ยามเมื่อล่วงเข้าสู่ฤดูหนาว จุดหมายปลายทางของนักท่องเที่ยวส่วนใหญ่ มักมุ่งไปที่จังหวัดภาคเหนือของไทย เพื่อสัมผัสอากาศหนาว ชมวิวทิวเขา และหมอกยามเช้าที่ภาคเหนือ แต่อีกทางเลือกที่น่าสนใจไม่แพ้กัน
ไทยพีบีเอสออนไลน์ อยากจะชวนทุกท่านไปเที่ยวทะเลในช่วงฤดูหนาวโดยเฉพาะทะเลฝั่งอันดามันอย่างอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์ จ.พังงา ที่ในช่วงฤดูหนาวตั้งแต่เดือน พ.ย. - ก.พ.ถือเป็นช่วงที่ทะเลจะใสและสวยงามอย่างยิ่ง เรียกได้ว่า จะสร้างความประทับใจสำหรับใครก็ตามที่มาท่องเที่ยวครั้งแรก และส่วนใหญ่มักที่จะกลับมาเที่ยวซ้ำ
อ่านข่าว “เที่ยวสะปัน” ในวันที่แปรเปลี่ยน ฤๅ เสน่ห์ชุมชนจะจางหายไป
น้ำทะเลสีฟ้าสวยใส สบายตา
และถ้าคุณเป็นนักท่องเที่ยวสายแอดเวนเจอร์ ที่ชื่นชอบการดำน้ำตื้น ทั้ง “สนอร์เกิลลิ่ง” (Snorkelling) หรือ ฟรีไดร์ฟวิ่ง (Freediving) อยากแนะนำให้ลองไปดำน้ำและท่องเที่ยว ที่อุทยานฯ แห่งนี้
อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์ เป็นหมู่เกาะในทะเลอันดามันห่างจากฝั่งไปทางทิศตะวันตกประมาณ 70 กม.ทางเป็นหมู่เกาะที่อยู่ติดกับเขตชายแดนไทย-พม่า
มีพื้นที่ประมาณ 84,375 ไร่ แบ่งเป็นพื้นที่บนบกประมาณ 20,594 ไร่ ประกอบด้วยเกาะสำคัญ 5 เกาะ คือ เกาะสุรินทร์เหนือ เกาะสุรินทร์ใต้ เกาะไข่ (เกาะตอรินลา) เกาะกลาง (เกาะปาจุมบา) และเกาะรี (เกาะสต๊อก)
อ่านข่าว ชวนนั่งรถม้าชมโบราณสถานยามค่ำคืน “แอ่วกุมกามยามแลง” เชียงใหม่
อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์ เป็นหมู่เกาะที่วางตัวอยู่ในกลุ่มอ่าวขนาดใหญ่ จึงสามารถกำบังคลื่นลมได้ดีทั้ง 2 ฤดู คือ ฤดูร้อน และฤดูฝน จึงเป็นแหล่งกำเนิดแนวปะการังน้ำตื้นที่มีความอุดมสมบูรณ์และมีขนาดใหญ่ที่สุดของประเทศไทย ภายใต้การดูแลกรมอุทยานแห่งชาติฯ ที่ค่อนข้างดีจึงทำให้หมู่เกาะสุรินทร์ยังคงอุดมไปด้วยธรรมชาติที่สมบูรณ์ ทั้งหาดทรายขาวละเอียด น้ำทะเลสีฟ้าใส
การเดินทางเริ่มต้นที่ อ.คุระบุรี เวลาประมาณ 09.00 น.นักท่องเที่ยวจะต้องขึ้นเรือสปีดโบ้ท เพื่อเดินทางไปยังอุทยานแห่งชาติฯ ใช้เวลาเดินทางราว 45- 60 นาที ขึ้นอยู่กับสภาพอากาศ และคลื่นลมในช่วงนั้น
อ่านข่าว ททท. ชวนลอยกระทง ล่องเรือไฟฟ้าเช็กอินรอบคลองผดุงกรุงเกษม
นักท่องเที่ยวจะสามารถเลือกพักได้ 2 จุด คือ บริเวณอ่าวช่องขาด ซึ่งทางอุทยานจะที่พักให้บริการคือบ้านพักที่อยู่บริเวณพื้นราบหรือจะเลือกพักบ้านพักด้านบนของอุทยานฯ ซึ่งติดแนวเขาบนเกาะได้เช่นกัน บนเกาะจะมีปูเสฉวน ลิง หรือ โชคดีจะพบบ่างร่อนเหินเวหาให้เห็น
อุทยานฯมีเต๊นท์ให้นักท่องเที่ยวได้เช่าเพื่อนอนพักค้างคืนรับลมทะเลริมหาด รวมถึงมีร้านอาหารให้บริการทั้งน้ำและเครื่องดื่มต่าง ๆ ด้วย
บริเวณหากจะมีวิวชายหาดตัดกับน้ำทะเลสีฟ้า มีแบล็กกราวน์เป็นหมู่เกาะสุรินทร์ สามารถถ่ายภาพได้จุใจ รวมไปถึงแลนด์มาร์กของอุทยานฯแห่งนี้อย่างหินแม่ไก่
หินแม่ไก่ จุดเช็กอินเด็ดของอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์ จ.พังงา
เมื่อนั่งต่อเรือหางยาวไม่เกิน 10 นาที ก็จะไปพบกับ อ่าวไม้งาม” จุดพักนักท่องเที่ยวอีกจุด ซึ่งจุดกางเต๊นท์ริมหาดไม้งามจะมีลมเย็นพัดเข้ามา ชนิดที่ว่าไม่ต้องกลัวความร้อนอบอ้าว หรือ เหนียวตัวแต่อย่างใด
อ่าวไม้งาม เป็นอีกจุดที่สามารถเล่นน้ำได้อย่างสนุกเนื่องจากน้ำไม่ลึกมาก บริเวณหน้าหาดก็จะมีปะการังและฝูงปลาการ์ตูนให้เดินไปชมได้ง่าย ๆ หรือจะเดินชมป่าโกงกางที่มีรากสีน้ำตาล ในเขียวชอุ่ม ขึ้นอยู่ริมชายหาด ซึ่งสำหรับสายถ่ายรูปสามารถบันทึกภาพได้อย่างสวยงาม หรือจะนอนเล่น เดินชมหาดได้อย่างสบายใจ
นอกจากนี้ ยังมีหมู่บ้านชาวเล หรือ ชาวมอแกน หมู่บ้านชาวเลดั้งเดิม ซึ่งตั้งอยู่บริเวณอ่าวบอนใหญ่ เกาะสุรินทร์ใต้ พวกเขาจะปลูกบ้านใต้ถุนสูง ยกเรียงรายกัน ตลอดริมหาดของเกาะ วัสดุส่วนใหญ่ทำจากไม้ หลังคามุงแฝก
อ่านข่าว ลัดเลาะเกาะรัตนโกสินทร์ "กราบพระนอน-ดูยักษ์วัดโพธิ์"
ชาวมอแกน ปัจจุบันประกอบอาชีพค่อนข้างหลากหลาย ทั้งอาชีพดั้งเดิมคือ การทำประมง ไปจนถึงการเป็นลูกเรือช่วยขับเรือหางยาวพานักท่องเที่ยวล่องเรือในพื้นที่ ขณะที่เด็กหนุ่มก็จะมีทั้งช่วยเหลือท่องเที่ยวหรือช่วยงานบนเรือสปีดโบ้ตที่รับ-ส่งนักท่องเที่ยวมายังเกาะ
ขณะที่ผู้หญิงบางส่วนทางกรมอุทยานฯจะว่าจ้างให้ทำงานบนพื้นที่ของอุทยานฯเช่น การทำความสะอาดทั่วไป กวาดใบไม้ ทำความสะอาดที่พักและอื่น ๆ
มอแกนนับถือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ และวิญญาณต่างๆ ในธรรมชาติ รวมทั้งวิญญาณบรรพบุรุษที่มี “หล่อโบง” หรือเสาวิญญาณบรรพบุรุษ ทั้งชาย (แอบ๊าบ) และหญิง (เอบูม) เป็นสัญลักษณ์
ขณะที่บางส่วนซึ่งส่วนใหญ่ที่เป็นเด็กและผู้หญิงก็อยู่บ้านโดยทำงานหัตถกรรม โดยเย็บกระเป๋าจากเศษอวน หรือ แกะสลักไม้เป็นรูปสัตว์น้ำต่าง ๆ เป็นของที่ระลึกให้นักท่องเที่ยวที่มาเยือนหมู่บ้านชาวมอแกนได้ซื้อติดมือกลับไป
อ่านข่าว ชุบชีวิต "คลองแม่ข่า" ฟื้นเสน่ห์คลองโบราณเมืองเชียงใหม่
นอกจากนี้ ไฮไลต์สำคัญของการมายังหมู่เกาะสุรินทร์ ก็คือ การดำน้ำชมปะการัง ซึ่งก็คือ โลกใต้น้ำที่อุดมสมบูรณ์ ทั้งปะการังหลากหลายชนิด สิ่งมีชีวิตในแนวปะการัง แนวปะการังที่พบทั่วไปที่หมู่เกาะสุรินทร์ เป็นแนวปะการังริมฝั่ง หรือที่เรียกกันว่า (Fringing reef)
ปะการังที่พบได้มากได้แก่ ปะการังดอกกะหล่ำ ปะการังเขากวาง ปะการังโขดหรือปะการังนิ้วมือ ปะการังดอกเห็ด ปะการังกาแล็กซี่ ปะการังแผ่นเปลวไฟหรือปะการังดอกจอก ปะการังสมอง ปะการังจาน ปะการังไฟ ดอกไม้ทะเล ปะการังอ่อน กัลปังหา และปากกาทะเล เป็นต้น
อ่านข่าว "เรือกอและ" บ้านทอน 4 ศตวรรษบนเกลียวคลื่น
นีโม่พาราไดซ์ (Nemo Paradise) จุดดำน้ำบริเวณอ่าวช่องขาด ที่อุดมไปด้วยปะการังน้ำตื้น และปลาการ์ตูน และปลาชนิดอื่น ๆ รวมถึงสิ่งมีชีวิตอีกหลายชนิด
นอกจากนี้ยังมี ฟองน้ำ หนอนทะเล กุ้งมังกร กุ้ง ปู หอย หมึก ดาวทะเล ดาวเปราะ ดาวขนนก เม่นทะเล ปลิงทะเลเพรียงหัวหอมและกลุ่มปลาชนิดต่างๆ เช่น ปลาสลิดหิน ปลานกขุนทอง ปลาผีเสื้อ ปลาสินสมุทร ปลานกแก้ว ปลากะรังและปลาทอง ปลาขี้ตังเป็ด ปลาสลิดทะเล ปลาผีเสื้อเทวรูป ปลาอมไข่
ปลาตั๊กแตนหิน ปลาบู่ ปลาสิงโต ปลากะรังหัวโขน ปลาหิน ปลากะพง ปลากล้วย ปลาสร้อยนกเขา ปลาทรายขาว ปลาหางแข็ง ปลาโมง ปลาสีกุน ปลาวัว ปลาปักเป้า นอกจากนี้ยังเป็นแหล่งของสัตว์ทะเลหายาก เช่น ฉลามวาฬ วาฬ และเต่าทะเล
อ่านข่าว เปลี่ยนเมืองผ่าน เป็นเมืองพัก เปิด “อีสาน” รับนักท่องเที่ยวจีน จับตา “เส้นทางสายมู”
การมาเยือนหมู่เกาะสุรินทร์ ซึ่งมีระยะทางที่ค่อนข้างไกล หากเริ่มต้นที่กรุงเทพฯ แต่ด้วยการที่เป็นหมู่เกาะที่แยกออกมาจากแผ่นดินใหญ่ค่อนข้างมาก บรรยากาศจึงเงียบสงบ เสียงธรรมชาติ ทั้งคลื่น เสียงลม ไปจนถึงสรรพสัตว์ก็เป็นเสียงหลักที่ช่วยให้ผ่อนคลายทั้งร่างกายและจิตใจได้เป็นอย่างดี
อ่านข่าว "ข้าวต้มลูกโยน" สืบสานประเพณีตักบาตรเทโว วันออกพรรษา
เรียกได้ว่า เหมาะอย่างยิ่งสำหรับนักท่องเที่ยวที่ต้องการหลีกเร้นจาก ความวุ่นวาย ต่าง ๆ มานั่งฟังเสียงธรรมชาติ ชมวิวน้ำทะเลสีฟ้าใส ก็เพียงพอต่อการพักผ่อนครั้งสำคัญ เชื่อว่า ใครก็ตามที่ได้มาสัมผัสเสน่ห์ของธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ของหมู่เกาะแห่งนี้ จะประทับใจไม่รู้ลืม และจะมักจะมีการกลับมาท่องเที่ยวครั้งต่อ ๆ ไปอย่างแน่นอน
รอยยิ้มพิมพ์ใจของเด็กน้อยชาวมอแกน ที่ต้อนรับนักท่องเที่ยวอย่างเป็นมิตร
อ่านข่าวอื่น ๆ
กรุงเทพฯ ติดอันดับ 4 เมืองท่องเที่ยวถูกค้นหามากสุดในโลกปี 66
“เที่ยวสะปัน” ในวันที่แปรเปลี่ยน ฤๅ เสน่ห์ชุมชนจะจางหายไป
One Day Trip นั่ง "รถไฟลอยน้ำเที่ยวเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์" ปี 2566
ปลุกชีพจร "อัมพวา" บนฐานนิเวศวัฒนธรรม-วิถีชีวิตชุมชน