นายนภินทร ศรีสรรพางค์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2566 (มกราคม – ตุลาคม) อินโดนีเซียกลายเป็นตลาดส่งออกข้าวอันดับ 1 ของไทย สาเหตุหลักมาจากอินโดนีเซียกำลังประสบปัญหาขาดแคลนข้าว เนื่องจากภัยแล้งที่เกิดจากปรากฏการณ์เอลนีโญ รวมถึงฤดูมรสุมที่ล่าช้า ทำให้อินโดนีเซียปลูกข้าวได้น้อยลง
ข้อมูลจากกระทรวงเกษตรสหรัฐอเมริกา (USDA) รายงานว่า ผลผลิตข้าวอินโดนีเซียในฤดูฝนอาจลดลง เนื่องจากฤดูมรสุมล่าช้าคาดการณ์ผลผลิตข้าวของอินโดนีเซีย ปี 2566/67 อยู่ที่ 33.5 ล้านตัน (ข้าวสีแล้ว) ปรับลดลงร้อยละ 3
ทั้งนี้อินโดนีเซียปลูกข้าวได้ 3 รอบในหนึ่งปี รอบแรกปลูกในฤดูฝนเป็นหลัก ช่วงเดือนตุลาคมถึงธันวาคม (ประมาณร้อยละ 45 ของการปลูกข้าวทั้งหมด) และเก็บเกี่ยวช่วงเดือนกุมภาพันธ์ถึงเมษายน
นายนภินทร ศรีสรรพางค์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์
ภัยแล้ง-ฝนล่าทำผลผลิตข้าวอินโดฯวูบ
และปลูกในฤดูแล้งอีก 2 รอบ ซึ่งพื้นที่เพาะปลูกข้าวหลักของอินโดนีเซียจะปลูกบริเวณพื้นที่ราบลุ่มและพื้นที่สูงทั่วประเทศ มีทั้งนาชลประทานและนาน้ำฝน แต่การทำนาส่วนใหญ่ของอินโดนีเซียอาศัยน้ำจากระบบชลประทานถึงร้อยละ 85 โดยจะใช้ในพื้นที่เพาะปลูกเป็นที่ราบลุ่ม ซึ่งต้องอาศัยน้ำฝนเพื่อเติมปริมาณน้ำให้กับระบบชลประทานอยู่เสมอ
นายนภินทร กล่าวอีกว่า พื้นที่ปลูกข้าวของอินโดนีเซียมีแนวโน้มลดลงในปี 2566/67 สาเหตุหลักมาจากความล่าช้าของฤดูมรสุมและปรากฏการณ์เอลนีโญ ทำให้เกิดความแห้งแล้งอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะบริเวณเกาะชวา ซึ่งเป็นพื้นที่เพาะปลูกหลัก รวมทั้งบางส่วนของเกาะสุมาตราตอนใต้ ในช่วงตั้งแต่กลางเดือนสิงหาคมที่ปริมาณน้ำฝนสะสมมีแนวโน้มต่ำกว่าปกติ
ขณะที่ฤดูฝนปี 2566 ก็มีความล่าช้าออกไป ส่งผลให้เกษตรกรไม่สามารถเริ่มปลูกข้าวได้ตามช่วงเวลาที่เคยเป็น และทำให้เกษตรกรที่อยู่ในเขตปลูกข้าวพื้นที่ราบสูงที่ต้องอาศัยน้ำฝนเป็นหลัก ปรับเปลี่ยนมาปลูกพืชที่ใช้น้ำน้อยลง เช่น ข้าวโพด เป็นต้น
อ่านข่าว:
ยิ้มแก้มปริ! จ่ายแล้วเงินช่วยเหลือชาวนาไร่ละ 1,000 บาท ให้เกษตรกร 4.68 ล้านครัวเรือน
อานิสงส์ “ข้าวไทย”ส่งออกเพิ่ม
จากสถานการณ์และแนวโน้มดังกล่าวทำให้อินโดนีเซียนำเข้าข้าวจาก ไทยเพิ่มขึ้นอย่างมาก ในปี 2565 ไทยมีปริมาณการส่งออกข้าวไปยังอินโดนีเซีย 91,714 ตัน เป็นมูลค่า 42.24 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (1,511.55 ล้านบาท) มูลค่าการส่งออกไปอินโดนีเซียคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 1.06 ของมูลค่าการส่งออกข้าวไทยทั้งหมด
และอินโดนีเซียเป็นตลาดส่งออกข้าวอันดับที่ 20 ของไทย สำหรับในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2566 (มกราคม – ตุลาคม) การส่งออกข้าวไทยไปยังอินโดนีเซียมีปริมาณสูงถึง 1,057,537 ตัน คิดเป็นมูลค่า 523.45 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (18,035.56 ล้านบาท) มูลค่าการส่งออกคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 13.19ของมูลค่าการส่งออกข้าวไทยช่วง 10 เดือนแรกของปี 2566 ทำให้ปัจจุบันอินโดนีเซียกลายเป็นตลาดส่งออกข้าวอันดับ 1 ของไทย โดยข้าวที่ส่งออกไปอินโดนีเซียส่วนใหญ่ คือ ข้าวขาว 5 – 10%
10 เดือนส่งออกพุ่ง ตลาดต้องการข้าวไทยต่อเนื่อง
สำหรับภาพรวมการส่งออกข้าวของไทย ในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2566 (มกราคม – ตุลาคม) มีปริมาณการส่งออกรวม 6,922,649 ตัน ปริมาณข้าวส่งออกขยายตัวร้อยละ 11.4เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา คิดเป็นมูลค่า 3,967.31 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ(136,289.84 ล้านบาท) ขยายตัวร้อยละ 24.7 ตลาดส่งออกข้าวของไทย 5 อันดับแรก ได้แก่ อินโดนีเซีย สหรัฐอเมริกา แอฟริกาใต้ จีน
นายนภินทร กล่าวอีกว่าปัจจุบันความต้องการข้าวจากประเทศคู่ค้ามีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เนื่องจากปัญหาภัยแล้งและปรากฏการณ์เอลนีโญทำให้ผลผลิตข้าวลดลง และการให้ความสำคัญกับความมั่นคงทางอาหาร ทำให้เกิดความพยายามในการนำเข้าเพื่อสำรองปริมาณข้าวให้เพียงพอต่อความต้องการในประเทศ รวมทั้งการระงับการส่งออกข้าวของอินเดีย และเมียนมา จึงถือเป็นโอกาสที่จะผลักดันและขยายตลาดส่งออกข้าวไทย
อินโดนีเซียกลายเป็นตลาดส่งออกข้าวอันดับ 1 ของไทย
ชี้ไทยต้องเร่งพัฒนาสายพันธุ์ข้าว
นอกจากนี้ยังต้องเร่งปรับปรุงและพัฒนาสายพันธุ์ข้าว เพิ่มความหลากหลาย เน้นให้มีผลผลิตต่อไร่สูง ต้านทานโรคและแมลงศัตรูพืช เพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันให้กับข้าวไทย และสอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภค เช่น ข้าวพื้นนุ่ม ขณะเดียวกันเกษตรกรควรเตรียมความพร้อมหาแนวทางรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ อาทิ การปลูกข้าวแบบใช้น้ำน้อย ทำนาแบบยั่งยืนที่ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกรวมทั้งต้องติดตามมาตรการบริหารจัดการน้ำสำหรับการเพาะปลูก เพื่อลดความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากผลกระทบจากภัยแล้ง
ประเทศคู่ค้าเร่งสำรองข้าว
นายเจริญ เหล่าธรรมทัศน์ นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย กล่าวว่า ผู้นำเข้าที่สำคัญของไทยยังคงนำเข้าข้าวเพื่อชดเชยอุปทานข้าวในประเทศที่ลดลง และสำรองไว้ใช้ในช่วงปลายปีนี้และต้นปีหน้า โดยส่งออกข้าวขาวมีปริมาณ 503,445 ตัน เพิ่มขึ้น 44% เทียบกับเดือนก่อน ตลาดหลัก เช่น อินโดนีเซีย มาเลเซีย ญี่ปุ่น อิรัก โมซัมบิก ฟิลิปปินส์ แองโกล่า เป็นต้น
ขณะที่ส่งออกข้าวนึ่ง มีปริมาณ 102,816 ตัน ลดลง 56.5% เมื่อเทียบกับเดือนก่อน ส่งไปยังตลาดหลัก เช่น แอฟริกาใต้ เยเมน เป็นต้น ส่วนส่งออกข้าวหอมมะลิ (ต้นข้าว) ปริมาณ 108,942 ตัน เพิ่มขึ้น 1.2% เมื่อเทียบกับเดือนก่อนส่งไปยังตลาดหลัก เช่น สหรัฐฯ แคนาดา ฮ่องกง สิงคโปร์ ฝรั่งเศส
ทั้งนี้สมาคมฯคาดว่าในพ.ย. ปริมาณส่งออกข้าวจะอยู่ที่ระดับประมาณ 800,000-900,000 ตัน และทั้งปีนี้จะส่งออกได้ตามเป้าที่ 8.5 ล้านตัน เนื่องจากผู้ส่งออกยังมีสัญญาส่งมอบข้าวในช่วงปลายปีจำนวนมาก ประกอบกับ ผู้นำเข้าที่สำคัญในเอเชีย เช่น อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ ญี่ปุ่น รวมทั้งตลาดประจำในภูมิภาคแอฟริกา ตะวันออกกลาง และอเมริกา และประเทศในแถบอเมริกาใต้ เช่น บราซิล ที่มีการนำเข้าข้าวอย่างต่อเนื่องทั้งข้าวขาว ข้างนึ่ง และข้าวหอม เพื่อชดเชยอุปทานข้าวในประเทศที่ลดลง และสำรองไว้ใช้ในช่วงปลายปีนี้และต้นปีหน้า ประกอบกับในช่วงนี้ผลผลิตข้าวฤดูใหม่ของไทยออกสู่ตลาดมากขึ้น
ราคาข้าวไทยต่ำกว่าคู่แข่ง
ในขณะราคาข้าวของไทยอยู่ในระดับที่แข่งขันได้และยังคงต่ำกว่าราคาข้าวของเวียดนามจึงทำให้ผู้นำเข้าข้าวหันมาซื้อข้าวไทยมากขึ้น โดยราคาข้าวไทยข้าวขาว 5% ของไทย ณ วันที่ 29 พฤศจิกายน 2566 อยู่ที่ 640 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน ขณะที่ราคาข้าวขาว 5% ของเวียดนาม อยู่ที่ 663-667 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน และปากีสถาน 598-602 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน
ส่วนราคาข้าวนึ่งไทยอยู่ที่ 640 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน ขณะที่ข้าวนึ่งอินเดีย อยู่ที่498-502 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน และปากีสถานอยู่ที่ 546-550 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน
อ่านข่าว:
"กล้วยหอมทองเสิงสาง" รุกตลาดเอเซีย ญี่ปุ่นสั่งซื้อ 5,000 ตัน
ทองคำฉุดไม่อยู่พุ่ง 250 บาท คาดปี 67 ปรับขึ้น แนะนักลงทุนช้อนซื้อ