ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

เรื่องน่ารู้ "งานลอยกระทง" ประเพณี 4 ภาคต่างเอกลักษณ์

ไลฟ์สไตล์
27 พ.ย. 66
06:28
15,651
Logo Thai PBS
เรื่องน่ารู้ "งานลอยกระทง" ประเพณี 4 ภาคต่างเอกลักษณ์
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
ลอย ลอยกระทง ลอยกระทงกันแล้ว ..แต่รู้ไหมว่าประเพณีนี้มีชื่อเรียกไม่เหมือนกัน

    "ลอยกระทง" ประเพณีเก่าแก่ของไทย หลายจังหวัดจัดงานยิ่งใหญ่ แต่ในความเหมือนของประเพณีลอยกระทง ก็มีความแตกต่างของเอกลักษณ์เฉพาะท้องถิ่นและมีชื่อเรียกต่างกัน

ลอยกระทงภาคเหนือ

       ประเพณีงานบุญเดือนสองของภาคเหนือ หรืองาน "ยี่เป็ง" จัดในวันขึ้น 15 ค่ำ หรือวันเพ็ญเดือนยี่ ตรงกับเดือน 12 ของภาคกลาง ประชาชนจะเข้าวัดทำบุญตักบาตร ฟังธรรม ประดับบ้านเรือนและเรือกสวนไร่นาด้วยโคมสีสันสดใส ปล่อยโคมควันและจุดประทีปบูชาพระพุทธเจ้า 5 พระองค์ บ้างจุดเท่าจำนวนอายุเพื่อความเป็นสิริมงคล

สำหรับคติความเชื่อการลอยกระทง เพื่อบูชาพระอุปคุตต์ซึ่งเชื่อว่าบำเพ็ญบริกรรมคาถาอยู่ที่สะดือทะเล หรือบูชารอยพระพุทธบาทที่ประดิษฐานอยู่ในเมืองบาดาล รวมถึงปล่อยโคมลอยขึ้นไปบูชาพระเกศแก้วจุฬามณีบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ และลอยทุกข์ลอยโศกให้หมดไป

อ่านข่าว : ความเชื่อ "ผี" ขอขมาน้ำ-ดิน สู่ประเพณีลอยกระทง

       ปัจจุบันมีการจัดงานลอยกระทงในทุกจังหวัดของภาคเหนือ แต่จังหวัดที่จัดงานอย่างยิ่งใหญ่เป็นประจำทุกปีและได้รับความสนใจจากนักท่องเที่ยวจำนวนมาก คือ "ประเพณียี่เป็ง" ที่เชียงใหม่ ก่อนวันงานประชาชนจะประดับบ้านเรือนด้วยโคม เมื่อถึงวันยี่เป็งจะเข้าวัดทำบุญตักบาตร ฟังเทศน์มหาชาติ จุดประทีปโคมไฟหรือผางประทีป ปล่อยโคมและลอยกระทงช่วงพลบค่ำ

ปล่อยโคมลอยในประเพณียี่เป็ง

ปล่อยโคมลอยในประเพณียี่เป็ง

ปล่อยโคมลอยในประเพณียี่เป็ง

ลำปาง "ล่องสะเปา" ประเพณีดั้งเดิมเอกลักษณ์ของเมืองลำปาง ชาวบ้านจะทำกระทงขนาดใหญ่แบบเรือสำเภา ประดับตกแต่งด้วยความประณีตสวยงาม ล่องไปตามแม่น้ำวัง

ตาก "ลอยกระทงสาย" มีการนำน้ำมันยางผสมขี้เลื่อยปั้นเป็นก้อนใส่ในกะลามะพร้าว จุดไฟและปล่อยให้ลอยเป็นสายไหลไปตามลำนํ้าปิง

สุโขทัย "ลอยกระทง เผาเทียน เล่นไฟ" ทุกปีจะมีการจัดงานบริเวณอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย กิจกรรมในตอนกลางวันจะมีขบวนแห่นางนพมาศ ออกร้าน จัดนิทรรศการ ประกวดกระทง ส่วนตอนเย็นและกลางคืนจะประดับไฟ จุดเทียนตามโบราณสถาน กิจกรรมข้าวขวัญวันเล่นไฟ การแสดงแสงสีเสียงเกี่ยวกับประวัติศาสตร์กรุงสุโขทัย พิธีเผาเทียน พิธีอัญเชิญพระประทีปและกระทงพระราชทานลงลอยเป็นปฐมฤกษ์ ก่อนสิ้นสุดงานด้วยการแสดงพลุตะไลไฟพะเนียงอย่างยิ่งใหญ่

อ่านข่าว : วธ.เปิดผลโพลคนไทยอยากลอยกระทง "สุโขทัย-เชียงใหม่" มากสุด 

ลอยกระทงภาคอีสาน

       ประเพณีลอยกระทงของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ในอดีตจัดขึ้นเนื่องในประเพณี "สิบสองเพ็ง" หรือคืนวันเพ็ญเดือน 12 นิยมจัดในรูปแบบของการ "ไหลเรือไฟ" และจัดสืบต่อมาในช่วงเทศกาลออกพรรษา เป็นการจัดงานก่อนภูมิภาคอื่นราว 1 เดือน

"เรือไฟ" ภาษาถิ่นเรียกว่า "เฮือไฟ" เป็นเรือที่ทำด้วยต้นกล้วยหรือไม้ไผ่ ต่อเป็นลำเรือยาวประมาณ 5-6 วา ข้างในบรรจุขนม ข้าวต้มผัด หรือสิ่งของที่ต้องการบริจาคทาน ข้างนอกเรือมีดอกไม้ ธูปเทียน ตะเกียง ขี้ไต้สำหรับจุดไฟให้สว่างไสว ก่อนจะปล่อยเรือไฟไหลตามลำน้ำ เรียกว่าการไหลเรือไฟ

งานประเพณีไหลเรือไฟนครพนม ประจำปี 2566 (ภาพจาก สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดนครพนม)

งานประเพณีไหลเรือไฟนครพนม ประจำปี 2566 (ภาพจาก สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดนครพนม)

งานประเพณีไหลเรือไฟนครพนม ประจำปี 2566 (ภาพจาก สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดนครพนม)

หลายจังหวัดภาคอีสานจัดงานประเพณีไหลเรือไฟอย่างยิ่งใหญ่ทุกปี โดยเฉพาะ จ.นครพนม ที่มีชื่อเสียง โดยมีการไหลเรือไฟลงสู่แม่นํ้าโขง

       เรือไฟแบ่งเป็น 2 ประเภท คือ เรือไฟโบราณ (แบบชาวบ้าน) ใช้ต้นกล้วยต่อกันเป็นแพให้มีลักษณะคล้ายเรือกาบกล้วย ตกแต่งด้วยดอกไม้ และเรือไฟขนาดใหญ่ ทำด้วยไม้ไผ่มัดต่อกันเป็นแพ ทำโครงไม้ไผ่หรือโลหะเป็นรูปต่างๆ เช่น รูปเรือ รูปพญานาค ประดับติดกับโครงสร้างที่ติดตั้งไว้ แล้วใช้ขี้ไต้หรือขวดนํ้ามันใส่ไส้ผูกติดกับโครงลวด กำหนดระยะให้เหมาะสมตามรูปทรง ซึ่งเรือไฟขนาดใหญ่จะประดับดวงไฟนับหมื่นหรือนับแสนดวง

ร้อยเอ็ด มีชื่องานประเพณีว่า "สมมานํ้าคืนเพ็ง เส็งประทีป" ตามภาษาถิ่นมีความหมายถึงการขอขมาพระแม่คงคา ในคืนวันเพ็ญเดือน 12 ในงานมีการประกวดประทีปโคมไฟและกระทง จำลองแห่หัวเมืองสาเกตนครทั้ง 11 หัวเมือง ประกวดกระทงและนางนพมาศ จุดพลุ ดอกไม้ไฟ การแสดงหมอลำและมหรสพพื้นบ้าน

สกลนคร "ลอยพระประทีปพระราชทานสิบสองเพ็งไทสกล" โดยจังหวัดได้รับพระราชทานพระประทีป จากนั้นอัญเชิญไปสถานที่ประกอบพิธี ณ พระตำหนักภูพานราชนิเวศน์ เพื่อประกอบพิธีลอยกระทง นอกจากนี้ยังมีการแสดงพลุ ดอกไม้ไฟและประกวดนางนพมาศ

ลอยกระทงภาคกลาง

       ประเพณีลอยกระทงของภาคกลาง จัดขึ้นในวันเพ็ญเดือน 11 วันเพ็ญเดือน 12 คาบเกี่ยวช่วงปลายเดือน ต.ค.และปลายเดือน พ.ย. เป็นฤดูที่มีน้ำหลากมาจากทางเหนือ ชาวบ้านจะทำกระทงไปลอยที่แม่น้ำลำคลองเพราะเป็นช่วงที่น้ำขึ้นเต็มฝั่ง

อ่านข่าว : แจก 8 เว็บไซต์ ลอยกระทงออนไลน์แบบที่ชอบ ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม

ภาพถ่ายเทศกาลลอยกระทงในกรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 11 พ.ย.2562

ภาพถ่ายเทศกาลลอยกระทงในกรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 11 พ.ย.2562

ภาพถ่ายเทศกาลลอยกระทงในกรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 11 พ.ย.2562

จังหวัดภาคกลางที่จัดกิจกรรมประเพณีลอยกระทงอย่างต่อเนื่องและเป็นประจำทุกปี เช่น กรุงเทพมหานคร เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวบริเวณคลองคูเมืองเดิม หรือคลองหลอด, ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา, บริเวณสะพานพระราม 8, วัด, สวนสาธารณะที่มีแหล่งน้ำ รวมถึงสถานที่ต่างๆ เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวเช่นกัน

พระนครศรีอยุธยา จัดงานประเพณี "ลอยกระทงกรุงเก่า" บริเวณอุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา มีการจัดแสดงแสง สี เสียง และประเพณีลอยกระทงตามประทีป ณ ศูนย์ศิลปาชีพบางไทร

อ่านข่าว : พิธีกรรมเดือน 12 "จองเปรียง" ต้นกำเนิดประเพณีลอยกระทง

ลอยกระทงภาคใต้

      การลอยกระทงของชาวใต้ แต่เดิมไม่ถือปฏิบัติประเพณีลอยกระทง เนื่องจากในระหว่างเดือน 12 เป็นช่วงเวลาที่เริ่มทำนา เพราะฤดูฝนมาช้ากว่าภูมิภาคอื่น

ขณะที่พระยาอนุมานราชธน ผู้เชี่ยวชาญด้านวัฒนธรรมและประเพณีไทย กล่าวถึงประเพณีลอยกระทงในภาคใต้ว่า ไม่ปรากฏประเพณีนี้ มีแต่เฉพาะประเพณีที่จัดขึ้นเพื่อลอยเคราะห์ยามเจ็บป่วย

ชาวบ้านจะทำพิธีลอยเคราะห์ด้วยการนำหยวกกล้วย หรือกาบมะพร้าว กาบหมาก กาบจาก หรือวัสดุอื่นใดที่ลอยน้ำได้ มาทำเป็นรูปเรือ แล้วนำเอาขี้ไคล ผม หรือเล็บของผู้ลอยเคราะห์มาผสมดินปั้นเป็นรูปต่างตัว พร้อมดอกไม้ ธูปเทียนและใส่เงินในเรือที่ทำไว้ ก่อนลอยจะกล่าวว่า "เคราะห์ดีเอาไว้ เคราะห์ร้ายเอาไป" เชื่อว่าเป็นการลอยสิ่งชั่วร้ายไปตามน้ำ ให้น้ำพัดพาสิ่งชั่วร้ายไป

สำหรับกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเลที่อาศัยในพื้นที่จังหวัดชายฝั่งทะเลอันดามัน มีประเพณีคล้ายกับประเพณีลอยเคราะห์ เรียกว่า "ประเพณีลอยเรือ" เพื่อขอให้เทพเจ้าช่วยคุ้มครอง พร้อมปล่อยเคราะห์กรรมสิ่งอัปมงคลออกไป โดยถือปฏิบัติปีละ 2 ครั้งในวันขึ้น 13 ค่ำ ถึงวันแรม 1 ค่ำ เดือน 6 และเดือน 11

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันมีการจัดเทศกาลลอยกระทงในพื้นที่ภาคใต้ตามความเหมาะสมของสถานที่ รวมถึงการจัดกิจกรรมต่างๆ

(ที่มา หนังสือลอยกระทง : กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม, หนังสือลอยกระทง เผาเทียน เล่นไฟ สุโขทัยเมืองมรดกโลก : กระทรวงวัฒนธรรม)

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

แจกพิกัด 13 จุดลอยกระทง ทั่วไทย เริ่ม 18 - 28 พ.ย.66

ททท. ชวนลอยกระทง ล่องเรือไฟฟ้าเช็กอินรอบคลองผดุงกรุงเกษม

เช็กข้อห้าม! ลอยกระทง จุดพลุ-บั้งไฟ-โคมลอย ฝ่าฝืนโทษหนัก

"วัยรุ่น-วัยเรียน" ตั้งท้องลดลง ลอยกระทงเสี่ยงต้องป้องกันตัวมากขึ้น

ข่าวที่เกี่ยวข้อง