ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ดัชนีชี้ภาวะเศรษฐกิจไทย "ต้มยำกุ้ง" - โควิด-19 - "ต้มกบ"

เศรษฐกิจ
24 ม.ค. 67
13:35
5,850
Logo Thai PBS
ดัชนีชี้ภาวะเศรษฐกิจไทย "ต้มยำกุ้ง" - โควิด-19 - "ต้มกบ"
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)

ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ สงครามการค้า การลงทุน ภาวะเงินเฟ้อที่เกิดขึ้นทั่วโลก ไม่เพียงส่งผลกระทบต่อสภาวะเศรษฐกิจที่นับวันจะถดถอยลงอย่างต่อเนื่อง แต่ยังสร้างความสั่นสะเทือนต่อภาวะการเงิน การคลังของประเทศด้วย  

ก่อนเกิดเหตุการณ์วิกฤต "ต้มยำกุ้ง" ประเทศไทยเคยได้รับการขนานนามว่าจะเป็น "เสือตัวที่ 5 แห่งเอเชีย ต่อจาก ฮ่องกง เกาหลีใต้ สิงคโปร์ และไต้หวัน เป็นหนึ่งในประเทศที่เนื้อหอม ได้รับความสนใจจากนักลงทุนต่างชาติ

แม้ที่ผ่านมาไทยจะพยายามเปิดประเทศ โดยนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ได้เดินสายโรดโชว์ในต่างประเทศ เพื่อดึงดูดนักธุรกิจให้เข้ามาลงกระตุ้น ช่วยกระตุ้นภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวหลังสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย สิ่งที่เห็นได้ชัดคือ การเดินหน้าโครงการแลนด์บริดจ์ ที่มีมูลค่ามากกว่า 1 ล้านล้านบาท เป้าหมายคือ การสร้างโอกาสให้กับประเทศไทย หลังอยู่ในภาวะชะงักมานาน

อย่างไรก็ตาม หากย้อนกลับไปเมื่อหลายสิบปีก่อน เกิดวิกฤตการเงินในเอเชียหรือครั้งสำคัญของโลกครั้งหนึ่งที่ทำให้โลกรู้จักประเทศไทยเป็นอย่างดีคือ หรือ วิกฤต "ต้มยำกุ้ง" ถือเป็นวิกฤตการณ์เศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ไทย ทิ้งบทเรียนครั้งสำคัญของการดำเนินนโยบายการเงินที่ผิดพลาดในอดีต ทำให้นักลงทุนไม่น้อยต้องล้มบนฟูก บางครอบครัวเครียดถึงกับต้องปลิดชีพตัวเอง

แม้ครั้งนั้น จะมีผลกระทบต่อชีวิตผู้คนเป็นวงกว้างไม่เท่า "วิกฤตโควิด-19" ที่มีคนป่วย และเสียชีวิตจำนวนมาก หลายคนขาดรายได้จากการถูกเลิกจ้าง ธุรกิจต้องล้มเลิก เสียโอกาสในการเรียน ทำเศรษฐกิจกระทบหนักไปทั่วโลก

ไทยพีบีเอส ออนไลน์ เปิดวาทกรรม "วิกฤตเศรษฐกิจ"กับ รศ.ดร.สมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์ นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์และการเมือง จาก"ต้มยำกุ้ง" - โควิด-19 - สู่ วิกฤต "ต้มกบ" ในปี 2567

อ่านข่าว : "เศรษฐา" ไม่ยืนยัน GDP ไทยปี 66 โต 1.8% โยน สศค.ชี้แจง

วิกฤตเศรษฐกิจ "ต้มยำกุ้ง - โควิด-19

รศ.ดร.สมชาย อธิบายสภาพเศรษฐกิจในช่วงที่หลายคนเรียกว่า "วิกฤตต้มยำกุ้ง" ในปี 2540 เริ่มจากประเทศไทยในยุครัฐบาล "บิ๊กจิ๋ว" พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ์ ประกาศลอยตัวค่าเงินบาท เป็นวิกฤตทางการเงินที่เริ่มขึ้นในประเทศไทย และส่งผลไปถึงภูมิภาคอาเซียน

วิกฤตดังกล่าวถูกเรียกว่า วิกฤตต้มยำกุ้ง ซึ่ง รศ.ดร.สมชาย ให้ความเห็นว่า "ต้มยำกุ้ง" เป็นชื่อที่เป็นเหมือนสัญลักษณ์ของประเทศไทย แม้ไม่ทราบว่า ใครคนเริ่มต้นเรียกเป็นคนแรก แต่วิกฤตนี้ทำธุรกิจไม่ว่าจะเล็กหรือใหญ่ล้ม หลายคนเป็นหนี้ก้อนโตในชั่วข้ามคืน

ไม่แตกต่างจาก วิกฤตเศรษฐกิจในสหรัฐฯ กับ "วิกฤตซับไพรม์" หรือที่หลายคนเรียก ว่า "วิกฤตแฮมเบอร์เกอร์" ซึ่ง "แฮมเบอร์เกอร์" ที่เป็นเหมือนสัญลักษณ์ของอเมริกา โดยปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจเริ่มเกิดขึ้นที่สหรัฐฯ ส่งผลกระทบต่อเนื่องไปทั่วโลก

มาถึง "โควิด-19" วิกฤตสุขภาพ นำมาสู่วิกฤตเศรษฐกิจ ที่ทำทั่วโลกสั่นสะเทือนต่อเนื่องหลายปี การเรียกชื่อช่วงนี้ก็เป็นช่วง ที่เกิดวิกฤตการระบาดของโรค ส่งผลกระทบต่อผู้คน เศรษฐกิจวงกว้าง

ความต่าง"ต้มยำกุ้ง - โควิด-19"

ในช่วง 27 ปีที่ผ่านมา อาจพูดได้ว่า ไทยเจอกับวิกฤตเศรษฐกิจครั้งใหญ่ ครั้งแรก คือ "วิกฤตต้มยํากุ้ง" ที่เกิดขึ้นในช่วง พ.ศ.2540 - 2541 และครั้งที่เกิดขึ้นในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา คือ วิกฤตเศรษฐกิจจากการระบาดของ "โรคโควิด-19" ในช่วง พ.ศ.2563 จนปัจจุบัน

สิ่งที่เหมือนกันของ 2 "วิกฤตต้มยํากุ้ง" และ "วิกฤตโควิด-19" คือ ทำให้เศรษฐกิจไทยได้รับผลกระทบหนัก แล้วความแตกต่างกันของ ทั้ง 2 วิกฤตนี้คืออะไร และเป็นอย่างไร

รศ.ดร.สมชาย อธิบายว่า "วิกฤตต้มยํากุ้ง" หรือ "วิกฤตการณ์การเงินในเอเชีย" มีจุดเริ่มต้นขึ้นในประเทศไทย ก่อนลุกลามไปในหลายประเทศ ทั้ง มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย และเกาหลีใต้ หรือหลายคนอาจจะเรียกว่า "วิกฤต IMF" เนื่องจาก ไทยต้องขอความช่วยเหลือทางการเงินจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (International Monetary Fund : IMF)

วิกฤตเศรษฐกิจนี้ นำไปสู่การยกเลิกอัตราแลกเปลี่ยนแบบคงที่ และเปลี่ยนเป็นการปล่อยค่าเงินบาทลอยตัว ในปีนั้นเรามีเงินไม่เพียงพอที่จะรองรับกับหนี้ต่างประเทศ 

อ่านข่าว : ททท.ประเมิน "ตรุษจีน" มาตรการวีซาฟรีหนุนจีนเที่ยวไทยพุ่ง

รศ.ดร.สมชาย กล่าวว่า ไทยมีการเปิดเสรีทางการเงิน แต่ด้วยความที่ไม่รู้และไม่ได้มีการเตรียมตัว ธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ แบงค์ชาติ ยังใช้อัตราแลกเปลี่ยนตายตัว แทนที่จะให้มีความยืดหยุ่น ส่วนเอกชนไปกู้เงินต่างประเทศ เพราะเห็นว่าดอกเบี้ยต่ำ ทำให้เกิดการก่อหนี้ รายได้หาย

