ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

"เมียพระราชทาน" ห้ามขาย ห้ามตี อภิสิทธิ์เหนือ "เมียหลวง"

ไลฟ์สไตล์
27 พ.ย. 66
20:17
5,023
Logo Thai PBS
"เมียพระราชทาน" ห้ามขาย ห้ามตี อภิสิทธิ์เหนือ "เมียหลวง"
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
การขยายเมืองในสมัยอยุธยา กลายเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ "ชายมีเมียได้หลายคน" และการปูนบำเหน็จ "เมียพระราชทาน" กลยุทธ์ผูกใจที่พระเจ้าแผ่นดินใช้กับขุนนางสร้างความมั่นคงในราชบัลลังก์ "ผู้หญิง" ที่กลายเป็นนโยบายสร้างชาติโดยไร้ปากเสียง "ต้องอยู่แม้ไม่ได้รัก"

หลังจากที่ราชอาณาจักรสยามตกลงเซ็นสนธิสัญญาเบาว์ริงกับสหราชอาณาจักรในรัชสมัยสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 พ.ศ. 2398 ถือเป็นยุคเปิดประตูรับอิทธิพลตะวันตกเข้าสู่สยามประเทศเพิ่มขึ้น ไม่เฉพาะการค้า อุตสาหกรรม การปฏิรูประบบเศรษฐกิจต่างๆ ที่สยามเริ่มรับเข้ามา 

"กฎหมายตราสามดวง" กฎหมายที่เริ่มใช้ในช่วง ร.1 กรุงรัตนโกสินทร์ ซึ่งได้รับอิทธิพลจาก "คัมภีร์พระธรรมศาสตร์" ที่ใช้ในสมัยอยุธยา ก็ถูกยกเลิกไปในรัชสมัยรัชกาลที่ 5 ตามอิทธิพลตะวันตกเช่นกัน

หนึ่งในกฎหมายที่ถูกใช้ในสมัยอยุธยา ที่ถ้าคนในปัจจุบันมองหรือในสายตาชาวต่างชาติที่เข้ามาทำการค้าขายกับสยามในขณะนั้นมองแล้วไม่เกิดความเท่าเทียมกันอย่างที่สุด คงหลีกไม่พ้น "พระอัยการลักษณะผัวเมีย" ที่ถูกตราขึ้นในปี พ.ศ.1906 ในรัชสมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 หรือ พระเจ้าอู่ทอง ปฐมกษัตริย์แห่งอาณาจักรอยุธยา 

เมื่อเมืองขยายตัว ครอบครัวก็ขยายตาม การจัดการด้วยจารีตประเพณีเหมือนสมัยสุโขทัย จึงไม่อาจใช้ได้ในสมัยกรุงศรีฯ กฎหมายครอบครัวจึงถูกนำมาใช้บังคับ แต่อิทธิพลของ คัมภีร์พระธรรมศาสตร์ ที่อยุธยาได้อิทธิพลจากศาสนาพราหมณ์ ฮินดู ประเทศอินเดีย แนวคิดชายมีเมียได้หลายคน ตามหลักประเพณีฮินดู จึงถูกผสมผสานรวมในตัวบทกฎหมาย ด้วยคอนเซปต์ที่ว่า

กฎหมายยอมให้ชายมีภรรยาหลายคนได้
แต่หาได้ยอมให้หญิงมีสามีมากกว่าหนึ่งขึ้นไปไม่ 

และยังได้บัญญัติชนชั้นของ "เมีย" เข้าไป ตอกย้ำว่า "มีเมียหลายคนได้ไม่ใช่เรื่องผิด" และยังลดข้อโต้แย้งในการแบ่งสรรปันส่วน "มรดก" หรือทรัพย์สมบัติของสามี

  1. เมียกลางเมือง หญิงอันบิดามารดากุมมือให้เป็นเมียชาย หรือเรียกในภาษาปัจจุบันคือ เมียหลวง
  2. เมียกลางนอก ชายขอหญิงมาเลี้ยงเป็นอนุภรรยาหลั่นเมียหลวงลงมา หรือเรียกในภาษาปัจจุบันคือ เมียน้อย
  3. เมียกลางทาษี หญิงใดมีทุกข์ยาก ชายช่วยไถ่มาเลี้ยงเป็นเมีย ได้ชื่อว่าเมียกลางทาษี หรือ เมียทาส 

นี่คือชนชั้นของ "เมีย" ที่ใช้ได้สำหรับคนทั่วไปในสมัยนั้น แต่หากเหล่าขุนนางราชสำนักขึ้นไป เมื่อทำภารกิจให้พระมหากษัตริย์สำเร็จ รางวัลที่ได้ก็มีทั้ง ไพร่พล ยศฐาบรรดาศักดิ์ ที่ดิน ทรัพย์สมบัติ เงินทอง รวมไปถึง "เมีย" ที่ทรงพระราชทานให้เอง หรือหากถูกตาต้องใจใคร ก็สามารถทูลขอให้พระราชทานให้ ก็ย่อมได้  

"เมียพระราชทาน" ห้ามขาย ห้ามตี ศักดิ์ศรียิ่งกว่าเมียหลวง

"เมียพระราชทาน หรือ เมียนาง" ถือเสมือน "ของหลวง" เป็นทรัพย์สมบัติของพระเจ้าแผ่นดิน การพระราชทานให้ ผู้ได้รับจึงต้องห้ามกระทำสิ่งมิอันควรใดๆ ต่อเมียพระราชทาน ในช่วงนั้นมีกฎหมายที่คุ้มครอง เมียนาง ด้วยคือ ขายเป็นทาสแก่ผู้ใดไม่ได้ ส่วนเมียหลวง เมียน้อย หรือเมียทาส สามีมีสิทธิที่จะเอาไปขายได้ นอกจากนี้ ยังต้องปฏิบัติให้ถูกทำนองคลองธรรมจะทุบตีทารุณอย่างเมียอื่นไม่ได้ โดยมีบทลงโทษไว้ว่า

อนึ่งเมียแห่งตนนั้น ท้าวพญา ประสาทให้แก่ตน ถ้าแลษัตรีนั้นผิดประการใดแต่ตีด่าให้หลาบ ปราบให้กลัว อย่าให้ล้มตายเสียรูปทรงษัตรีนั้นไป ถ้าหมีได้ทำตามโทษสามสถาน

ในพระอัยการลักษณะมรดก เขียนไว้อีกว่า ภริยาอันทรงพระกรุณาพระราชทานให้ได้ทรัพย์ 3 ส่วนกึ่ง ภริยาอันสู่ขอมีขันหมาก บิดามารดายกให้ได้ทรัพย์ 3 ส่วน เหตุภริยาอันพระราชทานให้นั้นสูงศักดิ์กว่า ภริยาอันมีขันหมากบิดามารดายกให้ อนุภริยาได้ทรัพย์ 2 ส่วนกึ่ง ภริยาทาสให้ปล่อยเป็นไท

แปลไทยเป็นไทยคือ ทรัพย์สมบัติในส่วนที่แบ่งให้เมียนั้น เมียพระราชทานต้องได้ 3.5 ส่วน เมียหลวงได้ 3 ส่วน เมียน้อยได้ 2 ส่วน ส่วนเมียทาสให้ปล่อยเป็นไท 

เมียพระราชทาน จิตวิทยาบริหารคน 

ในอดีตนั้น เหล่าขุนนางมักส่งบุตรสาวของตนเข้าไปเรียนรู้ขนบประเพณีในวัง ส่วนหนึ่งก็หวังให้ "นางข้าหลวง" ได้เรียนรู้วัฒนธรรมชนชั้นสูง มีโอกาสที่จะได้เป็นเจ้าจอมของพระเจ้าแผ่นดิน ด้วยว่ามีคุณสมบัติของกุลสตรี อีกส่วนก็ถือว่า แม้บุญพาวาสนาไม่นำชัก หากแต่ความอ่อนช้อยในมารยาทที่ถูกขัดเกลาเด่นชัด ก็ย่อมมีโอกาสได้เฝ้าเรือนดองกับครอบครัวข้าราชการชั้นสูงด้วยกัน อย่างไรก็เห็นจะมีแต่ได้ มิมีเสีย

การบริหารราชการแผ่นดินสมัยกรุงศรีฯ นั้น ศูนย์รวมของอำนาจอยู่ที่ "ขุนหลวง" ก็จริง แต่ก็ยังต้องเสี่ยงกับการถูกโค่นล้มราชบัลลังก์อยู่เนืองๆ แต่หากพระเจ้าแผ่นดินมีขุนนางที่ผูกใจกันได้ ก็ย่อมสร้างความแข็งแกร่งให้บัลลังก์มากยิ่งขึ้น การผูกใจผู้ใต้บังคับบัญชาในยุคนั้น สามารถส่งผ่าน "เมียพระราชทาน" และยังส่งผ่านการพระราชทานทรัพย์สิน ที่ดิน เงินทอง ได้เช่นกัน 

สิ่งนี้ จุลภัสสร พนมวัน ณ อยุธยา นักวิชาการอิสระด้านศิลปวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์รัตนโกสินทร์ สะท้อนไว้อย่างน่าฟังว่า การผูกใจข้าราชสำนักที่เห็นเป็นหลักฐานจนถึงปัจจุบันนั้น สามารถมองจาก "บ้านพระราชทาน" ที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 โปรดเกล้าฯ สร้างให้กับขุนนางใกล้พระองค์ทั้ง 4 คน  

  1. บ้านนรสิงห์ ปัจจุบันคือ ทำเนียบรัฐบาล พระราชทานให้กับเจ้าพระยารามราฆพ (ม.ล.เฟื้อ พึ่งบุญ) 
  2. บ้านบรรทมสินธุ์ หรือ บ้านพิษณุโลกในปัจจุบัน พระราชทานให้กับ พลตรี พระยาอนิรุทธเทวา (ม.ล.ฟื้น พึ่งบุญ - น้องชาย ม.ล.เฟื้อ) 
  3. บ้านมนังคศิลา พระราชทานให้กับพระยาอุดมราชภักดี (โถ สุจริตกุล)
  4. บ้านพิบูลธรรม หรือบ้านนนทิ พระราชทานให้กับเจ้าพระยาธรรมาธิกรณาธิบดี (ม.ร.ว.ปุ้ม มาลากุล)

"นางสร้อยฟ้า" เมียพระราชทานในวรรณคดี

ในวรรณคดียุครัตนโกสินทร์ที่ใช้เส้นเรื่องสมัยกรุงศรีอยุธยา "ขุนช้างขุนแผน" ปรากฏมีการพระราชทานเมียเกิดขึ้นในบทเสภา เมื่อ "พลายงาม หรือ จมื่นไวยวรนารถ (พระไวย)" บุตรของขุนแผนและนางวันทอง อาสายกทัพไปรบเชียงใหม่ เพื่อขอพระราชทานอภัยโทษให้แก่ "ขุนแผน" พ่อของตน จนได้รับชัยชนะ ครานั้นเจ้าเมืองเชียงใหม่ที่แพ้ศึก จำต้องถวายธิดาล้านนาทั้ง 2 คือ นางสร้อยทอง และ นางสร้อยฟ้า ให้พระพันวษา พระพันวษาโปรดนางสร้อยทองแต่ไม่โปรดนางสร้อยฟ้า จึงพระราชทานให้ พระไวย ถือเป็นบำเหน็จที่กรำศึกจนชนะ 

อ้ายหมื่นไวยกูก็ให้มียศศักดิ์ พร้อมพรักข้าไทเป็นถ้วนฉี่
ยังเสียอยู่แต่เมียมันไม่มี จะยกอีสร้อยฟ้าให้แก่มัน
จะให้สมกับที่มีความชอบ ให้ประกอบยศยิ่งทุกสิ่งสรรค์
เป็นขุนนางไม่มีเมียก็เสียครัน จะให้มันมีเมียเสียสักคน

แต่ในขณะนั้น พระไวยมีเมียอยู่ก่อนแล้ว คือ "นางศรีมาลา" ส่วนนางสร้อยฟ้าเองก็รู้สึกเป็นทุกข์ เพราะตนไม่รู้ประเพณีฝ่ายไทย สามีก็มิได้รักใคร่กันมาก่อนเพราะเป็นภรรยาประทาน หนำซ้ำในสมัยก่อน คนอยุธยามองว่า ล้านนาก็คือลาว จึงไม่ได้ให้การยกย่องแต่อย่างใด 

นางสร้อยฟ้า ในวรรณคดี ขุนช้างขุนแผน

นางสร้อยฟ้า ในวรรณคดี ขุนช้างขุนแผน

นางสร้อยฟ้า ในวรรณคดี ขุนช้างขุนแผน

นางสร้อยฟ้าจำใจอยู่ใต้หลังคาเรือนเดียวกับนางศรีมาลา ต่างฝ่ายต่างถือว่าตนคือเมียของพระไวย การทะเลาะเบาะแว้งจึงเกิดขึ้นอยู่ไม่ขาด ร้อนถึงเจ้าบ้านจมื่นไวยต้องห้ามทัพกันอยู่เป็นนิจ ศึกนอกก็ต้องรบ ศึกใน (บ้าน) ก็ต้องห้ามทัพ จะแยกย้ายหย่าขาดก็ไม่ได้ ด้วยพระอัยการลักษณะผัวเมียที่บัญญัติว่าไว้ 

ผัวเมียอยู่ด้วยกัน ต่างคนต่างผิดใจกัน จะหย่ากันไซ้ ให้เรียกสินเดิมทั้งสองข้าง
สินสมรสให้แบ่งเป็นสามส่วน ให้ชายสองส่วน ให้หญิงส่วนหนึ่ง
แต่หากหญิงมีสินเดิม แต่ชายไม่มี
สินเดิม เมื่อหย่ากันให้แบ่งสินสมรสเป็นสามส่วน ให้หญิงสองส่วน ให้ชายหนึ่งส่วน

และด้วยขนบประเพณีที่ห้ามหญิงมีสิทธิ มีเสียง ห้ามโต้เถียงหรือเป็นฝ่ายขอหย่าผัว "เมียพระราชทาน" ทั้งในวรรณคดี หรือ ในชีวิตจริงยุคนั้น หลายคนจึงจำใจอยู่ และสะสมปัญหาครอบครัวไว้กับตัวมาอย่างยาวนาน กระทั่งการเข้ามาของชาวตะวันตก มีการแลกเปลี่ยนความรู้ มุมมองต่างๆ ทำให้คนไทยเริ่มเข้าใจและผลักดันกฎหมายใหม่ จนได้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 ว่าด้วยให้ชายมีภรรยาตามกฎหมายได้คนเดียว ประกาศใช้วันที่ 1 ต.ค.2478 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง