วันนี้ (8 ม.ค.2567) เว็บไซต์ Air4thai รายงานคุณภาพอากาศฝุ่น PM2.5 ในพื้นที่ กทม.และปริมณฑล คุณภาพอากาศอยู่ในระดับดี ถึงเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ เกินมาตรฐาน 44 พื้นที่ ตรวจวัดตรวจวัดได้ 24.1-61.4 มคก.ต่อลบ.ม.
ขณะที่ภาพรวมปริมาณ PM2.5 ในประเทศพบเกินค่ามาตรฐานใน จ.ปทุมธานี กทม. นนทบุรี นครปฐม สมุทรสาคร สมุทรปราการ ลำปาง ลำพูน อุตรดิตถ์ สุโขทัย พิษณุโลก พิจิตร อุทัยธานี ชัยนาท สิงห์บุรี ลพบุรี อ่างทอง สุพรรณบุรี พระนครศรีอยุธยา กาญจนบุรี ราชบุรี สมุทรสงคราม ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง และหนองคาย
- ภาคเหนือ เกินค่ามาตรฐาน 7 พื้นที่ ตรวจวัดได้ 15.2-58.4 มคก.ต่อลบ.ม.
- ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เกินค่ามาตรฐาน 1 พื้นที่ ตรวจวัดได้ 13.5 - 51.2 มคก.ต่อลบ.ม.
- ภาคกลางและตะวันตก เกินค่ามาตรฐานเป็นส่วนใหญ่ ตรวจวัดได้ 34.4 - 73.4 มคก.ต่อลบ.ม.
- ภาคตะวันออก เกินค่ามาตรฐาน 5 พื้นที่ ตรวจวัดได้ 19.7-40.8 มคก.ต่อลบ.ม.
- ภาคใต้ ภาพรวมอยู่ในเกณฑ์ดี ตรวจวัดได้ 9.5-34.0 มคก.ต่อลบ.ม.
สภาพฝุ่น PM2.5 แถวแยกหลักสี่เมื่อเวลา 09.00 น.จะเห็นฝุ่นหนาจนมองเห็นได้ชัดเจน
GISTDA พบฝุ่นระดับส้ม-จุดความร้อน 217 จุด
สอดคล้องกับข้อมูลลของ GISTDA ร่วมกับสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กรมควบคุมมลพิษ, ม.เกษตรศาสตร์ และม.เชียงใหม่ เกาะติดสถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 แบบรายชั่วโมง ด้วยข้อมูลจากดาวเทียมผ่านแอปพลิเคชั่น “เช็คฝุ่น” เมื่อเวลา 8.00 น.พบว่า 3 จังหวัดที่มีค่าเกินเกณฑ์มาตรฐานในระดับที่มีผลกระทบต่อสุขภาพสีแดง คือ สมุทรสงคราม 112.3 มคก.ต่อลบ.ม.สมุทรสาคร 92.7 มคก.ต่อลบ.ม. นครปฐม 76.7 มคก.ต่อลบ.ม. และพบอีก 38 จังหวัด ที่มีค่าเกินเกณฑ์มาตรฐานในระดับที่เริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพสีส้มโดย 5 อันดับแรกสีส้ม
- ราชบุรี 71.4 มคก.ต่อลบ.ม.
- อ่างทอง 70.7 มคก.ต่อลบ.ม.
- ชัยนาท 70.4 มคก.ต่อลบ.ม.
- สิงห์บุรี 67.1 มคก.ต่อลบ.ม.
- และนนทบุรี 64.0 มคก.ต่อลบ.ม.
ในขณะที่กรุงเทพมหานคร พบค่าฝุ่น PM2.5 ที่เริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพสีส้มทั่วทุกเขต โดย 3 อันดับแรก คือ
- ดอนเมือง 70 มคก.ต่อลบ.ม.
- หลักสี่ 69.6 มคก.ต่อลบ.ม.
- หนองแขม 62.3 มคก.ต่อลบ.ม.
คพ.-GISDA รายงานค่าฝุ่น PM2.5 ในกทม.ปริมณฑล เกินค่ามาตรฐาน 44 พื้นที่ในระดับสีส้มมีผลกระทบต่อสุขภาพ
แอปพลิเคชั่น “เช็คฝุ่น” ยังคาดการณ์ปริมาณฝุ่น PM 2.5 ในอีก 3 ชั่วโมงข้างหน้า พบว่าหลายพื้นที่จะมีค่าคุณภาพอากาศที่ยังคงอยู่ในระดับที่เริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพสีส้ม
ทั้งนี้ ข้อมูลบนแอปพลิเคชัน “เช็คฝุ่น” มีการใช้เทคโนโลยีดาวเทียมร่วมกับ AI ในการวิเคราะห์ค่าฝุ่น PM 2.5 แบบรายชั่วโมงในทุกพื้นที่ทั่วประเทศ ร่วมกับการใช้ข้อมูลการตรวจวัด PM 2.5 จากกรมควบคุมมลพิษ
ข้อมูลสภาพอากาศ จากกรมอุตุนิยมวิทยา รวมถึงข้อมูลของแหล่งกำเนิดฝุ่น เช่น จุดความร้อน และข้อมูลที่เกี่ยวข้องอีกจำนวนมาก มานำเสนอให้ในรูปแบบข้อมูลตัวเลขและค่าสีในระดับต่างๆ เพื่อให้ผู้ใช้งานสามารถเข้าใจสถานการณ์ได้ง่ายยิ่งขึ้น
ทั้งนี้จากข้อมูล จุดความร้อนที่รายงานโดย GISTDA เมื่อวันที่ 7 ม.ค.นี้ พบจุดความร้อนทั้งประเทศ 217 จุด ส่วนใหญ่พบในพื้นที่การเกษตร 97 จุด ตามด้วยพื้นที่เขต สปก. 40 จุด พื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ 39 จุด ชุมชนและอื่นๆ 28 จุด พื้นที่ริมทางหลวง 8 จุด และพื้นที่ป่าอนุรักษ์ 5 จุด โดยจังหวัดที่พบจำนวนจุดความร้อนสูงสุด 3 อันดับแรก คือ ลพบุรี 30 จุด ตามด้วยขอนแก่น 17 จุด และ ชลบุรี 12 จุด
นอกจากนี้ประเทศเพื่อนบ้านที่พบจุดความร้อน มากสุดอยู่ที่กัมพูชา 812 จุด ตามด้วย เมียนมา 391 จุด ลาว 99 จุด และเวียนดนาม 81 จุดประชาชนควรสวมหน้ากากตลอดเวลาเมื่ออยู่ในที่โล่งแจ้ง เพื่อป้องกันผลกระทบที่อาจตามมาโดยเฉพาะโรคเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ ทั้งนี้ท่านสามารถติดตามข้อมูล PM2.5 แบบรายชั่วโมงเพิ่มเติมผ่านแอปพลิเคชัน "เช็คฝุ่น"