ท่ามกลางเสียงคัดค้าน "โครงการแลนด์บริดจ์" จากเครือข่ายภาคประชาชน ที่ไม่เห็นด้วยกับการสร้างสะพานเศรษฐกิจเชื่อมฝั่งทะเลอ่าวไทย-อันดามัน ที่ต้องใช้พื้นที่ที่เป็นทรัพยากรอันทรงคุณค่าและมีความสำคัญต่อระบบนิเวศของ จ.ชุมพร และ ระนอง อย่างมหาศาล แต่ในขณะเดียวกันก็มีซุ่มเสียงจากผู้เห็นด้วยกับโครงการนี้ ด้วยเหตุผลที่ว่าจะสามารถพัฒนาเศรษฐกิจของจังหวัดเล็กๆ 2 จังหวัดนี้ได้
ฝนแปด แดดสี่ ที่เมืองแร่นอง
"ระนอง" คือคำที่เพี้ยนมาจากคำว่า "แร่นอง" เพราะพื้นที่นี้ในอดีต เป็นดินแดนแห่งน้ำพุร้อนธรรมชาติที่มีสายธารน้ำแร่ไหลผ่านกลางเมือง คงความอุดมสมบูรณ์ มากด้วยภูเขา ป่าไม้ และทะเล ซึ่งมิใช่ทะเลธรรมดา แต่เป็นทะเลอันดามันที่แบ่งปันพรมแดนระหว่างไทยกับเมียนมา กอปรกับภูมิประเทศที่ขนาบข้างด้วยทะเลส่งผลให้ ระนอง มีฉายาว่า "ฝนแปด แดดสี่" เพราะต้องเจอฝนตกนานถึง 8 เดือน และแล้งอีก 4 เดือน เพราะได้รับอิทธิพลจากลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้อย่างมาก
ในสมัยรัชกาลที่ 1 และ 2 มีการค้นพบ "ตะกั่วดำ" หรือ แร่ดีบุกในปัจจุบันเป็นจำนวนมาก ต่อมาสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เมื่อครั้งเสด็จประพาสเมืองระนอง ปี ร.ศ.109 หรือ พ.ศ.2433 มีการค้นพบน้ำพุร้อน และเนื่องจากเมืองนี้เป็นเมืองแร่อยู่เต็มเมือง พระองค์ทรงพระราชทานชื่อถนนในเขตเทศบาลเมืองระนอง ชื่อคล้องจองกัน รวม 10 สาย ได้แก่ ท่าเมือง เรืองราษฎร์ ชาติเฉลิม เพิ่มผล ชลระอุ ลุวัง กำลังทรัพย์ ดับคดี ทวีสินค้า ผาดาด โดยพระราชทานชื่อตามการใช้ประโยชน์ เช่น ถนนชลระอุ แปลว่า ถนนน้ำร้อน ทรงบันทึกไว้ว่า
…ถนนทางไปบ่อน้ำร้อน 70 เศษให้ชื่อถนนชลระอุ
ด้วยความที่น้ำแร่ของระนองมีความสะอาดบริสุทธิ์สูง สามารถดื่มได้ทันทีจากแหล่งกำเนิด ลักษณะนี้มีเพียงไม่กี่แห่งในโลก จึงทำให้ธุรกิจ "สปา" และ ธุรกิจ "แช่บ่อน้ำร้อน" ของระนองเป็นสิ่งสร้างชื่อเสียงให้จังหวัดเป็นอย่างมาก เนื่องด้วยกระแสของการส่งเสริมและฟื้นฟูสุขภาพถือเป็นเรื่องสำคัญ จนเป็นแหล่งสร้างอาชีพ สร้างรายได้อย่างกว้างขวาง
บ่อน้ำร้อนในจังหวัดระนอง
ด้านการค้าของระนอง ข้อมูลจากสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดระนอง ระบุว่า ตลาดสินค้าเกษตรและสัตว์น้ำ จัดเป็นตลาดที่มีความสำคัญเป็นลำดับแรกของ จ.ระนอง เนื่องจาก จ.ระนอง มีผลผลิตทางการเกษตรที่หลากหลาย ได้แก่ ยางพารา กาแฟ ปาล์มน้ำมัน มะม่วงหิมพานต์ ไม้ผล (ทุเรียน เงาะ มังคุด ลองกอง มะพร้าว จำปาดะ ส้มโอ ส้มเขียวหวาน) เป็นต้น
ชุมพร ประตูปักษ์ใต้ หุบเขาแห่งกาแฟ
"ชุมพร" หรือ "ชุมนุมพล" เมืองหน้าด่านในอดีต ที่ทหารล้วนเข้ามาตั้งค่ายชุมนุมพลกันที่นี่ หรืออีกชื่อหนึ่งคือ "ชุมนุมพร" เพราะก่อนเคลื่อนพลสู้รบต้องบวงสรวงสิ่งศักดิ์สิทธิ์ก่อน แต่ก็มีอีกที่มาคือ ชื่อชุมพรที่มาจาก "ต้นมะเดื่อชุมพร" ที่ถือเป็นตราประจำจังหวัด
