ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

"ก้าวไกล" ชี้คำวินิจฉัยศาล รธน.กระทบการเมือง-สิทธิเสรีภาพ

การเมือง
31 ม.ค. 67
16:49
3,226
Logo Thai PBS
"ก้าวไกล" ชี้คำวินิจฉัยศาล รธน.กระทบการเมือง-สิทธิเสรีภาพ
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
“พิธา” นำทัพก้าวไกล แถลงหลังคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญคดีมาตรา 112 เข้าข่ายล้มล้างการปกครอง กังวลกระทบการเมืองไทยและสิทธิเสรีภาพประชาชน เสี่ยงตีความไม่ตรงหลักเกณฑ์-ข้อเท็จจริง

วันนี้ (31 ม.ค.2567) เมื่อเวลา 15.00 น.นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ที่ปรึกษาพรรคก้าวไกล นายชัยธวัช ตุลาธน หัวหน้าพรรคก้าวไกล พร้อมด้วยกรรมการบริหารพรรคก้าวไกล เปิดวอร์รูมที่ห้อง 607 อาคารรัฐสภา เพื่อร่วมรับฟังคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ คดียกเลิกประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 โดยใช้เป็นนโยบายในการหาเสียงเลือกตั้ง เข้าข่ายล้มล้างการปกครอง

ต่อมาหลังศาลรัฐธรรมนูญ มีคำวินิจฉัยว่า การหาเสียงมาตรา 112 เข้าข่ายล้มล้างการปกครอง โดยให้หยุดการกระทำทั้งหมด

อ่านข่าว ลุ้นคำวินิจฉัย "พิธา-ก้าวไกล" หาเสียง ม.112 ล้มล้างการปกครอง

พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ พร้อมกรรมการบริหารพรรคร่วมแถลงหลังคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ

พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ พร้อมกรรมการบริหารพรรคร่วมแถลงหลังคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ

พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ พร้อมกรรมการบริหารพรรคร่วมแถลงหลังคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ

"พิธา-ชัยธวัช" ชี้คำวินิจฉัยศาล รธน.กระทบ

ต่อมาเวลา 16.20 น. นายพิธา พร้อมด้วยนายชัยธวัช แถลงหลังคำวินิจฉัย โดยไม่ได้มีสีหน้าเคร่งเครียด

นายชัยธวัช  กล่าวว่า แม้ว่าศาลจะวินิจฉัยว่าการกระทำของพรรคก้าวไกล เป็นการใช้สิทธิเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครอง แต่พรรคก้าวไกลขอยืนยันอีกครั้งว่าไม่ได้มีเจตนา เพื่อเซาะกร่อนบ่อนทำลาย หรือแยกสถาบันพระมหากษัตริย์ออกจากชาติ

และยังกังวลว่าคำวินิจฉัยอาจก่อผลกระทบการเมืองไทยระยะยาว เช่น กระทบต่อความสัมพันธ์ทางอำนาจระหว่างฝ่ายนิติบัญญัติกับศาลรัฐธรรมนูญในอนาคต และกระทบความเข้าใจและการให้ความหมายรัฐธรรมนูญในระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข

นายชัยธวัช ตุลาธน หัวหน้าพรรคก้าวไกล

นายชัยธวัช ตุลาธน หัวหน้าพรรคก้าวไกล

นายชัยธวัช ตุลาธน หัวหน้าพรรคก้าวไกล

หลักการสำคัญของระบอบการเมืองไม่มีความชัดเจน สิ่งที่เคยกระทำในอดีตทั้งในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ และระบอบประชาธิปไตยอาจเป็นการล้มล้างการปกครองได้ทั้งในปัจจุบันและอนาคต และกระทบเรื่องการตีความที่อาจเกิดปัญหาเข้าใจหลักเกณฑ์ไม่ตรงกัน ทั้งข้อเท็จจริง ข้อกฎหมายและเจตนา

นายชัยธวัช กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ยังทำให้สังคมไทยสูญเสียโอกาสในการใช้ระบบรัฐสภาหาข้อยุติความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในอนาคต และกระทบเรื่องประเด็นพระมหากษัตริย์ เป็นปมขัดแย้งในสังคมไทย และกระทบด้านลบต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ พร้อมกล่าวขอบคุณทุกกำลังใจที่ส่งมาให้พรรคก้าวไกล

คำวินิจฉัยวันนี้ไม่ได้กระทบพรรคก้าวไกลเท่านั้น แต่จะกระทบต่อความเป็นประชาธิปไตยของประเทศ สิทธิเสรีภาพของประชาชน สิ่งที่เกิดขึ้นในวันนี้และที่จะเกิดขึ้นในอนาคต จึงเป็นเรื่องของพวกเราทุกคน ไม่ใช่ของพรรคก้าวไกล เป็นเรื่องของอนาคตของระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุข

อ่านข่าว ถ่ายทอดสด ศาลรธน.ชี้ชะตา "ก้าวไกล" หาเสียงแก้ ม.112 ล้มล้างการปกครอง

ส่วนการเตรียมการหลังจากนี้ นายชัยธวัช กล่าวว่า ต้องรอเอกสารคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญโดยละเอียดอีกครั้ง เพราะไม่สามารถประมาทได้ในทางกฎหมาย ต้องเตรียมรับทุกสถานการณ์ ไม่มีความกังวล แต่ก็ไม่ประมาท

แต่อย่างไรก็ตามมีความกังวลต่อคำวินิจฉัย โดยยกตัวอย่าง การที่มี สส.ของพรรคก้าวไกลไปประกันตัวผู้ต้องหาคดี 112 ถือเอามาเป็นองค์ประกอบว่าเรามีเจตนาล้มล้างการปกครอง มันก็มีปัญหา เท่ากับว่าหลักเกณฑ์ตามกฎหมายซึ่งรับรองในรัฐธรรมนูญที่บอกว่าหลักที่ต้องสันนิษฐานไว้ก่อน ไม่ว่าจะถูกกล่าวหาข้อหาอะไร บุคคลใดก็ต้องถูกกล่าวหาไว้ก่อนว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ แบบนี้ก็ทำให้ขัดกัน และการประกันตัวผู้ต้องหาหรือผู้ที่ถูกล่าวหาใดๆ เป็นการใช้สิทธิในกระบวนการยุติธรรมของทุกคน

นายชัยธวัช ระบุอีกว่า กระบวนการยุติธรรมไม่ได้ยกเว้นว่าถ้าถูกแจ้งข้อหาใดจะต้องถือว่าเป็นผู้ไม่บริสุทธ์ ถือว่าห้ามประกันตัว ถือว่าใครเข้ามาเกี่ยวข้องจะมีความผิดไปด้วย หากเป็นเช่นนั้นผู้พิพากษาที่วินิจฉัยให้ผู้ที่ถูกกล่าวหาในการกระทำผิดมาตรา 112 ถือว่าเป็นผู้ร่วมขบวนการล้มล้างการปกครองไปด้วยหรือไม่ ทั้งหมดนี้คือการยกตัวอย่าง เราจึงมีความกังวลว่าอาจจะมีปัญหาได้ในอนาคต

คำวินิจฉัยออกมาแล้วก็ต้องเป็นไปตามนั้น แต่มันอาจส่งผลกระทบในหลักเกณฑ์ การตีความ หรือความไม่ชัดเจนแน่นอนในการใช้กฎหมาย

นายชัยธวัช ยังกล่าวอีกว่า คำสั่งของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญในวันนี้ (31 ม.ค.) มี 2 เรื่อง คือ 1.สั่งให้ผู้ถูกร้องทั้งสองเลิกการแสดงความคิดเห็น การพูด การเขียน การพิมพ์ การโฆษณาและการสื่อความหมายโดยวิธีอื่น เพื่อให้มีการยกเลิกมาตรา 112 นั่นหมายความว่า หลังจากนี้พรรคก้าวไกลจะต้องห้ามพูดเรื่องมาตรา 112 อย่างสิ้นเชิงหรือไม่และอย่างไร และต่อไปสื่อมวลชน นักวิชาการ หรือประชาชนทั่วไปจะแสดงความคิดเห็นต่อมาตรา 112 ไม่ได้หรือไม่ หรือแสดงในลักษณะไหนถือว่าผิด

และเรื่องที่ 2 ศาลสั่งไม่ให้มีการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ด้วยวิธีการซึ่งไม่ใช่กระบวนการนิติบัญญัติโดยชอบ ซึ่งไม่ทราบว่าหมายความว่าอย่างไร ต้องดูคำวินิจฉัยโดยละเอียด อาจทำให้เกิดปัญหา ต่อไปนี้หมายความว่าหากมีการเสนอกฎหมาย ศาลรัฐธรรมนูญสามารถที่จะเข้ามาวินิจฉัยความชอบด้วยรัฐธรรมนูญเมื่อไหร่ก็ได้ โดยไม่ต้องรอให้ผ่านวาระที่ 3 ก่อน ใช่หรือไม่ เป็นประเด็นที่ต้องพิจารณาต่อไป

ผู้สื่อข่าวถามว่า มีการประเมินว่าผู้ที่เคยเข้าชื่อเสนอแก้ไขมาตรา 112 จะถูกตัดสิทธิทางการเมืองนั้น นายชัยธวัช กล่าวว่า เป็นสิ่งที่ไม่ควรเกิดขึ้น ซึ่งการดำเนินการใดๆ ต่อจากนี้เกินสมควรจะทำให้สถาบันฯ กลายเป็นปมขัดแย้งในการเมืองไทยมากยิ่งขึ้น ซึ่งพรรคก้าวไกลมีเจตนาที่จะไม่ทำให้มาตรา 112 เป็นเครื่องมือทางการเมือง หรือเปิดช่องให้ใครผูกขาดความจงรักภักดีไว้กับตนเอง หรือแสวงหาผลประโยชน์ส่วนตัว

พร้อมระบุอีกว่า พรรคการเมืองที่รณรงค์หาเสียงว่าตนเองเป็นพรรคที่จงรักภักดี และโจมตีอีกพรรคว่ามีเจตนาเป็นลบนั้น ขอถามกลับว่าพรรคการเมืองดังกล่าวลดทอน บ่อนเซาะทำร้าย ทำให้พระมหากษัตริย์ไม่อยู่ในสถานะที่เป็นกลางทางการเมืองหรือไม่

นายชัยธวัช กล่าวว่า การตีความที่เหมือนไม่มีขอบเขต หลักเกณฑ์แน่นอน อาจเหมือนว่าการนิรโทษกรรมให้ผู้ที่ถูกดำเนินคดี หรือผู้ต้องขังจากข้อหาตามมาตรา 112 ถือว่ามีเจตนาซ่อนเร้นในการล้มล้างการปกครองก็ได้ ทั้งที่เคยเกิดขึ้นในอดีต ยกตัวอย่างบทบัญญัติยกเว้นความผิดในฐานความผิดหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ เคยเกิดขึ้นในอดีตและมีบทบัญญัติฯ ดังกล่าว ในสมัยรัชกาลที่ 5 และสมัย 2478-2499 ซึ่งไม่ได้เป็นปัญหาใดๆ แต่ปัจจุบันถูกวินิจฉัยว่าถือเป็นการล้มล้างการปกครอง

ตอนนี้ร่างกฎหมายเสนอไปแล้ว กระบวนการต่อจากนี้เป็นเรื่องของสภาฯ ซึ่งเสียงส่วนใหญ่ของสภาฯ จะเป็นข้อยุติที่เรายอมรับร่วมกันได้

ขณะที่นายพิธา กล่าวว่า ตนเองมีความเห็นสอดคล้องกับนายชัยธวัช ยืนยันว่ามีเจตนาบริสุทธิ์ ไม่มีวาระซ้อนเร้น ไม่มีความตั้งใจจะแยกสถาบันฯ ออกจากความมั่นคงของชาติ โดยมีความกังวลใจเรื่องของนิยามและขอบเขตนิติบัญญัติและรัฐธรรมนูญ

นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ

นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ

นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ

"ธนาธร" ไม่ขอให้ความเห็นหลังคำวินิจฉัย

นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า เดินทางมาที่ห้อง 607 พร้อมระบุสั้นๆ ว่า ไม่ขอตอบคำถามกรณีที่ศาลวินิจฉัยว่าการกระทำเป็นการเซาะกร่อนบ่อนทำลาย โดยกล่าวว่า ยังไม่ได้ฟังคำวินิจฉัย จึงไม่สามารถให้ความเห็นใดๆ ได้ เนื่องจากเพิ่งประชุมกรรมาธิการแล้วเสร็จ

ก่อนหน้านี้ นายธนาธร ระบุว่า อยากให้สังคมกลับมาตั้งหลักเรื่องนี้ให้มั่นๆ เพราะเชื่อว่าเป็นกฎหมายแล้ว กฎหมายไม่ได้ส่งแฟกซ์มาจากพระเจ้า กฎหมายร่างด้วยมือมนุษย์ มนุษย์ก็ต้องแก้ไขมันได้ คือหลักการพื้นฐาน หากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งเรียกได้เต็มปากว่าเป็นฝ่ายนิติบัญญัติ ไม่สามารถแก้ไขกฎหมายได้ คิดว่าคงมีอะไรไม่ปกติในประเทศนี้

อ่านข่าว

ศาลรัฐธรรมนูญชี้ "ก้าวไกล" หาเสียงแก้ ม.112 เข้าข่ายล้มล้างการปกครอง

“มายด์” รอดคดี 112 นำร่อง “ปรองดอง” แทน ใช้กฎหมายเข้ม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง