ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

หนีจน ! เกษตรกรต้องปรับตัว สนค.ชี้ชาวนามีหนี้ "สวนทางรายรับ"

เศรษฐกิจ
5 ม.ค. 67
14:21
3,062
Logo Thai PBS
หนีจน ! เกษตรกรต้องปรับตัว สนค.ชี้ชาวนามีหนี้ "สวนทางรายรับ"
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
เกษตรกรไทย ครึ่งประเทศยัง “จน” หนี้สินสวนทางรายได้ สนค.แนะถึงเวลา เกษตรกรต้องปรับตัวครั้งใหญ่ ภาครัฐต้องจริงจังกับการพัฒนา-วิจัยเพิ่มผลผลิตลดรายจ่าย ด้านชาวนาโอดต้นทุนสูงทุกปีไม่แปลกใจถ้าเกษตรกรไทยยังจนอยู่

วันนี้ (5 ม.ค.2567) สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) วิเคราะห์สถานการณ์เศรษฐกิจครัวเรือนภาคเกษตร เพื่อยกระดับและเพิ่มรายได้ให้แก่เกษตรกร พบว่าปี 2565 ไทยมีมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) 17,370,240 ล้านบาท เป็น GDP จากภาคเกษตร 1,531,120 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนเพียงร้อยละ 8.81 ของ GDP รวมของประเทศ

ประเทศไทยใช้พื้นที่ทำการเกษตร 149.75 ล้านไร่ มีพื้นที่ชลประทาน 34.88 ล้านไร่ หรือร้อยละ 23.29 ของพื้นที่ทำการเกษตร โดยพื้นที่ทำการเกษตรมีสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 46.69 ของพื้นที่ทั้งประเทศ และมีแรงงานภาคเกษตรจำนวน 11.63 ล้านคน คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 29.31 ของจำนวนแรงงานทั้งหมด แต่เกษตรกรไทยกำลังเข้าสู่สังคมสูงวัย มีอายุเฉลี่ยที่ 58.46 ปี

โดยพื้นที่ที่ทำการเกษตรของไทย พบว่า ทำนาข้าวมากที่สุด จำนวน 65.41 ล้านไร่ หรือร้อยละ 43.68 ของพื้นที่ทำการเกษตรทั้งประเทศ รองลงมา คือ สวนผลไม้และไม้ยืนต้น 39.38 ล้านไร่, พืชไร่ 30.89 ล้านไร่ ,สวนผัก ไม้ดอก และไม้ประดับ 1.1 ล้านไร่ และใช้ประโยชน์อื่น ๆ 12.96 ล้านไร่

อ่านข่าวอื่นๆ:

โพลเผยปี 2566 คนไทย “เหนื่อยหน่าย” กับอะไรมากที่สุด

"บัตรเครดิต ดิจิทัล" ไร้ข้อมูล-สกัดโจรกรรม

สำหรับต้นทุนการผลิตมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ปี 2565 มีมูลค่าการนำเข้า 128,625 ล้านบาท เป็นการนำเข้าปุ๋ยเคมีถึง 103,205 ล้านบาท หรือ ร้อยละ 80.24 ของมูลค่าการนำเข้าปัจจัยการผลิตในภาคเกษตรทั้งหมด และมูลค่านำเข้าปุ๋ยเคมีในช่วง 3 ปี (ปี 2563 – 2565) เพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 49.23 ต่อปี

รายรับน้อย หนี้พุ่ง 1.45%ต่อปี

นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า(สนต.) กล่าวว่า หากเจาะลึกสถานการณ์เศรษฐกิจครัวเรือนเกษตร พบว่าในช่วง 3 ปี รายได้ที่ครัวเรือนมาจากการเกษตร ขยายตัวเพียงร้อยละ 3.81 ต่อปีเทียบกับรายจ่ายที่มีการขยายตัวสูงร้อยละ 6.30 ต่อปี เช่นเดียวกับภาวะหนี้สินที่ยังคงขยายตัวต่อเนื่อง ร้อยละ 1.45 ต่อปี

เมื่อเทียบปี 2565 กับปี 2564 พบว่า รายได้ที่ครัวเรือนได้รับจากกิจกรรมทางการเกษตร ขยายตัวร้อยละ 10.28 และหนี้สินของเกษตรกรขยายตัวร้อยละ 3.49 ซึ่งเป็นการขยายตัวอย่างต่อเนื่องและสูงกว่าค่าเฉลี่ยในช่วง 3 ปี ขณะที่เงินสดคงเหลือก่อนการชำระหนี้และทรัพย์สินของเกษตรกรยังคงหดตัวร้อยละ 2.52 และ 36.11 ตามลำดับ และหดตัวสูงกว่าค่าเฉลี่ยในช่วง 3 ปี

"หมูเถื่อน" ดันสินค้าเกษตรแพง

นายพูนพงษ์ กล่าวอีกว่า สำหรับสถานการณ์สินค้าเกษตรภายในประเทศ ช่วง 11 เดือนปี 2566 ( ม.ค. – พ.ย.) พบว่า สินค้ามีราคาปรับตัวสูงขึ้น ได้แก่ ข้าว ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ถั่วเหลือง มันสำปะหลัง อ้อยโรงงาน สับปะรดโรงงาน ลำไย เงาะโรงเรียน กระเทียม หอมหัวใหญ่ ไก่เนื้อ ไข่ไก่ และปลาดุก เนื่องจากความต้องการของตลาดทั้งในและต่างประเทศเพิ่มขึ้น และต้นทุนการผลิตสูงขึ้น

ขณะที่ สินค้าที่ราคาปรับตัวลดลง ได้แก่ ยางพารา ปาล์มน้ำมัน ทุเรียนหมอนทอง มังคุด สุกร กุ้งขาวแวนนาไม และปลานิล เนื่องจากผลผลิตออกสู่ตลาดจำนวนมาก และประสบปัญหาการลักลอบนำเข้าสุกรผิดกฎหมาย

ส่วน ภาพรวมส่งออกไทย ปี 2565 ไทยส่งออกสินค้าเกษตรกรรมและอุตสาหกรรมการเกษตร มีมูลค่ารวม 49,532.32 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ1,715,153.55 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 17.23 ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมดของไทย โดยส่งออกสินค้าเกษตรกรรม 26,739.15 ล้านเหรีญสหรัฐ หรือ 925,993.61 ล้านบาท

สินค้าอุตสาหกรรมการเกษตร 22,793.17 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 789,159.94 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 53.98 และ 46.02 ของมูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรกรรมและอุตสาหกรรมการเกษตร ตามลำดับ

สินค้าส่งออก"เกษตร-อุตสาหกรรม" ติดลบ

สำหรับในช่วง 11 เดือนแรก (ม.ค. – พ.ย.2566) ไทยส่งออกสินค้าเกษตรกรรมและอุตสาหกรรมการเกษตรเป็นมูลค่า 45,717.37 ล้านเหรียญสหรัฐ มูลค่า1,573,144.56 ล้านบาท หดตัวร้อยละ 0.47 จากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า สินค้าเกษตรกรรมที่ส่งออกเป็นมูลค่าสูงสุด ได้แก่ ผลไม้ มูลค่า 228,176.93 ล้านบาท ข้าว มูลค่า 159,550.25 ล้านบาท และผลิตภัณฑ์จากมันสำปะหลัง มูลค่า 120,902.23 ล้านบาท

ส่วนสินค้าอุตสาหกรรมการเกษตรที่ส่งออกสูงสุด ได้แก่ น้ำตาลทราย มูลค่า113,798.00 ล้านบาท อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป มูลค่า 110,089.79 ล้านบาท และอาหารสัตว์เลี้ยง มูลค่า77,181.00 ล้านบาท สำหรับการนำเข้าสินค้าเกษตรของไทย สินค้าที่มีมูลค่าการนำเข้าสูงสุด ได้แก่ ถั่วเหลือง มูลค่า 66,623.86 ล้านบาท กากน้ำมัน (ออยล์เค๊ก) มูลค่า59,672.18 ล้านบาทและข้าวสาลีและข้าวเมสลิน มูลค่า42,754.25 ล้านบาท

ปัญหาภาคเกษตรไทย คือ มีผลิตภาพต่ำ แรงงานภาคเกษตรมีแนวโน้มลดลงและอายุเฉลี่ยเพิ่มขึ้น ปัญหาการบริหารจัดการน้ำเรื้อรัง ต้นทุนการผลิตสูงและต้องพึ่งพาการนำเข้าปัจจัยการผลิตสินค้าเกษตร เกษตรกรมีข้อจำกัดในการปรับเปลี่ยนสินค้า

นายพูนพงษ์ กล่าวอีกว่า สำหรับแนวทางการยกระดับและเพิ่มรายได้เกษตรกร มีข้อเสนอ 16 แนวทาง เช่น สร้างโครงสร้างการผลิตสินค้าเกษตรให้มีความหลากหลายเป็นที่ต้องการของตลาด ใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยี เพิ่มผลิตภาพและลดต้นทุนการผลิต การจัดการน้ำที่มีประสิทธิภาพ รวมถึงสร้างปัจจัยการผลิตภายในประเทศเพื่อลดการนำเข้า เช่น ปุ๋ยอินทรีย์

นอกจากนี้การ สร้างหลักประกันความมั่นคงทางรายได้ เช่น ส่งเสริมการประกันภัยพืชผลทางการเกษตรและระบบเกษตรพันธสัญญาที่เป็นธรรม และ สร้างการเชื่อมโยงการผลิตสินค้าเกษตรสู่อุตสาหกรรมแห่งอนาคต

สิ่งสำคัญคือ ภาครัฐต้องเร่งกระตุ้นงบประมาณด้านการวิจัยและพัฒนาด้านการเกษตร ทั้งด้านพันธุ์พืชและวิธีการผลิต การลงทุนในภาคการเกษตร และกระตุ้นการท่องเที่ยวเชิงเกษตรซึ่งจะช่วยให้เกษตรลืมตาอ้าปากได้

ทั้งนี้ สนค. มองว่ารายได้ภาคการเกษตรที่อยู่ในระดับต่ำ ทำให้ครัวเรือนเกษตรมีภาระหนี้สินสูงขึ้น สิ่งที่ ภาคเกษตรไทยต้องปรับตัว รับมือกับความท้าทายจากปัจจัยภายในและภายนอก โดยเฉพาะเกษตรกรต้นน้ำ ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญที่จะช่วยให้ภาคเกษตรไทยเติบโตและเปลี่ยนแปลงไปสู่เศรษฐกิจการค้ารูปแบบใหม่ได้อย่าง

พาณิชย์ เร่งยกระดับ SME ไทย

นายพูนพงษ์ กล่สวอีกว่า รัฐบาล ให้ความสำคัญกับการส่งเสริม พัฒนา และยกระดับการค้าของธุรกิจ SME เนื่องจากมีส่วนสำคัญต่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งธุรกิจ SME คิดเป็น 99.5% ของจำนวนธุรกิจทั้งหมด และเป็นแหล่งรองรับการจ้างงานกว่า 70% ของจำนวนแรงงานทั้งประเทศ โดยมีเป้าหมายหลักเร่งผลักดันให้ธุรกิจ SME มีมูลค่าทางเศรษฐกิจคิดเป็นสัดส่วน 40% ต่อ GDP ภายในปี 2570

โดยในปี 2565 ธุรกิจ SME สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้แก่ประเทศอยู่ที่ 6.1 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วน 35.2% ต่อ GDP ซึ่งหากสำเร็จตามเป้าไทยต้องผลักดันให้มีมูลค่าทางเศรษฐกิจขึ้นไปอยู่ที่ประมาณ 8 - 9 ล้านล้านบาท ภายในปี 2570

กระทรวงพาณิชย์และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องร่วมกันทำงานทั้งพัฒนาตลาดผู้บริโภคให้เกิดความต้องการสินค้าและบริการของธุรกิจ SME มากขึ้น เพื่อสร้างตลาดสำหรับธุรกิจ SME ให้มีขนาดใหญ่ขึ้นทั้งตลาดภายในประเทศและต่างประเทศ ควบคู่ไปกับการพัฒนาศักยภาพของผู้ประกอบการ

ชาวนาครวญ ต้นทุนผลิตแพงทุกปี

ด้าน นายสมพงศ์ ชาวนารายหนึ่งที่จังหวัดพิษณุโลก กล่าวกับ “ไทยพีบีเอสออนไลน์ ” ว่า ทำนามาตั้งแต่รุ่นพ่อรุ่นแม่ มีพื้นที่ทำนากว่า50 ไร่ ปัญหาที่เกษตรกรพบ คือ ต้นทุนการผลิตสูงขึ้นทุกปี ทั้งค่าปุ๋ย ค่ายา ค่าแรง ในขณะที่ราคาผลผลิตไม่ได้สูงตาม ทำให้เกษตรกรไทยต้องแบกรับค่าใช้จ่ายส่วนนี้เพราะต้นทุนขยับแทบทุกปี

ไม่แปลกถ้ารายได้ของเกษตรกรไทยจะไม่สูงสวนทางกับรายจ่ายที่สูงมากทุกปี แม้ว่าเกษตรกรจะหาวิธีในการประหยัดต้นทุนการผลิตแต่ก็ช่วยได้ไม่มาก อยากให้รัฐบาลเร่งหามาตรการช่วยเหลือเรื่องต้นทุน แทนการแจกเงินเปล่าให้กับเกษตรกรดีกว่า

สอดคล้องกับ นางถนอม ชาวนาในพื้นที่จังหวัดสุโขทัย กล่าวว่า มีที่นาเพียง 5 ไร่เท่านั้น บางปีก็ไปขอทำนาคนอื่นแล้วแบ่งข้าวให้กับเจ้าของนา ถ้าหมดฤดูทำนาก็มารับจ้างรายวัน ซึ่งการทำนาที่สุโขทัยจะเป็นการทำนาปี คือ ทำปีละครั้งเท่านั้น ข้าวที่ปลูกเป็นข้าวกข. เวลาขายก็ไม่ได้ราคาดี ตันละ 8,000-9,000 บาท เท่านั้น บางปีอาจจะได้ถึงตันละ 10,000-12,000 บาท แต่รายได้ที่รับก็ไม่เพียงพอกับรายจ่าย

ทำนาครั้งหนึ่ง มีแต่รายจ่าย ทั้งค่าไถนา ค่าหว่าน ค่าเกี่ยว สี และดูแลระหว่างทาง เฉลี่ยก็ 4,000-5,000 บาทเมื่อหันค่าใช้จ่ายต่าง ๆ แทบจะไม่เพียงพอ

อ่านข่าวอื่นๆ :

เงินเฟ้อไทยลดต่อเนื่อง 3 เดือน อานิสงส์ "พลังงาน-ค่าครองชีพ"ต่ำ

ธปท.ออกเกณฑ์คุมแบงก์ปล่อยสินเชื่ออย่างรับผิดชอบ

"พีระพันธุ์" ชง ครม.นัดแรกลดค่าไฟต่ำกว่า 4.20 บาท/หน่วย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง