สิ่งเดียวที่ขวางไม่ให้สงครามระหว่างสหรัฐฯ กับอิหร่านปะทุขึ้นมาได้ในตอนนี้ คือ การที่ทั้ง 2 ประเทศไม่ต้องการให้เกิดสงครามระหว่างกัน
นับตั้งแต่ฐานทัพอเมริกันในจอร์แดนถูกโจมตีและมีทหารเสียชีวิต 3 นาย รัฐบาล โจ ไบเดน ต้องดีดลูกคิดอย่างหนักว่า ควรจะตอบโต้อย่างไรให้รุนแรงพอที่ จะส่งสัญญาณว่าโจมตีสหรัฐฯ แบบนี้ไม่ได้ แต่การตอบโต้ก็จะต้องทำแบบพอดีๆ ไม่มากจนเกินไป เพราะไม่อย่างนั้นจะทำให้ฝ่ายตรงข้ามจำเป็นต้องสวนกลับ อย่างหนักเพื่อเอาคืน ซึ่งนั่นจะกลายเป็นความเสี่ยงที่จะทำให้สถานการณ์เลวร้ายเกินควบคุมในที่สุด
ชาวอิรักที่เข้าร่วมในพิธีศพของสมาชิกกองกำลัง "อัล-ฮาชีด อัล-ชาอาบี" ประณามสหรัฐฯ และเรียกร้องให้ผู้นำอิรักปกป้องอธิปไตยของประเทศ โดยกองกำลังดังกล่าวได้รับการสนับสนุนจากอิหร่านและเป็นส่วนหนึ่งของกองทัพอิรัก หลังจากเข้าร่วมต่อสู้กับกลุ่มรัฐอิสลาม หรือ ไอเอส เมื่อปี 2014
ชาวอิรักร่วมพิธีศพของสมาชิกกองกำลัง
ด้านกระทรวงการต่างประเทศอิรักเรียกตัวอุปทูตสหรัฐฯ เข้าพบเพื่อประท้วงกรณีที่สหรัฐฯ โจมตีพื้นที่ทางทหารและเขตพลเรือนเมื่อคืนวันศุกร์ที่ 2 ก.พ. ที่ผ่านมา ซึ่งทำให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 16 คน ในจำนวนนี้มีพลเรือนรวมอยู่ด้วย และมีผู้ได้รับบาดเจ็บอีก 25 คน
ความเคลื่อนไหวในอิรักถูกจับตามองอย่างใกล้ชิด เพราะเป็นหนึ่งในจุดเสี่ยงเกิดสงคราม หลังจากกลุ่มติดอาวุธที่เป็นพันธมิตรกับอิหร่าน ซึ่งมีอยู่หลายกลุ่มเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค เปิดฉากโจมตีฐานทัพและผลประโยชน์อเมริกัน ทั้งในอิรักและซีเรีย มากกว่า 150 ครั้ง ในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา ทำให้มีทหารอเมริกันเสียชีวิต 3 นาย และบาดเจ็บอีกไม่ต่ำกว่า 100 นาย
ทหารอเมริกันเสียชีวิต 3 นายหลังฐานทัพอเมริกันในจอร์แดนถูกโจมตี
ความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการโจมตีฐานทัพอเมริกันในจอร์แดนของกลุ่มติดอาวุธในอิรัก บีบให้สหรัฐฯ ต้องตอบโต้ ซึ่ง ไบเดน ใช้เวลาเกือบ 1 สัปดาห์ กว่าที่จะเริ่มปฏิบัติการโจมตีทางอากาศ ระยะที่ 1 ในอิรักและซีเรีย
สหรัฐฯ ส่งเครื่องบินจากฐานทัพในรัฐเท็กซัส ทิ้งระเบิดมากกว่า 125 ลูก โจมตีศูนย์บัญชาการและควบคุม สำนักงานข่าวกรองไปจนถึงคลังเก็บขีปนาวุธและโดรน รวมมากกว่า 85 เป้าหมาย ใน 7 จุด ตลอดแนวแม่น้ำยูเฟรติสในซีเรีย บริเวณพรมแดนอิรัก-ซีเรีย และทางตอนใต้ของกรุงแบกแดด
นักวิเคราะห์ มองว่า การที่สหรัฐฯ ไม่โจมตีเข้าไปในดินแดนของอิหร่าน รวมทั้งถ่วงเวลาในการตอบโต้และส่งสัญญาณเตือนกลายๆ ไปยังกลุ่มติดอาวุธ ช่วยเปิดทางให้กลุ่มต่างๆ ในอิรักและซีเรีย มีเวลาในการเตรียมการ เพื่อลดความสูญเสียจากการถูกโจมตี ซึ่งอาจรวมถึงการย้ายกำลังคนออกจากพื้นที่เสี่ยง
จุดนี้ชัดเจนว่า สหรัฐฯ ไม่ต้องการสงคราม โดยเฉพาะการเปิดศึกกับอิหร่านตรงๆ เพราะนั่นหมายความว่า สหรัฐฯ อาจต้องเสียงบประมาณก้อนมหาศาล ต้องเผชิญกับราคาน้ำมันที่พุ่งสูงขึ้น และผลกระทบที่จะตามมาจากความไร้เสถียรภาพในตะวันออกกลาง ซึ่งปัญหาทั้งหมดนี้อาจจะเกิดขึ้นไม่กี่เดือนก่อนหน้าการเลือกตั้งผู้นำสหรัฐฯ
ดังนั้นไบเดนจึงไม่อยากแบกรับความเสี่ยงนี้
การเลือกตั้งผู้นำสหรัฐฯ ที่จำเกิดขึ้นในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า
ขณะที่ยุทธศาสตร์การป้องกันของอิหร่านผ่านการใช้สงครามตัวแทนบนหลักการที่ว่า อิหร่านจะรบกับศัตรูนอกพรมแดนอิหร่าน เพื่อป้องกันความขัดแย้งในประเทศ ทำให้ในปัจจุบัน อิหร่านสนับสนุนกลุ่มติดอาวุธไม่ต่ำกว่า 13 กลุ่มทั้งในเวสต์ แบงค์ กาซา เลบานอน ซีเรีย อิรัก บาห์เรน และ เยเมน
สหรัฐฯ ประกาศว่าการโจมตีเป้าหมายในอิรักและซีเรียจะเกิดขึ้นหลายวันในหลายระดับชั้น โดยปัจจุบันมีทหารอเมริกันประจำการอยู่ในตะวันออกกลางมากกว่า 45,000 นาย กระจายอยู่ในอย่างน้อย 8 ประเทศ มากที่สุดคือที่คูเวต ตามมาด้วยกาตาร์และบาห์เรน
ทหารสหรัฐฯ ประจำการในตะวันออกกลาง
นี่ยังไม่นับรวมเรือรบและทหารอีกหลายพันนาย ที่ถูกส่งมาเสริมทัพหลังสงครามปะทุขึ้นในกาซา ดังนั้นหลังจากนี้ต้องจับตาดูกันให้ดีว่า กลุ่มติดอาวุธที่อิหร่านสนับสนุนกลุ่มต่างๆ เหล่านี้จะเคลื่อนไหวอย่างไร แต่จุดที่น่ากังวลมากที่สุดจุดหนึ่ง หนีไม่พ้นที่ "เยเมน"
1 วัน หลังการโจมตีอิรักและซีเรีย สหรัฐฯ จับมืออังกฤษเปิดปฏิบัติการโจมตี 36 เป้าหมาย ใน 13 จุด บริเวณพื้นที่ควบคุมของกลุ่มฮูตีในเยเมน เพื่อลดขีดความสามารถของฮูตีในการเดินหน้าโจมตีเรือในทะเลแดง แต่ดูเหมือนว่าความพยายามของสหรัฐฯ ในการป้องปรามจะไม่ได้ผล
ปัจจุบันยังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ว่าอิหร่านมีส่วนเกี่ยวข้อง หรือรู้เห็นเป็นใจกับการโจมตีของกลุ่มติดอาวุธที่อิหร่านสนับสนุนในพื้นที่ต่างๆ มากน้อยแค่ไหน แต่สิ่งหนึ่งที่ชัดเจน นั่นคือ อิหร่านไม่ต้องการกระโดดลงสมรภูมิรบด้วยตัวเอง
ทั้งปัญหาเศรษฐกิจ ความเสี่ยงของการเกิดความไม่สงบขึ้นในประเทศ รวมทั้งเป้าหมายในการพัฒนานิวเคลียร์และการแผ่ขยายอิทธิพลไปทั่วภูมิภาค ประเด็นเหล่านี้ถือเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้อิหร่านไม่ต้องการสงคราม ตอนนี้ยังพอเบาใจได้ แต่ถ้าปล่อยให้สถานการณ์ยกระดับความตึงเครียดขึ้นไปเรื่อยๆ อะไรๆ ก็อาจจะเกิดขึ้นได้
วิเคราะห์โดย : ทิพย์ตะวัน ธีรนัยพงศ์
อ่านข่าวอื่น :
เขย่าให้แน่น "อนุทิน" ลั่นเก้าอี้ภท.ไม่หลุด-ไร้ปรับครม.
เร่งตรวจสอบ-ถม “ดินยุบตัว” กว้าง-ลึกเกือบ 20 เมตร ที่ จ.กระบี่