ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ก.ม.ประชามติ สารตั้งต้นแก้ รธน.60

การเมือง
10 พ.ย. 66
15:11
188
Logo Thai PBS
ก.ม.ประชามติ สารตั้งต้นแก้ รธน.60
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
ปัจจัยเริ่มต้นสำคัญเพื่อให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ ปี 2560 บรรลุผลสำเร็จได้ คือกฎหมายว่าด้วยการทำประชามติ 2564 ซึ่งมีข้อกำหนดที่เป็นทั้งกฎเหล็กและเป็นอุปสรรคต่อการเดินหน้ากระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ อย่างมาตรา 13

“ต้องมีผู้มาใช้สิทธิออกเสียงเกินกึ่งหนึ่งของจำนวนผู้มีสิทธิทั้งหมด และจะต้องมีจำนวนเสียงเกินกึ่งหนึ่งของผู้มาใช้สิทธิออกเสียง” จึงจะผ่านการทำประชามติ

ด้านหนึ่งเป็นการป้องกันเสียงจัดตั้ง แต่อีกด้านหนึ่ง เป็นเสมือนมัดมือชกเช่นกัน โดยจับประชาชนเป็นหนึ่งในเงื่อนไข จนเปรียบเสมือนประกัน คือต้องมีเสียงเกินกึ่งหนึ่งแบบ 2 ชั้น แม้ตอนนี้ คณะกรรมการศึกษาแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่มีนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกฯ และ รมว.พาณิชย์ เป็นประธาน ยังไม่ได้ข้อสรุปว่า จะต้องทำประชามติ 2 ครั้ง หรือ 3 ครั้ง

ครั้งแรก เป็นไปตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ที่ต้องให้ทำประชามติก่อน ครั้งที่ 2 การแก้ไขตามมาตรา 256 ว่าด้วยกฎเกณฑ์กติกาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และ 3 หลังมีการแก้ไขแล้ว ต้องทำประชามติถามความเห็นประชาชน

แต่ทุกครั้งต้องเป็นไปตามมาตรา 13 เสียงต้องเกินกึ่งหนึ่งทั้ง 2 ชั้น ทำให้เกิดความกังวลจะตกม้าตาย อย่างนายนิกร จำนง กรรมการศึกษาแนวทางแก้ไขรัฐธรรมนูญ เปรียบเทียบไว้กับการเลือกตั้ง ส.ส. ครั้งแรกอาจมีคนไปลงคะแนนเกินกว่ากึ่งหนึ่ง แต่เมื่อมีแจกใบเหลืองใบแดง ในการเลือกตั้งซ่อม จะมีคนไปเลือกตั้งน้อยลงอย่างเห็นได้ชัด ยังไม่นับรวมหากมีครั้งที่ 3

ประเด็นสำคัญที่พ่วงตามมา คืองบประมาณที่ใช้ในการทำประชามติต่อครั้ง ประมาณ 3,250 ล้านบาท หากรวม 3 ครั้งจะใช้งบประมาณสูงถึง 1 หมื่นล้านบาท และหากทำประชามติไม่ผ่าน ไม่ว่าจะเป็นครั้งแรก ครั้งที่ 2 หรือครั้งที่ 3 เท่ากับงบประมาณที่ลงไปในแต่ละครั้ง สูญเปล่าทันที

ทางออกที่เป็นไปได้ที่สุด และสามารถทำควบคู่กับขั้นตอนการแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ทันที คือแก้พ.ร.บ.การออกเสียงประชามติ ลดข้อกำหนดกึ่งหนึ่งทั้ง 2 ชั้นให้ผ่อนคลายลง ง่ายสุดคือให้ใช้เสียงข้างมากก็พอ

อย่างไรก็ตาม แม้ พ.ร.บ.การทำประชามติ จะเป็นจุดเริ่มต้นหลัก แต่ไม่ใช่ปัจจัยเดียวสำหรับแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพราะในทางปฏิบัติ ยังมีอุปสรรครอขวางกั้นอยู่อีกมาก รวมทั้ง มาตรา 256 ว่าด้วยกฎเกณฑ์กติกาว่าด้วยการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ดังกูรูการเมืองบางคนเปรียบเปรยเป็นด่านหิน 9 ชั้น

ยังไม่นับประเด็นสำคัญอื่น ๆ อาทิ จะแก้ทั้งฉบับหรือแก้เป็นรายมาตรา จะใช้สภาร่างรัฐธรรมนูญ หรือสสร. หรือไม่ ยังไม่นับกรอบเวลาขั้นตอนกระบวนการต่าง ๆ กระทั่งจบสิ้นแก้ไขรัฐธรรมสูญได้ โดยนายคุณนิกร จำนง ระบุว่า ต้องใช้เวลา 3 ปีกว่า แต่ถ้ารวมการแก้ไขกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญอีก 11 ฉบับจะใช้เวลารวมแล้วประมาณ 4 ปี ภายใต้เงื่อนไข ไม่มีอุบัติเหตุทางการเมืองใด ๆ เกิดขึ้น จนกระทบต่อการแก้รัฐธรรมนูญ

เจอเงื่อนปมนี้เข้า อาจทำให้บางคนถอดดใจ แต่ในเบื้องต้นเอาเรื่องแก้กฎหมายประชามติให้สำเร็จก่อน ค่อยไปลุ้นกระบวนต่อไปที่ยังอีกยาวไกลสำหรับแก้รัฐธรรมนูญ

วิเคราะห์ : ประจักษ์ มะวงศ์สา

แท็กที่เกี่ยวข้อง:

ข่าวที่เกี่ยวข้อง