ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ถอดบทเรียนพื้นที่นำร่องแก้ปัญหาเด็กนักเรียนรหัส G

ภูมิภาค
17 พ.ย. 66
17:00
959
Logo Thai PBS
ถอดบทเรียนพื้นที่นำร่องแก้ปัญหาเด็กนักเรียนรหัส G
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
ประเทศไทยมีเด็กที่ประสบปัญหาสถานะทางทะเบียนเพิ่มขึ้นทุกปี กลุ่มที่มีตัวตนชัดเจน คือ กลุ่มเด็กนักเรียนรหัส G ในโรงเรียนต่างๆ ซึ่งเป็นกลุ่มผู้ไม่มีสถานะทางทะเบียนได้รับการกำหนดเลขประจำตัวเพื่อใช้ในระบบการศึกษา แต่ไม่เกี่ยวกับเลข 13 หลักของกระทรวงมหาดไทย

ตัวเลขของกลุ่มเด็กนักเรียนรหัส G เพิ่มขึ้นจาก 6.8 หมื่นคนในปี 2564 เป็น 7.2 หมื่นคนในปี 2565 และ ล่าสุดปีนี้ มีจำนวน 8.2 หมื่นคน สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน หรือ สพฐ. จึงตั้งคณะทำงานโครงการขับเคลื่อนการแก้ปัญหาสถานะของเด็กรหัส G นำร่องใน 3 จังหวัด คือ จังหวัดตาก เชียงใหม่ และ เชียงราย เพื่อขจัดปัญหาสถานะบุคคล โดยเด็กจำนวนหนึ่งจะได้รับบัตร 13 หลัก หรือ บัตรประจำตัวบุคคลผู้ไม่มีสถานะทางทะเบียน ทำให้สามารถเข้าถึงสิทธิรักษาพยาบาลผ่านกองทุนคืนสิทธิได้

แต่ที่ผ่านมายังพบการแก้ปัญหาของนักเรียนรหัส G มีความล่าช้า เนื่องจากการจัดทำทะเบียนประวัติ และ กำหนดเลขให้เด็กนักเรียนรหัส G มีแนวทางปฏิบัติไม่เหมือนกัน และเจ้าหน้าที่รัฐผู้ปฏิบัติขาดความเข้าใจ

ไทยพีบีเอสศูนย์ข่าวภาคเหนือ ร่วมกับ องค์การแพลน อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย จัดเวทีเสวนา "ทางออกปัญหาเด็กนักเรียนรหัสG" ที่ โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 30 ตำบลแม่อาย อำเภอแม่อาย จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อถอดบทเรียนการทำงานระหว่างองค์กรพัฒนาเอกชน และ หน่วยงานภาครัฐ ในการแก้ปัญหาเด็กนักเรียนรหัส G

นางนิศารัตน์ เหลาพนัสสัก รอง ผอ.ร.ร.ราชประชานุเคราะห์ 30 ระบุว่า โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 30 จังหวัดเชียงใหม่ สังกัดสำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ มีหน้าที่ให้การศึกษาแก่เด็กด้อยโอกาส ให้เด็กได้เรียน กินอิ่ม นอนอุ่น มีความสุขในขณะอยู่ในโรงเรียน และให้การศึกษาอย่างเท่าเทียมไม่ว่าเด็กจะมีสัญชาติไทย หรือ ไม่มีสัญชาติ

ปีนี้ โรงเรียนมีนักเรียนกลุ่มG จำนวน 182 คน ล่าสุดเมื่อวันที่ 7 กันยายน 2566 ได้ร่วมกับสำนักทะเบียนอำเภอแม่อาย และองค์การแพลนอินเตอร์เนชั้นแนลประเทศไทย ช่วยเหลือเด็กให้ได้รับเลข 13 หลัก จำนวน 54 คน ยังเหลือ 128 คน ที่รอการช่วยเหลือ

ทางโรงเรียนให้ความสำคัญแก่เด็กกลุ่มนี้เพราะอยู่ในกลุ่มเด็กด้อยโอกาส 10 ประเภท คือ เด็กชนกลุ่มน้อย บุตรหลานของบุคคลที่มีวัฒนธรรมแตกต่างจากประชาชนส่วนใหญ่ในประเทศ มีปัญหาเกี่ยวกับการถือสัญชาติไทย เป็นเหตุให้ไม่มีโอกาสให้ได้รับการศึกษา หรือ บริการอื่นๆ จึงถือเป็นหน้าที่ของโรงเรียนในการสนองนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการที่จะยกระดับคุณภาพชีวิตของเด็กๆ โดยในการเยี่ยมบ้าน และ ตรวจสอบข้อมูลเบื้องต้นพบว่าไม่มีสถานะ ไม่มีสัญชาติอื่นๆ ครูที่ดูแลงานทะเบียนก็ช่วยเหลือเด็กเต็มที่

ปัญหาอุปสรรค คือ เด็กอยู่ในพื้นที่หลากหลาย บางพื้นที่ห่างไกลทุรกันดาร โรงเรียนต้องจัดรถรับ-ส่ง เวลาเด็กกลับบ้าน เป็นเรื่องยากในการรวบรวมเอกสารของผู้ปกครอง การสื่อสารผู้ปกครองที่ยังไม่เข้าใจ โดยทางโรงเรียนให้ความสำคัญกับเด็กที่กำลังจะจบ เพราะการมีบัตรจะทำให้เด็กได้รับโอกาสเพิ่มมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการเข้าศึกษาต่อ หรือ โอกาสการเข้าแข่งขันวิชาการ นอกจากนี้ สิทธิการรักษาพยาบาล ก็เป็นปัญหาของเด็กที่ไม่มีสถานะ เวลาเด็กอยู่ที่บ้าน หากเจ็บป่วยเข้าโรงพยาบาลก็จะมีค่าใช้จ่าย แต่เมื่อเด็กอยู่ที่โรงเรียน โรงเรียนจะทำหนังสือขอความอนุเคราะห์การรักษาพยาบาลกับทางโรงพยาบาล

นายสุมิตร วอพะพอ ผจก.โครงการพัฒนาสถานะบุคคล องค์การแพลนอินเตอร์เนชั้นแนลประเทศไทย เปิดเผยว่าองค์การแพลนฯ มียุทธศาสตร์ ขจัดความไร้รัฐในสถานศึกษา หรือ เด็กกลุ่มรหัสG ที่เพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละประมาณ 1.5 - 3 หมื่นคน ตราบใดที่เด็กกลุ่มนี้ไม่ได้รับการจัดทำทะเบียนประวัติ หรือ กฎหมายรับรองสถานะบุคคล จำนวนก็จะเพิ่มขึ้นทุกปี

ภาพรวมทั้งประเทศ มีความพยายามของกระทรวงมหาดไทย และ กระทรวงศึกษาธิการ ที่จับมือกันแก้ปัญหาด้วยการออกระเบียบ และหนังสือสั่งการ เพื่อเป็นแนวทางการจัดการ โดยในภาพรวมทั้งหมดมีความสำเร็จอยู่ที่ประมาณ 34.62 % หรือ ประมาณ 3 หมื่นกว่าคนที่ได้รับเลข13หลักแล้ว

ส่วนที่ยังเป็นเรื่องท้าทาย ก็คือเด็กจำนวนอีก 7 หมื่นคนที่ยังรอคอยการแก้ปัญหา โดยในภาพรวมประเทศไทย 77 จังหวัด มีเด็กรหัส G อยู่ทุกจังหวัด จังหวัดที่มีมากที่สุด คือ เชียงใหม่ เชียงราย และ ตาก

โมเดลในส่วนของจังหวัดเชียงใหม่ ความพยายามของกระทรวงศึกษา และ สำนักทะเบียนอำเภอ ได้ผลที่น่าพอใจในระดับหนึ่ง จากจำนวนเด็กที่ได้รับการแก้ไข 3 หมื่นคนทั่วประเทศ อยู่ในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ประมาณหมื่นกว่าคน

