เมื่อพูดถึงการใช้งานเว็บไซต์หรือบริการต่าง ๆ บนอินเทอร์เน็ต เราอาจพอนึกออกว่าในทุกเว็บไซต์ที่เราเข้า ทุกบริการที่เราใช้ เช่น การรับชมวิดีโอ การส่งข้อความ หรือการอัปโหลดไฟล์ขึ้นบนบริการเก็บข้อมูลต่าง ๆ จำเป็นจะต้องมีคอมพิวเตอร์ที่ทำหน้าที่เป็นเครื่องแม่ข่ายหรือที่เรียกว่า “เซิร์ฟเวอร์” คอยจัดการกับไฟล์ต่าง ๆ หรือประมวลผล ยกตัวอย่างเช่น เรากำลังรับชมวิดีโอจากเว็บไซต์ YouTube แปลว่าอุปกรณ์ของเรากำลังพูดคุยกับคอมพิวเตอร์เซิร์ฟเวอร์ของ YouTube และรับข้อมูลประเภทวิดีโอลงมา เพื่อให้เราได้รับชมบนอุปกรณ์ของเรา และข้อมูลนั้นเดินทางมาหาเราได้ผ่านอินเทอร์เน็ต
หากคิดตามหลักการนี้แล้ว เราอาจมองเห็นตัวอุปกรณ์สำคัญ 2 อุปกรณ์ด้วยกัน ได้แก่คอมพิวเตอร์ของเราและคอมพิวเตอร์เซิร์ฟเวอร์ของเว็บไซต์ที่ให้บริการนั้น ๆ โดยมีตัวกลางคืออินเทอร์เน็ตนั่นเอง แต่หากเป็นเช่นนี้แล้ว ระยะห่างระหว่างอุปกรณ์ทั้งสองก็น่าจะมีผลต่อความเร็วในการรับและส่งข้อมูล เช่น ระหว่างประเทศไทยกับสหรัฐอเมริกา ที่อาจทำให้ความเร็วในการส่งข้อมูลช้าลง กับอีกข้อจำกัดหนึ่งก็คือ แน่นอนว่าคอมพิวเตอร์เซิร์ฟเวอร์ของ YouTube จำเป็นต้องปฏิบัติตามข้อเรียกร้องของอุปกรณ์ต่าง ๆ จากทั่วโลก และส่งข้อมูลไฟล์ต่าง ๆ ไปยังอุปกรณ์นั้น ๆ ทุกครั้งที่มีการเรียกขอ ซึ่งอาจส่งผลต่อประสิทธิภาพการทำงาน รวมถึงการส่งข้อมูลผ่านอินเทอร์เน็ตนั้นก็มีราคาเช่นกัน อย่างที่เราทราบกันดีว่าอินเทอร์เน็ตไม่ใช่ของฟรี และไม่ว่าจะเป็นเจ้าของเว็บไซต์ เจ้าของเครื่องเซิร์ฟเวอร์ หรือผู้ใช้งานทั่วไป ก็จำเป็นต้องจ่ายค่าใช้บริการให้กับผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต หรือ Internet Service Provider (ISP) แล้วแต่ปริมาณการใช้งาน และด้วยข้อจำกัดทั้งสามอย่างนี้ทำให้เกิดสิ่งประดิษฐ์อย่างหนึ่งขึ้นมา
CDN หรือ Content Delivery Network เป็นเครือข่ายของคอมพิวเตอร์เซิร์ฟเวอร์ที่เราอาจมองไม่เห็น กล่าวคือ เราไม่รู้ว่ามี แต่กลับมีความสำคัญอย่างมากในโลกปัจจุบัน หน้าที่ของ CDN คือการเป็นตัวกลางระหว่างคอมพิวเตอร์เซิร์ฟเวอร์ของผู้ให้บริการเว็บไซต์หรือบริการต่าง ๆ บนอินเทอร์เน็ต กับอุปกรณ์ของผู้ใช้งานทั่วไป เครือข่ายคอมพิวเตอร์ CDN เหล่านี้จะแฝงตัวอยู่ทั่วทุกมุมโลก และทำหน้าที่จัดเก็บไฟล์ข้อมูลต่าง ๆ ตั้งแต่ตัวอักษร ภาพ วิดีโอ ที่ได้รับมาจากคอมพิวเตอร์เซิร์ฟเวอร์ของเว็บไซต์หรือบริการต่าง ๆ ก่อนที่จะแจกจ่ายไปยังอุปกรณ์ปลายทาง เหมือนกับเป็นตัวกลาง โดยที่ CDN จะไม่จำเป็นต้องไปเรียกร้องขอข้อมูลจากคอมพิวเตอร์เซิร์ฟเวอร์ของผู้ให้บริการทุกครั้งที่ผู้ใช้งานร้องขอข้อมูลใด ๆ การกระทำเช่นนี้ จึงเป็นการลดความจำเป็นในการตอบสนองของเครื่องเซิร์ฟเวอร์ของผู้ให้บริการ
ยกตัวอย่างเช่น ผู้ใช้งานนามสมมติเอ โหลดภาพจากเว็บไซต์ Instagram มาดูบนอุปกรณ์ ระบบ CDN ก็จะไปร้องขอภาพดังกล่าวจากเซิร์ฟเวอร์ของ Instagram มาเก็บไว้ที่ตัวเองก่อนที่จะส่งต่อไปให้ผู้ใช้งานเอ ต่อมา เมื่อผู้ใช้งานนามสมมติบี และซี เรียกร้องขอภาพเดียวกัน ระบบ CDN ก็จะส่งภาพเดียวกันนี้ไปให้ผู้ใช้งานบีและซี โดยไม่ต้องไปโหลดภาพจาก Instagram ใหม่ทุกครั้ง
และจากหลักการที่ CDN มีการกระจายตัวอยู่ทั่วโลก ทำให้ผู้ใช้งานในแต่ละภูมิภาค จะได้รับข้อมูลจาก CDN ที่อยู่ใกล้ตัวเองมากที่สุดด้วย ซึ่งกรณีเช่นนี้ ก็จะเกิดประโยชน์กับทั้งผู้ใช้งาน ที่ได้รับข้อมูลอย่างรวดเร็ว ส่วนผู้ให้บริการเว็บไซต์เองก็ประหยัดค่าใช้บริการอินเทอร์เน็ตจากการที่ไม่ต้องส่งข้อมูลใหม่ ๆ ไปให้กับทุกอุปกรณ์ที่ร้องขอ
อย่างไรก็ตาม CDN เองก็ไม่ใช่ของฟรี และจะเรียกเก็บเงินจากผู้ให้บริการเว็บไซต์ต่าง ๆ ที่ประสงค์จะใช้บริการ CDN เพราะผู้ให้บริการ CDN ก็ต้องมีต้นทุนด้านการบริหารจัดการอัตราการรับส่งข้อมูล แถมยังมีต้นทุนในการวางระบบดังกล่าวไว้ในแต่ละภูมิภาค แต่ธุรกิจในลักษณะดังกล่าวก็เติบโตขึ้นอย่างมากจากความต้องการใช้งานข้อมูลบนอินเทอร์เน็ตที่มากขึ้นในปัจจุบัน ตัวอย่างของผู้ให้บริการ CDN ที่ได้รับความนิยม เช่น บริษัท Cloudflare บริษัท Akamai บริษัทด้านเทคโนโลยีที่มี Cloud เป็นของตัวเองบางส่วนก็นำมาให้บริการ CDN เช่นกัน เช่น Amazon Cloudfront เป็นต้น หรือผู้ให้บริการเว็บไซต์ต่าง ๆ ก็อาจสร้าง CDN ขึ้นมาใช้เอง เพื่อบริหารจัดการการรับส่งข้อมูลให้สมเหตุสมผลขึ้น เช่น Facebook วิธีสังเกตง่าย ๆ คือหากเราคลิกขวาที่ภาพใน Facebook ใด ๆ แล้วกดดูที่มาของภาพนั้น ใน URL เราจะเห็นว่า ถูกส่งมาจาก FBCDN ซึ่งก็คือระบบ CDN ของ Facebook นั่นเอง
CDN จึงเป็นเหมือนกับเซิร์ฟเวอร์ที่มองไม่เห็น ทำงานอยู่เบื้องหลังและเราอาจไม่รู้ว่ามีตัวตนอยู่ แต่ช่วยโลกใบนี้ให้เกิดสมดุลของอัตราการรับส่งข้อมูลบนอินเทอร์เน็ตที่มีอยู่อย่างจำกัด แถมยังช่วยลดค่าใช้จ่ายของผู้ให้บริการ ทำให้ผู้ใช้งานปลายทางสามารถใช้งานบริการต่าง ๆ ได้ในราคาที่ถูกลงด้วย
ที่มาภาพ: NASA
“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech