วันนี้ (15 ธ.ค.2566) ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Center for Medical Genomics ว่า องค์การอนามัยโลกแถลงเมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2566 ระบุ ทีมที่ปรึกษาด้านเทคนิค (WHO Technical Advisory Group on COVID-19 Vaccine Composition หรือ TAG-CO-VAC) ได้เสนอว่าองค์ประกอบของวัคซีนที่ใช้ป้องกันโควิด-19 ระหว่างปี 2566-2567
ควรใช้ต้นแบบหรือหัวเชื้อเป็นโอมิครอน XBB.1.5 เพียงสายพันธุ์เดียว (โมโนวาเลนต์) เพราะสามารถสร้างแอนติบอดีที่เข้าจับและทำลายอนุภาคไวรัสทั้งกลุ่มสายพันธุ์ XBB* ซึ่งรวมถึง EG.5, HK.3, HV.1 และกลุ่มสายพันธุ์ BA.2.86* เช่น JN.1 และ XDD (broad spectrum antibodies)
ข้อเสนอของ TAG-CO-VAC มาจากหลักฐานเชิงประจักษ์จากรหัสพันธุกรรมทั้งจีโนมของโควิด-19 ที่มีวิวัฒนาการของสายพันธุ์มาอย่างต่อเนื่อง และขอบเขตของการตอบสนองทางภูมิคุ้มกันที่ถูกกระตุ้นด้วยวัคซีน XBB.1.5 โมโนวาเลนต์ ต่อสายพันธุ์โอมิครอนที่แพร่หมุนเวียนอยู่ทั่วโลกในขณะนี้โดยสรุปได้เป็น 3 ประเด็นสำคัญคือ
1. ไวรัสโคโรนา 2019 ยังคงเป็นสาเหตุของการติดเชื้อและก่อโรคในมนุษย์ และมีการวิวัฒนาการทางพันธุกรรมอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้โปรตีนส่วนหนามของไวรัสมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาเพื่อหลบเลี่ยงภูมิคุ้มกัน
2. วัคซีนป้องกันโควิด-19 เจนเนอเรชั่นล่าสุดที่เรียกว่า "โมโนวาเลนต์ XBB.1.5" สามารถกระตุ้นการสร้างแอนติบอดีที่ทำลายไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนได้ โดยมีการผลิตใช้ในหลายแพลตฟอร์ม รวมถึงวัคซีนเชื้อตาย (Inactivated Vaccines), วัคซีนที่ใช้ไวรัสเป็นพาหะ (Viral Vector Vaccines), วัคซีนชนิดสารพันธุกรรม หรือวัคซีนชนิดเอ็มอาร์เอ็นเอ (mRNA)
และวัคซีนที่ทำจากโปรตีนบางส่วนของเชื้อไวรัสโควิด-19 (Protein Subunit Vaccine) วัคซีน XBB.1.5 โมโนวาเลนต์สามารถกระตุ้นให้ร่างกายสร้างแอนติบอดีที่สามารถเข้าจับและทำลายไวรัสสองกลุ่มหลัก คือ
I. โอมิครอนกลุ่ม XBB* และลูกหลาน เช่น XBB.1.5, XBB.1.16, EG.5, HK.3 และ HV.1
II. โอมิครอนกลุ่ม BA.2.86* และลูกหลานเช่น JN.1 และ XDD
3. เมื่อพิจารณาถึงวิวัฒนาการของไวรัสโคโรนา 2019 และการตอบสนองทางภูมิคุ้มกันจากการฉีดวัคซีน XBB.1.5 โมโนวาเลนต์ที่กระตุ้นการสร้างแอนติบอดีที่สามารถเข้าจับและทำลายอนุภาคไวรัสโอมิครอนสองกลุ่มหลักที่กล่าวข้างต้นได้เป็นอย่างดี (broad spectrum) ดังนั้นทาง TAG-CO-VAC จึงแนะนำองค์การอนามัยโลกให้คงองค์ประกอบต้นแบบหรือหัวเชื้อการผลิตวัคซีนเจนเนอเรชั่นล่าสุดเป็นโอมิครอน XBB.1.5 ชนิดโมโนวาเลนต์ (สายพันธุ์เดี่ยว) เพื่อป้องกันการระบาดรุนแรงของโควิด-19 ในช่วงปี 2566-2567
วัคซีนชนิดนี้ได้รับการแนะนำจากองค์การอนามัยโลกและองค์การอาหารและยาของสหรัฐฯ มาก่อนหน้าตั้งแต่ 11 กันยายน 2566 โดยกำหนดให้บริษัทผู้ผลิตวัคซีนโควิด-19 เปลี่ยนไปผลิตวัคซีนสายพันธุ์ XBB แบบโมโนวาเลนต์สำหรับใช้ในปี 2566-2567 เนื่องจากโอมิครอนกลุ่ม XBB* เป็นโควิดสายพันธุ์หลักที่แพร่ระบาดทั่วโลกในขณะนี้ โดยสามารถแพร่เชื้อได้มากกว่าและหลบเลี่ยงระบบภูมิคุ้มกันได้ดีกว่าโอมิครอนสายพันธุ์ดั้งเดิมที่ระบาดมาก่อนหน้า
