ไทยหยุดส่งข้าวเข้าประกวด
นับตั้งแต่ปี 2552 เป็นต้นมา ไทยเป็นแชมป์ข้าว “หอมมะลิ” ข้าวที่ดีที่สุดในโลก ถึง 7 ครั้ง จาก 14 ครั้ง ในงานประกวดข้าวโลก หรือ World’s Best Rice Award ที่ค้นหาข้าวหอมมะลิที่ดีที่สุดในโลก ซึ่งประเทศไทยส่งข้าวเข้าประกวดและได้แชมป์กลับมาเกือบทุกครั้ง
ปีสุดท้ายที่ไทยได้แชมป์ข้าวหอมมะลิดีที่สุดในโลก คือปี 2564 หลังจากนั้นเสียตำแหน่งให้กับกัมพูชา และปีนี้ไทยตัดสินใจไม่ส่งข้าวเข้าประกวด เพราะมองว่า "เวทีนี้มีการเมืองภายในและเชิงพาณิชย์มากเกินไป"

เพราะอะไร สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย ในฐานะที่เป็นผู้ส่งข้าวเข้าประกวดทุกปี ตัดสินใจไม่ส่งข้าวเข้าประกวด นายชูเกียรติ โอภาสวงศ์ นายกกิตติมศักดิ์สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย กล่าวว่า การประกวดข้าวโลกในปีนี้ สมาคมฯ มองว่าเป็นการประกวดเชิงธุรกิจมากเกินไป และไม่เป็นกลางกับผู้เข้าร่วมประกวด สมาคมฯ จึงตัดสินใจไม่ส่งข้าวไทยเข้าประกวดในปีนี้ และปีต่อๆไป
ข้าวไทยไม่พัฒนา-โดนเพื่อนบ้านแซง
แหล่งข่าวจากวงการข้าวเปิดเผยว่า ความจริงข้าวไทยไม่ได้พัฒนาไปไหน เพียงแต่ข้าวของประเทศเพื่อนบ้าน เขามีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ไทยยังคงภาคภูมิใจกับข้าวหอมมะลิไทยที่เป็นแชมป์ แต่กลับไม่เคยที่จะพัฒนาให้ข้าวหอมมะลิไทย มีความโดดเด่นขึ้นกว่าเดิม
ต่างจากเวียดนาม หรือกัมพูชา ที่ทุ่มเม็ดเงินในการวิจัยพันธุ์ให้มีความโดดเด่นบนเวทีโลก หรือแม้แต่อินเดียที่กล้าทุ่มงบเป็นแสนล้านบาทในการวิจัยข้าวให้มีศักยภาพ
ขาดแคลนงบวิจัย-เครื่องมือล้าสมัย
นายมุ่งมาตร วังกะ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยข้าวปทุมธานี เปิดเผยว่า ศูนย์วิจัยข้าวปทุมธานี ถือว่าเป็นศูนย์วิจัยข้าวที่ใหญ่ที่สุดของประเทศไทย ก่อตั้งมากว่า 100 ปี บนพื้นที่กว่า 1,000ไร่ ที่ จ.ปทุมธานี โดยมีศูนย์ทั่วประเทศ 27 แห่งกับอีก 1 สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์แห่งชาติ มีนักวิจัยกว่า 100 คน ในการปรับปรุงและพัฒนาสายพันธุ์ใหม่ๆ ออกมา

นาข้าวแปลงสาธิต
นาข้าวแปลงสาธิต
ปี 2565 กรมการข้าว ได้ประกาศรับรองพันธุ์ข้าว 2 สายพันธุ์ เมื่อปี 2565 คือ ข้าวพันธุ์ กข 101 กับ ข้าวพันธุ์ กข 97 หรือข้าวเจ้าหอมรังสิต เป็นข้าวหอมมะลิไทย ผลผลิตสูง ได้ข้าวสุกนุ่ม ค่อนข้างเหนียว มีกลิ่นหอมเล็กน้อย
เมื่อครบอายุเก็บเกี่ยว ข้าวจะถูกนำมาตรวจสอบคุณภาพอีกครั้ง ก่อนนำไปกระจายให้ศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าว นำไปผลิตเมล็ดพันธุ์ และคาดว่ากลางปีหน้า จะแจกจ่ายให้เกษตรกรได้
นายมุ่งมาตรกล่าวต่อว่า สำหรับอุปสรรคในการพัฒนาสายพันธุ์ข้าวใหม่ คือ งบประมาณที่ไม่เพียงพอ บุคลากรที่มีอย่างจำกัด โดยเฉพาะนักวิจัย และผู้ช่วยนักวิจัยที่ไม่เพียงพอ

รวมไปถึงเครื่องมือเครื่องไม้ ที่ใช้ในการวิจัยยังเป็นระบบที่ไม่ทันสมัย เช่น การคัดผสมเกสรยังต้องใช้คนผสม ในขณะที่บางประเทศใช้เครื่องจักรในการผสมหรือคัดแยกเม็ดข้าวที่สมบูรณ์ ซึ่งทำให้การทำงานมีประสิทธิภาพมากกว่า
กว่าจะพัฒนาพันธุ์ข้าวได้แต่ละสายพันธุ์ ต้องใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 8 ปี ต่อ 1 สายพันธุ์ และต้องใช้งบประมาณ และเครื่องมือทันสมัย ซึ่งไทยยังขาดปัจจัยเหล่านี้
ด้าน รศ.สุรีพร เกตุงาม อาจารย์ประจำภาควิชาพืชไร่ คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี หัวหน้าโครงการวิจัย ข้าวหอมวาริน ระบุว่า ต้องใช้เวลา และงบประมาณ ต้องขอการสนับสนุนจากหน่วยงานอื่น แต่เมื่อพัฒนาพันธุ์ข้าวสำเร็จ กลับไม่ได้รับความนิยมจากเกษตรกร เพราะโรงสีไม่รับซื้อ
เช่นเดียวกับนักวิชาการด้านข้าว เสนอรัฐทุ่มงบฯ วิจัยพัฒนาข้าวสายพันธุ์ข้าวไทยแพ้สายพันธุ์ข้าวของชาติอื่นตรงไหน
ไทยพัฒนาข้าวอยู่ตลอด แต่การพัฒนาพันธุ์ข้าวแต่ละสายพันธุ์ ใช้เวลาเกือบ 10 ปี ขาดแคลนงบประมาณ และต้องอาศัยเครื่องมือที่ทันสมัย และบางสายพันธุ์พัฒนาสำเร็จ แต่โรงสีกลับไม่รับซื้อ


เตรียมทุ่มงบ 2,000 ล้านเร่งผลิตพันธุ์ข้าวใหม่
ด้าน นายณัฏฐกิตติ์ ของทิพย์ อธิบดีกรมการข้าว เปิดเผยว่า เตรียมของบประมาณจากรัฐบาล 2,000 ล้านบาท เพื่อเร่งผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวใหม่ให้ได้ 300,000 - 400,000 ตัน เพื่อให้เพียงพอต่อความต้องการใช้ ปีละ 1,300,000 ตัน โดยเตรียมประกาศรับรองพันธุ์ข้าวใหม่ ภายในเดือน เม.ย. ปีหน้า ให้เกษตรกรทันใช้ ในฤดูกาลเพาะปลูกเดือน ต.ค.
นายกชาวนาไทยชี้งานวิจัยข้าวไทยไม่ตอบโจทย์ชาวนา
นายปราโมทย์ เจริญศิลป์ นายกสมาคมชาวนาและเกษตรกรไทย เปิดเผยว่า พันธุ์ข้าวไทยที่กรมการข้าวพัฒนาและวิจัยออกมา ยังไม่ตอบโจทย์ชาวนา ทั้งข้าวพันธุ์ 78 ข้าวพันธุ์ 85 ที่กรมการข้าว ประกาศรับรองพันธุ์ ชาวนายังไม่ยอมรับและนิยมปลูก

เพราะว่า อายุของข้าวในการเก็บเกี่ยวนาน 120 วัน หรือ 4 เดือน ซึ่งทำให้ต้นทุนของชาวนาสูง ชาวนาก็ปลูกข้าวพันธุ์เดิม กข 454 กข 61 ซึ่งเป็นข้าวขาวทั่วไป หรือแม้แต่ข้าวปทุมที่ชาวนาไม่ปลูกกัน เพราะอายุเก็บเกี่ยวนาน
ถ้าอายุข้าวเกิน 100 วัน ชาวนาไม่ปลูก เราปลูกข้าวของเพื่อนบ้านเยอะมาก อย่างข้าวหอมพวงหรือจัสมิน เป็นกลุ่มข้าวพื้นนุ่ม ซึ่งได้ผลผลิตดี เฉลี่ยต่อไร่พันตัน แบบนี้ชาวนาชอบ
นายปราโมทย์ กล่าวว่า ปัญหาอยู่ไหน คืออยู่ที่กรมการข้าว อธิบดีกรมการข้าวบอกว่า พันธุ์ข้าวใช้เวลา 8-12 ปี แต่ถ้ามีเทคโนโลยีเข้ามาช่วย จะทำให้ไทยใช้เวลาในการพัฒนาพันธุ์ข้าวเพียง 4 ปี
เงินที่ให้มาทำไมไม่เอาไปให้ศูนย์ข้าวชุมชนเกรดเอ เกรดบี ที่มีศักยภาพในการพัฒนาเม็ดพันธุ์ ดีกว่าเอาไปให้ศูนย์ชุมชนขนาดเล็ก ที่ยังไม่มีกำลังในการพัฒนาพันธุ์ข้าว
ตอนประชุมนบข. อธิบดีบอกว่าชาวนาจะผลิตข้าวได้ไร่ละหนึ่งตัน ซึ่งผมตอบกลับไปว่าเป็นไปไม่ได้ จะเอาแปลงสาธิตมาเป็นตัวชี้วัดไม่ถูกต้องต้อง เพราะแปลงสาธิตที่วิจัยสามารถคุมคุณภาพได้ แต่ชาวนามีนา 20-30 ไร่ จะคุมคุณภาพได้อย่างไร

ผลผลิต 1,000 กก.ต่อไร่ ไม่มีจริง
นายกสมาคมชาวนาฯ กล่าวต่อว่า ผลผลิตต่อไร่ที่ชาวนาผลิต เฉลี่ยไม่เกินไร่ละ 800-900 กิโลกรัม ข้าวหอมมะลิไม่เกินไร่ละ 550 กิโลกรัม บางพื้นที่ผลิตได้ไร่ละ 250 กิโลกรัม เสนอให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ว่า ทำไมไม่ผลิตเมล็ดข้าวแท้ให้ชาวนา เพราะเมล็ดพันธุ์ข้าวที่ชาวนาเก็บไว้นานๆ ก็กลายพันธุ์ แต่ถ้าเอาเมล็ดข้าวแท้ 105 จะไม่มีปัญหา และให้ศูนย์ชาวชุมชนที่มีอยู่แล้ว ผลิตเม็ดพันธุ์แท้ออกมาให้ชาวนา
กรมการข้าวบอกว่า มีพันธุ์ข้าวร้อยกว่าสายพันธุ์แล้ว ทำไมไม่เอาออกมาให้ชาวนา หรือรับรองสายพันธุ์ ถ้ามีจริงชาวนาพร้อมที่จะปรับเปลี่ยน ถ้าได้ข้าวที่ทนต่อโรค อายุเกี่ยวสั้น มีคุณภาพที่สามารถกินในประเทศและส่งออกได้ เราพร้อมเปลี่ยน ไม่อย่างนั้นชาวนาก็ยังปลูกข้าวจากเพื่อนบ้าน ทำไมเราไม่เอาข้าวดีๆ ออกมาให้ชาวนา

ชาวนาปลูกข้าวเพื่อนบ้านมานานนับ 10 ปี
นายเกรียงศักดิ์ ตาปนานนท์ อดีตนายกสมาคมโรงสีข้าวไทย กล่าวถึงกรณีที่ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมว .กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ระบุว่า ผู้ประกอบการไทยแอบลักลอบนำเข้าข้าวจากประเทศเพื่อนบ้านมาปลูกในไทยนั้น ขาวนาปลูกข้าวเพื่อนบ้าน มานานเป็น 10 ปี ซึ่งเรียกข้าวกลุ่มนี้ว่าข้าวพื้นนุ่น หรือข้าวหอมพวง เบอร์ 5 เบอร์ 8 เบอร์ 20 เพราะเป็นข้าวที่ให้ผลผลิตที่ดี
ข้าวของประเทศเพื่อนบ้าน ชาวนาไทยเอามาปลูกนานแล้ว เพียงแต่ตอนนั้นยังไม่โดดเด่น แต่หลัง ๆ มีคนพบว่า คุณภาพข้าวโดนใจชาวนา ให้ผลผลิตสูง อายุเกี่ยวสั้น 95-100 วันเท่านั้น ต้นเตี้ย และเป็นข้าวพื้นนุ่นที่ตลาดยอมรับถือเป็นข้าวที่ตอบโจทย์ข้าวนา
อย่างไรก็ตามในแง่ของกฎหมาย ถือว่าผิด เพราะไม่ใช่ข้าวไทย แต่ที่ผ่านมาโรงสีรับซื้อเพราะชาวนาปลูก เพียงแต่ว่า ไม่มีการรับรองสายพันธุ์ เพราะเป็นข้าวที่ไม่แสดงสัญชาติ
มีข้าวไทยอีกจำนวนมาก ที่ยังไม่ได้รับรองสายพันธุ์ เพราะที่มาของพ่อแม่พันธุ์ไม่ชัดเจน และข้าวไทยที่พัฒนาออกมาก ก็ไม่ตอบโจทย์ชาวนา เพราะให้ผลผลิตไม่ดี

หอการค้าฯยกระดับเกษตรไทยชูใช้เทคโนโลยี
ด้าน นายชูศักดิ์ ชื่นประโยชน์ รองประธานกรรมการหอการค้าไทย และประธานคณะกรรมการเพิ่มมูลค่าพืชเกษตร กล่าวว่า หอการค้าไทยฯ ได้ยกระดับเกษตรมูลค่าสูงเชิงพื้นที่ (Area-based) ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อให้รายได้ต่อครัวเรือนเกษตรกรเพิ่มขึ้น และเปลี่ยนพื้นที่ 10 %
จากทำเกษตรมูลค่าต่ำในพื้นที่ไม่เหมาะสมไปทำเกษตรมูลค่าสูงในอีก 5 ปี จะทำให้ GDP สาขาเกษตรเติบโตร้อยละ 4.5 ต่อปี และสร้างรายได้ให้ประเทศ 537,000 ต่อครัวเรือน
ดึงคนรุ่นใหม่มาช่วยสร้างนวัตกรรม เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพการผลิต (Productivity) ลดต้นทุน สร้างมาตรฐานและความปลอดภัย เน้นตลาดนำการผลิต
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
"ศูนย์วิทยาศาสตร์ข้าว -ไบโอเทค" ปรับปรุงสายพันธุ์ข้าว รับมือภาวะโลกรวน
เสียงชาวนา ไทยเสียแชมป์ข้าวจากนโยบายรัฐ ไม่ใช่ปริมาณ-คุณภาพข้าว
รมว.เกษตรฯ ชี้ "ผิดกฎหมาย" ชาวนาไทยลักลอบปลูก "ข้าวเวียดนาม"