"อิกัวนา" สัตว์เลื้อยคลานในจำพวก "กิ้งก่า" มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Iguana iguana โดยจะมีรูปร่างสีสันแตกต่างกันออกไปตามสายพันธุ์
"อิกัวนา" มีลักษณะที่โดดเด่นและเป็นภาพจำ คือ "เหนียง" ที่เป็นแผ่นหนังกลมขนาดใหญ่ห้วยอยู่ใต้คาง ตั้งแต่คอ กลางหลัง มีแผงหนามเรียงตัวต่อเนื่องยาวไปจนถึงหาง หากสังเกตดูที่ "แก้ม" จะเป็นเกล็ดแผ่นวงกลมขนาดใหม่ ซึ่งเรียกว่า subtympanic shield และมีช่องหูในแนวหลังตาแต่ละข้าง
อ่านข่าว : ส.ผู้นิยมสัตว์เลี้ยงชนิดพิเศษ คาดอีกัวนา "หลุด" สู่ธรรมชาติ ไม่ใช่การปล่อย
"อิกัวนา" มีหางยาวช่วยในการป้องกันจากสัตว์ผู้ล่า โดยหางที่ยาวแข็งแรง ใช้ฟาดใส่ศัตรูสร้างความเจ็บปวดได้ นอกจากนี้ หางสามารถสะบัดบางส่วนให้หลุดได้เหมือนกับกิ้งก่าชนิดอื่น ๆ นั้นเพื่อจะได้หนีได้เร็วขึ้น รวมทั้งหางสามารถงอกใหม่ได้
"อิกัวนา" มีเกล็ดปกคลุมทั่วร่างกาย เกล็ดที่อยู่รอบคอเป็นเกล็ดขนาดใหญ่ ทรงกลมนูน มีเกล็ดหนาและเรียงตัวแน่นในส่วนด้านล่างของลำตัว และเกล็ดที่มีตามร่างกายที่มีในส่วนต่าง ๆ สีสันหลากหลาย
สีเกล็ดยังมีปัจจัยที่ขึ้นอยู่กับอายุ โดยที่ช่วงวัยเด็กสีพื้นของเกล็ดเป็นสีเขียวและมีแถบขนาดใหญ่สีน้ำตาล ปัจจัยที่สร้างความผันแปรอีก คือ สภาพอารม สุขภาพ อันดับในกลุ่ม และอุณหภูมิของพื้นที่ที่ร่างกายอีกัวนาจะต้องปรับตัวถ้าอากาศหนาวเย็นสีเกล็ดจะออกคล้ำ ส่วนในช่วงอากาศร้อนสีเกล็ดจะลดความเข้มลง
"อิกัวนา" เป็นวงศ์ของสัตว์เลื้อยคลานประเภทกิ้งก่าวงศ์หนึ่ง ใช้ชื่อว่า Iguanidae วงศ์อิกัวนาแบ่งออกได้เป็น 8 วงศ์ย่อย แบ่งออกได้เป็น 44 สกุล และพบมากกว่า 672 ชนิด โดยชนิดที่เป็นที่รู้จักกันเป็นอย่างดี คือ อิกัวนาเขียว (Iguana iguana) ที่นิยมเลี้ยงเป็นสัตว์เลี้ยง และอิกัวนาทะเล (Amblyrhynchus cristatus) ที่อาศัยอยู่ตามเกาะต่าง ๆ ในหมู่เกาะกาลาปากอส
ครั้งนี้จะพาไปรู้จัก "อิกัวนาสีเขียว" ให้มากขึ้น ซึ่งสามารถปรับตัวเพื่ออยู่กับป่าได้หลายประเภท รวมทั้งการปรับตัวในพื้นที่ป่าที่มีต้นไม้ไม่หนาแน่น โดยเลือกอยู่ในจุดเรือนยอดและต้นไม้ที่อยู่ใกล้น้ำที่จะทิ้งตัวลงน้ำหนีจากสัตว์ผู้ล่าได้
อีกัวนาเขียว เอเลี่ยนสปีชีส์
อิกัวนาเขียว ไม่ใช่สัตว์พื้นถิ่นของประเทศไทย จัดอยู่ในหมวด "เอเลียนสปีชีส์"
"อิกัวนาเขียว" เป็นสัตว์ประจำถิ่นในป่าเขตร้อนของเม็กซิโก อเมริกากลาง อเมริกาใต้และหมู่เกาะแคริบเบียน เป็นสัตว์ที่กินทั้งพืชและสัตว์ โดยช่วงวัยอ่อนจะกินแมลง หอย และเมื่อถึงช่วงอายุวัยเจริญพันธุ์จะกินใบไม้ ดอกไม้
"อิกัวนาเขียว" มีอายุขัยประมาณ 20 ปี ในกรงเลี้ยงปรากฏว่าอายุขัยจะน้อยกว่าในป่า เนื่องจากการดูแลที่ไม่เหมาะสม หากการดูแลอย่างถูกต้องอายุขัยในกรงเลี้ยงจะอยู่ในช่วง 10 - 20 ปี
อ่านข่าว : กองทัพ "อิกัวนา" บุกลพบุรี เก็บขี้หาเชื้อโรค-ใครปล่อยโทษ 6 เดือน
ในช่วงอายุโตเต็มวัย "อิกัวนาเขียว" จะเลือกเกาะกิ่งไม้ในระดับเรือนยอด ส่วนวัยอ่อนจะเกาะกิ่งไม้ในระดับต่ำลงมา และจะเลือกเกาะในจุดที่ได้รับแสงแดดโดยไม่ต้องลงจากต้นไม้ กรณีที่ลงพื้นดิน คือ เพศเมียที่ลงมาวางไข่
"อิกัวนาเขียว" สื่อสารผ่านการมองเห็น โดยการเคลื่อนลูกตา ซึ่งตัวอื่นจะรับรู้ได้ด้วยการการมองเห็นที่มีประสิทธิภาพสูง
ทั้งนี้ ภายใน 3 ปี จากน้ำหนัก 12 กรัม เมื่อออกจากไข่เติบโตจนกระทั่งมีน้ำหนัก 1 กิโลกรัม อีกัวนาช่วงอายุวัยเจริญพันธุ์มีความยาวจากปลายปากถึงโคนหางอยู่ในช่วง 1.2 - 1.7 เมตร และความยาวหาง 30 - 42 เซนติเมตร น้ำหนักของอีกัวน่าเพศผู้มีน้ำหนักเฉลี่ย 4 กิโลกรัม
"อิกัวนา" ผสมพันธุ์ช่วงไหน
การผสมพันธุ์จะเกิดขึ้นในช่วงฤดูร้อน และช่วงที่ลูกอีกัวนาเขียวออกจากไข่จะเป็นช่วงฤดูฝนที่มีอาหารอุดมสมบูรณ์ รูปแบบการผสมพันธุ์จะเป็นแบบในหนึ่งฤดูผสมพันธ์ุทั้งเพศเมียและเพศผู้จะผสมพันธ์ุกับเพศตรงกันข้ามหลายตัว
"อิกัวนา" จะมีท่าทางการเกี้ยวพาราสีของเพศผู้จะทำท่าผงกหัว เหนี่ยงจะ เหยียดและหดเข้า การผสมพันธุ์จะเริ่มโดยการที่เพศผู้จะขึ้นไปบนหลังเพศเมีย ใช้ปากจับที่ผิวหนังต่อมาโคลเอก้าของทั้งสองเพศจะประกบกัน
อีกัวนาเขียวเพศเมียจะเก็บรักษาสเปิร์มได้หลายปี ทำให้เป็นการเพิ่มโอกาสที่สเปิร์มจะผสมกับไข่ได้ในจำนวนที่มากขึ้น เพศเมียจะวางไข่เฉลี่ย 65 วัน หลังจากการผสมพันธุ์ ไข่จะวางไข่ในรังในดินที่ลึก 45 เซนติเมตร ซึ่งรังดินนี้อาจจะมีเพศเมียตัวอื่นมาวางไข่ร่วมด้วย ในช่วงเวลา 3 วัน จะมีการวางไข่ที่อาจมากถึง 65 ฟอง โดยมีขนาด 15.4 X 35-40 มิลลิเมตร ระยะฟักไข่ 90-120 วัน
อ่านข่าว : อุทยานฯ ประกาศจับ "อิกัวนา" ก่อนนิเวศพัง พบ 3 พิกัดประชากรพรึ่บ
อุณหภูมิที่เหมาะสมสำหรับการฟักไข่อยู่ในช่วง 85-91 องศาฟาเรนไฮต์ ลูกที่กำลังจะออกจากไข่จะใช้ฟันที่กัดเปลือกไข่ออกมาที่เรียกว่า คารันเคิล และชุดฟันนั้นจะหลุดออกหลังจากที่ลูกอีกัวนาออกจากไข่ได้ไม่นาน ส่วนไข่แดงก็จะค่อยถูกดูดซึมไปโดยจะใช้เป็นอาหารสำรองในช่วง 1-2 สัปดาห์แรก
อ่านข่าว : สภาพอากาศวันนี้ เหนือ-อีสาน อุณหภูมิลดอีก หนาวต่ำสุด 8 องศาฯ
"อิกัวนา" ในประเทศไทย
หากจะพูดถึงสถานภาพของ "อิกัวนาเขียว" ตามกฎหมายในไทยถือเป็นสัตว์ป่าควบคุมในบัญชี อนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ (ไซเตส) ลําดับที่ 690 "อิกัวนา" ทุกชนิดในสกุล "Iguana" : มาตรา 9 พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตวป่า พ.ศ. 2562 ตามประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง กำหนดให้สัตว์ป่าบางชนิดเป็นสัตว์ป่าควบคุม พ.ศ.2565
ทั้งนี้ คณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 20 ก.พ.2561 กำหนดให้อีกัวนาขึ้นบัญชีเป็นสัตว์ป่าต่างถิ่นที่มีประวัติว่ารุกรานแล้วในประเทศอื่น แต่ยังไม่รุกรานในประเทศไทย เพื่อป้องกันการหลุดรอดในธรรมชาติและกระทบระบบนิเวศ
ในรอบ 20 ปี ไทยนำเข้ากว่า 5,800 ตัว
สำหรับข้อมูลการนำเข้าสัตว์เลื้อยคลานและอีกัวนาของประเทศไทยจากกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ระบุว่าระหว่าง ปี 2000 – 2021 แบ่งเป็น "สัตว์เลื้อยคลาน" จำนวน 199 ชนิด ทั้งหมด 238,774 ตัว จาก 72 ประเทศ 6 ภูมิภาค คือ แอฟริกา ยุโรป เอเชีย อเมริกากลาง อเมริกาเหนือ โอเชเนียร์
ในจำนวนนี้เป็น "อิกัวนา" 5,877 ตัว จาก 11 ประเทศ 5 ภูมิภาค คือ อเมริกาเหนือ อเมริกากลาง เอเชีย แอฟริกา
ปี 62 ฟลอริดาไฟเขียว กำจัด "อิกัวนา" เหตุทำลายระบบนิเวศ
กรมอุทยานแห่งชาติฯ ยังยกกรณี คณะกรรมการอนุรักษ์สัตว์รัฐฟลอริดา ระบุว่า ผู้ถือครองที่อยู่อาศัยในรัฐฟลอริดาไม่จําเป็นต้องขออนุญาตเพื่อกําจัดอิกัวนา หากพบอยู่ในบริเวณที่อยู่อาศัยของตัวเอง โดยทางคณะกรรมการสนับสนุนให้กําจัดได้โดยเร็วที่สุด "ทางคณะกรรมการยังอนุญาตให้ช่วยกันกําจัดอิกัวนาตามสถานที่สาธารณะ 22 แห่งในรัฐฟลอริดาได้ตลอดโดยไม่ต้องขออนุญาตด้วย"
"อิกัวนา" ยังสามารถสร้างความเสียหายให้กับระบบนิเวศท้องถิ่น ด้วยการกินพืชและสัตว์เลี้ยงขนาดเล็ก เช่น ผีเสื้อ และหอยทากบางชนิดที่ใกล้สูญพันธุ์ทั้งยังขับถ่ายของเสียไว้ตามทางเท้า หลังคาบ้าน อาคาร นอกจากนี้ ยังเป็นพาหะของเชื้อสกุล "ซาโมเนลลา" ซึ่งก่อโรคอุจจาระร่วงในมนุษย์
นอกจาก กรณีที่กองทัพ อีกัวนาเขียว บุกพื้นที่บ้านห้วยบุ้ง ต.พัฒนา จ.ลพบุรี ทำให้ชาวบ้านได้รับผลกระทบหนัก พืชผักที่ปลูกเอาไว้รับประทานเองหรือเตรียมไปขายล้วนถูก อีกัวนาเขียว กัดกินจนหมดสิ้น
อ่านข่าว : เอ็นดู! "พลายเดือน" อยากเดินได้-ปรับแผนเข้าเฝือกแข็ง 17 พ.ย.นี้
ยังเคยพบ อีกัวนาเขียว ใน อ.พัฒนานิคม จ.ลพบุรี โดยจากการสำรวจครั้งที่ 1 เมื่อเดือน พ.ย.2565 จำนวน 23 ตัว ครั้งนั้นพบแหล่งทำรังวางไข่ ในไร่มันสำปะหลัง โดยการขุดโพรงวางไข่ตามร่องมัน นอกจากนี้ยังพบมีการกัดกินพืชผลของชาวบ้าน เช่น พริก (ดอก) คะน้า ผักกาด ถั่วฝั่งยาว เป็นต้น
นอกจากนี้ ในปีเดียวกันยังมีรายงานการพบเห็นอีกัวนาเขียวในธรรมชาติ บริเวณถนนหน้าพระลาน จ.ลพบุรี
ข้อมูลจาก : กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช , องค์การสวนสัตว์
อ่านข่าวอื่นๆ
ดีเดย์! 16-17 พ.ย.ย้ายลูกช้างป่าทับลาน ผ่าตัดกระดูกที่มก.