วันนี้ (17 ม.ค 2567) นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง กล่าวถึง กรณีนโยบายดิจิทัลวอลเล็ต หรือ เงินดิจิทัล 10,000 บาท หลังเลื่อนมาแล้วครั้งหนึ่งจากที่ป.ป.ช. ยื่นข้อเสนอและมีหนังสือตอบกลับกฤษฎีกา จึงต้องรับฟังความเห็นรอบด้าน ทำให้ไทมไลน์เดิมในเดือนพ.ค.ไม่ทัน แต่ยืนยันว่าจะเดินหน้าต่อ และไม่ลดวงเงิน ไม่ลดจำนวนคน ยังคงแนวทางเดิม หลังจากนี้จะนัดประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติมเพื่อรับฟังความเห็นต่อไป
นายจุลพันธ์กล่าวว่า หลังจากพิจารณาอย่างรอบคอบแล้ว เมื่อได้เห็นหนังสือตอบกลับของคณะกรรมการกฤษฎีกา คำตอบเชิงกฎหมาย ไม่มีการไฟเขียว ไฟแดง ไม่ได้ห้าม และไม่ได้สั่งการให้เดินหน้า เพราะไม่ใช่หน้าที่ แต่เป็นความเห็นทางข้อกฎหมาย ซึ่งคณะกรรมการนโยบายดิจิทัลวอลเลตมีหน้าที่รับฟังและปฏิบัติตาม เพื่อให้เข้าสู่กรอบของกฎหมายให้ได้ในทีสุด
ขั้นตอนหลังจากนี้ต้องรอให้คณะกรรมการ ป.ป.ช.ส่งหนังสือรายงานข้อเสนอแนะมายังรัฐบาลอย่างเป็นทางการ และจะเชิญคณะกรรมการนโยบายเงินดิจิทัลฯ มาประชุมเพื่อนำความเห็นของ ป.ป.ช. กฤษฎีกามาพิจารณาในคราวเดียวกัน แล้วจึงจะได้เริ่มกระบวนการในการฟังความคิดเห็นเพิ่มเติม ทำความเข้าใจหน่วยงานหรือองค์กรใด ๆ ที่ยังไม่เห็นเจตนาดีที่รัฐบาลพยายามจะทำ ยังมองไม่เห็นความเดือดร้อนของประชาชน เราก็ต้องสื่อสารให้ทุกฝ่ายเข้าใจตรงกันและเดินหน้านโยบายนี้ให้ได้ในที่สุด
อย่างไรก็ตามก่อนหน้านั้น นายจุลพันธ์ เคยระบุว่า คณะกรรมการกฤษฎีกาได้ส่งคำตอบของคำถามที่คณะกรรมการนโยบายโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet ส่งไปถามกฤษฎีกาเรียบร้อยแล้ว ซึ่งคำตอบกฤษฎีกาเป็นไปตามอำนาจของคณะรัฐมนตรี (ครม.) และทางคณะกรรมการนโยบาย ที่จะดำเนินการกู้เงินตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) กู้เงิน 5 แสนล้านบาท เพื่อทำโครงการเติมเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาทได้ ซึ่งเชื่อมั่นว่าการเดินหน้าโครงการจะเป็นไปตามกรอบเวลาที่กำหนดให้สามารถใช้จ่ายได้เดือนพ.ค.2567
สำหรับนโยบายดิจิทัลวอลเล็ตของพรรคเพื่อไทย ระบุที่มาของเม็ดเงินที่จะนำมาแจกให้กับประชาชน มาจาก 4 ส่วน คืองบประมาณแผ่นดิน 2.6 แสนล้านบาท ภาษีจากผลการขยายตัวเศรษฐกิจจากนโยบายรัฐบาล กำหนดเป้าปีละ 5 % วงเงิน 1 แสนล้านบาท ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย อีก 2 ส่วนจากบริหารจัดการงบประมาณ และงบด้านสวัสดิการที่ซ้ำซ้อน รวม 2 แสนล้านบาท
อ่านข่าวเกี่ยวข้อง:
คิกออฟ "เงินดิจิทัล 10,000 บาท " กฤษฎีกาไฟเขียวให้กู้ 5 แสนล้าน