เมื่อวันที่ 21 พ.ย.2566 สำนักข่าวต่างประเทศ เผยแพร่ภาพคนงานส่วนหนึ่งในจำนวนทั้งหมด 41 คนที่ติดอยู่ในอุโมงค์ที่ถล่มลงมาตั้งแต่วันที่ 12 พ.ย.ที่ผ่านมา ในรัฐอุตตราขัณฑ์ ทางตอนเหนือของอินเดีย โดยพบว่าคนงานทั้งหมดยังปลอดภัย ยิ้มและโบกมือ รวมถึงยืนยันชื่อสกุลตัวเองกับกล้องตามคำขอของเจ้าหน้าที่ด้านนอกอุโมงค์ได้
ภาพดังกล่าวเกิดขึ้นหลังจากทีมกู้ภัยใช้วิธีติดตั้งกล้องขนาดเล็กเข้ากับสายเคเบิล และสอดกล้องผ่านท่อใหม่ที่เจาะทะลุเศษซากดินและหินเข้าไปในอุโมงค์ ซึ่งอยู่ลึกเข้าไป 60 เมตรและเป็นจุดที่คนงานติดอยู่ จากเดิมที่ท่อซึ่งเจาะเข้าไปตั้งแต่วันแรกๆ เพื่อใช้ส่งเสบียง มีขนาดเล็กกว่านี้

คนงานส่วนหนึ่งในจำนวนทั้งหมด 41 คนที่ติดอยู่ในอุโมงค์ที่ถล่ม
คนงานส่วนหนึ่งในจำนวนทั้งหมด 41 คนที่ติดอยู่ในอุโมงค์ที่ถล่ม
การติดตั้งท่อใหม่ทำให้เจ้าหน้าที่ด้านนอกสามารถส่งอาหารร้อนเข้าไปให้คนงานได้เป็นครั้งแรก จากที่พวกเขาต้องกินแต่ของจำพวกขนมขบเคี้้ยว ผลไม้แห้ง ซึ่งก่อนหน้านี้เจ้าหน้าที่สามารถสอดท่อดังกล่าวเข้าไปเพื่อส่งออกซิเจนแก่คนงานด้วย
ขณะที่แผนการเจาะอุโมงค์สอดท่อในแนวนอนที่มีขนาดใหญ่พอให้คนงานคลานออกมา เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 90 ซม ยังประสบปัญหาเครื่องจักรขัดข้อง และแรงสั่นสะเทือนจากการเจาะอาจทำให้เกิดการถล่มซ้ำ โดยเจ้าหน้าที่เปิดเผยว่าเริ่มการเชื่อมท่อเส้นทางที่ 5

เจ้าหน้าที่กู้ภัยส่งอาหารผ่านท่อระหว่างปฏิบัติการช่วยเหลือคนงานก่อสร้างที่ติดอยู่ในอุโมงค์ที่ถล่ม
เจ้าหน้าที่กู้ภัยส่งอาหารผ่านท่อระหว่างปฏิบัติการช่วยเหลือคนงานก่อสร้างที่ติดอยู่ในอุโมงค์ที่ถล่ม
ก่อนหน้านี้ ทีมกู้ภัยเปิดเผยว่า เปลี่ยนแผนใช้วิธีเจาะอุโมงค์ในแนวดิ่ง เพื่อนำตัวคนงานออกมา โดยทางการรัฐอุตตราขัณฑ์อนุมัติงบประมาณสำหรับจัดซื้ออุปกรณ์และจัดจ้างคนงานเพื่อช่วยในภารกิจกู้ภัยครั้งนี้แล้ว ซึ่งตั้งแต่วันที่ 19 พ.ย. รัฐมนตรีที่ดูแลด้านทางหลวงและถนนของอินเดียระบุว่าปฏิบัติการน่าจะกินเวลาอีก 2-3 วัน
อุโมงค์นี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการทางหลวงจารธรรมที่เชื่อมระหว่างสถานที่จาริกแสวงบุญของศาสนาฮินดู 4 แห่ง ตัวอุโมงค์ยาว 4.5 กิโลเมตร และโครงการนี้เผชิญเสียงวิจารณ์เรื่องผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมไม่น้อย และยังมีคำเตือนจากผู้เชี่ยวชาญก่อนหน้านี้ด้วยว่า การขุดเจาะในพื้นที่นี้อาจกระทบลักษณะภูมิประเทศที่เปราะบางและเสี่ยงเกิดดินถล่มหรือน้ำท่วมฉับพลัน
อ่านข่าวอื่นๆ
ญี่ปุ่นเตือนภัย "เกาหลีเหนือ" ปล่อยดาวเทียมสอดแนมสู่วงโคจร