วันนี้ (21 ธ.ค.2566) นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีและประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยผลสำรวจประชาชนจำนวน 1,258 กลุ่มตัวอย่างระหว่างวันที่ 10-16 ธ.ค.2566 พบว่าจะมีเม็ดเงินสะพัด ระหว่างวันที่ 29 ธ.ค. 2566 – 1 ม.ค. 2567 อยู่ที่ 105,924 ล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่มีเงินสะพัดที่ 103,039 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 2.8
และพฤติกรรมการใช้จ่ายปี 2567 ส่วนใหญ่ร้อยละ 71.3 จะใช้เงินสังสรรค์ หรือจัดงานเลี้ยง ขณะที่ร้อยละ 55.8 ใช้เงินเพื่อทำบุญและเพื่อศาสนา และร้อยละ 45.3 ท่องเที่ยวในประเทศ
นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีและประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย
ส่วนสถานที่วางแผนจะไปเที่ยวในปีใหม่และปีหน้า มากสุด คือ ภูเขา ร้อยละ48 รองลงมาทะเล ร้อยละ 24 โบราณสถานและวัด ร้อยละ15 น้ำตก ร้อยละ 8.5 และเชิงสุขภาพ ร้อยละ 2.9
ผลการสำรวจยังระบุอีกว่า ประชาชนส่วนใหญ่วางแผนออกเดินทางวันที่ 29-30 ธ.ค.2566 และเดินทางกลับ 1 ม.ค.2567 เฉลี่ยใช้เวลาเดินทาง 3-4 วัน เน้นการเดินทางโดยรถยนต์ร้อยละ 80 เครื่องบินร้อยละ 7 และรถทัวร์ ร้อยละ 8 โดยจะเดินทางไปกับครอบครัว ร้อยละ 77 ไปกับแฟนหรือคู่รัก ร้อยละ 3 และกลุ่มเพื่อนร้อยละ 10
แม้ว่าประชาชนยังกังวลกับสถานการณ์เศรษฐกิจและเงินกระเป๋าและจับจ่ายด้วยความระมัดระวัง แต่มีความตั้งใจเฉลิมฉลอง จึงเชื่อว่าบรรยากาศจะคึกคักมากกว่าปีที่แล้วเล็กน้อย
สถานที่่อยากไปเที่ยวช่วงปีใหม่
นายธนวรรธน์ กล่าวว่า ผลสำรวจพบว่า คนใช้จ่ายเงินก้อนใหญ่ไปกับการท่องเที่ยวเฉลี่ย 54,000 ล้านบาท สอดคล้องกับประกาศ กระทรวงการท่องเที่ยว ประเมินการใช้จ่ายช่วงปีใหม่อยู่ที่ 59,000 ล้านบาท (รวมกับการเที่ยวต่างประเทศแล้ว) ขณะเดียวกัน มีการใช้จ่ายในการออกนอกพื้นที่ ส่วนใหญ่ร้อยละ 49ใช้เพื่อการท่องเที่ยว
บุคคลที่อยากจะไปเที่ยวปีใหม่ด้วย
ขณะเดียวกัน หมวดการใช้จ่ายต่างประเทศเพิ่มขึ้นจากเฉลี่ยที่ 35,573 บาทต่อคน เพิ่มขึ้นจากปี 2566 อยู่ที่ 27,168 บาทต่อคน เนื่องจากต้นทุนต่าง ๆเพิ่มขึ้นส่งผลให้การใช้จ่ายเพื่อการท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นเช่นกัน
