มากกว่า 600 ล้านบาท คือ...จำนวนเงินจากงบประมาณของรัฐที่กรมควบคุมมลพิษต้องจ่ายไปแล้วกับราคาค่า "จัดการพื้นที่ปนเปื้อนแร่ตะกั่วในลำห้วยคลิตี้"
ลำห้วยคลิตี้ ปนเปื้อนการการทำเหมืองตะกั่วของ บริษัท ตะกั่วคอนเซนเตรทส์ (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งดำเนินการขุดนำแร่ตะกั่วในพื้นที่ขึ้นมาถลุงเพื่อนำเนื้อตะกั่วไปใช้ตั้งแต่ปี 2518 จนกระทั่งในปี 2541 ชาวบ้านซึ่งเป็นชาวไทยเชื้อสายกะเหรี่ยงในพื้นที่ซึ่งใช้น้ำจากลำห้วยคลิตี้มาดำรงชีวิตเริ่มได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง มีคนป่วยและเสียชีวิต สัตว์เลี้ยงจำนวนมากล้มตาย จึงเรียกร้องให้หน่วยงานรัฐเข้ามาตรวจสอบผลการตรวจสุขภาพของประชาชนในพื้นที่พบมีค่าตะกั่วปนเปื้อนในร่างกายเกินกว่ามาตรฐานของคนไทยทั่วไป
ข้อมูลจากกรมควบคุมมลพิษระบุ พบการปนเปื้อนของหางแร่ตะกั่วในลำห้วยคลิตี้เป็นระยะทางมากกว่า 10 กิโลเมตร จากการปล่อยน้ำเสียจากบ่อกักเก็บหางแร่ลงมาที่ลำห้วย จนมาถึงการฟ้องร้องดำเนินคดีซึ่งศาลตัดสินให้กรมควบคุมมลพิษ ต้องเข้ามาฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้ และเริ่มดำเนินการไปตั้งแต่ปี 2560
ยังมีคำถามมากมายเกี่ยวกับกระบวนการฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้ ซึ่งกรมควบคุมมลพิษว่าจ้าง บริษัท เบตเตอร์ เวิลด์ กรีน ซึ่งเป็นโรงงานลำดับที่ 101 รับบำบัดและกำจัดของเสียอันตรายเข้ามาดำเนินงาน โดยว่าจ้างไปแล้ว 3 โครงการ ใช้งบประมาณไปมากกว่า 600 ล้านบาท แต่ยังมีข้อโต้แย้งว่า การฟื้นฟูไม่สำเร็จตามเป้าหมาย
อ่าน : ปนเปื้อน เดอะซีรีส์ EP.3 "ขยะอันตราย" ผู้ก่อมลพิษ ต้องรับผิดชอบ
แต่หากจะใช้การปนเปื้อนที่ลำห้วยคลิตี้เป็นกรณีศึกษาในการจัดการการปนเปื้อน "กากของเสียอันตราย" ก็จะพบว่า แม้จะใช้งบประมาณของรัฐไปแล้วกว่า 600 ล้านบาท แต่ก็ยังไม่สามารถทำความสะอาดพื้นที่ได้สำเร็จ ไม่สามารถคืนสิ่งแวดล้อมแบบเดิมให้กับชุมชนได้ ที่สำคัญไม่สามารถนำลำห้วยคลิตี้ที่ใช้อุปโภคบริโภคกลับคืนมาได้
และเรื่องราวแบบเดียวกันนี้อาจกำลังจะซ้ำรอยในอีกหลายพื้นที่ที่กำลังจะตามมาในประเทศไทย นั่นน่าจะช่วยให้หน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบ ต้องรีบทำอะไรบางอย่างในพื้นที่ที่กำลังพบปัญหาการ "ปนเปื้อน" ในรูปแบบที่คล้ายๆ กันมาตลอดเกือบ 30 ปี หากนับจากปัญหาที่ลำห้วยคลิตี้ นั่นคือ
- เกิดการปนเปื้อนออกมาโรงงงาน
- ประชาชนในพื้นที่ได้รับผลกระทบ พืชผลทางเกษตรล้มตาย ดิน น้ำ ใช้ไม่ได้
- ประชาชนร้องเรียนหน่วยงานรัฐ
- หน่วยงานรัฐเข้ามาตรวจสอบ สั่งให้โรงงานปิดปรับปรุงชั่วคราว ต่อมาพบการปนเปื้อนอีก ประชาชนร้องเรียน หน่วยงานสั่งปิดปรับปรุงชั่วคราว พบการปนเปื้อนอีก …เป็นเช่นนี้ซ้ำไปซ้ำมา
- ประชาชนที่ได้รับผลกระทบ หันไปพึ่งพาองค์กรภาคประชาสังคม รวมตัวกันเก็บหลักฐานจากการปนเปื้อน และอาการเจ็บป่วยของตัวเองเพื่อฟ้องร้องดำเนินคดี
- ประชาชน ชนะคดี ... แต่ บริษัทหรือโรงงาน แจ้งล้มละลาย ไม่มีเงิน ไม่สามารถจ่ายเงินชดเชยเยียวยา ไม่สามารถกำจัดของเสียอันตรายที่เหลืออยู่ตามขั้นตอนที่ถูกต้องได้ ไม่สามารถฟื้นฟูสภาพแวดล้อมที่ถูกปนเปื้อนได้
- หน่วยงานรัฐ ไม่สามารถบังคับคดีให้ โรงงานผู้ก่อมลพิษทำตามคำสั่งศาลได้
- เวลาล่วงเลยยาวนาน การปนเปื้อนกระจายมากขึ้น สร้างความเสียหายมากขึ้น
- หน่วยงานรัฐ ต้องนำงบประมาณของรัฐมาจัดการจัดเก็บการปนเปื้อนและฟื้นฟูสภาพแวดล้อมไปก่อน แล้วจึงไปฟ้องร้องเรียกเงินจากผู้ก่อมลพิษ
- การจัดการฟื้นฟูช้าเกินไป ประชาชนผู้ได้รับผลกระทบต้องทนทุกข์ต่อไป ...
นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นกับที่ลำห้วยคลิตี้ และกำลังกลายเป็นวงจรที่เกิดขึ้นอีกอย่างน้อย 3 พื้นที่ใหญ่ๆ
- การปนเปื้อนจากโรงงาน แว็กซ์ กาเบจ รีไซเคิล เซ็นเตอร์ ที่ อ.เมือง และ อ.จอมบึง จ.ราชบุรี ซึ่งปนเปื้อนมาตั้งแต่ปี 2543 รวมเป็นเวลา 23 ปี ปัจจุบันชาวบ้านในพื้นที่ชนะคดี แต่ยังไม่ได้รับเงินเยียวยา และกรมโรงงานอุตสาหกรรมต้องขออนุมัติงบประมาณเกือบ 60 ล้านบาท มาขนย้ายของเสียอันตรายบางส่วนออกไปกำจัดก่อน แต่ยังมีของเสียอันตรายจำนวนมากถูกฝังอยู่ใต้ดิน
- การปนเปื้อนจากโรงงาน วิน โพรเสส ที่บ้านหนองพะวา อ.บ้านค่าย จ.ระยอง ซึ่งเปิดโรงงานมาตั้งแต่ปี 2554 เคยถูกตรวจพบลักลอบฝังกลบของเสีย ในปี 2557 แต่ยังได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานในปี 2560 และนำของเสียอันตรายจำนวนมากทยอยเข้ามาทิ้งในบริเวณโรงงานในหลากหลายรูปแบบจนเกิดการปนเปื้อนไปในที่ดินของชาวบ้านและแหล่งน้ำสาธารณะ มีพืชผลทางการเกษตรเสียหายจำนวนมาก ปัจจุบันยังอยู่ระหว่างดำเนินคดี และที่เป็นเช่นเดียวกัน คือ ของเสียอันตรายยังไม่ถูกนำไปกำจัด ยังไม่มีกระบวนการฟื้นฟูในพื้นที่ เพราะโรงงานอ้างว่า ไม่มีเงิน
- การปนเปื้อนจากโรงงาน เอกอุทัย อ.ศรีเทพ จ.เพชรบูรณ์ ซึ่งเป็นโรงงานลำดับที่ 105 รับบำบัด "ของเสียไม่อันตราย" แต่ชาวบ้านพบการลักลอบนำของเสียอันตรายมาฝังในบ่อฝังกลบจำนวนมาก ส่งกลิ่นเหม็น ปนเปื้อนในแหล่งน้ำ มีควันสีเหลืองลอยขึ้นมาจากบ่อ ประชาชนในพื้นที่ได้รับผลกระทบ และอยู่ระหว่างการดำเนินคดี และมีแนวโน้มที่โรงงานจะไม่ดำเนินการใดๆเช่นเดียวกัน
เกิดอะไรขึ้นในการฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้ และเหตุใดงบประมาณกว่า 600 ล้านบาท จึงยังไม่เพียงพอที่จะนำลำห้วยที่ใสสะอาดให้กลับคืนมาได้ หลายคนคงเคยได้รับรู้เรื่องราวนี้จากมุมมองของภาคประชาสังคมที่ตั้งคำถามมามากแล้ว
อ่าน : ปนเปื้อน เดอะซีรีส์ EP.2 หลุมฝังกลบ "ชุมชนหนองพะวา" ยุติธรรมไม่มีจริง
ในมุมมองจากผู้ถูกว่าจ้างให้ทำงานชิ้นนี้ บริษัท เบตเตอร์ เวิลด์ กรีน เพื่อใช้เป็นกรณีศึกษาว่า ประเทศไทย ต้องทำอย่างไรกับพื้นที่ปนเปื้อนอื่นๆ
"ครั้งแรก เรามีหน้าที่เก็บกากตะกอนข้างทางไปกำจัดที่หลุมฝังกลบ ที่ จ.สระบุรี แต่ก็ยังไม่หมด ต่อมาจึงมีสัญญาใหม่ที่ต้องขุดลอกลำห้วย และสร้างหลุมฝังกลบของเสียอันตรายขึ้นใหม่ไว้ในพื้นที่เลย เพราะพบการปนเปื้อนเยอะมาก จึงต้องสร้างฝายไว้ดักตะกอนเพื่อดูดตะกอนไปทิ้ง แต่ที่สำคัญคือ พอลงไปจัดการจุดที่ 1 กลับพบการปนเปื้อนเพิ่มในจุดที่ไม่ถูกประเมินไว้ใน TOR แต่แรก เป็นจุดที่ 2 3 4 5 6 ไปเรื่อยๆ นั่นเป็นเพราะพื้นที่ปนเปื้อนนี้ ถูกทิ้งไว้นานเกินไป"
ศุภวัฒน์ คุณวรวินิจ ผู้อำนวยการฝ่ายบริหารการตลาด บริษัท บริษัท เบตเตอร์ เวิลด์ กรีน จำกัด ซึ่งเป็นผู้ควบคุมงานการฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้ อธิบายว่า สาเหตุที่ยังพบการปนเปื้อนในลำห้วยคลิตี้ แม้จะมีการลงทำงานเก็บกากของเสียตามข้างทางไปทิ้ง ขุดลอกลำห้วยไปแล้วประมาณ 13 กม. ทำฝายดักตะกอน ดูตะกอน และทำหลุมฝังกลบ โดยใช้งบประมาณไปแล้วมากมาย เพราะระหว่างการจัดการปัญหาการปนเปื้อน ทำให้พบการปนเปื้อนในจุดอื่นๆที่มองไม่เห็น ตั้งแต่การประเมินก่อนการว่าจ้างอีกจำนวนมาก ซึ่งเป็นปัญหาที่เกิดจากการแพร่กระจายของแร่ เนื่องจากพื้นที่นี้ถูกทิ้งไว้นาน
อ่าน : ปนเปื้อน เดอะซีรี่ส์ EP.1 คดีสิ่งแวดล้อม "มหากาพย์ 23 ปี"
เขาอธิบายว่า การดำเนินการในแต่ละครั้งจะมีขั้นตอนที่กรมควบคุมมลพิษไปว่าจ้างผู้เชี่ยวชาญมาประเมินสภาพพื้นที่ก่อน เพื่อกำหนดใน TOR ว่า ทาง เบตเตอร์ เวิลด์ กรีน จะต้องดำเนินการที่จุดไหนอย่างไรบ้าง โดยบริษัทจะเห็นผลกระทบที่ถูกกำหนดไว้เฉพาะที่ปรากฏใน TOR แต่ไม่ได้เห็นผลการประเมินพื้นที่ทั้งหมด และเมื่อเวลาผ่าน สภาพพื้นที่ก็เปลี่ยนไปจนยากต่อการประเมิน
"รอบล่าสุดที่เราเข้าไปทำพบว่า ทางเหนือขึ้นไปของลำห้วยยังมีกองหางแร่ปนเปื้อนอยู่ แต่เรามองด้วยตาเปล่าไม่เห็น เพราะมันถูกทิ้งไว้นานมาก มีหญ้าขึ้นปกคลุมเหมือนเนินดินทั่วไป แต่ชาวบ้านในพื้นที่รู้ เขามาชี้ให้ดูบอกว่า ตรงนี้เป็นกองหางแร่นะ และแม้เราจะเอาออกไปแล้ว ชาวบ้านก็มาบอกว่า ยังมีลักษณะนี้อีกหลายกอง จึงควรให้ชาวบ้านในพื้นที่เข้ามาร่วมประเมินสภาพพื้นที่ตั้งแต่ก่อนว่าจ้างด้วย แม้จะทำเช่นนั้นก็ยังเจอการแพร่กระจายเพิ่มเติมอีกมากในจุดที่อยู่ใต้ดิน"
จากประสบการณ์การเข้าไปฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้ และล่าสุด บริษัท เบตเตอร์ เวิลด์ กรีน ยังเป็นผู้รับจ้างที่กรมโรงงานอุตสาหกรรม ว่าจ้างให้ไปขนย้ายกากของเสียอันตรายจาก บริษัท แวกซ์ กาเบจ รีไซเคิล เซ็นเตอร์ จ.ราชบุรี ออกไปกำจัดอย่างถูกต้องด้วย
ศุภวัฒน์ ให้ความเห็นว่า มีโอกาสสูงที่การปนเปื้อนจากโรงงาน แว็กซ์ กาเบจ จะกลาย เป็นเหตุบานปลายที่ฟื้นฟูได้ยากเช่นเดียวกับที่ลำห้วยคลิตี้ ซึ่งน่าจะรวมไปถึงที่หนองพะวา จ.ระยอง และที่ อ.ศรีเทพ จ.เพชรบูรณ์ เนื่องจากมีลักษณะที่เหมือนกันคือ กากของเสียอันตรายปนเปื้อนลงไปในแหล่งน้ำสาธารณะและชั้นใต้ดิน แต่รูปแบบการจัดการเบื้องต้นที่หน่วยงานรัฐให้ทำ ยังคงเน้นไปที่การจัดเก็บของเสียอันตรายที่อยู่บนดินออกไปกำจัดก่อนเท่านั้น
"การจัดการของเสียอันตรายที่อยู่ใต้ดินต้องรีบทำ หากทิ้งไว้นาน ก็จะแพร่ กระจายออกไปเรื่อยๆ และผลกระทบก็จะเพิ่มขึ้น สิ่งที่ตามมาคือ ต้องใช้งบประมาณในการจัดการบานปลายตามไปด้วย" ศุภวัฒน์ ทิ้งท้าย
อ่านข่าวอื่น :
รู้หรือไม่? "บนเรือก็มีแพ" อุปกรณ์ช่วยชีวิตคนเมื่อเรือล่ม
"โรม" ขอ ปชช.รอดูซักฟอกนายกฯ ปม "ตั๋วตำรวจ" หรือไม่
ดรามา "เติมไม่เต็มลิตร" ค้าภายในแจงไม่ผิด กม.ชี้ขาดเกินได้ 1%