ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

โรค ASF เปิดเส้นทางกระจาย "หมูเถื่อน" กระเทือนทั่วประเทศ

อาชญากรรม
4 ธ.ค. 66
14:57
2,184
Logo Thai PBS
โรค ASF  เปิดเส้นทางกระจาย "หมูเถื่อน" กระเทือนทั่วประเทศ
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)

หมูเถื่อน ไม่ใช่เรื่องหมู ๆ อีกต่อไป แต่กลายเป็นคดีใหญ่ระดับ "องค์กรอาชญากรรมส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อความมั่นคงทางอาหารและอาชีพเกษตร" ครบรูปแบบขององค์กรอาชญากรรม กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ระบุว่า มีผู้เกี่ยวข้องในขบวนการถึง 3 กลุ่ม คือ นักการเมือง นายทุน และข้าราชการ แม้คดีหมูเถื่อนล็อต แรก 161 ตู้ ปริมาณ 4,025 ตัน ซึ่งดีเอสไอรับคดีพิเศษที่ 59 / 2566 จะส่งสำนวนไปให้ป.ป.ช. ไปแล้ว ตั้งแต่วันที่ 24 พ.ย. 2566 ที่ผ่านมา

แต่การเปิดปฏิบัติการกวาดล้างต่อเนื่องในกลุ่มที่มีการรับซื้อเศษชิ้นส่วนสุกร หรือ "เครื่องใน" เพื่อนำไปจำหน่ายกับกลุ่ม "นายทุน" ที่มีพฤติการณ์สั่งนำเข้าชิ้นส่วนสุกรแช่แข็ง เพื่อนำมากระจายจัดจำหน่าย พบมี 10 บริษัทเกี่ยวข้อง และ 1 ใน 10 บริษัท หลักฐานชัดว่า มีเจ้าหน้าที่รัฐเกี่ยวข้อง ส่วนอีก 9 บริษัท แยกออกอีก 9 เลขคดี ซึ่งพนักงานสอบสวนดีเอสไอ สำนักคดีคุ้มครองผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อมจะต้องสอบขยายผลไปให้ถึงผู้เกี่ยวข้อง เนื่องจากการสืบสวนพบว่า มีผู้สินค้านำเข้าหมูเถื่อนรวม 2,388 ตู้

และจากการสืบสวนเชิงลึกเอกสารระบุว่า พบข้อมูลการนำเข้าหมูเถื่อนระหว่างปี พ.ศ.2563-2566 น่าจะสูงถึง 10,000 ตู้

ปัญหาที่เกิดขึ้นสะท้อนให้เห็นว่า การลักลอบนำเข้าหมูเถื่อนเข้ามาในประเทศไทย เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องและยาวนาน ไม่ใช่เฉพาะลักลอบนำเข้าเนื้อหมูและเครื่องใน จากประเทศสหรัฐอเมริกา รัสเซีย บราซิล เดนมาร์ก เนเธอร์แลนด์ และ สเปนเท่านั้น แต่ยังมีการแอบนำเข้าจากชายแดนประเทศเพื่อนบ้านด้วย

อหิวาต์หมู (ASF) ระบาดหนัก "ต้นตอ" ทำหมูเถื่อนทะลัก

นับตั้งแต่มีการระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (African Swine Fever) หรือที่เรียกว่า โรค ASF, โรคท้องร่วงติดต่อในสุกร (Porcine Epidemic Diarrhea : PED) และ โรคระบบสืบพันธุ์และระบบทางเดินหายใจในสุกร (Porcine Reproductive and Respiratory Syndrome : PRRS) ตั้งแต่ปี 2564 ทำให้การผลิตหมูในประเทศลดลง สวนทางกับความต้องการบริโภคในประเทศ ช่องว่างจากปริมาณเนื้อหมูในประเทศที่น้อยลงและปริมาณหมูที่หายไปจากระบบ จึงกลายเป็นช่องว่างที่ทำให้มีผู้ลักลอบนำหมูเถื่อนเข้ามากระจายในตลาดทั่วประเทศ

ข้อมูลจากกรมปศุสัตว์ระบุว่า ในปี 2564 สุกรมีชีวิตมีจำนวน 19.28 ล้านตัว และในปี 2565 ลดลงเหลือ 15.51 ล้านตัว ขณะที่ความต้องการใช้บริโภคในประเทศปีละ 18 ล้านตัว นั่นหมาย ถึงปี 2565 ไทยขาดแคลนหมูบริโภค 2.49 ล้านตัว

หากพลิกข้อมูลการผลิตสุกรของสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติในปี 2563 พบว่า ผู้ประกอบการฟาร์มสุกรครบวงจรและเกษตรกรรายย่อยทั้งประเทศกว่า 200,000 ฟาร์ม มีผลผลิตสุกรมากกว่า 22 ล้านตัวต่อปี เพิ่มขึ้นจากปี 2562 ซึ่งการผลิตอยู่ที่ 20.43 ล้านตัว โดยปริมาณจะการผลิตขยายตัวตามจำนวนประชากร

ในปี 2563 ไทยมีปริมาณการผลิตสุกร 20.45 ล้านตัว และมีแนวโน้มลดลง ทำให้เกษตรกรต้องชะลอการเลี้ยงสุกรจากปัญหาการแพร่ระบาดของโรค ASF ทำในประเทศเวียดนาม กัมพูชา ฟิลิปปินส์ และ จีน ทำให้เกิดความเสียหายในวงกว้างอย่างไรก็ตาม จีนยังคงเป็นผู้ผลิตสุกรรายใหญ่ที่สุด มีปริมาณการผลิต 38.00 ล้านตัน รองลงมา ได้แก่ สหภาพยุโรป 24.00 ล้านตัน สหรัฐอเมริกา 12.78 ล้านตัน และ บราซิล 4.13 ล้านตัน ส่วนไทยแม้จะไม่มีการระบาดของโรคดังกล่าว เพื่อลดความเสี่ยงจึงชะลอการเลี้ยงสุกร ทำให้ปริมาณการผลิตสุกรในภาพรวมลดลง

ข้อมูลจาก World Bank และ สหประชาชาติ ระบุว่า ปี 2555-2560 ไทยเป็นประเทศผู้ส่งออกหมู หรือ สุกรมีชีวิต ตั้งแต่ปี 2555-2560 และส่งสุกรมีชีวิตไปประเทศเมียนมา ลาว และ กัมพูชา เฉลี่ยประมาณปีละ 800,000 ตัว

  • ปี 2561 จำนวน 815,385 ตัว
  • ปี 2562 จำนวน 750,061 ตัว
  • ปี 2563 จำนวน 2,424,064 ตัว
  • ปี 2564 จำนวน 1,054,462 ตัว
  • ปี 2565 จำนวน 4,783 ตัว
  • ปี 2566 จำนวน 107,094 ตัว

แม้การส่งออกสุกรมีชีวิตจะมีจำนวนขึ้นๆ ลงๆ แต่เป็นที่น่าสังเกตว่าปี 2565 จำนวนสุกรมีชีวิตซึ่งส่งออกไปนั้นมีจำนวนลดลงเหลือเพียง 4,783 ตัว

ในขณะที่ปี 2566 ตั้งแต่เดือน ม.ค.-ก.ย. พบข้อมูลว่า การส่งออกสุกรมีชีวิตกลับมามีจำนวนส่งออกเพิ่มขึ้นจากปี 2565 แม้จะเพิ่มขึ้นในปริมาณที่เล็กน้อยหากเปรียบเทียบกับปีที่ผ่านมา

"กัมพูชา" ตลาดใหญ่ปลายทางผู้บริโภคหมู

รายงานประจำปี 2560 ของกระทรวงเกษตร ป่าไม้ และ การประมง กัมพูชา ระบุว่า ความต้องการบริโภคเนื้อสัตว์ภายในประเทศที่คาดการณ์ไว้ ตั้งแต่ปี 2559-2567 คาดว่าจะเพิ่มขึ้นจากประมาณ 280,000 เมตริกตัน เป็น 328,085 เมตริกตันต่อปี และมีการฆ่าสัตว์ในประเทศประมาณ 1.35 ล้านตัวเพื่อเป็นอาหาร ตลอดทั้งปี มีการฆ่าวัวมากถึง 55,292 ตัว ควาย 1,155 ตัว หมู 299,871 ตัว และ ไก่ 994,454 ตัว

รายงานของ Asian Agribiz สำนักข่าวประเทศสิงคโปร์ ระบุว่า Veng Sakhon รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตร ป่าไม้ และการประมงของกัมพูชา เปิดเผย รูปแบบการบริโภคเนื้อสัตว์ที่เปลี่ยนแปลงไปของกัมพูชามีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามจำนวนประชากร แม้ว่าการผลิตเนื้อหมูและการผลิตสัตว์ปีก จะเติบโตร้อยละ 2.9 และ 5.4 ตามลำดับก็ตาม

