ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

พบ "เสือโคร่ง" 2 สัญชาติ หากินข้ามประเทศไทย-เมียนมา

สิ่งแวดล้อม
21 ม.ค. 67
09:53
1,219
Logo Thai PBS
พบ "เสือโคร่ง" 2 สัญชาติ หากินข้ามประเทศไทย-เมียนมา
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
กรมอุทยานฯ - มูลนิธิฟรีแลนด์ ติดกล้องดักถ่ายพบเสือโคร่ง 3 ตัว หากินข้ามไปมาระหว่างไทย-เมียนมา ในพื้นที่ป่า อ.ท่าแซะ จ.ชุมพร เร่งสำรวจการกระจายพันธุ์และฐานข้อมูลเสือของไทย

วันนี้ (21 ม.ค.2567) นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เปิดเผยว่า นายอาทร กำลังใบ หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า อุทยาน เสด็จในกรม กรมหลวงชุมพร ด้านทิศเหนือ (ตอนล่าง) จ.ชุมพร ได้รายงานว่าพบการกระจายพื้นที่อยู่อาศัยของเสือโคร่งบริเวณป่าดวงเจริญ ป่าเนินทอง และป่าช่องขมิ้ว หมู่ที่ 4 และ หมู่ที่ 7 ต.พี่น้อง อ.ท่าแซะ จ.ชุมพร

เสือโคร่งดังกล่าวกระจายพื้นที่อาศัยหากินระหว่างประเทศไทยและประเทศเมียนมา อาจเป็นเสือโคร่ง 2 สัญชาติ เนื่องจากมีการข้ามไปมาระหว่าง 2 ประเทศ โดยการค้นพบดังกล่าว กรมอุทยานแห่งชาติฯ ร่วมกับมูลนิธิฟรีแลนด์ (Freeland) สำรวจการกระจายตัวของเสือโคร่งในพื้นที่เทือกเขาตะนาวศรี ทั้ง 2 ฝั่ง คือ ฝั่งประเทศไทย และฝั่งประเทศเมียนมา ในพื้นที่บริเวณอุทยานแห่งชาติหลุนญา

ในครั้งนี้เป็นการค้นพบในฝั่งประเทศไทย ได้ภาพจากการตั้งกล้องในพื้นที่ทั้งหมด 24 ตัว พบว่าเป็นเสือโคร่งจำนวน 3 ตัว เนื่องจากลายของเสือโคร่งแตกต่างกัน

ก่อนหน้านี้ในพื้นที่ไม่เคยพบเสือโคร่งมาก่อน เนื่องจากไม่มีการสำรวจ แต่เริ่มตั้งกล้องสำรวจเมื่อปี 2562 เป็นต้นมา โดยในปี 2563-2565 เคยพบมาแล้ว ส่วนปี 2566 พบเพียงรอยตีน เช่นเดียวกับการลาดตระเวนเชิงคุณภาพ (SMART PATROL) นอกจากนี้บริเวณพื้นที่เขตฯ ช่วงล่าง รอยต่อกับเขตด้านทิศใต้ เคยพบรอยบนต้นไม้

ขณะที่ พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สั่งการให้กรมอุทยานฯ เร่งสำรวจการแพร่กระจายพันธุ์ของเสือโคร่ง ต่อมาอธิบดีกรมอุทยานฯ จึงได้มอบหมายให้ให้สถานีวิจัยสัตว์ป่าคลองแสง เร่งสำรวจ และมอบหมายให้สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า ศึกษาว่าเป็นเสือโคร่งที่หากินระหว่าง 2 ประเทศมาเป็นระยะเวลานานเท่าใด รวมถึงเป็นเสือที่รวมอยู่ในจำนวนเสือของไทยที่ทำการสำรวจมาก่อนหรือไม่ เพื่อเป็นการเก็บข้อมูลที่เป็นปัจจุบันขึ้น

สำหรับสถานการณ์เสือโคร่งในปัจจุบัน จากการประเมินประชากรเสือโคร่งในธรรมชาติ ปี 2565 พบเสือโคร่งจำนวน 148-189 ตัว เพิ่มขึ้นจากสถิติ ปี 2563 ที่สำรวจพบ 130-160 ตัว โดยอาศัยเทคนิคการประเมินเฉพาะทางและการจำแนกลายที่ได้จากกล้องดักถ่ายภาพอัตโนมัติ ซึ่งติดตั้งไว้มากกว่า 1,200 จุด ในพื้นที่อนุรักษ์ 28 แห่ง

พื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร-ห้วยขาแข้ง เป็นพื้นที่ที่มีประชากรเสือโคร่งหนาแน่นที่สุด 103-131 ตัว ส่วนของพื้นที่นครสวรรค์แห่งนี้ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของผืนป่าตะวันตกตอนเหนือ ได้แก่ อุทยานแห่งชาติแม่วงก์ ขึ้นไปจนอุทยานแห่งชาติคลองลาน อุทยานแห่งชาติคลองวังเจ้า เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอุ้มผาง ในพื้นที่กำแพงเพชร แลตาก สามารถบันทึกภาพเสือโคร่งได้ 16 - 21 ตัว รวมถึงบันทึกภาพเหยื่อของเสือโคร่ง เช่น กวางป่า หมูป่า เก้ง วัวแดง สะท้อนความสมบูรณ์ของผืนป่า และความเหมาะสมของการเป็นถิ่นอาศัยของเสือโคร่งได้เป็นอย่างดี

ทั้งนี้ รัฐบาลไทยได้ให้ความเห็นชอบแผนปฏิบัติการแห่งชาติเพื่ออนุรักษ์เสือโคร่ง พ.ศ.2565-2577 ตั้งเป้ายกระดับมาตรฐานการคุ้มครองถิ่นอาศัยสำคัญของเสือโคร่ง ได้แก่ ผืนป่าตะวันตก และผืนป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ ตลอดจนเร่งฟื้นฟูประชากรเสือโคร่งและเหยื่อในถิ่นอาศัยเป้าหมาย ได้แก่ ผืนป่าแก่งกระจาน ผืนป่าภูเขียว-น้ำหนาว และผืนป่าคลองแสง-เขาสก เพื่อนำประเทศไทยไปสู่การเป็นผู้นำในการอนุรักษ์เสือโคร่งในระดับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ให้ได้ภายในปี พ.ศ.2577

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

หายาก! แม่เสือโคร่ง "อภิญญา" พาลูกกินเลี้ยงวัวแดงห้วยขาแข้ง 

"เสือโคร่ง" ในป่าไทยเพิ่มเป็น 148-189 ตัว เร่งฟื้นฟูเหยื่อ-ถิ่นอาศัย 

ไขความลับ! ลายพาดกลอนเสือโคร่ง บอกอะไร? 

เปิดภาพแรก ครอบครัวใหม่ "3 แม่ลูกเสือโคร่ง" ป่าสลักพระ 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง