เป็นประเด็นที่สังคมหยิบยกขึ้นมาถกเถียงกันอย่างกว้างขวางอีกครั้ง สำหรับเกณฑ์อายุของเด็กและเยาวชนในการรับผิดทางคดีอาญา ภายหลังเกิดเหตุเด็กและเยาวชน 5 คน ร่วมกันทำร้าย ป้ากบ “บัวผัน ตันสุ” จนเสียชีวิต ซึ่งผู้ก่อเหตุอายุต่ำสุดที่ 13 ปี มากสุดเพียง 16 ปีเท่านั้น
กฎหมายประเทศไทย เคยกำหนดอายุเด็กที่ต้องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ต่ำสุดที่ 7 ปีมาก่อน แต่มีการปรับเปลี่ยนภายหลังปี 2551 โดยปรับเพิ่มอายุขึ้นมาเป็น 10 ปี จากนั้นก็ปรับเพิ่มอายุอีกครั้งในปี 2565 ซึ่งปรับขึ้นมาที่ 12 ปี และคดีในเด็กและเยาวชนจะถูกพิจารณาในศาลเยาวชนและครอบครัว
ภาพกล้องวงจรปิด คดีฆาตกรรมป้ากบ
- เกณฑ์อายุเด็กหรือเยาวชนเมื่อถูกจับในคดีอาญา ว่าด้วย พระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 และพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 29) พุทธศักราช 2565 เมื่อมีการจับกุมเด็กและเยาวชน กำหนดให้ “ตำรวจ” ต้องแจ้งข้อกล่าวหาและสิทธิตามกฎหมายให้เด็กและเยาวชนทราบ หลังจากนั้นก็ให้นำตัวเด็กหรือเยาวชนไปที่ทำการของพนักงานสอบสวนโดยเร็ว ทำการสอบสวนสอบปากคำ ดำเนินกระบวนการตามกฎหมาย และให้ ส่งตัวเด็กหรือเยาวชน ที่ถูกจับไปศาลเพื่อตรวจสอบการจับกุม ภายในเวลา 24 ชั่วโมง
- อายุต่ำกว่า 12 ปี พนักงานเจ้าหน้าที่ตามกฎหมายคุ้มครอง จะต้องดำเนินการสืบเสาะและพินิจข้อเท็จจริงที่เกี่ยวข้อง รวมถึงกำหนดแนวทางคุ้มครองสวัสดิภาพเด็ก จัดประชุมผู้เกี่ยวข้อง เพื่อกำหนดแผนแก้ไขฟื้นฟูเด็ก วิธีการคุ้มครองสวัสดิภาพ การยุติการคุ้มครองรวมถึงการเยียวยาผู้เสียหาย
อายุ 12 – 15 ปี
- แจ้งผู้ปกครองและแจ้งสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน เพื่อสืบเสาะและจัดทำแผนแก้ไขบำบัดฟื้นฟู ส่งให้ตำรวจ/อัยการ/ศาล ภายใน 30 วัน
- นำตัวเด็กส่งต่อศาลเยาวชนและครอบครัว ภายใน 24 ชั่วโมง
- ศาลเยาวชนและครอบครัวพิจารณาคดี กรณีศาลฯ เห็นว่า ยังไม่เห็นสมควรพิพากษาลงโทษ จะดำเนินการว่ากล่าวตักเตือนปล่อยตัวชั่วคราว (มี/ไม่มีประกัน) ส่งตัวเด็กไปยังสถานศึกษา/ฝึกอบรมมอบตัวเด็กให้อยู่กับบุคคลหรือองค์กรที่ศาลเห็นสมควร หรือกำหนดเงื่อนไขที่จะต้องปฏิบัติตามภานในระยะเวลาที่กำหนด
อายุ 15-18 ปี - กรณีศาลฯ เห็นว่า ยังไม่เห็นสมควรพิพากษาลงโทษ ให้ดำเนินการเช่นเดียวกับเด็กและเยาชนอายุ 12-15 ปี
