ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

คดี "ป้าบัวผัน" สังคมออนไลน์จี้แก้เกณฑ์อายุเด็กรับโทษ

อาชญากรรม
17 ม.ค. 67
12:23
11,377
Logo Thai PBS
คดี "ป้าบัวผัน" สังคมออนไลน์จี้แก้เกณฑ์อายุเด็กรับโทษ
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
คดี "ป้าบัวผัน" ถูกทำร้ายจนเสียชีวิต เป็นอีกครั้งที่การก่อเหตุอาชญากรรมรุนแรงเป็นฝีมือเด็กและเยาวชน สังคมออนไลน์ตั้งคำถามถึงโทษทางกฎหมายในปัจจุบันว่าเหมาะสมกับเหตุร้ายที่เกิดขึ้นหรือไม่

แฮชแท็ก #ป้าบัวผัน ติดเทรนด์ X เป็นอันดับ 1 หลายวัน หลังจากกลุ่มเด็กและเยาวชนอายุ 13-16 ปี ร่วมกันก่อเกิดเหตุทำร้ายร่างกายหญิงอายุ 47 ปีจนเสียชีวิต หนึ่งในประเด็นที่มีการพูดถึงกันในสังคมออนไลน์ คือการแก้ไขให้เยาวชนได้รับโทษแบบผู้ใหญ่ เนื่องจากที่ผ่านมามีเหตุรุนแรงหลายคดีที่เกิดจากเด็ก และหลายครั้งมีอายุน้อยลง

นายโกมล พรมเพ็ง รองอธิบดีกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน ยืนยันว่า ที่ผ่านมากฎหมายไทยดีอยู่แล้ว เป็นไปตามมาตรฐานสากล มีการปรับปรุงแก้ไขประมวลอาญาเมื่อปี 2551 จากเดิมกำหนดเอาผิดเด็กเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมอายุ ตั้งแต่อายุ 7 ปี ปรับเพิ่มมาเป็นอายุ 10 ปี จากนั้นมีการปรับเปลี่ยนอีกครั้งในปี 2565 ตามข้อทักท้วงของนานาชาติว่า การกำหนดอายุขั้นต่ำ 10 ปี เป็นการผิดหลักอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก จึงมีขยายอายุเป็น 12 ปี

สำหรับสถิติเด็กกระทำความผิดไม่ได้เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ แต่สิ่งที่น่าตกใจคือการก่อเหตุแต่ละครั้ง สร้างความสูญเสียมากขึ้น

อ่านข่าว : กางกฎหมายอาญา "เด็กทำผิด" ไม่ต้องรับโทษ?

ผบ.ตร.คาดใช้เวลา 3 เดือนศึกษาปรับลดอายุเด็กรับโทษ

ก่อนหน้านี้ พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เคยมีแนวคิดถึงการปรับแก้ไขเกณฑ์อายุผู้รับโทษในคดีอาญา โดยระบุว่า ได้สั่งตั้งคณะทำงานขึ้นมาเพื่อศึกษาข้อมูล ทำสถิติรวบรวมคดีอาชญากรรมที่เกี่ยวข้องกับเด็กย้อนหลัง เบื้องต้นตั้งเป้าให้สำเร็จภายใน 3 เดือน พร้อมนำเสนอให้กับรัฐบาลส่งเรื่องต่อไปยังกระบวนการยุติธรรม

ด้าน ผศ.ณัฐสุดา เต้พันธุ์ คณบดีคณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วิเคราะห์พฤติกรรมเด็กว่า เป็นการไม่ให้คุณค่าความเป็นมนุษย์กับผู้เสียชีวิต ขาดความเห็นอกเห็นเห็นใจผู้อื่น สิ่งเหล่านี้สังคมไทยต้องรับมือกับพฤติกรรมเด็กที่ยกระดับความรุนแรงขึ้น ดังนั้น "ครอบครัว" คือหัวใจสำคัญที่จะช่วยยับยั้งพฤติกรรมรุนแรงได้

อ่านข่าว : คดีเด็กและเยาวชน กระบวนการยุติธรรมทางอาญา 

คนไร้บ้านถูกกลั่นแกล้ง-ใช้ความรุนแรงจากเด็กบ่อยครั้ง

นอกจากพฤติกรรมที่รุนแรงของวัยรุ่น นายสิทธิพล ชูประจง หัวหน้าโครงการผู้ป่วยข้างถนน มูลนิธิกระจกเงา ที่ติดตามปัญหาคนไร้บ้าน ระบุว่า ยังพบอีกปัจจัยความเสี่ยงคือ คนไร้บ้านที่มีอาการทางจิตเวชที่มักถูกกลั่นแกล้งทำร้าย เพราะเป็นกลุ่มเปราะบางที่ไม่สามารถต่อสู้หรือขัดขืนได้

สถิติคดีอาญาที่ศาลมีคำสั่งพิพากษาปี 2566 ซึ่งเป็นคดีที่เกิดขึ้นในปี 2565 มีเด็กและเยาวชนทำผิดถึง 12,203 คดี โดยเป็นคดียาเสพติดสูงสุดกว่า 4,300 คดี รองลงมาคือความผิดเกี่ยวกับทรัพย์กว่า 2,200 คดี และความผิดเกี่ยวกับชีวิตและร่างกายกว่า 2,000 คดี

จำแนกระดับการศึกษาของเด็กที่ทำความผิด พบว่า เกินครึ่งหนึ่ง หรือร้อยละ 51.5 ยังอยู่ช่วงมัธยมศึกษาตอนต้น รองลงมาเป็นระดับประถมศึกษา และระดับ ปวช.ตามลำดับ สำหรับจังหวัดที่มีการกระทำผิดสูงสุดยังอยู่ในกรุงเทพฯ เป็นความผิดเกี่ยวกับทรัพย์ 259 คดี ความผิดเกี่ยวกับชีวิตและร่างกาย 258 คดี และความผิดยาเสพติด 59 คดี

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ตร.สอบ 5 วัยรุ่นฆ่า "ป้าบัวผัน" ทิ้งสระน้ำสระแก้ว หลังกล้องวงจรปิดมัด

"บิ๊กโจ๊ก" สอบ "ลุงเปี๊ยก" สางคดี "ป้าบัวผัน" ผบช.ภ.2 ยันไม่จับแพะ

ญาติร้อง "บิ๊กโจ๊ก" ขอความเป็นธรรม คดี 5 เยาวชนทำร้าย "ป้าบัวผัน" เสียชีวิต

"บิ๊กต่อ" ยันได้กล้องวงจรปิดคดี "ป้าบัวผัน" ก่อนสื่อ - รอสรุปเย็นนี้

ข่าวที่เกี่ยวข้อง