วันนี้ (28 ธ.ค.2566) ร้านค้านับร้อยแห่งในย่านเศรษฐกิจชั้นในของเมืองปัตตานีได้รับความเสียหายจากน้ำเข้าท่วมเกือบทุกเส้นทาง โดยเฉพาะบนถนนจะบังติกอ ถนนกะลาพอ และ ถนนยะรัง ซึ่งนำเข้าท่วมสูงกว่า 30 เซนติเมตร บางสายสูงกว่า 50 เซนติเมตร เจ้าหน้าที่จึงได้นำแผงกั้นไว้ เพื่อไม่ให้รถยนต์ รถจักรยานยนต์ขับผ่านเพื่อความปลอดภัย และลดผลกระทบกับร้านค้าจากคลื่นน้ำที่เกิดจากรถบางร้านแม้จะมีการวางกระสอบทราย หรือมีการก่อสร้างปูนกั้นน้ำไว้บ้างแล้ว แต่น้ำที่มีมากและระบายไม่ทันก็ไหลเข้าท่วมร้าน ทำให้ทางเทศบาลเมืองปัตตานีต้องเร่งสูบน้ำกลับไปลงในแม่น้ำปัตตานี แต่การระบายก็เป็นไปได้ยาก เพราะแม่น้ำปัตตานีที่ไหลผ่านใจกลางเมืองเต็มความจุ หลายจุดก็ได้เอ่อไหลเข้าท่วมชุมชนใกล้เคียงทั้งหมด
อ่านข่าว : "แม่น้ำสายบุรี" ล้นตลิ่ง ส่งผลปัตตานีท่วมหนัก
อย่างชุมชนปะกาฮารัง ที่อยู่ติดแม่น้ำปัตตานี บ้านเรือนกว่า 300 หลังจมอยู่ใต้น้ำ ซึ่งจากภาพมุมสูงก็ทำให้เห็นถึงความเสียหายที่กินเป็นวงกว้าง ชาวบ้านบอกว่า แม้ทุกปีทีนี้จะเกิดน้ำท่วม เพราะต้องรองรับน้ำจาก จ.ยะลา และในคลองสายต่างๆจาก จ.ปัตตานีเพื่อระบายลงสู่ทะเล แต่ปีนี้ทรัพย์สินที่ยกสูงแล้วก็ยังไม่พ้นน้ำ ทำให้บางส่วนเสียหาย โดยเฉพาะเครื่องใช้ไฟฟ้าขนาดใหญ่
ปรากฏการณ์ฝนที่ตกลงมาอย่างหนักแบบกระจุกตัว เป็นปัจจัยหลักที่นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญด้านสภาพอากาศและภัยพิบัติ ในพื้นที่ภาคใต้ มองว่า ทำให้เกิดอุทกภัยครั้งนี้ และในอนาคตก็มีโอกาสเกิดขึ้นได้อีก หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงควรถอดบทเรียน ในการตั้งรับภัยพิบัติที่ยังมีจุดอ่อนในเรื่องของการส่งต่อข้อมูลแจ้งเตือนไปให้ถึงประชาชนในพื้นที่เสี่ยง โดยเห็นว่ากลไกของ อบต.ที่มีอยู่ทุกพื้นที่ และเข้าถึงประชาชนได้ง่าย ควรใช้เป็นเครื่องมือในการส่งต่อข้อมูลในการเตือนภัย แผนการจัดการระหว่างเกิดภัยพิบัติ และข้อมูลการฟื้นฟูหลังน้ำลด เพื่อให้ลดความเสียหายให้ได้มากที่สุด
อ่านข่าว : “แม่น้ำปัตตานี” วิกฤติ รับน้ำก่อนลงทะเล เข้าท่วมบ้านนับร้อยหลัง-ย่านการค้าในเมือง
เหตุอุทกภัยในครั้งนี้ไม่เพียงแต่เกิดขึ้นในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่ในรัฐกลันตัน ประเทศมาเลเซีย ที่มีแม่น้ำโกลกกั้นก็ได้รับความเสียหายเช่นเดียวกัน ทำให้นายอันวาร อิบราฮิม ได้โพสต์ในเฟชบุ๊กส่วนตัวว่า ได้มีโอกาสพูดคุยเรื่องนี้กับ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีของไทย ที่พบปะเป็นการส่วนตัวใน จ.ภูเก็ต และจะลงพื้นที่รัฐกลันตัน หลังก่อนหน้านี้ นายกรัฐมนตรีของไทยได้ลงพื้นที่ จ.นราธิวาสไปแล้ว
ทั้งนี้โดยภาพรวมสถานการณ์น้ำท่วมในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ยังคงวิกฤตหนัก คือใน จ.ปัตตานี ที่ต้องรอลุ้นว่าฝนที่เริ่มกลับมาตกอีกครั้ง จะมีปริมาณมากจนซ้ำเติมสถานการณ์หรือไม่
ยะลาบ้านถูกน้ำท่วมนับ 10 หลัง
พื้นที่ หมู่ 7 ต.ตะโละหะลอ อ.รามัน จ.ยะลา บ้านประชาชนถูกน้ำท่วมเสียหายทั้งหลัง นับ 10 หลัง บ้านบางหลัง ถูกน้ำพัดหายไปพร้อมกับทรัพย์สิน เหลือเพียงพื้นบ้าน นอกจากนี้ยังมีร้านค้าถูกน้ำพัดหายไปด้วย
เจ้าของบ้าน กล่าวว่า เพิ่งกลับเข้าหมู่บ้าน และเห็นสภาพบ้านพังเสียหายทั้งหลัง แทบไม่เหลือสติ เพราะทรัพย์สินทั้งหมดหายไปกับน้ำ ส่วนบ้านที่เสียหายยังคิดไม่ออก ว่าจะนำเงินที่ไหนมาซ่อม เพราะเงินเก็บก็หายไปกับน้ำด้วย
ในหมู่บ้านเดียวกัน ชาวบ้านนำทรัพย์สินมากองไว้ริมทาง เพื่อทำความสะอาด ชาวบ้าน บอกว่า ชาวบ้านรู้สึกเครียด หลังถูกน้ำท่วมหนัก ซึ่งการช่วยเหลือยังเข้าไม่ถึง จึงช่วยเหลือตัวเองไปก่อน ปลอบใจซึ่งกันและกัน ไม่ให้เกิดความเครียดมากกว่านี้
ทั้งนี้สถานการณ์ในภาพรวมลดลง หากไม่มีฝนเพิ่มคาดว่าจะเข้าสู่ภาวะปกติใน 1 – 2 วันนี้
นราธิวาสน้ำท่วมทั้ง 13 อำเภอ เสียชีวิต 7 คน สูญหาย 1
จ.นราธิวาส พื้นที่ราบลุ่มใน ต.นานาค อ.ตากใบ และ ต.มูโนะ อ.สุไหงโก-ลก ยังมีน้ำท่วมสูงกว่า 1 เมตร เพราะเป็นพื้นที่รับน้ำจากเทือกเขา ที่ระบายจาก อ.สุคิริน และ อ.แว้ง บางจุดระดับน้ำสูงเกือบ 2 เมตร ชาวบ้านเคลื่อนย้ายสิ่งของไว้ในที่สูง แต่ชาวบ้านรับมือได้ทัน
พื้นที่ ต.ช้างเผือก อ.จะแนะ จ.นราธิวาส น้ำลดลง ถนนและหมู่บ้านเต็มไปด้วยโคลน ทรัพย์สินเสียหาย โดยเฉพาะที่ โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน บ้านไอร์บือแต ตอนนี้ครูและนักเรียนช่วยกันทำความสะอาด
ขณะที่ ปภ.นราธิวาส ระบุพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบน้ำท่วม 13 อำเภอ 77 ตำบล กว่า 500 หมู่บ้าน มีประชาชนได้รับผลกระทบกว่า 260,000 คน มีผู้เสียชีวิต 7 คน และสูญหาย 1 คน
อ่านข่าวเพิ่ม :
จบดรามาขาดแคลนอาหาร "ธรรมนัส" สั่งตั้งโรงครัวทุกตำบล
"ปัตตานี" ประกาศเขตภัยพิบัติ 8 อำเภอ หลังรับมวลน้ำจาก "นราธิวาส-ยะลา"
ธอส.ออก 7 มาตรการช่วยผู้ประสบภัยน้ำท่วมภาคใต้
น้ำท่วม 5 จังหวัดภาคใต้ รพ.ปิด 10 แห่ง สธ.เตรียมยา เวชภัณฑ์ ทีมแพทย์รับมือ