- กรณีศาลฯ เห็นว่า เห็นสมควรพิพากษาลงโทษ : ลดโทษกึ่งหนึ่งของโทษทางกฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดในคดีอาญาหรือสั่งโอนคดีไปยังศาลที่มีอำนาจพิจารณาคดีธรรมดาได้ (ถ้าเด็กหรือเยาวชนที่ทำความผิด มีร่างกาย จิตใจ สติปัญญา และนิสัยเหมือนผู้ใหญ่)
แต่ในกรณีที่มีการเรียกร้องค่าเสียหาย เยียวยาใดๆ ก็ยังต้องรับผิดในทางแพ่ง โดยพ่อ-แม่ต้องร่วมรับผิดชอบชดใช้
ในขณะที่ไทยปรับเพิ่มอายุของเด็ก ญี่ปุ่นได้ปรับลดอายุของเยาวชนลง จาก 20 ปี เป็น 18 ปี เมื่อเดือน เม.ย.2565 มีการปรับปรุงกฎหมายเยาวชน ด้วยการลดอายุการบรรลุนิติภาวะตามกฎหมายจาก 20 ปี เป็น 18 ปี และนี่ก็ทำให้ชายวัยรุ่น อายุ 21 ปี ถูกศาลญี่ปุ่นตัดสินโทษประหารชีวิต เมื่อวันที่ 18 ม.ค.ที่ผ่านมา จากคดีฆาตกรรมซึ่งได้ก่อเหตุในขณะที่มีอายุ 19 ปี
ภาพจากภาพยนต์เกาหลีเรื่อง : Juvenile Justice (2022) หญิงเหล็กศาลเยาวชน
เกาหลีใต้ "อายุต่ำกว่า 13 ปี" ไม่ต้องรับโทษ
เกาหลีใต้ เยาวชนที่อายุต่ำกว่า 13 ปี ไม่ต้องรับโทษ แต่อายุ 13-18 ปี อาจต้องรับโทษสูงสุด 20 ปี ซึ่งเกณฑ์อายุถูกปรับลดจาก 14 ปี ลงมาที่ 13 ปีเมื่อปี 2561 หลังเกิดคดีรุนแรงที่มีเด็กเป็นผู้กระทำผิดถี่ขึ้น
จีน "อายุต่ำกว่า 12 ปี" ไม่ต้องรับโทษ
จีน กำหนดอายุต่ำกว่า 12 ปี จะไม่ต้องรับโทษ ส่วนเด็กอายุ 12-14 ปี ต้องได้รับโทษทางอาญา หากฆ่าผู้อื่นโดยเจตนาด้วยวิธีการอันทารุณโหดร้าย หรือทำร้ายผู้อื่นโดยเจตนาด้วยวิธีการอันทารุณโหดร้ายจนนำไปสู่การเสียชีวิตหรือทุพพลภาพร้ายแรง ส่วนเด็กที่มีอายุ 14-16 ปี อาจถูกลงโทษทางอาญา หากจงใจก่ออาชญากรรมร้ายแรง เช่น การฆาตกรรมและการข่มขืน
กำหนดโทษ "เด็ก-เยาวชน" กลุ่มประชาคมอาเซียน
การพิจารณาคดีเด็กและเยาวชน กลุ่มประเทศในประชาคมอาเซียน ในกลุ่มประชาคมอาเซียนมีความหลากหลายทั้งการเมือง การปกครอง เศรษฐกิจ สังคมและศาสนา ซึ่งนับว่าเป็นปัจจัยที่ส่งผลต่อการบัญญัติข้อกฎหมายอยู่ไม่น้อย
พบหลายประเทศกำหนดอายุต่ำสุดคือ 7 ปี ส่วนสถานภาพเยาวชนสูงสุดคือ 18 ปี ยกเว้นสิงคโปร์ที่กำหนดอายุเยาวชนเอาไว้ที่ 16 ปี
กัมพูชา กำหนดไว้ว่า ผู้มีอายุน้อยกว่า 14 ปี จะไม่ถูกคุมขัง แต่ศาลพิจารณาสั่งให้คุมประพฤติได้ และคดีความในเด็กและเยาวชนถูกกำหนดให้พิจารณาคดีที่ศาลอาญา ส่วนโทษสูงสุดคือ การจำคุกตลอดชีวิต มีการลดโทษจำคุก 20 ปี
บรูไน กำหนดอายุต่ำกว่า 7 ปี จะไม่ต้องรับผิด และกลุ่มคดีเด็กและเยาวชนจะถูกพิจารณาในศาลเยาวชน ซึ่งจะนับอายุเด็กและเยาวชน จากวันที่ศาลพิจารณาคดี และโทษของบรูไนสูงสุดคือ การคุมขังตลอดชีวิต
เมียนมา กำหนดอายุต่ำกว่า 7 ปี จะไม่ต้องรับผิด และกลุ่มคดีเด็กและเยาวชนจะถูกพิจารณาในศาลเยาวชนเช่นกันกับบรูไน ขณะที่โทษคือ จำคุกสูงสุดไม่เกิน 10 ปี
ฟิลิปปินส์ เด็กที่อายุขณะกระทำผิดน้อยกว่า หรือ เท่ากับ 15 ปี ไม่ต้องรับโทษ แต่เด็กจะต้องได้รับการบำบัดในโปรมแกรมบำบัดแก้ไขฟื้นฟูตามกฎหมายกำหนด โดยที่ศาลเยาวชนจะเป็นผู้พิจารณา กำหนดโทษสูงสุดเป็นการคุมขังระยะเวลาไม่เกิน 12 ปี
มาเลเซีย กำหนดอายุต่ำกว่า 7 ปี จะไม่ต้องรับผิด ซึ่งคดีจะพิจารณาโดยศาลเยาวชนและศาลซารีฮะ (ศาลมุสลิม) โดยกฎหมายมุสลิม กำหนดว่า เด็กที่อายุต่ำกว่า 13 ปี หากพิสูจน์ได้ว่ายังไม่มีความสามารถทางเพศ (การร่วมประเวณี) เมื่อมีการกระทำผิด ให้ถือว่า เด็กนั้นไม่มีความผิด กำหนดโทษเป็นการเฆี่ยนและการคุมขังในระยะเวลาที่กำหนด
ลาว ผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 15 ปี จะไม่ต้องรับโทษและคดีจะถูกพิจารณาที่ศาลเยาวชน กำหนดโทษด้วยการจำคุก หากแต่น้อยกว่าที่กำหนดในประมวลกฎหมายอาญา
เวียดนาม ผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 14 ปี จะไม่ต้องรับโทษ ส่วนคดีกำหนดพิจารณาในศาลอาญา ขณะที่บทลงโทษ กำหนดไว้ว่า ถ้ากำหนดโทษจำคุกตลอดชีวิตจนถึงประหารชีวิต โทษสูงสุดที่จะนำมาใช้กับเด็กและเยาวชน คือ จำคุกไม่เกิน 12 ปี
สิงคโปร์ หากผู้ที่กระทำผิดมีอายุน้อยกว่า 7 ปี ไม่ต้องรับผิดชอบต่อพฤติกรรมการกระทำผิด แต่ในการพิจารณาคดีเด็กและเยาวชน มี 2 ศาล คือ ศาลเยาวชน และศาลสูง ซึ่งคดีจะถูกนำขึ้นศาลสูง หากเด็กและเยาวชนมีการกระทำผิดที่เกี่ยวข้องกับคดีที่ศาลสูงรับผิดชอบ อาทิ คดีฆาตกรรม ข่มขืน การค้ายาเสพติด การปล้น หรือคดีที่ต้องโทษประหารชีวิต รวมทั้งเด็กและเยาวชนที่กระทำผิดถูกต้องข้อหาร่วมกับผู้กระทำผิดที่มีอายุมากกว่า 16 ปีขึ้นไป และจะนับอายุเด็กและเยาวชน จากวันที่ศาลพิจารณาคดี
ในสิงคโปร์ กำหนดโทษ เยาวชนที่มีอายุระหว่าง 16-18 ปี ต้องได้รับโทษที่มีความรุนแรงเทียบเท่าผู้ใหญ่
การประหารชีวิต จะไม่สามารถกระทำได้ต่อผู้กระทำผิดที่มีอายุ ขณะกระทำผิดไม่เกิน 18 ปี หากแต่ศาลจะใช้วิธีการลงโทษจำคุกตลอดชีวิตแทน นอกจากนี้สิงคโปร์ยังมีบทลงโทษโดยการเฆี่ยน เช่นเดียวกัน แต่ใช้กับเด็กและเยาวชนอายุระหว่าง 7-16 ปี
อินโดนีเซีย เด็กที่กระทำผิดมีอายุไม่ถึง 8 ปี จะต้องสอบสวนโดยพนักงานสอบสวน และพนักงานสอบสวนจะต้องตัดสินใจว่า จะส่งตัวเด็กและเยาวชนกลับคืนไปให้พ่อแม่ ผู้ปกครอง (ในกรณีที่เห็นว่า เด็กสามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรมได้)
หรือในกรณีที่เห็นว่า เด็กไม่สามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรมได้ จะส่งตัวไปยังกรมพัฒนาสังคมเพื่อดูแลแก้ไขฟื้นฟูต่อไป และกำหนดให้มีการพิจารณาคดีเด็กและเยาวชน ในศาลเยาวชน แต่กฎหมายก็มีเงื่อนไขสำคัญ คือ เด็กและเยาวชนที่มีอายุดังกล่าว มีสถานภาพสมรส จะถือว่า เด็กและเยาวชนมีสภาพเป็นผู้ใหญ่และใช้ศาลผู้ใหญ่ในการพิจารณาคดี
ส่วนบทลงโทษของอินโดนีเซีย หากเป็นกรณีการกระทำผิดที่มีโทษทัณฑ์สำหรับผู้ใหญ่ คือ การประหารชีวิต หากแต่เด็กและเยาวชนจะได้รับโทษสูงสุดคือ การคุมขังเป็นระยะเวลา 10 ปี
รายแรก หลังแก้กฏหมาย ศาลญี่ปุ่น ตัดสินประหารชีวิตเยาวชนวัย 21 ปี ซึ่งทำผิดคดีฆาตกรรมขณะอายุ 19 ปี
สหราชอาณาจักร รับผิดคดีอาญาอายุต่ำสุด 10 ปี
สำหรับกลุ่มประเทศสหราชอาณาจักร กำหนดอายุรับผิดในคดีอาญา ต่ำสุด 10 ปี
อังกฤษและเวลส์ กำหนดอายุการรับผิดทางอาญา 10 ปี ขึ้นไป และกำหนดสถานภาพเยาวชน สูงสุดที่อายุ 17 ปี กล่าวคือ อายุ 10-17 ปี เด็กและเยาวชนสามารถถูกจับและโดนข้อหาความผิดทางอาญาได้
ในชั้นจับกุม การควบคุมตัวโดยตำรวจ จะต้องได้รับการคุ้มครองพิเศษ ผู้ปกครองหรือพ่อแม่จำเป็นต้องถูกคุมตัวด้วย แต่ต้องคุมตัวแยกกันกับเด็กและเยาวชน เมื่อเข้าสู่ชั้นศาล กรณีเด็กและเยาวชนต้องไปที่ศาลเด็ก แต่ในกรณีกระทำผิดร้ายแรงจะถูกส่งไปที่ศาลคราวน์ คอร์ท กำหนดโทษ มี 3 ประเภท
Secure Children’s Home (SCH)
- เด็กชาย-หญิงอายุ 10-11 ปี ต้องถูกส่งไปที่ Secure Children’s Home (SCH)
- เด็กโตอายุไม่เกิน 15 ปี มีโอกาสถูกส่งไปที่ Secure Children’s Home เนื่องจากยังมีความเสี่ยง
- เด็กอายุ 10-17 ปี ต้องถูกส่งไปที่ Secure Children’s Home (SCH) เด็กอายุ 10-17 ปี สามารถถูกส่งไปยัง Secure Children's Home (SCH) ได้หากพวกเขาถูกปฏิเสธการประกันตัวและถูกส่งไปยังหน่วยงานท้องถิ่นที่มีเงื่อนไขที่ด้านความปลอดภัย
Secure Training Centre (STC)
- หญิงอายุ 12-17 และชายอายุ 12-14 ปีถูกส่งไปที่ Secure Training Centre (STC)
- ชายอายุ 15-17 ปี ยังคงถูกพิจารณายังมีความเสี่ยง จึงต้องถูกส่งไปยัง Secure Training Centre (STC)
Young Offender Institution (YOI)
- ชายอายุ 15-17 ปี ซึ่งถูกพิจารณาว่าไม่มีความเสี่ยงแล้ว จะถูกส่งไปยัง Young Offender Institution (YOI)
- ชายอายุ 18-20 ปี ถูกส่งไปที่ YOI
- หากชายอายุครบ 21 ปีแล้วจะถูกส่งตัวไปคุกผู้ใหญ่
คำพิพากษาลงโทษทางอาญา หากบุคคลมีอายุต่ำกว่า 18 ปี เมื่อถูกตัดสินว่า มีความผิด (สารภาพผิดหรือถูกตัดสินว่ามีความผิดในชั้นศาล) จะใช้เวลาน้อยกว่า สำหรับมาตราการการตักเตือนหรือการพิพากษาลงโทษ
ออสเตรเลีย เยาวชนรับผิดโทษอาญาอายุ 10 ปีขึ้นไป
- อายุ 10-13 ปี ทำผิด ต้องมีการพิสูจน์ว่า พวกเขารู้ตัวว่า กระทำผิดร้ายแรง ไม่ใช่แค่ความ
- อายุ 14 ปี ทำผิดต้องรับความผิดอาญาเต็ม ไม่จำเป็นต้องมีการพิสูจน์ว่า พวกเขากระทำผิดร้ายแรง
- อายุ 10-17 ปี ถือว่า เป็นเด็กและเยาวชน หากทำผิด ต้องเจอกับกระบวนการและการลงโทษทางกฎหมายเด็ก
- อายุ 18 ปีขึ้นไป ต้องได้รับโทษเหมือนผู้ใหญ่
แคนาดา กำหนดเกณฑ์อายุเด็กและเยาวชนรับผิดทางคดีอาญา ต้องมีอายุตั้งแต่ 12 ปีขึ้นไป ส่วนเด็กหรือเยาวชนที่มีอายุต่ำกว่า 12 ปี เมื่อกระทำความผิดอาญาจะไม่ถูกดำเนินคดีอาญา แต่กฎหมายจะกำหนดให้ใช้วิธีการอื่นแทน เช่น การให้นักสังคมสงเคราะห์ช่วยดูแล ช่วยแนะนำครอบครัวของเด็ก แต่หากครอบครัวเด็กไม่สามารถดูแลได้ อาจมีการจัดให้เด็กได้รับการสงเคราะห์
เยอรมนี เด็กอายุต่ำกว่า 14 ปี ไม่ต้องรับผิดในการฟ้องร้องคดีความและไม่สามารถนำตัวเด็กขึ้นได้ศาล
การกำหนดช่วงอายุเด็กและเยาวชนในการรับผิดทางคดีอาญา มีความแตกต่างกันไป รวมถึงมาตรการลงโทษและบำบัดฟื้นฟูที่มุ่งเน้นการอบรม ฝึกสอน ให้อากาสผู้กระทำผิดได้สำนึกในความผิด ก่อนจะเริ่มต้นชีวิตใหม่ แต่แน่นอนว่า ไม่ใช่ทุกคนที่เห็นด้วยกับเรื่องนี้ โดยเฉพาะฝ่ายผู้สูญเสีย หลายครั้ง หลายคดี จะเห็นได้ว่าพวกเขาไม่มี แม้แต่โอกาสจะร้องขอชีวิตด้วยซ้ำ!
ข้อมูลอ้างอิง
- Age | Youth Justice Legal Centre (yjlc.uk)
- Legal age: teenagers and the law | Raising Children Network
- www.m2fnews.com
- สำนักงานกิจการยุติธรรม กระทรวงยุติธรรม
-วารสารสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ปีที่ 18 ฉบับเดือนมกราคม-ธันวาคม 2558
รายงาน : กิตติพร บุญอุ้ม ผู้สื่อข่าวอาชญากรรม
แท็กที่เกี่ยวข้อง:
- โทษรับผิดอาญาเด็ก
- กำหนดโทษเด็กและเยาวชน
- คำพิพากษาลงโทษทางอาญา
- กำหนดโทษเด็ก
- เด็กอายุเท่าไหร่ไม่ต้องรับโทษ
- ไทย
- เมียนมา
- ต่ำกว่า 15 ปีไม่ต้องรับโทษ
- เกณฑ์อายุเด็กและเยาวชนรับผิดทางอาญา
- กระทรวงยุติธรรม
- ข่าววันนี้
- ข่าววันนี้ล่าสุด
- กฎหมายเยาวชน ล่าสุด
- กฎหมายเยาวชน
- สรุปกฎหมายเยาวชนและครอบครัว
- กฎหมายเด็กและเยาวชน
- กฎหมายเยาวชนและครอบครัว ล่าสุด