วันนี้ (5 ก.พ.2567) ตำรวจกองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บช.สอท.) แนะ 6 วิธีสังเกตเพจปลอม หลังพบข่าวมิจฉาชีพแฝงตัวมาดูดเงินในรูปแบบเพจปลอมต่าง ๆ ทั้งที่พัก โรงแรม ร้านค้าออนไลน์ หรือเพจทางธุรกรรมต่างๆ ประชาชนจึงต้องรู้เท่าทัน ด้วยการเช็กก่อน อย่ารีบโอน
- เพจต้องได้รับการยืนยันด้วยเครื่องหมายรับรองตัวตน Verified badge
- ตรวจสอบรายละเอียดของเพจ เช่น วันที่สร้างเพจ และเพจเคยมีการเปลี่ยนชื่อเพจมาก่อนหรือไม่ หากเพจเพิ่งสร้างขึ้นมาไม่นานหรือมีการเปลี่ยนแปลงชื่อเพจ อาจเสี่ยงต่อการเป็นเพจปลอม
- ตรวจสอบยอดผู้กดถูกใจโพสต์ เพจปลอมมักมีผู้ติดตามน้อย มิจฉาชีพ อาจสร้างยอดผู้ติดตามปลอมไว้ที่รายละเอียดของเพจซึ่งถ้ามองผ่านๆ ก็จะคล้ายจำนวนผู้ติดตามจริง
- ชื่อเพจสะกดถูกต้องหรือไม่ เพราะมิจฉาชีพมักทำเลียนแบบ อาจจะมีจุดหรืออักขระพิเศษ หากไม่สังเกตอาจทำให้ถูกหลอกลวงได้
- การโพสต์เนื้อหาและโต้ตอบในเพจ จำนวนคนกดถูกใจ และคอมเมนต์ อาจมีผู้คนสนใจและโต้ตอบน้อย หรืออาจจะมีคอมเมนต์ที่ตำหนิ เช่น สั่งสินค้าไปไม่ได้รับของเลย
- สังเกตที่ URL ของเพจ อาจเป็นคำแปลก ๆ ที่ไม่มีความหมาย
บช.สอท.เปิด 6 วิธีสังเกตเพจปลอม หลอกจองที่พัก โรงแรม ขายของออนไลน์ แนะประชาชนอย่ารีบโอน ให้ตรวจเครื่องหมายรับรองตัวตน Verified badge ชื่อเพจ รายละเอียดคอมเมนต์ ยอดไลค์
ข้อมูลสถิติศูนย์บริหารการรับแจ้งความออนไลน์ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ พบ 5 อันดับ คดีอาชญากรรมออนไลน์ที่คนไทยตกเป็นผู้เสียหายสูงสุด ตั้งแต่วันที่ 1 มี.ค.65 - 28 มิ.ย.2566 ได้แก่ หลอกลวงซื้อขายสินค้าหรือบริการ จำนวน 108,383 ครั้ง, หลอกให้โอนเงินเพื่อทำงาน 38,669 ครั้ง, หลอกให้กู้เงิน 35,121 ครั้ง, หลอกให้ลงทุนผ่านระบบคอมพิวเตอร์ 23,454 ครั้ง และข่มขู่ทางโทรศัพท์ 21,482 ครั้ง