ส่วนหมวดที่มาแรง คือ การทำบุญ เนื่องจากปี 2567 อยู่ในโหมดของความไม่นิ่ง สอดคล้องกับการสำรวจเรื่องธุรกิจดาวรุ่งซึ่งในส่วนที่เกี่ยวกับสายมู ที่อยู่ในอันดับที่ 5 จาก 10 อันดับ ดังนั้น การทำบุญเพื่อเสริมความเป็นสิริมงคล จึงเป็นสิ่งที่เป็นหมวดใหญ่ของการใช้จ่ายในช่วงปีนี้
นางสาว ธัญรัศม์ จิระนนวีระกุล แม่ค้าอาหารตามสั่ง ย่านมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย
นางสาว ธัญรัศม์ จิระนนวีระกุล แม่ค้าอาหารตามสั่ง ย่านมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าว ปีใหม่นี้วางแผนจะกลับต่างจังหวัด ซึ่งค่าจ่ายในการเดินทางแต่ละครั้งเฉลี่ย 15,000 บาท โดยจะนำไปใช้จ่ายในการท่องเที่ยว ทำบุญ โดยจะกลับปีละ 5 วัน เพื่อกลับไปพักผ่อนกับครอบครัว หลังจากเหน็ดเหนื่อยจากการขายอาหารตามสั่งมาทั้งปี
เศรษฐกิจปีนี้ยังทรงๆ ขายของดีขึ้น แต่ต้นทุนก็เพิ่มขึ้น ทั้ง น้ำปลา น้ำตาล ผัก เครื่องปรุงรสต่าง ๆ ส่วนลูกค้าก็ระวังการใช้จ่ายมากขึ้นรวมถึงตัวเราเองด้วยจะใช้จ่ายอะไรก็ต้องคิดหน้าคิดหลัง
ธัญรัศม์ บอกอีกว่า อยากให้รัฐบาลช่วยลดค่าครองชีพของประชาชน ทำอย่างไรจึงจะให้ประชาชนมีสภาพคล่องในการใช้จ่าย มาตรการต่าง ๆที่รัฐบาลออกมาทั้งลด ค่าน้ำ ลดค่าไฟฟ้า มองว่ายังไม่ตอบโจทย์มากพอเพราะราคาสินค้าปรับตัวสูงเกินรายได้ไปหมดแล้ว
น.ส. สุธีรา นิรุตติกุล แม่ค้าร้านผลไม้สด
เช่นเดียวกับ น.ส. สุธีรา นิรุตติกุล แม่ค้าร้านผลไม้สด บอกว่ากลุ่มลูกค้าจะเป็นนักศึกษา พนักงาน อาจารย์มหาวิทยาลัย โดยขายมาตั้งแต่รุ่นพ่อรุ่นแม่ ได้เห็นการเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจ ซึ่งปีนี้ถึงปีหน้ามองว่าทรงๆทรุดๆ
การค้าขายค่อนข้างฝืด เนื่องจากลูกค้าประหยัดมากขึ้น ขณะที่วัตถุดิบและต้นทุนสินค้ามีการปรับขึ้นราคา เช่น น้ำตาลทรายจากเดิมกิโลกรัมละ 25 บาท ขณะนี้ราคากิโลกรัมละ27 บาท หรือผลไม้บางอย่างราคาก็แพงขึ้น หากขยับราคาขายเป็น 25บาท ลูกค้าจะไปเลือกซื้อในราคา20บาทแทน
ลูกค้าจะเลือกซื้อ คือ ซื้อน้อยลง อะไรที่เขาประหยัดได้ก็ประหยัด ดังนั้นปี 2567 นี้จึงเลือกที่จะไม่กลับต่างจังหวัด เพราะค่าใช้จ่ายเฉลี่ยในการเดินทาง 10,000-15,000 บาทต่อครั้ง ถือว่าสูงในเศรษฐกิจแบบนี้
อ่านข่าว:
แจกฉ่ำ ! “พาณิชย์” ลดค่าครองชีพช่วยปชช.กว่า 80 % รับปี 2567
"กบฏฮูตี" โจมตีเรือสินค้าไม่กระทบไทย พณ.แนะเลี่ยงทะเลแดง
ขาช็อปฟัง! Easy e-Receipt ลดภาษี 5 หมื่นเริ่ม 1 ม.ค.-15 ก.พ.67