"การส่งออกของไทยเริ่มชะลอตัว ขณะที่ ดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยเริ่มขาดดุลมากขึ้น ทำให้เสียความสามารถในการแข่งขัน คือ ซื้อสินค้าและบริการมากกว่าขาย แถมยังมีเงินสำรองไม่พอ"

ในที่สุดแบงค์ชาติ ก็ต้องปล่อยให้อัตราแลกเปลี่ยนลอยตัว ซึ่งทำให้จากอัตราแลกเปลี่ยน จาก 26 บาท ต่อดอลลาร์สหรัฐ กลายเป็นกว่า 50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ

จึงเกิดวิกฤตครั้งยิ่งใหญ่ เอกชนในบริษัทตลาดหลักทรัพย์ ตายกันเรียบ ขนาดที่สถาบันการเงิน 56 แห่ง ปิดหมด ทำให้เกิดผลกระทบกับประเทศมหาศาล จึงต้องไปกู้เงินจาก IMF จำนวน 17,600 ล้าน ครั้งนั้นต้องใช้เวลา กว่า 2 ปี ถึงจะฟื้นกันขึ้นมา

มาถึงวิกฤตสุขภาพ "โควิด-19" นำมาสู่วิกฤตเศรษฐกิจ ที่ทำทั่วโลกสั่นสะเทือนต่อเนื่องหลายปี

รศ.ดร.สมชาย กล่าวว่า ช่วงวิกฤตโควิด-19 แตกต่างจาก สมัยต้มยำกุ้ง เพราะมีคนป่วย เสียชีวิตจำนวนมาก บริษัท ธุรกิจ SMEs ไดรับผลกระทบทุกคน การล็อกดาวน์ในบางช่วง และการปิดประเทศ การเดินทางหยุดชะงัก การระบาดของโควิด-19 ยังส่งผลกระทบกับเศรษฐกิจหลายประเทศทั่วโลก ซึ่งบางแห่งเป็นตลาดส่งออกที่สำคัญของไทย

ที่สำคัญคือ การท่องเที่ยวที่เป็นแหล่งรายได้สำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย ก็ได้รับผลกระทบอย่างหนักเช่นกัน

"ช่วงต้มยำกุ้ง คนที่เดือดร้อนคือคนที่กู้เงินกับสถาบันการเงิน แต่ช่วงโควิดเรียกว่า "เดือดร้อนทุกย่อมหญ้า" รัฐบาลจึงต้องดำเนินหลายมาตรการ หนึ่งในนั้นคือ "การกู้เงิน" และใช้วิธีให้การช่วยเหลือ รัฐบาลมีการออกพันธบัตร มาตรการคนละครึ่ง เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่ว่าการฟื้นตัวก็ยังต่ำมาก"

"วิกฤตต้มกบ" คืออะไร ?

นอกจากนี้ รศ.ดร.สมชาย ยังได้อธิบายถึงสภาพเศรษฐกิจ วิกฤตต้มกบว่า เหมือนกบในหม้อต้ม

"เหมือนกบอยู่ในหม้อน้ำที่กำลังต้ม น้ำค่อย ๆ เดือด แต่กบปรับอุณหภูมิตัวเองช้า ๆ ตามน้ำไม่รู้ตัวว่าตัวเองกำลังจะตาย จนน้ำเดือดกบตัวนั้นก็ไม่สามารถกระโดดหนีได้แล้ว และต้องตายในที่สุด"

หากเทียบกับเศรษฐกิจไทย เศรษฐกิจเติบโตช้าลง หากหลายแห่งปรับตัวไม่ทัน กับการเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยี หากไม่ปรับตัว ไทยก็ไม่สามารถแข่งขันได้และจะต้องตายเหมือน "กบต้ม"

รศ.ดร.สมชาย กล่าวว่า การที่ประเทศไทยมีอัตราการเติบโตต่ำ ไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้น แต่เป็นมา 10-20 ปีแล้ว ซึ่งการลดต่ำลงเพราะโลกเปลี่ยนแปลงหาไปสู่ดิจิทัล ประเทศไทยปรับไม่ทัน

อ่านข่าว : เปิดข้อมูลสภาพเศรษฐกิจ "ระนอง-ชุมพร" ก่อนมีแลนด์บริดจ์

อัตราการเติบโตของไทยตลอด 10 ปี ยกตัวอย่างง่าย ๆ ตั้งแต่ปี 2010 -2023 ปีที่แล้วไม่มากนักเพราะตัวเลขไม่มากนัก ปี 2022 อัตราการเติมโตของเรา 2.6% ต่อปี อาเซียน 4.3 ต่ำสุดในอาเซียน เป็นอันดับ 9 ชนะอยู่ประเทศเดียวคือ บรูไน

การที่เศรษฐกิจแย่ไม่ได้เกิดจากโควิด แต่เกิดจากความสามารถในการแข่งขันเราลด โลกเปลี่ยน อีกอย่างคือ เรายังมีการผลิตสินค้า ที่มีมูลค่าเพิ่มน้อย

สิ่งที่รัฐบาลกำลังทำ คือ กระตุ้นเงินดิจิทัล อาจกระตุ้นได้ปีเดียว แต่ก็มีความเสี่ยง กระตุ้นแล้วมีการบริหารไม่ดี จะมีความเสี่ยงทางด้านการคลัง นักลงทุนก็จะมาจับตามอง ในอนาคตเราจะมีความสามารถในการจ่ายคืนได้แค่ไหน

รศ.ดร.สมชาย กล่าวว่า หากไม่มีเรื่องดิจิทัล เศรษฐกิจก็ฟื้นตัว หลายคนจึงบอกว่ารัฐบาลอย่าไปทำเลยเพราะยังไม่มีวิกฤต เพราะเศรษฐกิจปีนี้จะขยายตัว 3% เพียงแต่รัฐบาลบอกว่ามีวิกฤต มองว่า ถูกทั้งคู่หรือผิดทั้งคู่ คือ ไม่มีวิกฤต แต่มีปัญหา

ยังตอบไม่ได้ว่า ในในอนาคตจะเกิดวิกฤตอย่างต้มยำกุ้ง หรือ โควิค-19 หรือไม่ แต่มีสิ่งที่ต้องระวังคือ "หนี้สาธารณะ" อีกอย่างคือ "งบประมาณ" ที่เหลือน้อยเต็มที งบลงทุนเหลือ 20% ฉะนั้นการจะกระตุ้นเศรษฐกิจโดยภาครัฐเริ่มลำบาก

ขณะที่ อายุเฉลี่ยของประชากรไทยที่เพิ่มขึ้น อีก 10 ปี ข้างหน้า อาจถึง 20 ล้านคน จำนวนคนที่ทำงานขณะนี้อยู่ที่ 65% อีก 10 ปีคนทำงานจะเหลือเท่าไร ส่วนนี้ ถือเป็นปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และความเสี่ยงของประเทศไทย ในอนาคต รศ.ดร.สมชาย กล่าวทิ้งท้าย 

อ่านข่าวอื่น ๆ

7 สมาคมอสังหาฯ ยื่นหนังสือ ธปท.ฟื้นมาตรการกู้เต็มเพดาน

เฮลั่น ประมงพื้นบ้าน 1.2 หมื่นลำ "กรมประมง" ขึ้นทะเบียนถูกกฎหมาย

กองสลากฯ เตรียมออกสลาก 3 ตัว นำร่อง 1 ล้านหมายเลข

ข่าวที่เกี่ยวข้อง