ข้อมูลจาก สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ปี 2564 เปิดเผยว่า ชุมพรถือเป็นจังหวัดเดียวในภาคใต้ ที่มีรายได้หลักมาจากภาคเกษตรกรรมมากกว่าครึ่ง มูลค่ากว่า 70,000 ล้านบาท ในขณะที่จังหวัดอื่นๆ ในภาคใต้ จะมีรายได้หลักมาจากภาคบริการแทบทั้งสิ้น โดยสินค้าเกษตรขึ้นชื่ออันดับ 1 ของชุมพร คือ กาแฟ ที่สามารถส่งผลผลิตเข้าสู่ตลาดได้มากกว่า 24,000 ตัน/ปี เพราะได้รับอานิสงส์จากมรสุมอยู่เนืองๆ ทำให้ปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยอยู่ในระดับเหมาะสมต่อการปลูกกาแฟเป็นอย่างมาก นอกจากนั้นยังปลูกปาล์มน้ำมัน และ ทุเรียนได้เป็นอย่างดีเช่นกัน
สวนปาล์มในจังหวัดชุมพร
ค่าจ้างใกล้กันแต่รายได้ไม่ใกล้กัน
ข้อมูลจาก ศูนย์ข้อมูลข่าวสารสำนักงานคลังจังหวัดระนอง และศูนย์ข้อมูลสารสนเทศเศรษฐกิจการคลัง เปิดเผยว่า GPP per Capita หรือ รายได้ต่อหัวของชาวระนองในปี 2564 อยู่ที่ 91,974 บาท/คน/ปี ส่วนข้อมูลจากสำนักงานคลังจังหวัดชุมพร ระบุว่า GPP per Capita หรือ รายได้ต่อหัวของชาวชุมพรในปี 2564 อยู่ที่ 259,853 บาท/คน/ปี
ขณะที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยรายชื่อจังหวัดของประเทศไทยเรียงตามผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในจังหวัด ณ ราคาตลาด ต่อหัวต่อหนึ่งปี (Gross Provincial Product at Current Market Price per capita) ปี 2564 พบว่า "ชุมพร" ติดอันดับ 10 จังหวัดที่มีผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในจังหวัด ณ ราคาตลาดสูงที่สุด ส่วน "ระนอง" ติดอันดับ 43
ด้านสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ได้จัดทำรายงานวิเคราะห์ สถานการณ์ความยากจนและความเหลื่อมล้ำในประเทศไทยปี 2565 พบว่า "ระนอง" ติดอันดับ 10 จังหวัดที่มีคนจนมากที่สุด โดยมี "แม่ฮ่องสอน" เป็นจังหวัดที่ยากจนที่สุดของประเทศไทย
โดยที่ทั้ง 2 จังหวัดนี้ มีค่าแรงขั้นต่ำต่างกันเพียง 4 บาท
ชุมพรอัตราค่าจ้าง 344 บาท ส่วน ระนองอัตราค่าจ้าง 340 บาท
ภาพประกอบข่าว : ค่าครองชีพของคนในชุมชน
แม้วันนี้ (22 ม.ค.2566) ในการประชุม ครม.สัญจรที่ จ.ระนอง จะชง 21 โครงการใน 6 จังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามัน มูลค่ากว่า 616 ล้านบาท เพื่อเข้า ครม. พรุ่งนี้ (23 ม.ค.2567) แต่ก็ยังต้องใช้เวลาอย่างน้อยอีก 5 ปีเพื่อพิสูจน์ว่า หากโครงการแลนด์บริดจ์เกิดขึ้นจริง ผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นจะตกสู่ปากท้องคนในพื้นที่ "ระนอง-ชุมพร" ได้อย่างที่รัฐบาลเศรษฐาตั้งใจไว้หรือไม่
อ่านข่าวเกี่ยวข้อง :
“คนไทยพลัดถิ่น” ยื่นนายกฯ เลิก “แลนด์บริดจ์” กระทบชีวิต-สิ่งแวดล้อม
ชง ครม.สัญจร-ระนอง อนุมัติ 21 โครงการ หนุนเศรษฐกิจ-คุณภาพชีวิต-พัฒนาท่องเที่ยวภาคใต้
ชาวบ้านระบุรัฐบาล “มัดมือชก” โครงการแลนด์บริดจ์ ครม.สัญจรตั้งธงเดินหน้า
ที่มา : สำนักงานคลังจังหวัดชุมพร, จังหวัดระนอง, สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน, สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ, กระทรวงแรงงาน, สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.), ศูนย์ข้อมูลข่าวสารสำนักงานคลังจังหวัดระนอง และศูนย์ข้อมูลสารสนเทศเศรษฐกิจการคลัง