และอุตสาหกรรมสุกรของกัมพูชาเป็นกิจการค่อนข้างเล็ก ในปี 2561 มีจำนวนแม่สุกรประมาณ 200,000 ตัว เป็นผู้ผลิตรายย่อยที่ทำคอกเลี้ยงไว้ในสวนหลังบ้านจำนวนมาก แต่มีหลายบริษัทที่เข้าไปดำเนินกิจการเชิงพาณิชย์ขนาดใหญ่เพิ่มมากขึ้นด้วย เช่น บมจ.เจริญโภคภัณฑ์อาหาร (ซีพีเอฟ) มีโรงงานอาหารสัตว์และหน่วยสุกรในประเทศ บมจ.เบทาโกร ซึ่งเป็นผู้รวบรวมรายใหญ่อันดับ 2 ของไทยยังมีผลประโยชน์ทางธุรกิจในประเทศกัมพูชา โดยทั้ง 2 บริษัทนำเข้าพันธุ์สัตว์จากข้ามพรมแดน อย่างไรก็ตาม ในประเทศกัมพูชา เนื้อสุกรมักจะมีราคาถูกกว่า เวียดนามและไทย ดังนั้น รัฐบาลกัมพูชาจึงนำเข้าหมูมีชีวิตเพื่อจัดหาเนื้อสุกรราคาถูกให้กับผู้บริโภค

ผู้ผลิตชาวกัมพูชารายหนึ่งกล่าวว่า "รัฐบาลกัมพูชาสนับสนุนผู้ผลิตชาวไทยและเวียดนาม ไม่ใช่ของเรา สุกรเหล่านี้สามารถนำโรคมาได้"

นายสุรน โสคม รองอธิบดีกรมวิชาการเกษตรกัมพูชา เปิดเผยข้อมูล ในช่วงเดือน ก.พ.2563 ว่าประชากรกัมพูชาบริโภคเนื้อสัตว์ 290,000 ตันเมื่อปีที่แล้ว ขณะที่ผลิตในท้องถิ่นเพียง 240,000 ตันเท่านั้น จึงต้องมีการวางแผนที่จะผลิตเนื้อสัตว์ให้ได้ 335,000 ตันภายในปี 2573 เพื่อเติมเต็มการขาดแคลนและลดการนำเข้า

โดยความต้องการเนื้อหมูในท้องถิ่นในแต่ละวันอยู่ระหว่าง 8,000-9,000 ตัว ดังนั้นกัมพูชาจึงต้องนำเข้าสุกร 2,000-3,000 ตัวต่อวัน เพื่อให้รักษาระดับความต้องการบริโภคเนื้อหมูภายในประเทศไว้

18 ก.ค.2564 สำนักข่าว Cambodianess รายงานว่า กระทรวงสุขภาพสัตว์และการผลิตกระทรวงเกษตร (The Ministry of Agriculture’s General Directorate of Animal Health and Production) ประกาศอนุญาตให้นำเข้าสุกรมีชีวิตจากบริษัท 10 แห่งในประเทศไทย และประกาศดังกล่าวสร้างความวิตกในหมู่เกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรในท้องถิ่นว่าจะส่งผลต่อธุรกิจของพวก และอาจถูกตัดราคาหากมีการเนื้อนำเข้าที่มีราคาถูก จึงเรียกร้องให้รัฐบาลกำหนดโควตาการนำเข้าสุกรมีชีวิต และสร้างวิธีการควบคุมคุณภาพเพื่อความปลอดภัยของสินค้าที่ได้รับ

นาย Srun Pov ระบุว่า กัมพูชาต้องการสุกรมีชีวิตประมาณ 8,000 ตัวในแต่ละวัน แต่เกษตรกรในประเทศสามารถจัดหาสุกรได้เพียง 7,000 ตัวเท่านั้น ที่เหลืออีก 1,000 แห่ง จำเป็นต้องได้รับการตอบสนองจากบริษัท 6 แห่งในประเทศไทย และมีบริษัทอีก 4 แห่ง ที่ได้ยื่นขอใบอนุญาตส่งออกไปยังกัมพูชาแล้ว

ส่องกลุ่มประเทศอาเซียน "หมู"นำเข้า-แปรรูป

ปฏิเสธไม่ได้ว่า กัมพูชา นำเข้า "หมูมีชีวิต" และ "หมูแปรรูป" จากประเทศไทยและเวียดนามเป็นหลัก ขณะที่ประเทศปลายทางที่ไทยส่งออกหมู นอกจาก กัมพูชาแล้ว ยังส่งเนื้อหมูดิบ ไปยัง ฮ่องกง ลาว เมียนมา ส่วนเนื้อหมูแปรรูป ส่งออกไปตลาดเอเชีย เช่น ญี่ปุ่น ฮ่องกง สิงคโปร์ และ เมียนมา ด้วย

แต่สำหรับประเทศไทยจะไม่นำเข้าหมูมีชีวิตและเนื้อหมูดิบ แต่จะนำเข้าชิ้นส่วนประเภท หนัง ตับ และ เครื่องใน จากยุโรป คือ เยอรมนี อิตาลี เนเธอร์แลนด์ เดนมาร์ก ส่วนผลิตภัณฑ์เนื้อหมูแปรรูปแล้ว ส่วนใหญ่นำเข้าจากประเทศอิตาลี จีน และ เดนมาร์ก

ข้อมูลสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรระบุว่า ปี 2561-2565 การผลิตเนื้อสุกรของโลกเพิ่มขึ้นในอัตราร้อยละ 0.26 ต่อปี โดยในปี 2565 การผลิตเนื้อสุกรของโลกมีปริมาณ 109.85 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจาก 107.61 ล้านตันของปี 2564 ร้อยละ 2.08 เนื่องจากได้รับความเสียหายจากการระบาดของโรค ASF

โดยจีนและเวียดนาม มีปริมาณการผลิตเพิ่มขึ้นจากปี 2564 ร้อยละ 7.37 และ ร้อยละ 4. 25 ตามลำดับ โดยปี 2565 จีนยังคงเป็นผู้ผลิตสุกรรายใหญ่ที่สุด มีปริมาณการผลิต 51.00 ล้านตัน รองลงมา คือ สหภาพยุโรป 22.67 ล้านตัน สหรัฐอเมริกา 12.32 ล้านตัน และ บราซิล 4.35 ล้านตัน

ในปี 2565 ไทยส่งออกสุกรมีชีวิตและสุกรพันธุ์ ปริมาณ 2,959 ตัว มูลค่า 39.60 ล้านบาท ลดลงจากปริมาณ 1,277,351 ตัว มูลค่า 8,537.45 ล้านบาทของปี 2564 ร้อยละ 99.77 และร้อยละ 99.54 ตามลำดับ โดยตลาดส่งออกสำคัญ คือ เมียนมา และ ลาว

ทั้งนี้ปริมาณการส่งออกในภาพรวมลดลงเป็นเกิดจากผลผลิตสุกรเสียหายจากโรค ASF วิกฤตดังกล่าวเมื่อปี 2564 กลายเป็นชนวนเหตุสำคัญที่เปิดช่อง ให้มีการลักลอบนำเข้าหมูเถื่อน เนื่องจากช่วงเกิดโรคระบาดไม่สามารถนำเข้าหมูได้ จึงต้องแช่แข็งไว้ในสต็อกจนหมดอายุแล้วจึงลักลอบขนเนื้อสุกรเถื่อน โดยสำแดงแหล่งกำเนิดสินค้าเป็นเท็จว่านำเข้าจากประเทศบราซิล

ในขณะที่การลักลอบนำเข้าหมูเถื่อนตามชายแดนลาว เมียนมา กัมพูชา พบว่า อาจเป็นสุกรมีชีวิตที่ไทยส่งออกไปประเทศดังกล่าวจำนวนมาก ตั้งแต่ปี 2563-2564 จำนวน 6,960,494 ตัว และอาจจะใช้พื้นที่ฟาร์มปศุสัตว์บริเวณชายแดนประเทศเหล่านั้น เป็นฟาร์มเลี้ยงหมู เพื่อรอเชือดส่งกลับเข้ามาขายในไทยผ่าน "ท่าเรือสีหนุวิลล์" และสำแดงเท็จแหล่งกำเนิดสินค้า โดยนำมาขึ้นที่ท่าเรือแหลมฉบัง หรือใช้ช่องทางธรรมชาติชายแดนส่งกลับมา

โดยเฉพาะที่ "ท่าเรือแหลมฉบัง" มีข้อมูลว่าขนกันมาเป็นตู้คอนเทนเนอร์เดือนละไม่ต่ำกว่า 1,000 ตู้ และสามารถขนส่งต่อไปยังห้องเย็นเพื่อกระจายส่งไปจังหวัดใกล้ๆ เช่น สมุทรสาคร สมุทรปราการ สมุทรสงคราม นครปฐม ราชบุรี

ติดตามตอน 2 : ล้างบาง! ขบวนการ "หมูเถื่อน" องค์กรอาชญากรรมอาหาร-เกษตร

ข่าวที่เกี่ยวข้อง