2,000 ตัว เพื่อส่งให้กับลูกค้าทั้งชาวไทยและต่างชาติ ที่สั่งซื้อทั้งระบบออนไซด์และออนไลน์
หลังจากกางเกงช้างกลายเป็นแฟชันมาแรงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงปลายปีที่ผ่านมา เนื่องจากหาซื้อได้ง่าย ใส่สบาย ทำให้ได้รับความนิยมทั้งจากคนไทยและนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ
กางเกงลายช้าง ทำจากผ้าพิมพ์ลายช้างหลากหลายรูปแบบ ผสมผสานระหว่างลายช้างกับลายไทยอย่างลงตัว และมีการปรับดีไซน์เป็นกางเกงขาสั้น ขายาว กระโปรง และ เสื้อ ตอบโจทย์ผู้สวมใส่มากยิ่งขึ้น

กิ่งกาญจน์ ระบุว่า ปกติจะจ้างแรงงานซึ่งเป็นชาวบ้านในพื้นที่ เป็นการส่งเสริมการจ้างงานให้ชาวบ้านมีงานทำอยู่แล้ว จากกระแสนิยมดังกล่าว ทำให้มียอดสั่งซื้อเพิ่มขึ้นจากเดิมกว่าเท่าตัว จึงส่งผลให้เกิดการจ้างงานเพิ่มขึ้น สำหรับลูกค้าที่มีการสั่งซื้อร้อยละ 90 เป็นการสั่งซื้อทางออนไลน์ อาทิ ประเทศแถบยุโรป สหรัฐฯ แคนาดา ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น เกาหลี และ ไต้หวัน
โรงงานไทยไม่กลัวโรงงานจีน
ผู้ประกอบการเล่าว่า สำหรับกระแสกางเกงช้างจากประเทศจีนที่เข้ามาในไทยอย่างมากขณะนี้ ไม่มีความกังวลแต่อย่างใดเพราะสู้ด้วยคุณภาพ และ การตัดเย็บ เชื่อมั่นในฝีมือและความละเอียดของช่างเย็บผ้าคนไทย นอกจากนั้นออเดอร์จากต่างประเทศ ลูกค้าจะย้ำเสมอว่าขอ "Made in Thailand" เท่านั้น ย้ำว่าไม่กลัวว่าโรงงานจีนจะก๊อปปี้สวมรอยว่าผลิตจากไทยอีกด้วย
ลายช้างของไทยจะต่อกัน เชื่อมกันเป็นผืนยาว แต่ถ้ามาจากจีน ช้างจะไม่ต่อกัน หรือบางทีก็ไม่ต่อกับลายไทย ไม่ต้องสังเกตละเอียด มองแว๊บเดียวก็รู้ว่าเป็นของจีน บางตัวช้างก็กลับหัวกลับหาง

พร้อมชี้ว่าลูกค้ามีหลายกลุ่ม กลุ่มที่ซื้อใส่เล่นๆ ก็อาจจะสั่งจากจีนมาใส่บ้าง แต่ถ้ากลุ่มที่ซื้อแล้วไปทำกำไรต่อ ส่วนใหญ่จะไม่สั่งซื้อจากจีน เพราะคุณภาพสู้ของไทยไม่ได้ ไม่เฉพาะลายผ้าเท่านั้น แต่ผ้าที่ใช้เย็บก็ใช้ผ้าสปันของไทยด้วย ส่วนของจีนใช้ผ้าคนละชนิด เน้นประหยัด เน้นปริมาณ แต่ของไทยเน้นคุณภาพ ทำให้ตอบโจทย์ลูกค้าที่ซื้อไป ที่จะกลับมาซื้อซ้ำตลอด ไม่ใช่ซื้อแล้วหลาบ ไม่กลับมาซื้ออีก
เราให้โอกาสลูกค้าเลือก ถ้าลูกค้าอยากได้ราคาถูกลง ก็ให้เขาไปซื้อจากจีนมาลองก่อน
แต่สุดท้ายลูกค้าก็กลับมาซื้อของไทยทุกคน
จีน-ไทย "กางเกงช้าง" ลูกค้าคนละกลุ่ม
กิ่งกาญจน์ สมร ยังบอกว่าปัจจุบัน กางเกงช้างจากจีนมีขายแค่ลายเดียว มองว่าเขาเน้นกลุ่มลูกค้าซื้อปลีก แต่โรงงานที่ผลิตกางเกงช้างของไทยจะเน้นขายส่งให้ลูกค้า ให้ลูกค้านำไปทำกำไรต่อได้ มีหลายรูปแบบให้ลูกค้าเลือก ทำให้เขารู้สึกมีทางเลือกที่หลากหลาย
ขณะเดียวกันก็ต้องรักษาลูกค้าเก่าไว้ด้วย รวมถึงอยากให้ผู้บริโภคแยกความแตกต่างของกางเกงช้างจากไทยและจีนให้ออก เช่น ของไทยมี 2 ตะเข็บ ส่วนของจีนมีตะเข็บเดียว รวมถึงลายช้างที่ยาวต่อเนื่องกัน แต่ของจีนมักไม่ต่อเนื่อง
ยอมรับว่าตลาดแฟชันเปลี่ยนไปไว ก็ต้องคอยผลิตลายและแบบใหม่ๆ ให้ตามทันกระแส
แต่ก็ยังเก็บลายเดิมไว้ให้ลูกค้าที่ชอบลายเดิมอยู่ด้วย ต้องเก็บให้ได้ทั้งลูกค้าเก่าและใหม่

อ่านข่าวเกี่ยวข้อง :
กรมทรัพย์สินฯ ชี้ "กางเกงช้าง" สิขสิทธิ์ไทย "ภูมิธรรม" สั่งเบรกนำเข้า