ด้วยเงื่อนไขว่า จะแจกเงินดิจิทัลวอลเลต 10,000 บาท ผ่านแอปเป๋าตัง เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยผู้ที่ได้รับ จะต้องมีอายุ 16 ปีขึ้นไป มีรายได้ไม่เกินเดือนละ 70,000 บาท และบัญชีเงินฝากทุกบัญชีรวมกันไม่เกิน 5 แสนบาท
ถ้ารายได้เกิน 7 หมื่นบาท แต่มีเงินฝาก น้อยกว่า 5 แสนบาท ก็จะไม่ได้รับสิทธิ หรือ ถ้ารายได้น้อยกว่า 7 หมื่นบาท แต่มีเงินฝากมากกว่า 5 แสนบาท ก็จะไม่ได้รับสิทธิเช่นกัน
โดยข้อมูลรายได้ เป็นการดูจากฐานข้อมูลภาษี ของกระทรวงการคลัง แต่สำหรับผู้ที่ประกอบอาชีพอิสระต่าง ๆ ที่ไม่มีข้อมูลตรวจสอบได้ ก็จะดูจากบัญชีเงินฝากไม่เกิน 5 แสนบาท เป็นหลัก
สำหรับวันที่จะใช้ขีดเส้นบัญชีเงินฝากไม่เกิน 5 แสนบาท คือวันที่เปิดลงทะเบียนรับสิทธิเข้าร่วมโครงการ ซึ่งยังบอกไม่ได้ว่าเมื่อไหร่ เพราะยังต้องผ่านกระบวนการอีกมาก โดยเฉพาะเรื่องแหล่งเงินที่จะต้องออกพระราชบัญญัติเงินกู้ 5 แสนล้านบาท
โดยเงื่อนไขเงินฝากไม่เกิน 5 แสนบาทนั้น จะดูเฉพาะบัญชีเงินฝากเท่านั้น ไม่รวมถึงพันธบัตรรัฐบาล สลากออมสิน หรือหุ้นกู้ต่าง ๆ
เงื่อนไขนี้แม้จะดูไม่มากมาย ซับซ้อน แต่กลายเป็นเสียงวิพากษ์วิจารณ์ถึงการออก พ.ร.บ.เงินกู้ 5 แสนล้านบาท หรือ การกู้เงินมาเพื่อแจก สำหรับโครงการนี้ ที่ “พรรคเพื่อไทย” ใช้หาเสียงเมื่อครั้งเลือกตั้งที่ผ่านมา ว่า “เหมาะสมแล้วหรือไม่”
ผ่านมา 9 วัน (19 พ.ย.2566) นิด้าโพล เปิดเผยผลสำรวจความเห็นถึงโครงการนี้ ในหัวข้อ “OK ไหม กับ นายกฯ สรุปเอง เงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท”
ข้อสุดท้ายของคำถามต่าง ๆ ถามถึง “ความคิดเห็นต่อนโยบายเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท ภายหลังการแถลงของนายกฯ เศรษฐา ทวีสิน” พบว่า กลุ่มตัวอย่าง ร้อยละ 29.92 ระบุว่า ไม่เห็นด้วยเลย รองลงมา ร้อยละ 25.97 ระบุว่า เห็นด้วยมาก
ร้อยละ 25.11 ระบุว่า ค่อนข้างเห็นด้วย ร้อยละ 18.24 ระบุว่า ไม่ค่อยเห็นด้วย และร้อยละ 0.76 ระบุว่า ไม่ทราบ/ไม่ตอบ/ไม่สนใจ
ซึ่งนอกจากข้อกังวลใจของประชาชนถึงความเหมาะสมแล้ว ยังมองว่า เป็นการสร้างหนี้ให้กับประเทศอีกมากมาย ทั้งที่ประเทศก็มีหนี้มากพออยู่แล้ว
ขณะที่ วันนี้ (20 พ.ย.2566) ภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พาณิชย์ ให้สัมภาษณ์ถึงความคืบหน้าของโครงการนี้ว่า ตอนนี้ส่งให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตีความ ตรวจสอบ ร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติม พระราชกำหนดการกู้ยืมเงิน 5.6 แสนล้านบาท (พ.ร.บ.กู้เงิน) แล้ว ซึ่งไม่ได้จะคัดค้านว่าไม่เห็นด้วย เพียงแค่อยากให้การพิจารณาเป็นไปอย่างรอบคอบ ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลาไม่นาน และยืนยันว่าไม่มีใครดึงเรื่องให้ล่าช้า
วัตถุประสงค์ของเราไม่ใช่อยู่ ๆ ไปแจกเงิน แต่ต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจ เพราะทุกคนรู้ว่ากำลังซื้อกำลังขาดแคลน ส่วนประเทศวิกฤตหรือไม่วิกฤต เป็นทัศนะส่วนบุคคล ขึ้นอยู่กับสถานะและจุดยืนของตัวเอง หรือสถานะทางวิชาชีพ สถานะทางการเงินอยู่ตรงไหน ถ้ายังมีเงินก็คงบอกไม่วิกฤต แต่ถ้าคนขายของไม่ได้ คนไม่มีกำลังซื้อ ไปถามพ่อค้าแม่ค้าตอนนี้ก็บอกว่าแย่
รองนายกฯ และ รมว.พาณิชย์ กล่าวว่า หากวันนี้ไม่เพิ่มกำลังซื้อ กลไกทางเศรษฐกิจก็จะไม่มีผล ประเทศไทยเศรษฐกิจซบเซามาตลอด ตัวเลขทางวิชาการก็เป็นส่วนหนึ่ง แต่ชีวิตจริงก็เป็นอีกส่วน หากอยากรู้ว่าเศรษฐกิจวิกฤตหรือไม่ ให้ลองไปเดินตลาด ไปถามคนทำการค้า บริษัท กิจการต่าง ๆ ดู เชื่อว่าทุกคนต้องการการเปลี่ยนแปลงทั้งนั้น
ตรงนี้อย่ามาเถียงกัน เอาความเป็นจริง และสิ่งที่เกิดให้เป็นประโยชน์ ผมไม่อยากให้พูดว่าเป็นเรื่องแจกเงิน กู้เงิน จริง ๆ กู้หรือไม่กู้ไม่ใช่สาระสำคัญ การกู้เพื่อเอามาชดเชยเพื่อให้เกิดการหมุนเวียนสามารถทำได้ จริง ๆ แล้วปีก่อนๆ ก็เห็นกู้มหาศาล ไม่เห็นใครมีปัญหาเลย แต่พอเราจะกู้เรื่องนี้ให้ประชาชน เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ กลับมีปัญหาอย่างนี้
ส่วนข้อถกเถียงหรือวิพากษ์วิจารณ์จากประชาชน ที่มีบางส่วนไม่เห็นด้วย ภูมิธรรมกล่าวว่า เรายินดีรับฟังจากทุกความเห็นอยู่แล้ว แค่เพียงไม่อยากเปิดความเห็นในที่สาธารณะ เพราะอาจหาข้อยุติไม่ได้ รวมถึงไม่สามารถแก้ปัญหาได้
อย่างไรก็ตาม อาจมีการรายงานความคืบหน้าในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ในวันพรุ่งนี้ (21 พ.ย.2566) อีกครั้ง ซึ่งจะพยายามทำข้อสรุปให้ชัดเจนเพื่อพิจารณาต่อไป
ถึงอย่างไร หากมองถึงกระบวนการ ที่ร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติม พระราชกำหนดการกู้ยืมเงิน 5.6 แสนล้านบาท (พ.ร.บ.กู้เงิน) จะมีผลบังคับใช้ นั่นหมายความว่า จะต้องผ่านกระบวนการต่างๆ อีกหลายขั้นตอน
อย่างน้อยที่พอจะมองเห็นขณะนี้มี 4 ขั้นตอนคือ
1.คณะกรรมการกฤษฎีกา
ซึ่ง นายปกรณ์ นิลประพันธ์ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา เปิดเผยว่า นายกรัฐมนตรี ได้สั่งการให้พิจารณาดูข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการออก พ.ร.บ.เงินกู้ฉบับนี้ให้รอบคอบที่สุด
โดยกรอบการพิจารณาเกี่ยวข้องกับกฎหมายหลายฉบับว่า การออก พ.ร.บ.กู้เงินนี้จะขัดต่อกฎหมายอื่น ๆ หรือไม่ เช่น รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560, พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ.2561, พ.ร.บ.เงินตรา พ.ศ.2501, กฎหมายว่าด้วยการบริหารหนี้สาธารณะ พ.ศ.2548 เป็นต้น
หลังจากกฤษฎีกาให้ความเห็นแล้ว จะนำความเห็นเข้าสู่ที่ประชุม คณะกรรมการนโยบายโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลเวลเล็ต ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานอีกครั้ง เพื่อให้คณะกรรมการมีมติเห็นชอบร่วมกันก่อนที่จะไปสู่ขั้นตอนต่อไป
2.คณะรัฐมนตรี
เมื่อคณะกรรมการกฤษฎีกาให้ความเห็นว่า กฎหมายกู้เงินฉบับนี้ไม่ขัดต่อกฎหมาย การนำกฎหมายเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เพื่อขอความเห็นชอบ คาดว่าจะผ่านความเห็นชอบโดยเร็ว
แต่หากคณะกรรมการกฤษฎีกา ให้ความเห็นว่า ขัดต่อกฎหมายฉบับใดฉบับหนึ่ง แต่รัฐบาลยังยืนยันจะเดินหน้าออกกฎหมายฉบับนี้ โดยนำเอาเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ก็อาจเกิดความขัดแย้งกับพรรคร่วมรัฐบาลที่ไม่เห็นด้วยได้
3.รัฐสภา
เมื่อ ร่าง พ.ร.บ.กู้เงินผ่าน 2 ขั้นตอนมาแล้ว จะเข้าสู่ขั้นตอนสำคัญคือ การพิจารณาของที่ประชุมรัฐสภา ซึ่งมีทั้ง สภาผู้แทนราษฎร (สส.) และวุฒิสภา (สว.) ซึ่งต้องผ่านการพิจารณาทั้ง 3 วาระ คือ วาระแรก รับหลักการ วาระที่สอง ตั้งคณะกรรมาธิการ ก่อนจะพิจารณาเห็นชอบในวาระสาม ซึ่งนั่นหมายความว่า พรรคร่วมรัฐบาลทุกพรรคจะต้องเห็นชอบร่วมกันเกือบทั้งหมด
ส่วนอีกขั้นตอนที่มองข้ามไปไม่ได้ นั่นคือ 4.ศาลรัฐธรรมนูญ เนื่องจากในการออก ร่าง พ.ร.บ.ต่าง ๆ เปิดช่องให้องค์กรอิสระ สามารถดำเนินการยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญ ตีความได้ว่า การออกกฎหมายดังกล่าวขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่
หากมอง 4 ขั้นตอน อาจเป็นเรื่องง่าย ถ้า นายกฯ เศรษฐา มั่นใจกับ 320 เสียงในสภาฯ แต่ทว่า อาจต้องคิดไปถึงเสียงที่ “ไม่เห็นด้วย” ของ “พรรคร่วมรัฐบาล” จากพรรคอื่น ๆ ด้วย
เพราะโครงการนี้มีคำถามอีกหลายข้อที่ยังตอบได้ไม่เต็มปาก ทั้งคำถามว่า ทำมาเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจจริงหรือ, จะใช้หนี้กันอย่างไร, ใครจะได้ประโยชน์จริง ๆ ประชาชนหรือเจ้าของธุรกิจรายใหญ่
อ่านข่าวอื่นๆ
สั่งฟ้อง 10 ผู้ต้องหา-นายหน้า คดีอุ้มบุญ ข้อหาอาชญากรรมข้ามชาติฯ