ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

นายกรัฐมนตรีได้มอบนโยบายแก้ปัญหาไฟป่าและฝุ่นควันใน 17 จังหวัดภาคเหนือ

ภูมิภาค
29 พ.ย. 66
17:44
883
Logo Thai PBS
นายกรัฐมนตรีได้มอบนโยบายแก้ปัญหาไฟป่าและฝุ่นควันใน 17 จังหวัดภาคเหนือ
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ ได้รายงานการเตรียมความพร้อมรับมือฝุ่นในปีนี้ต่อนายกรัฐมนตรีว่า กรมควบคุมมลพิษได้วิเคราะห์สาเหตุของฝุ่นต้องเข้าใจพฤติกรรมและแหล่งที่มาฝุ่น โดยเฉพาะในพื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือ

วันนี้ (29 พ.ย.66) นายกรัฐมนตรีได้มอบนโยบายแก้ปัญหาไฟป่าและฝุ่นควันใน 17 จังหวัดภาคเหนือ ระหว่างลงพื้นที่ปฏิบัติภารกิจในภาคเหนือ มีการเชิญส่วนราชการ วิชาการ ภาคประชาชน และภาคเอกชนมาร่วมหารือ ถึงแนวทางการแก้ปัญหา

นายปิ่นสักก์ สุรัสวดี อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ ได้รายงานการเตรียมความพร้อมรับมือฝุ่นในปีนี้ว่า กรมควบคุมมลพิษได้วิเคราะห์สาเหตุของฝุ่นต้องเข้าใจพฤติกรรมและแหล่งที่มาฝุ่น โดยเฉพาะในพื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือ พบว่าช่วงเดือน มิ.ย.-ธ.ค.ฝุ่นมาจากภาคการจราจร เดือน ธ.ค.-มี.ค. เริ่มอากาศปิด และเผาในพื้นที่มาจากพื้นที่การเกษตร ในช่วงมี.ค.-เม.ย.พบว่ามีการเผาป่าอนุรักษ์และป่าสงวนส่งผลกระทบสุขภาพประชาชน รวมถึงปัญหาหมอกควันข้ามแดน ทำให้ปีที่ผ่านมาฝุ่นบางวันเฉลี่ยสูงมากกว่า 500 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร

ปัญหาฝุ่นดังกล่าวทำให้กำหนดแผนการแก้ปัญหาฝุ่นในพื้นที่ภาคเหนือโดยเน้นการแก้ปัญหาการเผาในพื้นที่โล่ง ป่า เกษตรกรรม เป้าหมายลดลงให้ได้ร้อยละ 50 คาดว่าค่าฝุ่นลดลงร้อยละ 40 การแก้ปัญหาฝุ่นควันข้ามแดน มีความร่วมมือกับประเทศลาว และเมียนมา เช่น รายงานสถานการณ์ภูมิภาคอาเซียน ติดตั้งสถานีตรวจวัด ทำแผนที่จุดความร้อน แผนที่เสี่ยงการเผาไหม้ รวมถึงขับเคลื่อนความร่วมมือภายใต้ยุทธศาสตร์ฟ้าใส เพิ่มประสิทธิภาพการการพยากรณ์หมอกควันข้ามแดนที่แม่นยำมากขึ้นในการแจ้งเตือน

คณะจัดกรรมการจัดการปัญหามลพิษทางอากาศเพื่อความยั่งยืน มีรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเป็นประธาน ได้มีการวางระบบ จัดระเบียบ บูรณาการหน่วยงานราชการ ภาคประชาสังคม เพื่อแก้ปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม โดยมีการกำหนดมาตรการเร่งด่วน เพื่อบูรณาการแก้ปัญหา เช่น การบริหารจัดการการเผา

โดยกระทรวงมหาดไทย การสร้างมาตรฐานการทำการเกษตร การทำเกษตรไม่เผา มาตรการเงื่อนไขการเผาในป่าพื้นที่การเกษตร มาตรฐานการนำเข้าและส่งออกกระทรวงพาณิชย์

รวมถึงการพิจารณาสิทธิประโยชน์เพื่อให้เอกชนมาร่วม การผลิตหรือน้ำมันเชื้อเพลิงที่ได้มาตรฐานยูโรห้า พร้อมกันนี้ยังจัดตั้งเป็นอนุกรรมการ และศูนย์ปฏิบัติการระดับจังหวัด ระดับภาค โดยฝ่ายความมั่นคงมาช่วยดูเมื่อเกิดไฟป่าขนาดใหญ่ เน้นการจัดทำระบบข้อมูลขนาดใหญ่ ภาคราชการและประชาชน

นายบัณรส บัวคลี่ สภาลมหายใจเชียงใหม่ ระบุว่าความเปลี่ยนแปลงหลายอย่าง โดยเฉพาะเมื่อวาน (28 พ.ย.2566) ครม.ผ่านร่างมติ พ.ร.บ.อากาศสะอาด และเรื่องไฟแปลงใหญ่ 10 แปลงที่ขับเคลื่อนก่อนหน้านี้ และเมื่อมองปัญหาฝุ่นร่วมกันใน 8 จังหวัดภาคเหนือในช่วงปฏิบัติการได้รวบรวมความเห็นปัญหา ตัวอย่าง จ.เชียงราย

ต้นปีที่ผ่านมาชาว อ.แม่สาย รวมตัวประท้วงเรียกร้องให้รัฐบาลยกระดับการช่วยเหลือ มีปัญหาอยู่เรื่องหนึ่ง คือ ทางจังหวัดไม่มีระเบียบให้ประกาศเขตภัยพิบัติฯ พื้นที่ อ.แม่สาย ตามระเบียบของ ปภ.มารองรับ จ.น่านพบปัญหาไฟจากแขวงไชยะบรี และปัญหาร่วมหลายจังหวัด คือ อปท.รับการมอบภารกิจดูแลไฟป่า ปีที่ผ่านมามีงบประมาณให้แต่น้อยมาก แต่สะท้อนเหมือนกันเงินที่ให้มา ต้องซื้ออุปกรณ์ ไม่มีเงินค่าอาหาร และน้ำมันรถ

ขณะที่ไฟป่า 10 แปลงใหญ่ ยังตกหล่นพื้นที่อีก 1 แปลง คือ พื้นที่ป่าอมก๋อย ดังนั้นเมื่อรวมพื้นที่ป่าเหนือเขื่อนภูมิพล ป่าแม่ปิง แม่ตื่น และอมก๋อย จะมีพื้นที่ป่ากว่า 2 ล้านไร่ เป็นจุดที่เมื่อเกิดไฟป่าจะกระทบฝุ่นควันพื้นที่ส่วนใหญ่ในภาคเหนือ ดังนั้นจึงอยากให้รวมพื้นที่ป่าที่เฝ้าระวังรวมเป็น 11 แปลง

“ทำอย่างไรขับเคลื่อนให้ประชาชนมีส่วนร่วมมากขึ้น”

นายเดโช ไชยทัพ มูลนิธิเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ที่ผ่านมามีความพยายามแต่ไปไม่ถึงฝัน ปัญหาไฟป่าเป็นปัญหาใหญ่แต่เกินกำลังเจ้าหน้าที่จะขับเคลื่อนได้ฝ่ายเดียว ดังนั้นทิศทางจะส่งเสริมให้ประชาชนมีส่วนร่วมเป็นสิ่งที่ถูกต้อง แต่จะส่งเสริมให้มีส่วนร่วมด้วยมีประเด็นใหญ่ 3 เรื่องที่จะต้องมีความชัดเจร คือ ขับเคลื่อนการถ่ายโอนภารกิจควบคุมไฟป่า ขับเคลื่อนความยากจน และการแก้ไขที่ดินในเขตป่า

ปัญหาการถ่ายโอนภารกิจไฟป่า มี อปท. 2,316 แห่ง พื้นที่ป่า 4.2 ล้านไร่ การถ่ายโอนภารกิจไม่ถึงฝั่งฝัน กลายเป็นว่าเมื่อถ่ายโอนภารกิจกรมป่าไม้ไม่สามารถของบประมาณได้ เมื่อท้องถิ่นมาทำ ไม่มีงบ ไม่มีแผน ไม่มีตัวชี้วัด การจัดการ ระเบียบที่เกี่ยวข้องก็ยังไม่เหมาะสมทำให้พื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่สูญญกาศ ประมาณ 4.2 ล้านไร่ที่กรมป่าไม้ได้ถ่ายโอนภารกิจไป ที่ผ่านมามีความพยายามขับเคลื่อน ทั่วประเทศประมาณ 1,700 ล้านบาท เพื่อจะให้ท้องถิ่นมีส่วนร่วมในการป้องกันแก้ไข แต่ที่ผ่านมามีงบประมาณเพียง 49 ล้านบาทสนับสนุน

การขับเคลื่อนกฎหมายป่าชุมชน เป็นกฎหมายก้าวหน้าที่ให้ประชาชนได้เข้ามามีส่วนร่วม และการจัดการไฟป่า แต่ข้อเสนอทำอย่างไรให้กรมป่าไม้ มีคนมีงบในการขับเคลื่อนมีคนให้เพียงพอ เพราะพื้นที่กว้าง เฉพาะ จ.เชียงใหม่ 573 หมู่บ้าน 8 แสนกว่าไร่ ทำอย่างไรจะขับเคลื่อนเป็นรูปธรรมมากขึ้น เมื่อบริหารจัดการจะเกิด KPI รายหมู่บ้าน เกิดไฟขึ้นกี่จุด เมื่อพูดถึงงบประมาณดูแล ถ้าทำดีๆมีงบบริหารจัดการ เชื่อมโยง เช่น เครดิตคาร์บอน หากทำได้อนาคตจะจัดการไฟป่าได้ดีขึ้น และมี KPI ที่ชัดเจน

ที่ดินในเขตป่า การรับรองสิทธิ์ คทช.ทำอย่างไรให้เป็นรูปธรรม เช่น อ.แม่แจ่ม จะส่งเสริมการเกษตรที่ดิน แหล่งน้ำ เปลี่ยนเป็นรูปธรรม “วนเกษตร” แก้ปัญหาพื้นที่เกษตรใช้ไฟเยอะ และจะลดลงอย่างไร

นายวิทยา ครองทรัพย์ ผู้แทนคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน (กกร.) ได้สะท้อนปัญหาเศรษฐกิจกับปัญหาฝุ่นคัวนจากสถิตินักท่องเที่ยว ปี 2566 ทะลุ 1 ล้านคนเป็นครั้งที่ 2 ในรอบ 5 ปี สร้างรายได้ให้จังหวัดเชียงใหม่กว่า 8 พันล้านบาท ที่ผ่านมาภาคเอกชนกระตุ้นเศรษฐกิจ 12 เดือน นำศักยภาพของเชียงใหม่เข้ามากระตุ้นการท่องเที่ยว

จำนวนนักท่องเที่ยวลดลง ก.พ.-เม.ย.สาเหตุสำคัญมาจากฝุ่นควันมาก ภายใน 3 เดือนรายได้ของเชียงใหม่ลดลงรวมกัน 6,000 กว่าล้านบาท

ข้อเสนอภาคเอกชนเสนอรัฐบาล เช่น เร่งผลักดัน พ.ร.บ.อากาศสะอาด เพื่อปฏิรูปการแก้ปัญหาฝุ่นควัน สนับสนุนเครื่องวัดขนาดเล็กในพื้นที่เสี่ยงทุกชุมชน โดยใช้โมเดลห้องเรียนสู้ฝุ่น สสส.เป็นต้นแบบ และพัฒนาต่อยอดงานวิจัยของ ม.เชียงใหม่ เช่น ห้องปลอดฝุ่นกระจายไปทุกชุมชน ฯลฯ

นายเศรษฐา ทวีศิลป์ นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ระบุว่าเห็นด้วยกับทุกข้อเสนอในการแก้ปัญหาไฟป่า และฝุ่นควัน และมองมิติการแก้ปัญหา 3 ส่วนหลักๆ เช่น รถยนต์ คาดว่าอนาคตการใช้รถยนต์ไฟฟ้าจะมากขึ้น ปัจจุบันเกินร้อยละ 5 ของรถที่มีทั้งหมด และคาดว่าจะเพิ่มมากขึ้น อย่างลงพื้นที่วันนี้ก็นำผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้ารายใหญ่ลงพื้นที่ด้วยชวนมาสร้างโรงงานในประเทศไทย อนาคตไม่เกิน 10 ปี คาดว่าฝุ่นจากมลพิษรถยนต์จะลดลง

ขณะที่การเผา และไฟป่า ผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร ประเด็นนี้ให้ความสำคัญมาก แต่ต้องพูดถึงบ่อเกิดเกิดจากอะไร ถ้ามองจริงๆแล้วเป็นเรื่องเศรษฐกิจมากกว่า เช่นเศษข้าว ข้าวโพด ไม่มีคนมารับซื้อก็จะใช้วิธีการเผา ค่าใช้จ่ายที่สูงเป็นปัญหาใหญ่ จึงนำมาสู่การเผาสะท้อนปัญหาปากท้อง เศรษฐกิจ ข้อเสนอ คือ ทำอย่างไรให้พืชผลทางการเกษตรมีราคาดี ตลาดส่งออกไปได้ มีรายได้ที่สูงขึ้น เมื่อมีต้นทุนก็จะนำไปสู่การบริหารจัดการที่ดี ถ้าไม่ดีก็จะเป็นภาระ ส่วนการใช้งบประมาณรัฐบาลแก้ปัญหา มองว่า ฝ่ายความมั่นคง กอ.รมน. ทหาร มาช่วยด้านการเกษตร หรือป้องกันไฟป่าเป็นเรื่องสำคัญ

ส่วนปัญหานักท่องเที่ยวเชียงใหม่น้อยในช่วงหน้าฝุ่น เพราะอากาศที่อื่นดีกว่า นักท่องเที่ยวไม่มาเดือน ก.พ.-มี.ค. เพราะอากาศไม่สะอาด รัฐบาลมั่นใจเรื่องนี้จะดีขึ้น

ขณะที่ปัญหาฝุ่นควันข้ามแดน ประเทศเพื่อนบ้าน ลาว และเมียนมา ต้องพัฒนาไปด้วยกัน และเจรจาพูดคุยกัน

คนรับซื้อจากเขามาก็สำคัญ ไม่ใช่แค่ราคาอย่างเดียว ต้องดูว่าด้วยว่าพืชผลที่ซื้อมา ซังข้าวโพด ตอข้าว ได้ถูกจัดการถูกต้องตามหลักที่ตกลงไว้หรือเปล่า ถ้าเกิดพูดจาไม่ทำตาม มาตรการภาษีต้องมีมา ถ้าท่านไปซื้อของจากประเทศที่ไม่ให้ความสำคัญกับเรื่องอากาศบริสุทธิ์ ไปทำมาหากินประเทศเขา แล้วไม่ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ รัฐบาลนี้ก็ยอมรับไม่ได้

นายกรัฐมนตรี ย้ำว่า รัฐบาลให้ความสำคัญอย่างต่อเนื่องกับเรื่องอากาศสะอาด สิทธิพื้นฐานของมนุษยชน อากาศสะอาด ถ้ารัฐบาลไม่ให้ความสนใจ หรือทำให้ดีขึ้นได้ ผมว่าเรามีปัญหา เรื่องนี้รัฐบาลให้ความสำคัญเป็นเรื่องแรกๆ นายกรัฐมนตรีกล่าว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง