แม้การกวาดจับขบวนการค้ายาเสพติดจะเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการจับกุมนักค้ารายสำคัญคนล่าสุด "อ่องกิมวาห์" (ONG GIM WAH) นักค้ายาเสพติดในพื้นที่สามเหลี่ยมทองคำ หน่วยความมั่นคงประเมินว่า หลังทลายเครือข่ายนี้ได้จะทำให้ปริมาณยาเสพติดที่ลักลอบนำเข้าในประเทศไทยและภูมิภาคอาเซียนลดลงถึง 50 เปอร์เซ็นต์
แต่กว่าผลลัพธ์จะมาถึง มีข้อมูลจากสำนักงานป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) ระบุว่า ขณะนี้พบผู้ป่วยจิตเวชจากยาเสพติกว่า 7,000 คน ทำให้นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ต้องสั่งแก้ปัญหาเร่งด่วน
โดยมอบหมายให้กองทัพบก กระทรวงสาธารณสุข สำนักงานตำรวจแห่งชาติ หารือถึงมาตรการในการบำบัดและดูแลผู้ป่วยจิตเวชจากยาเสพติด เพื่อแก้ไขปัญหาผู้ใช้ยาเสพติดเป็นเวลานานจนเกิดอาการทางจิตและก่อความรุนแรงในชุมชน ซึ่งในปัจจุบัน พบว่า มีจำนวนเพิ่มสูงขึ้น

พล.ต.ท.ภาณุรัตน์ หลักบุญ เลขาธิการ ป.ป.ส. ในฐานะประธานการประชุมหารือแนวทางการตรวจรองรับผู้ป่วยยาเสพติดและจิตเวช เปิดเผยว่า จากการร่วมหารือได้กำหนดปฏิบัติการ Quick Win มีเป้าหมายในการนำผู้ป่วยจิตเวชจากการสำรวจจำนวนกว่า 7,000 คน เข้าสู่กระบวนการบำบัดและฟื้นฟูสมรรถภาพ
จากการสำรวจปัญหาในพื้นที่ ได้กำหนดพื้นที่เป้าหมาย กลุ่มเร่งด่วน 85 อำเภอ ใน 30 จังหวัด ซึ่งมีจำนวน 4,400 คน ในจำนวนนี้มากกว่า 1,700 คน ผ่านการตรวจสอบและดำเนินการบำบัดฟื้นฟูแล้ว นอกจากนี้ในห้วงเวลา 1 ธันวาคม 2566 -10 มกราคม 2567 ยังพบผู้ป่วยจิตเวชรายใหม่อีก 791 คน ด้วยกัน
เปิดศูนย์รักษ์ใจฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด
บ่อยครั้งที่เกิดเหตุการณ์คนคลุ้มคลั่ง ทำร้ายตัวเองและผู้อื่น แล้วพบว่า เป็นผู้ป่วยจิตเวชและมีประวัติติดยาเสพติด บ้างก็คลุ้มคลั่งเพราะฤทธิ์ของยา บ้างก็ขาดยารักษาอาการ หรือ ไม่ทานยาตามที่แพทย์สั่ง ซึ่งบทบาทของ ศูนย์รักษ์ใจและสถานที่ฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด จะช่วยให้ปัญหานี้ได้รับการแก้ไขอย่างมีประสิทธิภาพ
บทบาทของศูนย์รักษ์ใจ เป็นสถานที่ดูแลผู้มีอาการทางจิตจากยาเสพติดที่ถูกส่งตัวมาจากสถานพยาบาลและระงับอาการเบื้องต้นแล้ว เสมือนสถานที่แรกรับผู้ป่วยในระหว่างการประเมินอาการก่อนเข้าสู่กระบวนการบำบัด-ฟื้นฟูสมรรถภาพนั่นเอง ซึ่งสามารถแบ่งเบาความหนาแน่นของผู้ป่วยในสถานพยาบาลและแบ่งเบาภาระงานของบุคลากรทางการแทพย์ได้ด้วย
พื้นที่ดำเนินการตั้งศูนย์รักษ์ใจ 4 จังหวัด โดยใช้สถานที่ค่ายทหาร 4 แห่ง ซึ่งอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของโรงพยาบาลค่าย ประกอบด้วย รพ.ค่ายจักรพงษ์ จ.ปราจีนบุรี, รพ.ค่ายสุรนารี จ.นครราชสีมา, รพ.ค่ายสรรพสิทธิ์ประสงค์ จ.อุบลราชธานี, รพ.ค่ายสุรสีห์ จ.กาญจนบุรี