โปรตีนส่วนหนามของรุ่นลูก รุ่นหลานของโอมิครอนกลุ่ม XBB* เช่น EG.5, HV.1, HK.3, และรุ่นลูก รุ่นหลานของโอมิครอนในกลุ่ม BA.2.86* เช่น JN.1 และ XDD มีการกลายพันธุ์เปลี่ยนแปลงแตกต่างกันไปอย่างอิสระมากกว่า 30 ตำแหน่ง แต่ก็มีบางส่วนของหนามโดยเฉพาะกรดอะมิโนตำแหน่งที่ 455 และ /หรือตำแหน่งที่ 456 ที่มีการกลายพันธุ์ที่มาบรรจบกัน (convergent evolution)
วิวัฒนาการที่มาบรรจบกัน (convergent evolution) เป็นกระบวนการที่สิ่งมีชีวิตที่ไม่เกี่ยวข้องกันอย่างใกล้ชิดพัฒนาลักษณะบางอย่าง เช่น บางส่วนของหนามของโอมิครอน XBB* และ BA.2.86* ในบางตำแหน่งมามีรูปลักษณะคล้ายกัน วิวัฒนาการมาบรรจบกันเกิดขึ้นเมื่อสิ่งมีชีวิตพยายามปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมหรือระบบนิเวศที่คล้ายคลึงกัน ในกรณีของโควิด-19 คือการหลบเลี่ยงภูมิคุ้มกันที่ถูกกระตุ้นจากการฉีดวัคซีนหรือการติดเชื้อตามธรรมชาติทำให้เกิดการคัดเลือกโดยธรรมชาติซึ่งเป็นแรงผลักดันอันสำคัญให้เกิดวิวัฒนาการที่มาบรรจบกัน
การทดสอบวัคซีน XBB.1.5 โมโนวาเลนต์ในสัตว์ทดลอง พบว่าวัคซีนโมโนวาเลนต์ XBB.1.5 กระตุ้นให้เกิดการสร้างแอนติบอดีที่เข้าจับและทำลายโอมิครอนกลุ่มสายพันธุ์ XBB* (เช่น EG.5, HV.1, HK.3) ได้ดีกว่าโอมิครอนกลุ่มสายพันธุ์ BA.2.86* (เช่น JN.1 และ XDD) ซึ่งบ่งชี้ว่า BA.2.86* มีบางส่วนของหนาม(แอนติเจน)ที่แตกต่างไปจากกลุ่ม XBB.1.5*
ในทางตรงกันข้ามจากการทดสอบในกลุ่มคนพบว่าแอนติบอดีจากซีรัมจากผู้ที่ได้รับการฉีดวัคซีนด้วยวัคซีน XBB.1.5 โมโนวาเลนต์ทั้งที่เคยหรือไม่เคยติดเชื้อโควิด-19 มาก่อน สามารถสร้างแอนติบอดีเข้าจับและทำลายอนุภาคไวรัสทั้งกลุ่มสายพันธุ์ XBB* ซึ่งรวมถึง EG.5, HK.3, HV.1 และกลุ่มสายพันธุ์ BA.2.86* เช่น JN.1 และ XDD
วัคซีน XBB.1.5 โมโนวาเลนต์ชนิดเดียวกันที่ฉีดในสัตว์ทดลองและในคน(อาสาสมัคร) พบว่าแอนติบอดีที่ถูกกระตุ้นให้สร้างขึ้นกับมีประสิทธิภาพที่แตกต่างกัน แอนติบอดีในคนจะมีประสิทธิภาพในวงกว้าง (broad spectrum antibodies) สามารถจับกับอนุภาคโอมิครอนเป้าหมายได้หลากหลายสายพันธุ์
ส่วนแอนติบอดีในสัตว์จะมีประสิทธิภาพในการจับกับโอมิครอนเป้าหมายไม่กี่สายพันธุ์ (narrow spectrum antibodies) กล่าวคือแอนติบอดีในสัตว์จะเข้าจับและทำลายโอมิครอนกลุ่มสายพันธุ์ XBB* (เช่น EG.5, HV.1, HK.3) ได้ดีกว่าโอมิครอนกลุ่มสายพันธุ์ BA.2.86* (เช่น JN.1 และ XDD) ส่วนแอนติบอดีในคนจะเข้าจับและทำลายโอมิครอนกลุ่มสายพันธุ์ XBB* ได้ใกล้เคียงกับการเข้าจับและทำลายโอมิครอนกลุ่มสายพันธุ์ BA.2.86*
ซึ่งน่าจะสะท้อนถึงการฉีดวัคซีนและการติดเชื้อโควิด-19 ตามธรรมชาติจนเกิดภูมิคุ้มกันต่อโควิด-19 สะสมในประชากรมนุษย์ซึ่งในกลุ่มสัตว์ทดลองไม่มี ดังนั้นเมื่ออาสาสมัครได้รับการฉีดวัคซีน XBB.1.5 โมโนวาเลนต์ จึงมีการกระตุ้นแอนติบอดีในระดับสูงและต่อสายพันธุ์โควิดที่หลากหลายมากกว่า (broad spectrum antibodies)
อ่านข่าวอื่นๆ :
หมอมนูญ เผย "โควิดขาขึ้น" เตือนกลับมาใส่หน้ากากอนามัยอีกครั้ง