เจ้าหน้าที่ศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอ่าวไทยตอนบน (ศวทบ.) สำรวจสัตว์ทะเลหายากและใกล้สูญพันธุ์บริเวณอ่าวไทยตอนบน ครอบคลุมพื้นที่ฉะเชิงเทรา สมุทรปราการ สมุทรสาคร สมุทรสงคราม เพชรบุรี และกรุงเทพมหานคร ระหว่างวันที่ 27-30 พ.ย.2566
ทั้งนี้ พบวาฬบรูด้า จำนวน 9 ตัว ทราบชื่อจำนวน 6 ตัว ได้แก่ แม่สาครกับเจ้าสาลี แม่กันยากับเจ้ามะลิ เจ้ามีทรัพย์ เจ้าสิงหา และไม่ทราบชื่อ จำนวน 3 ตัว บริเวณชายฝั่งทะเล สมุทรสาคร และเพชรบุรี ระยะห่างจากฝั่ง 10-15 กิโลเมตร
ภาพ : กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง
สัตวแพทย์ตรวจสุขภาพวาฬบรูด้าที่สำรวจพบ พบมีอัตราการหายใจและคุณภาพการหายใจปกติ มีความสมบูรณ์ร่างกาย (Body Condition Score) อยู่ในเกณฑ์ดี และพบรอยโรค Tattoo Skin Disease (TSD) บนผิวหนังวาฬบรูด้าจำนวน 2 ตัวได้แก่ เจ้ามีทรัพย์ และแม่สาคร พบบาดแผลบริเวณด้านหน้าครีบหลังของเจ้าสาลี และรอยถูกพันรัดที่ครีบหลังของวาฬไม่ทราบชื่อ จำนวน 1 ตัว ซึ่งสัตวแพทย์จะติดตามสุขภาพสัตว์ทะเลหายากต่อไป
ศวทอ.สำรวจแหล่งหญ้าทะเล พบพะยูน-เต่าตนุ
นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่ศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอ่าวไทยฝั่งตะวันออก (ศวทอ.) สำรวจสัตว์ทะเลหายากในแหล่งหญ้าทะเล โดยใช้อากาศยานไร้คนขับ ด้วยวิธี Line-transect พื้นที่ทางทะเล จันทบุรี และระยอง ระหว่างวันที่ 28-30 พ.ย.2566 จำนวน 44 เส้น 7 เที่ยวบิน บริเวณหาดทุ่งคา ต.เนินฆ้อ อ.แกลง อ่าวเพ-หาดสวนสน, ต.เพ อ.เมือง จ.ระยอง และอ่าวคุ้งกระเบน ต.คลองขุด อ.ท่าใหม่ จ.จันทบุรี รวมพื้นที่สำรวจ 1,414 ไร่ พบสัตว์ทะเลหายาก 2 ชนิด เฉพาะบริเวณแหล่งหญ้าทะเลอ่าวเพ ระยอง ได้แก่
ภาพ : กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง
พะยูน จำนวน 2 ตัว วัดขนาดความยาวตัวจากการคำนวณด้วยภาพจากโดรน พบว่าพะยูนทั้ง 2 ตัว มีความยาว 2.4 เมตร จากการประเมินสุขภาพภายนอก พบว่าพะยูนสภาพร่างกายปกติ มีพฤติกรรมหาอาหาร ว่ายน้ำได้ดี
ภาพ : กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง
เต่าตนุ จำนวน 9 ตัว วัดขนาดความยาวตัวจากการคำนวณด้วยภาพจากโดรน พบว่ามีความยาวระหว่าง 46-86 เซนติเมตร จากการประเมินสุขภาพภายนอก พบว่าเต่าทะเลสามารถว่ายน้ำ ดำน้ำ และตอบสนองต่อสภาพแวดล้อมได้ดี โดยพฤติกรรมที่พบเป็นการเข้ามาหากินในบริเวณแหล่งหญ้าทะเล โดยบริเวณแหล่งหญ้าทะเลดังกล่าวประกอบด้วยหญ้ากุยช่ายเข็ม หญ้ากุยช่ายทะเล และหญ้าใบมะกรูด