ความหวาดหวั่นเริ่มคืบคลานเข้ามา เพราะแหล่งทำมาหากินของพวกเขา จะเป็นหนึ่งในพื้นที่ "โครงการแลนด์บริดจ์ ชุมพร-ระนอง" เมกกะโปรเจคมูลค่ากว่า 1 ล้านล้านบาท กำลังจะมาเยือน
หมึกวาย
นางทม สินสุวรรณ ชาวบ้านห้วยปริง ที่ทำมาหากินร่วมกับสามี ด้วยการออกเรือหาปลาหรือเลี้ยงสัตว์น้ำมาตลอดชีวิต วันนี้เธอลุกขึ้นมาเดินสายไปทุก ๆ เวทีเสวนา ที่พูดถึงโครงการแลนด์บริดจ์ ชุมพร-ระนอง
อ่านข่าว : สามัคคีจัดหนักพรรคก้าวไกล “แลนด์บริดจ์” ใครได้ ใครเสีย?
เพราะก่อนหน้านี้ แทบจะไม่มีใครรู้ถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับชาวบ้าน หรือพื้นที่ทำมาหากินตามธรรมชาติ บางคนเข้าใจว่า มีเพียงการก่อสร้างท่าเรือ และสร้างถนนใหม่ ทั้งที่ความจริงแล้ว มีอีกหลายโครงการที่จะถูกก่อสร้างในลักษณะนิคมอุตสาหกรรม และความไม่ชัดเจนถึงแนวทางการเยียวยาจากรัฐ ทั้งชาวบ้านที่มีเอกสารสิทธิ หรือไม่มีเอกสารสิทธิแต่ได้อาศัยอยู่ก่อน รวมถึงที่ย้ายถิ่นฐานทดแทนหากมีการเวนคืน
หมึกวาย
พอรู้ว่าเขาจะสร้างตรงนี้หัวใจวูบไปเลย เพราะจะกระทบกับพวกเราโดยตรง ก่อนหน้านี้ชาวบ้านไม่รู้ข้อมูลเลย โดยเฉพาะข้อมูลเกี่ยวกับผลกระทบที่จะเกิดขึ้น แต่บางคนก็เริ่มรู้แล้ว ตอนนี้ชาวบ้านก็ยืนยันจะรวมตัวกัน ถ้าไม่มีรถไป พวกเราก็จะเดินไปสภา ไปหารัฐบาล เพื่อยืนยันว่า เราจะปักหลักอยู่ที่เดิม หากินที่เดิม เราจะไม่ย้ายไปไหน
นางทมกล่าว
อ่านข่าว : “โครงการแลนด์บริดจ์” ประเด็นร้อนรัฐบาล “เศรษฐา” ขายตรง “เวิลด์ อีโคโนมิคฟอรั่ม”
พื้นที่โดยรอบอ่าวอ่าง ที่อยู่ไม่ห่างจากชุมชนแห่งนี้ คาดการณ์ว่า จะเป็นพื้นที่ก่อสร้างที่ตั้งท่าเรือน้ำลึกแห่งใหม่ เพื่อเชื่อมต่อกับแหลมริ่ว จ.ชุมพร ซึ่งพื้นที่บริเวณนี้มีความสมบูรณ์ทางทรัพยากรทางธรรมชาติอย่างมาก และนี่ก็เป็นสาเหตุทำให้เกิดเสียงคัดค้านบางส่วน ถึงการเดินหน้าโครงการนี้ ที่จะกระทบต่อชีวิตของผู้คนจำนวนมาก
ป่าโกงกางอันอุดมสมบูรณ์ใน จ.ระนอง ที่คาดว่าอาจได้รับผลกระทบจากโครงการแลนด์บริดจ์ชุมพร-ระนอง
เราจะพยายามต่อสู้ให้ถึงที่สุด ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น เพราะทรัพยากรที่จะสูญเสียไปตรงนี้ มันไม่ใช่แค่ของเราคนเดียว แต่เป็นของประเทศ เป็นของลูกหลานของพวกเราทุกคน และเราคิดว่า การพัฒนาเศรษฐกิจ ไม่จำเป็นต้องเอาโรงงานอุตสาหกรรม เอาโครงการใหญ่ๆ ลงมาในพื้นที่ เพราะการพัฒนาเศรษฐกิจมันทำได้หลายอย่าง หลายแบบ ที่ไม่ต้องแลกกับทรัพยากรที่จะต้องสูญเสียไป
น.ส.รสิตา ซุ่ยยัง เครือข่ายคนไทยพลัดถิ่น จ.ระนอง กล่าว
อ่านข่าว : “เครือข่ายพะโต๊ะ” ขอพบ “เศรษฐา” ถกปัญหา “โครงการแลนด์บริดจ์”
ขณะที่เกาะพยาม แม้จะอยู่ห่างจากปากน้ำระนอง 33 กิโลเมตร แต่เกาะพยามก็จะเป็นเกาะแรกๆ ที่อยู่ใกล้โครงการแลนด์บริดจ์ ชุมพร-ระนอง แต่สำหรับผู้ประกอบการบางคนบนเกาะพยาม บอกว่า ยังไม่ทราบข้อมูลและรายละเอียดเกี่ยวกับโครงการนี้มากนัก และบางคนยังเชื่อว่า อาจมีผลกระทบเชิงบวกต่อการท่องเที่ยว
ผมก็ไม่ทราบรายละเอียดของโครงการมากนัก แต่ผมว่าน่าจะไม่กระทบ และน่าจะดีต่อการท่องเที่ยว คือตอนนี้ที่เกาะพยาม มีนักท่องเที่ยวเฉพาะยุโรปอย่างเดียว แต่คนไทยน้อยมาก ถ้าทำโครงการนี้ผมเห็นด้วย
นายพิระ ชูพงศ์ ผู้ประกอบการเกาะพยาม จ.ระนอง กล่าว
อ่านข่าว : นายกฯ นัดถก ครม.สัญจร "ระนอง" 22-23 ม.ค.นี้
ขณะที่ นายเศรษฐา ทีวิสิน นายกรัฐมนตรีเน้นย้ำถึงความจำเป็น ที่ไทยจะต้องเดินหน้าเมกกะโปรเจคนี้ เพราะเชื่อว่าสร้างโอกาสและผลดีต่อเศรษฐกิจอย่างมหาศาล ทำให้การประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจรที่ จ.ระนอง ในวันที่ 23 ม.ค.นี้ โครงการแลนด์บริจด์ชุมพร-ระนอง จึงเป็นประเด็นหลักที่ถูกหยิบขึ้นมาหารือ ท่ามกลางเสียงทั้งสนับสนุน และคัดค้านบางส่วนที่จะเดินหน้าต่อต้านโครงการนี้เช่นกัน
พื้นที่อ่าวอ่างที่อยู่ในโครงการแลนด์บริดจ์ชุมพร-ระนอง
อ่านข่าว : ประมงพื้นบ้าน-เกษตรกร กังวลผลกระทบสิ่งแวดล้อมจาก "โครงการแลนด์บริดจ์ชุมพร-ระนอง"
เรียบเรียง : ติชิลา พุทธสาระพันธ์ ผู้สื่อข่าวไทยพีบีเอส ศูนย์ข่าวภาคใต้