บทบาทของสถานฟื้นฟูสมรรถภาพ ผู้ติดยาเสพติด คือ ดูแลผู้มีอาการทางจิตจากยาเสพติดและได้รับการบำบัดรักษาแล้วหลังออกจากสถานพยาบาลและต้องทานยารักษาต่อเนื่อง แต่ชุมชนหรือครอบครัวไม่พร้อมที่จะดูแลอย่างใกล้ชิด ที่แห่งนี้จะรับช่วงต่อในการ ดูแลและฟื้นฟู มีระยะเวลาไม่เกิน 120 วันหรือประมาณ 4 เดือน แต่ต้องได้รับความยินยอมจากผู้ปกครอง

ภายในสถานฟื้นฟูสมรรถภาพจะมีการฝึกพัฒนาในด้านต่าง ๆ ทั้งร่างกายและจิตใจรวมถึงฝึกอาชีพทักษะต่าง ๆ ด้วย เพื่อให้สามารถใช้ชีวิตร่วมกับครอบครัวและผู้คนในชุมชนได้ตามปกติ ไปจนถึงมีเกาะป้องกันทางจิตใจ ไม่หวนกลับไปใช้ยาเสพติดซ้ำอีก พื้นที่ดำเนินการจะเปิดสถานฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดในระยะแรก 5 พื้นที่ ประกอบด้วย จ.ขอนแก่น ค่ายเปรมติณสูลานนท์, จ.อุดรธานี ค่ายยุทธศิลป์ประสิทธิ์, จ.นครพนม ค่ายพระยอดเมืองขวาง, จ.สกลนคร กรมทหารพรานที่ 22, จ.ร้อยเอ็ด ค่ายประเสริฐสงคราม

“ทหารเสนารักษ์”ดูแลผู้ป่วยจิตเวชจากยาเสพติด
ภาพในมายาคติของประชาชนคนทั่วไป ย่อมต้องคิดว่า ทหาร เป็นผู้ที่มีระเบียบวินัยสูง ฝึกหนัก ดุดันและแข็งกร้าว เมื่อต้องเข้ามารับบทเป็นผู้แลผู้ป่วยจิตเวชจากยาเสพติด ที่อาจจะต้องใช้ทักษะความเข้าอกเข้าใจสูงและมีความละมุนละม่อมในการดูแลจิตใจ เหล่านี้จะเป็นไปได้ไหม รวมถึงบรรยากาศในค่ายทหารจะดีต่อผู้ป่วยจิตเวชหรือไม่ ?

แพทย์หญิง อัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมการแพทย์
แพทย์หญิง อัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมการแพทย์
พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมการแพทย์ ระบุว่า "ทหาร" ที่จะเข้ามารับบทดูแลผู้ป่วยคือ "ทหารเสนารักษ์" พวกเขาจะเสมือนผู้ช่วยพยาบาล ที่ผ่านการฝึกอบรมจากความรู้เฉพาะทางมาแล้ว ซึ่งมีกระทรวงสาธารณสุขให้การสนับสนุนดังนี้
- อบรมการบำบัดฟื้นฟูและการประเมินความเสี่ยงรวมถึงการให้ยาจิตเวชระยะยาว
- ฝึกสอนการดูแลผู้ป่วยจิตเวช
- อบรมการใช้เทคโนโลยีการให้คำปรึกษาทางการแพทย์แบบออนไลน์ เพื่อการปรึกษา
แพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางได้อย่างรวดเร็ว
- ระบบรับ-ส่งต่อผู้ป่วยที่มีความยุ่งยากซับซ้อน เกินศักยภาพของศูนย์รักษ์ใจ
ปัจจุบันได้อบรมทหารเสนารักษ์ไปแล้ว 2 รุ่นด้วยกัน โดยการฝึกอบรมและถ่ายทอดทักษะความรู้การดูแลผู้ป่วยจิตเวชไปจนถึงทักษะการสื่อสารบนพื้นฐานความเข้าอกเข้าใจ ก็เพื่อสร้างความมั่นใจ ความไว้วางใจจากผู้ป่วย เพื่อที่จะสามารถสนับสนุนส่งเสริมให้เกิดการหยุดยาได้อย่างถาวร และแน่นอนว่า ทางเสนารักษ์ก็จะได้รับการถ่ายทอดความรู้การสังเกตประเมินอาการของผู้ป่วยว่า แบบไหนที่เกินศักยภาพของศูนย์รักษ์ใจ แบบไหนที่จะต้องรีบส่งตัวให้กับคุณหมอ
"ด้วยทักษะ ด้วยความเข้าใจด้วยองค์ความรู้ที่ทหารเสนารักษ์มี จะช่วยแบ่งเบาภาระทางกระทรวงสาธารณสุขได้เป็นอย่างดี และยังจะทำให้ศูนย์รักใจเป็นรอยต่อสำหรับกระบวนการรักษา และส่งต่อผู้ป่วยกลับไปยังครอบครัวและชุมชน ได้อย่างมีประสิทธิภาพ อันหมายถึง เขาเหล่านั้นจะต้องไม่กลับเข้าสู่วังวนของยาเสพติด ไม่ป่วยซ้ำอีก" แพทย์หญิงอัมพร กล่าว
เร่งด่วนส่วนความยั่งยืน "ทุกฝ่ายต้องช่วยกัน"
โครงการนี้ นายกรัฐมนตรี กำชับว่า จะต้องเกิดขึ้นโดยเร็วจะเห็นผลภายใน 1 ปี จึงเกิดการกำหนดพื้นที่เร่งด่วนที่มีปัญหายาเพสติดรุนแรง นั่นก็คือ ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
เลขาธิการ ป.ป.ส. ระบุว่า โครงการเร่งด่วน เพื่อบรรเทาสถานการณ์และเพื่อให้เกิดการแก้ปัญหายาเสพติดอย่างยั่งยืน คืนผู้คนเหล่านี้สู่ครอบครัวและชุมชได้อย่างถาวร แน่นอนว่า จำเป็นที่จะต้องได้รับความร่วมมือจากผู้คนในชุมชนด้วย ทุกฝ่ายต้องร่วมมือกันลุกขึ้นต่อสู้กับยาเสพติด เพื่อที่จะเอาชนะมันไปด้วยกัน
"คำว่าเร่งด่วน คือ มีคนคลุ้มคลั่งเพราะยาเสพติด ถ้าเราไม่เร่งด่วนเรื่องนี้ ปัญหาก็จะไม่หมดไป ซึ่งก็เชื่อว่า ถ้าเรานำพวกเขาไปบำบัดแล้วเขาหาย ขณะเดียวกันก็สร้างชุมชนยั่งยืนไปพร้อมกัน เมื่อไหร่ที่ชุมชนสัมผัสได้ว่า ภาครัฐ ทุกคนร่วมมือกัน ลุกขึ้นมาต่อสู้กับยาเสพติด ความยั่งยืนมันเกิดขึ้นแน่นอน" เลขาธิการ ป.ป.ส. กล่าวทิ้งท้าย

ด้าน พญ.อัมพร กล่าวถึงความยั่งยืนของโครงการบำบัดและฟื้นฟู ผู้เสพยาเสพติด ว่า เราคาดหวังความยั่งยืนในความช่วยเหลือเกื้อกูลกัน แต่ก็คาดหวังว่า ไม่น่าจะต้องมีศูนย์แบบนี้ยาวนานนัก หวังว่า ในจุดหนึ่งผู้ที่เจ็บป่วยจากการเสพติด ปัญหาการเสพติดนี้ พึงจะลดลงและภาคส่วนของสาธารณสุขเองจะสามารถดูแลผู้ที่มีปัญหารุนแรงได้ มีปัญหาทางสุขภาพได้ และในส่วนของชุมชนเองก็จะสามารถดูแล เยียวยาทางสังคมได้
ดังกล่าวข้างต้น ไม่ใช่โครงการแรกที่ทหารเข้ามามีบทบาทในงานบำบัด-ฟื้นฟู ผู้เสพยาเสพติด
ก่อนหน้านี้โครงการที่คุ้นหูกันดี คือ "วิวัฒน์พลเมือง" ซึ่งยังดำเนินการต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งการเพิ่มศูนย์บำบัด-ฟื้นฟูฯ นั้น บ่งบอกถึงพลังแห่งความร่วมมือ ร่วมใจของทุกฝ่ายที่ต้องการเอาชนะ ยาเสพติด ที่มีสถิติผู้ป่วยจิตเวชจากยาเสพติดพฤติกรรมรุนแรง พุ่งสูงขึ้นทุกปี
- ปี 2565 จำนวน 3,527 คน
- ปี 2564 จำนวน 2,783 คน
- ปี 2563 จำนวน 1,463 คน
แต่หากพิจารณาจากตัวเลขชุดนี้ ก็คงไม่ผิดนัก หากจะบอกว่า เรายังเอาชนะยาเสพติด ไม่ได้
รายงานโดย : กิตติพร บุญอุ้ม ผู้สื่อข่าวอาชญากรรม