"กัญจนา" ปะหน้า "พังดัมมี่" ช้างขี้บ่น แม่ๆ ส่งใจอาหารเต็มพุง
เราไม่ได้คิดว่าเป็นช้างของตัวเอง แต่เป็นช้างของทุกคนในประเทศ ทุกคนร่วมสนับสนุนปัจจัยจนครบ 2.1 ล้านบาท
พระครูสังฆรักษ์วีรวัฒน์ วีรวฑฺฒโน หรือพระครูอ๊อด วัดเจดีย์หลวง จ.เชียงใหม่ เปิดเผยถึงความคืบหน้าการเปิดแคมเปญไถ่ชีวิต "ดัมมี่" เจ้าของฉายาช้างขี้บ่น และช้างอินดี้ สายธรรมชาติ อายุ 23 ปี ขณะนี้ยอดเงินครบจำนวนแล้ว หลังโซเชียลแชร์เรื่องราวของดัมมี่ช้างที่ชื่นชอบการนั่งดูทะเลที่เกาะสิเหร่ จ.ภูเก็ต ก่อนถูกขายให้เจ้าของใหม่ที่ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา โดยแฟนคลับและคนรักช้างเป็นห่วง และกังวลว่าช้างตัวนี้จะไม่มีความสุขเช่นเดิม พร้อมทั้งร่วมบริจาคเงินไถ่ชีวิตในครั้งนี้
"พังดัมมี่" ออกเดินทางจาก "หาดใหญ่" คาดถึง "ลำปาง" พรุ่งนี้
ขอบคุณหลายภาคส่วนที่ช่วยกัน ทั้งโยมหนูนา กัญจนา ศิลปอาชา พอทราบเรื่องแล้วร่วมไถ่ชีวิตจำนวน 1 ล้านบาท
ภาพ : ไรร่า สาระวงศ์
ช้างดัมมี่จะถูกเคลื่อนย้ายด้วยรถ 6 ล้อบรรทุกช้างโดยเฉพาะ ออกเดินทางจากปางช้างในพื้นที่ อ.หาดใหญ่ สงขลา ในวันพรุ่งนี้ (6 ก.พ.2567) เวลา 06.00 น. คาดว่าจะเดินทางถึงศูนย์อนุรักษ์ช้างไทย จ.ลำปาง ในวันที่ 7 ก.พ. เวลา 13.00 น. ใช้เวลาเดินทางประมาณ 30 ชั่วโมง เบื้องต้นได้จ่ายเงินมัดจำไปแล้ว 500,000 บาท เหลือเงินอีก 1,600,000 บาท ซึ่งจะโอนให้เจ้าของช้างทันทีที่เคลื่อนย้ายแล้วเสร็จ ส่วนเอกสารต่าง ๆ ทั้งตั๋วรูปพรรณช้าง และเอกสารเคลื่อนย้ายจากสงขลามาลำปางครบถ้วนแล้ว
สำหรับการเคลื่อนย้ายจะใช้ควาญช้าง 2-3 คน คนขับรถ 2 คน และจะจอดแวะพักเป็นระยะ ให้ช้างได้กิน พักผ่อน และไม่เครียด เบื้องต้นควาญช้างจะอยู่ดูแลที่ศูนย์อนุรักษ์ช้างไทย จนกระทั่งช้างดัมมี่ปรับตัวได้
ไถ่ชีวิต “พังดัมมี่” ช้างขี้บ่นสายอินดี้ทะเล จะมาเป็นสาวเหนือ
พระครูอ๊อด เล่าว่า พังดัมมี่ เกิดที่ จ.สุรินทร์ เมื่ออายุได้ 2-3 ขวบ จึงแยกจากแม่ช้าง ก่อนจะมีผู้ซื้อไป และย้ายไปอยู่ที่ จ.ชัยภูมิ จากนั้นจึงเดินทางไปทำงานเป็นช้างโชว์ในอีกหลายพื้นที่ จนไปอยู่ที่ จ.ภูเก็ต เจ้าของช้างประสบปัญหาด้านการเงิน จึงจำเป็นต้องขายต่อ
พระครูอ๊อด ได้ติดตามช้างดัมมี่ผ่านโซเชียลมาเป็นเวลา 1 ปี โดยเป็นช้างขี้บ่น ชอบสื่อสาร กระทั่งมีหลายคนส่งเรื่องราวของดัมมี่และขอให้ช่วยเหลือตั้งแต่ช่วงต้นเดือน ก.พ. นำไปสู่การเปิดแคมเปญไถ่ชีวิตในวันที่ 2 ก.พ.ที่ผ่านมา
ที่สำคัญ "โหน่ง" หนึ่งในควาญช้างที่เคยเลี้ยง "แสนไกร" ช้างที่ได้รับการไถ่ชีวิตเป็นเชือกที่ 13 ในอดีตเคยเลี้ยงและฝึกดัมมี่ตั้งแต่เด็ก โดยควาญช้างคนดังกล่าวเสียชีวิตจากโรคมะเร็งช่วงปลายเดือน ม.ค.ที่ผ่านมา การช่วยช้างดัมมี่จึงเป็นการอุทิศบุญกุศลให้กับควาญช้างคนนี้ด้วย
ภาพ : ไรร่า สาระวงศ์
เมื่อตัดสินใจจะไถ่ชีวิตดัมมี่ พระครูอ๊อดได้โทรศัพท์ไปสอบถามเจ้าของเก่าของช้าง ซึ่งเจ้าตัวยอมรับว่ารู้สึกเสียใจ และจำเป็นต้องขายช้าง เพราะค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงดูและค่าอาหารที่ค่อนข้างสูง อีกทั้งในช่วงสถานการณ์ COVID-19 ทำให้ได้รับผลกระทบอย่างมาก ต้องนำบ้านไปจำนอง สุดท้ายแบกรับภาระหนี้ไม่ไหว ก่อนตัดใจขายช้างดัมมี่ ส่วนเจ้าของใหม่ก็พูดคุยเป็นอย่างดี และยินดีขายช้างต่อให้เท่ากับราคาที่ซื้อมา
การติดต่อประสานงานใช้เวลาเพียง 4-5 วัน เจ้าของใหม่ก็ยินดีขายให้ในราคาทุนที่ซื้อมา ขอให้ทุกคนสบายใจว่าช้างอยู่ในศูนย์อนุรักษ์ช้างไทย เป็นช้างของทุกคน
พระครูอ๊อด เชื่อมั่นว่า เมื่อเคลื่อนย้ายช้างมาดูแลที่ศูนย์อนุรักษ์ช้างไทยสำเร็จ จะช่วยให้เหล่าแฟนคลับคลายความกังวล เพราะช้างไม่ต้องไปใช้แรงงาน หรือเร่ร่อน อีกทั้งได้รับโภชนาการอย่างดี ได้กินหญ้าปลอดสารเคมี และมีสัตวแพทย์โรงพยาบาลช้างคอยดูแลเป็นอย่างดี ที่สำคัญสถานที่แห่งนี้มีพื้นที่ป่ากึ่งสมบูรณ์ ให้ช้างได้พักผ่อนและเดินเล่นอย่างมีความสุข
ดัมมี่จะกลายช้างตระกูล "แสน" เชือกที่ 16 ที่ได้รับการไถ่ชีวิต โดยมีชื่อใหม่ว่า "แสนรู้" พระครูอ๊อด บอกว่า เป็นชื่อเดียวในใจและชื่อแรกที่นึกถึง เพราะดัมมี่เป็นช้างสง่า เรียนรู้ไว นิสัยดี จุดเด่นความขี้บ่น คือ ความฉลาด โดยเชื่อว่าช้างจะปรับตัวได้ดีแม้สภาพอากาศทางภาคใต้แตกต่างจากภาคเหนือ พร้อมเชิญชวนคนไทยร่วมเป็นพ่อแม่อุปภัมถ์ช้างที่ศูนย์อนุรักษ์ช้างไทย ระบุว่า ถึงเวลาแล้วที่เราต้องรักษาช้างให้เป็นสัตว์คู่ชาติไทย ก่อนจะไปดูแลสัตว์อื่น ๆ
ภาพ : ไรร่า สาระวงศ์
สำหรับพระครูอ๊อด เป็นพระสงฆ์ที่เคยให้ความช่วยเหลือควาญช้าง และช้างในปางช้างต่าง ๆ มากว่า 10 ปี โดยเฉพาะในช่วงการแพร่ระบาด COVID-19 ที่มีช้างตกงานและถูกประกาศขายหลายเชือก
ขณะที่ น.สพ.ดร.ทวีโภค อังควานิช หัวหน้าฝ่ายอนุรักษ์ช้าง ศูนย์อนุรักษ์ช้างไทย สถาบันคชบาลแห่งชาติฯ (อ.อ.ป.) เบื้องต้นจะรับฝากเลี้ยงช้างดัมมี่ก่อนและกักโรค 14 วัน โดยรอการพิจารณาของคณะกรรมการในการรับช้างมาดูแลอย่างถูกต้อง ซึ่งการเคลื่อนย้ายจากภาคใต้มาภาคเหนือ คาดว่าไม่น่ามีปัญหาอะไรมาก แต่อาจต้องปรับอาหาร สภาพอากาศ และเรียนรู้ระหว่างควาญช้างกับช้าง
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
เรื่องราวของ "แสนหวาน" ลูกช้างตาบอดจากสารเคมี
ช่วย "ลูกช้างป่า" จมแอ่งโคลน ล่าสุดกลับเข้าโขลงปลอดภัย
ช่วย "ลูกช้างป่า" จมแอ่งโคลน ล่าสุดกลับเข้าโขลงปลอดภัย |