ถามว่าจังหวัดเชียงใหม่สามารถแก้ไขเรื่องนี้ได้อย่างไร ก็เกิดจากความร่วมมือเริ่มตั้งแต่ระดับจังหวัด โดยผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ได้แต่งตั้งคณะทำงานจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็นกระทรวงศึกษาธิการ สำนักทะเบียนอำเภอ และ องค์กรพัฒนาเอกชน ร่วมทำงานเป็นกลไกระดับจังหวัด และ มีนโยบายชัดเจนว่าทุกอำเภอต้องรายงานความสำเร็จในการแก้ปัญหาเป็นรายสัปดาห์ และรายเดือน

ส่วนในระดับพื้นที่ เช่น พื้นที่ 5 อำเภอชายแดนจังหวัดเชียงใหม่ คือ ฝาง แม่อาย ไชยปราการ เชียงดาว และ เวียงแหง นายอำเภอผู้นำนโยบายมาปฏิบัติได้ตั้งคณะทำงานระดับอำเภอ เพื่อบูรณาการทำงานร่วมกันระหว่างสำนักทะเบียนอำเภอ เขตพื้นที่การศึกษา และ ผู้อำนวยการสถานศึกษาทุกสังกัดให้สามารถแก้ปัญหาให้กับเด็ก

พระครูปลัดปิยะ ถาวโร เลขาเจ้าคณะตำบลท่าตอน เจ้าอาวาสวัดหมอกจ๋าม อำเภอแม่อาย ระบุว่าปัจจุบันวัดหมอกจ๋ามมีสามเณร 50 รูป ในจำนวนนี้ 32 รูปไม่มีบัตรประชาชน ครั้งหนึ่งมีสามเณรรูปเล็กๆ รูปหนึ่งตั้งคำถามกับพระอาจารย์ว่า ความเท่าเทียมคืออะไร? เพราะมีสิ่งหนึ่งที่สามเณรไม่มีเหมือนคนอื่นๆ คือ บัตรประจำตัวบุคคล ทั้งที่เกิดเมืองไทย มีแขน มีตา อ่านออกเขียนได้ ทำได้เหมือนเพื่อนทุกอย่าง แต่ถ้ามีการจัดทัศนศึกษามีเพียงเพื่อนที่มีบัตรเท่านั้นที่ได้ไป และ เวลาเจ็บป่วย คนที่ไม่มีบัตรก็ต้องออกค่าใช้จ่ายเอง

สำหรับบัตรนักเรียนรหัสG คนทั่วไปอาจเข้าใจว่าเป็นกลุ่มจีเนียส หรือ คนที่มีความรู้ความสามารถ แต่น่าเสียใจ สำหรับสามเณรกลุ่มนี้ ที่จริงแล้ว พวกเขาเป็นผู้ที่เลือกเกิดไม่ได้ เพราะเกิดในพื้นที่ชายขอบ เกิดจากพ่อแม่ที่ไม่มีบัตร ไร้รัฐ ไร้สัญชาติ แต่ในมุมมองของพระ เขาเหล่านี้ เป็นคนที่มีความสามารถในการสืบต่อพระพุทธศาสนาได้

กระบวนการในการให้บัตร เรามีการสำรวจสามเณรในแต่ละวัด และ โรงเรียนพระปริยัติธรรม เพื่อนำส่งเจ้าคณะอำเภอ เสนอชื่อขอออกบัตร 13 หลัก ในส่วนของโรงเรียนพระปริยัติธรรม ส่วนใหญ่มาจากพื้นที่สูง มีจำนวน 112 รูป ไม่มีบัตร 80 รูป เมื่อสำรวจแล้วก็ดำเนินการทำบัตร 

องค์กรแพลนฯ รับปากจะทำให้ดีที่สุด ทำให้หัวใจของเจ้าอาวาส และ ครู ชุ่มชื่น เพราะ 2 -3 ทุ่ม เจ้าหน้าที่ ก็ยังเก็บข้อมูลสามเณร ภายหลังสามเณรวัดหมอกจ๋าม 32 รูป ที่ไม่มีบัตรเลย ก็ได้รับบัตรทุกรูป สามเณร และ ครอบครัว ต่างน้ำตาไหลด้วยความปลื้มใจ

สำหรับปัญหาหลักๆ ในการทำงาน สามเณรมาจากพื้นที่สูง บางทีพ่อแม่ไม่อยู่ หรือ อยู่ต่างจังหวัด ไม่มีเอกสารหลักฐาน แต่ก็มีเจ้าอาวาส และ พระอุปัชฌาย์ เซ็นรับรอง ออกใบรับรองการบรรพชาอุปสมบทให้ และ ผู้ใหญ่บ้านลงนามรับรอง

ดร.พงศ์ธันย์ ณ เชียงใหม่ ผอ.โรงเรียนบ้านแม่สาว นายกสมาคมครูและบุคลากรทางการศึกษา อำเภอแม่อาย และ เป็นผู้แทนสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาเชียงใหม่ เขต 3 หรือ สฟป.เชียงใหม่ เขต 3 บอกว่าทั้ง 5 อำเภอชายแดนทางตอนเหนือของเชียงใหม่มีจำนวน นักเรียน 43,533 คน เป็นนักเรียนรหัส G จำนวน 6,308 คน

ในการขับเคลื่อนโรงเรียนแต่ละแห่งมีบริบทต่างกัน เรื่องที่หนักใจ คือ การสืบพยาน ทั้งพยานเอกสาร และ พยานบุคคล แต่เพราะมีพี่เลี้ยงที่ดี คือ องค์การแพลนฯ และ ได้ดำเนินการมาแล้ว 3-4 รุ่น ทำให้ปัญหาเบาบางลง

ปัญหาที่สำคัญ คือ การปกปิดข้อมูลของผู้ปกครอง บางส่วนบอกว่าลูกอยู่โรงเรียนนี้ได้บัตร อยู่โรงเรียนนี้ไม่ได้บัตร เกิดการโยกย้ายนักเรียน ซึ่งแท้จริงแล้วแนวทางการปฏิบัติของโรงเรียนทุกแห่งมาจากส่วนกลาง ไม่ว่าจะย้ายไปโรงเรียนไหน หากไม่มีสิทธิ เอกสารไม่ครบ ไม่เข้าเกณฑ์ ก็ไม่สามารถดำเนินการได้

ช่วงที่ผ่านมา มีการโยกย้ายครูบ่อย หากเป็นครูที่รับผิดชอบฝ่ายทะเบียนก็จะส่งผลต่อความต่อเนื่อง ภายหลังทางสมาคมได้ให้ความสำคัญ และ ให้แต่ละโรงเรียนจัดทำคู่มือ ฉะนั้นเมื่อมีครูย้าย ครูคนใหม่ก็จะสามารถสานงานต่อได้ 

เราให้ความสำคัญกับเด็กที่ใกล้จบ เพื่อไม่ให้เป็นภาระกับโรงเรียนที่รับต่อ เช่น โรงเรียนบ้านแม่สาวเปิดถึงชั้น ป6 ฉะนั้นเด็กชั้น ป6 ทุกคนที่มีรหัสG เราก็จะพยายามแก้ไขปัญหาให้ก่อน โดยให้ครูในโรงเรียนทุกแห่งสำรวจข้อมูลของเด็กทุกคนไว้ล่วงหน้า เมื่อสำนักทะเบียนส่งชื่อมาให้ก็จะสามารถดำเนินการส่งข้อมูลให้ฝ่ายทะเบียนได้ทันที

นายไมตรี ดวงใจ ปลัดอำเภอ หัวหน้ากลุ่มงานทะเบียนและบัตร อำเภอแม่อาย ระบุว่าการแก้ไขปัญหาสถานะเด็กรหัสG ถือเป็นนโยบายของกรมการปกครอง โดยนายอำเภอแม่อายได้ตั้งคณะทำงานร่วมภาครัฐ และ ภาคเอกชน ประกอบด้วย 3 ฝ่าย

ฝ่ายแรก คือ ฝ่ายอำนวยการ มีนายอำเภอเป็นหัวหน้าคณะทำงาน และ หน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง, ฝ่ายที่ 2 คือ ฝ่ายปฏิบัติงาน มีเจ้าหน้าที่องค์กรภาคประชาสังคม ช่วยทำงานเชิงรุกลงพื้นที่ประสานงานโรงเรียน รวบรวมเอกสาร สอบปากคำ นำส่งข้อมูลแก่สำนักทะเบียนอำเภอ, ฝ่ายที่ 3 คือ ฝ่ายพิจารณาคุณสมบัติข้อมูลที่ได้รับจากฝ่ายปฏิบัติงาน มีการประชุมนำเอกสารเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการกลั่นกรองตรวจสอบว่านักเรียนแต่ละคนมีคุณสมบัติที่จะได้จัดทำทะเบียนประวัติบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียนหรือไม่ หากครบ ก็จะจัดทำทะเบียน และ ถ่ายบัตรประจำตัวประชาชน 13 หลัก เรียกว่าเด็กหัวศูนย์ กลุ่มศูนย์ศูนย์

สำหรับปัญหาอุปสรรค ในช่วง 2 ปีก่อน เกิดสถานการณ์โควิด19 ทำให้การรวมกลุ่ม และ การเข้าทำงานในสถานศึกษาเป็นไปด้วยความยากลำบาก นอกจากนี้ยังมีปัญหาบุคลากรสำนักทะเบียนอำเภอโยกย้ายบ่อย ขาดความต่อเนื่อง แต่ก็ได้รับการแก้ไขปัญหา มูลนิธิภาคเอกชนหลายๆ ภาคส่วน ส่งเจ้าหน้าที่มาช่วยทำงาน โดยยอดเด็กรหัสG ทั้งอำเภอ 2,500 คน ล่าสุดเหลือเพียง 1,100 คน ซึ่งจะเร่งดำเนินการให้แล้วเสร็จต่อไป

นายแพทย์เฉลิม โพธานารักษ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลแม่อาย เปิดเผยว่า โรงพยาบาลแม่อายเป็นโรงพยาบาลขนาดกลาง มีเตียงผู้ป่วย 60 เตียง แต่ให้บริการคนหลักแสนคน

ที่ผ่านมาการทำงานไม่ได้คำนึงถึงผลกำไร โดยโรงเรียนต่างๆ จะขอความอนุเคราะห์การรักษาพยาบาลเด็กนักเรียนที่ไม่มีบัตร13หลัก ทั้งนี้ปกติ อำเภอแม่อายมีประชากรที่ได้รับเงินจากกองทุนประกันสุขภาพบุคคลที่มีปัญหาสถานะและสิทธิ จำนวน 1 หมื่น 6 พันคน เป็นเงินสนับสนุนประมาณ 15 ล้านบาท ซึ่งนำไปใช้ในการจัดซื้อยา และ เวชภัณฑ์ แต่ในปีนี้กลับได้รับแค่ 4 ล้านบาท 

ทุกวันนี้ กองทุนที่ใหญ่สุด คือ กองทุนบัตรทอง ซึ่งอำเภอแม่อายมีผู้ได้รับสิทธิประมาณ 5.4 หมื่นคน เวลาส่งต่อผู้ป่วยที่เกินศักยภาพของโรงพยาบาลแม่อาย ไปยังโรงพยาบาลขนาดใหญ่ในตัวจังหวัด บางกรณีไม่สามารถทำได้เพราะเตียงเต็ม ก็สามารถส่งต่อโรงพยาบาลเอกชนได้

สำหรับข้อเสนอ ตามบทบาทของผู้ร่วมเสวนา ในส่วนของ นางนิศารัตน์ เหลาพนัสสัก รอง ผอ.โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 30 ก็ระบุว่าในนามตัวแทนของผู้บริหารและคณะครู โดยการนำของท่านผู้อำนวยการโรงเรียน ว่าที่ร้อยตรีสมชาย ร่องพืช ก็แสดงความเป็นห่วงนักเรียนที่เหลืออีกจำนวน 128 คนที่ยังไม่ได้บัตร 13 หลัก โดยฝากความหวังไปยังฝ่ายทะเบียนอำเภอแม่อาย และ องค์การแพลนอินเตอร์เนชั้นแนลประเทศไทย ในการให้การช่วยเหลือ และ ดูแลเด็กกลุ่มนี้ให้ได้สถานะทางทะเบียน

ด้าน ดร.พงศ์ธันย์ ณ เชียงใหม่ ผอ.โรงเรียนบ้านแม่สาว กล่าวว่าในฐานะครู ก็อยากจะให้เด็กทุกคนที่มีสิทธิพึงมีพึงได้ ควรได้รับบัตรทุกคน โดยโรงเรียนทั้ง 36 แห่งในพื้นที่ มีแนวทางร่วมกันว่า เด็กที่จบการศึกษาชั้นสูงสุดในโรงเรียน จะได้รับการสำรวจจัดทำเอกสารให้ เพื่อที่โรงเรียนแห่งใหม่ที่รับเด็กเข้าไปเรียน จะได้สานต่อได้ โดยไม่ต้องเริ่มใหม่

อีกประการหนึ่ง คือเบื้องบนทั้งกระทรวงศึกษาธิการ และ กระทรวงมหาดไทย ที่มีการทำ MOU ร่วมกันไปแล้ว แต่การจะลงไปสู่การปฏิบัติได้อย่างเต็มที่ได้ ก็ต้องให้ 4 M กับผู้ปฏิบัติงาน ไม่ว่าจะเป็น Man Money Material และ Management

ขณะที่ พระครูปลัดปิยะ ถาวโร เลขาเจ้าคณะตำบลท่าตอน ได้ฝากคำจำกัดความ 2 คำ คือ 1 ความร่วมมือ ไม่ว่าจะเป็นความร่วมมือจากเจ้าอาวาส ความร่วมมือจากผู้ใหญ่บ้านในชุมชน เพราะจะต้องเป็นผู้เซ็นรับรอง และ ความร่วมมือจากสำนักทะเบียนอำเภอ และ องค์กรภาคเอกชน

อีก 1 คำ คือ คำว่าเมตตา คือ ขับเคลื่อนให้สามเณร ที่ไร้สิทธิขั้นพื้นฐาน ไร้รัฐ ไร้สัญชาติ ให้มีโอกาสได้บัตรเหมือนกับเณรรูปอื่นๆ

นายไมตรี ดวงใจ ปลัดอำเภอ หัวหน้ากลุ่มงานทะเบียนและบัตร อำเภอแม่อาย ระบุว่าภารกิจหลักของกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย คือ การบำบัดทุกข์บำรุงสุขให้กับราษฎรในพื้นที่ ในฐานะผู้ปฏิบัติงานก็ต้องดำเนินการตามนโยบายของกรมอยู่แล้ว ส่วนตัวก็อยากจะดำเนินการแก้ไขปัญหาให้ครบ 100% แต่ติดอยู่กับระเบียบกฎหมาย ถ้ามีคุณสมบัติ ก็จะจัดทำทะเบียนประวัติผู้ไม่มีสถานะทางทะเบียน ตามมาตรา 38 วรรค 2 ให้ และ ดำเนินการถ่ายบัตร 

คงต้องขอภาคประชาสังคมช่วยขับเคลื่อน ถ้ากรมการปกครองหน่วยเหนือของเราแก้ไขระเบียบกฎหมายแนวทางการดำเนินการที่ชัดเจน สั่งการลงมา การทำงานก็คงจะครบ 100%

นายสุมิตร วอพะพอ ระบุว่ากระทรวงมหาดไทย และ กระทรวงศึกษา มี MOU มีการส่งต่อข้อมูลแบบเรียลไทม์ 15 วัน ถึง 1 เดือน
จึงขอความร่วมมือสถานศึกษา ระบุข้อมูลรายบุคคลที่จำเป็น 15 รายการ เข้าระบบ อาทิ รหัส G code ชื่อ คำนำหน้า วันเดือนปีเกิด ชื่อ บิดา มารดา เพราะหากเด็กมีข้อมูลไม่ครบ กระทรวงมหาดไทยก็จะไม่รับรองฐานข้อมูล

นอกจากนี้ยังมีประเด็นการตีความหนังสือสั่งการกระทรวงมหาดไทยที่แตกต่าง หรือ ไม่ชัดเจน จึงนำเรียน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ควรต้องพิจารณาปรับปรุงระเบียบให้ชัดเจน อะไรทำได้ อะไรทำไม่ได้ เพื่อให้ทุกอำเภอสามารถปฏิบัติไปในแนวทางเดียวกัน ซึ่งเป็นเรื่องที่สำคัญมาก ทั้งนี้เห็นว่าการใช้ดุลพินิจไม่ใช่ไม่ดี ถือเป็นเรื่องจำเป็น แต่การใช้ดุลพินิจที่มากเกินไป ก็จะไม่สามารถแก้ปัญหาเหล่านี้ได้

ด้านนางสาวกมลรัตน์ ยอดเมิง นักเรียนชั้น ม.6 เป็นนักเรียนที่ได้รับบัตร 13 หลักแล้ว เธอเล่าว่า หลังได้รับบัตร ก็ได้เปิดบัญชีธนาคารเป็นของตัวเอง เพื่อความสะดวกในการยื่นขอรับทุนการศึกษา และ เก็บออมเงิน โดยตั้งแต่ได้รับบัตร 13 หลัก การเดินทาง การยืนยันตัวตน การขอรับสิทธิ์รักษาพยาบาล ก็สะดวกมากขึ้น และ ที่สำคัญตอนนี้ เธอกำลังจะจบการศึกษาในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้านี้ จึงตั้งใจว่าจะนำบัตรที่ได้รับ ไปสมัครเข้าศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษา เพื่อที่ในอนาคตจะได้นำความรู้ไปช่วยเหลือน้องๆที่ยังไม่ได้รับการแก้ไขปัญหาสถานะบุคคล 

หนูอยากขอให้หน่วยงานที่มีส่วนในการเกี่ยวข้องแก้ไขปัญหานักเรียนรหัสG ดำเนินงานต่อไปเรื่อยๆ เพราะว่ายังมีนักเรียนหรือน้องๆที่ยังไม่ได้รับการแก้ไขปัญหารหัสตัว G อีกมาก รวมถึงบุคคลอื่นๆที่ไม่อยู่ในระบบการศึกษาด้วย

ขณะที่นายหนุ่ม ลุงปั๋น เด็กนักเรียนชั้น ม.6 และ เป็นประธานนักเรียนโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 30 ก็บอกว่าการไม่มีบัตรประชาชน ทำให้ขาดโอกาสในการไปศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษา เพราะที่ผ่านมา เขาผ่านการคัดเลือกเข้าศึกษาต่อในรอบโควตาพิเศษ แต่ก็ต้องสละสิทธิ์ เพราะไม่มีบัตร จึงร้องขอผู้ใหญ่ใจดี เมตตาให้บัตรแก่ตัวเขา และ น้องๆที่อยู่ในนี้ ให้เร็วที่สุด เพื่อที่ทุกคนจะได้ไปทำตามความฝันของตัวเอง

พยุงศักดิ์ ศรีวิชัย ผู้สื่อข่าวอาวุโสไทยพีบีเอส ศูนย์ข่าวภาคเหนือ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง