ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

สอบ. ชง ครม.ค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีชมพูไม่เกิน 20 บาท

สังคม
21 พ.ย. 66
10:28
3,823
Logo Thai PBS
สอบ. ชง ครม.ค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีชมพูไม่เกิน 20 บาท
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
สภาองค์กรของผู้บริโภคเสนอคณะรัฐมนตรีเคาะค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีชมพูไม่เกิน 20 บาท เท่ากับรถไฟฟ้าสายสีแดงและสายสีม่วงให้ทุกคนขึ้นได้ อย่าให้ซ้ำรอยสายสีเหลืองที่คิดแพงเกินจริง

วันนี้ (21 พ.ย.2566) กระทรวงคมนาคม เปิดให้บริการรถไฟฟ้าสายสีชมพูทดลองนั่งฟรี จากนั้นจะเปิดให้บริการเต็มรูปเก็บค่าโดยสาร ในวันที่ 18 ธ.ค.2566 คาดว่าภายในเดือน พ.ย.นี้ กระทรวงคมนาคมจะเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้เห็นชอบ เพื่อกำหนดอัตราค่าโดยสารเริ่มต้น 15 บาท สูงสุด 45 บาท 

นางสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสำนักงานสภาองค์กรของผู้บริโภค หรือ สภาผู้บริโภค เห็นว่าค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีชมพูในราคาเริ่มต้นที่ 15 - 45 บาทต่อเที่ยวนั้น เป็นราคาที่สูงเกินไปสำหรับผู้บริโภค ท่ามกลางปัญหาค่าครองชีพที่พุ่งสูงขึ้นในปัจจุบัน เช่นเดียวกับเมื่อครั้งเปิดเดินรถไฟฟ้าสายสีเหลืองที่มีเสียงสะท้อนของประชาชนจำนวนถึงราคาค่าโดยสารที่แพงเกินกว่าที่ผู้บริโภคจะแบกรับได้เช่นกัน

นอกจากนี้ จากผลการศึกษาของนักวิชาการ สภาผู้บริโภค ชี้ชัดเจนว่าค่าใช้จ่ายเดินรถ/คน/เที่ยวของผู้บริโภค ระหว่างปี พ.ศ.2557–2562 มีต้นทุนเฉลี่ย/คน/เที่ยวโดยสาร ระหว่าง 10.10–16.30 บาท ขึ้นกับจำนวนผู้โดยสารและค่าใช้จ่ายในแต่ละปี รวมถึงผลการศึกษาของกรุงเทพมหานครในปัจจุบันที่ยืนยันว่า ค่าบริการเดินรถประมาณ 11 – 13 บาท/คน/เที่ยว

ประชาชนใช้บริการรถไฟฟ้า

ประชาชนใช้บริการรถไฟฟ้า

ประชาชนใช้บริการรถไฟฟ้า

สอดคล้องกับข้อมูลโครงการศึกษากำหนดอัตราค่าโดยสารขั้นสูง ค่าแรกเข้า และ หลักเกณฑ์การขึ้นอัตราค่าโดยสารขนส่งมวลชนระบบราง ของกรมการขนส่งทางราง ที่ระบุว่า ค่าเฉลี่ยต้นทุนงานระบบรถไฟฟ้าต่อผู้โดยสาร (30 ปี) ถ้าเป็น Heavy rail จะอยู่ที่ 14.31 บาท หรือ LRT หรือ Monorail จะอยู่ที่ 11.67 บาท เท่านั้น

จากข้อมูลดังกล่าว สภาผู้บริโภคเห็นว่า การกำหนดค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีชมพูสูงสุดตลอดสายไม่เกิน 20 บาท เหมือนรถไฟฟ้าสายสีแดงและสายสีม่วงนั้น เพียงพอกับค่าบริหารจัดการเดินรถของเอกชน โดยที่รัฐบาลไม่ต้องสมทบและไม่ขาดทุน เพราะสายสีชมพูมีเส้นทางวิ่งผ่านจุดเศรษฐกิจสำคัญ เช่น โรงเรียน โรงพยาบาล แหล่งชุมชนต่างๆ ขณะที่กระทรวงคมนาคมคาดการณ์ว่า เมื่อเปิดทดลองให้นั่งฟรีจะมีผู้มาใช้บริการรถไฟฟ้าสายสีชมพูมากกว่า 100,000 คน/วัน และเมื่อเก็บค่าโดยสารแล้ว คาดว่าผู้โดยสารจะอยู่ที่ 50,000-60,000 คน/วัน ทั้งนี้ เพื่อให้รถไฟฟ้าสีชมพูเป็นบริการขนส่งมวลชนที่ทุกคนขึ้นได้ทุกวันจริง

สภาผู้บริโภคจึงเสนอให้ ครม. พิจารณากำหนดค่าโดยสารสายสีชมพูในราคาสูงสุดไม่เกิน 20 บาท
เช่นเดียวกับค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีแดงและรถไฟฟ้าสายสีม่วง

อย่างไรก็ดี ข้อมูลกระทรวงคมนาคมพบว่าตลอดเวลา 1 เดือนของการทำนโยบายรถไฟฟ้า 20 บาท พบว่า

  • ค่าเฉลี่ยปริมาณผู้โดยสารรถไฟชานเมืองสายสีแดงช่วงวันทำงาน เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.47
  • ช่วงวันหยุดมีผู้โดยสารใช้บริการเพิ่มขึ้นร้อยละ 23.84
  • ผู้โดยสารสูงสุดในวันที่ 27 ต.ค.2566 ที่เพิ่มขึ้นถึง 34,018 คน
  • ค่าเฉลี่ยปริมาณผู้โดยสารรถไฟฟ้าสายสีม่วงช่วงวันทำงาน เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.72
  • ช่วงวันหยุดมีผู้โดยสารใช้บริการเพิ่มขึ้นร้อยละ 13.88
  • ผู้โดยสารสูงสุดในวันที่ 7 พ.ย.2566 ผู้โดยสารได้เพิ่มขึ้นสูงสุด 76,926 คน

ขณะที่ นโยบายรถไฟฟ้า 20 บาท มีผลตอบแทนด้านเศรษฐศาสตร์ทำให้เกิดการประหยัดค่าใช้จ่ายในการใช้รถยนต์ และมีผู้โดยสารมาใช้บริการรถไฟฟ้ามากขึ้น จะลดค่าเดินทางด้วยรถยนต์ ประเมินมูลค่าการเงินทางด้านเศรษฐศาสตร์ และเวลาในการเดินทาง ค่าความสุข และการลดความสูญเสียทางถนน และลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ รวมทั้งสิ้น 79.35 ล้านบาท/เดือน หรือคิดเป็น 952.23 ล้านบาท/ปี ถือเป็นผลตอบแทนทางเศรษฐกิจและสังคมที่คุ้มค่ามาก

ภายในรถไฟฟ้า

ภายในรถไฟฟ้า

ภายในรถไฟฟ้า

นอกจากนี้ เครือข่ายองค์กรผู้บริโภคและภาคประชาสังคมได้รณรงค์ให้ "ขนส่งมวลชนทุกคนขึ้นได้ทุกวัน" โดยให้รัฐตั้งเป้าหมายสนับสนุนให้ประชาชนเดินออกจากบ้าน 500 เมตร เจอบริการขนส่งสาธารณะเพื่อลดปัญหาอุบัติเหตุทางถนนในเทศกาลต่างๆ การจราจรที่ติดขัด และปัญหาสุขภาพจากฝุ่น PM 2.5 ปัญหาโลกร้อนที่ยังไม่สามารถจัดการได้ และคนใช้รถยนต์อาจจะต้องจ่ายเงินเพื่อรับผิดชอบต่อการปล่อยมลพิษเพิ่มขึ้น

อ่านข่าวอื่น : ชาวฮินดู "บูชาดวงอาทิตย์" ท่ามกลางฟองพิษคลุมแม่น้ำยมุนา

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง