วันนี้ (5 พ.ย.2566) นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงความคืบหน้านโยบาย แจกเงินดิจิทัล 10,000 บาทว่ายังเดินหน้าไม่มีความคิดที่จะถอยหลัง และต้องทำออกไปให้ดีที่สุด และถูกต้องตามกฎหมาย เพื่อให้คนได้รับผลประโยชน์สูงสุด และอยากให้สาธารณชนเข้าใจด้วยว่าระบบนี้วิธีการนี้ ไม่มีการคอร์รัปชัน ขณะที่เชิงปฏิบัติไม่มีที่ให้ประชาชนต้องสงสัยว่าใครได้อะไร พร้อมระบุว่า ในวันที่ 10 พ.ย.นี้ จะรู้เรื่องทุกอย่างเกี่ยวกับดิจิทัล วอลเล็ต
นายกรัฐมนตรี กล่าวอีกว่า รัฐบาลก็รับฟัง ทั้งสื่ออาวุโส และผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) พร้อมบอกให้เขียนภาพระยะยาว เวลาที่ออกมาแล้วจะกระทบกับเศรษฐกิจในเชิงบวกอย่างไร รวมถึงการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจ
ซึ่งที่ผ่านมานายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง ที่ทำงานหนักมากในฐานะที่ดูแลเรื่องนี้ และไปคุยกับทุกภาคส่วนขณะเดียวกันก็ยังมีคณะกรรมการกฤษฎีกา รวมถึงคณะกรรมการการเลือกตั้งด้วย ที่รัฐบาลได้หาเสียงและพูดอะไรไปก็ต้องไปปรึกษา เมื่อมีข้อคิดเห็นมารัฐบาลก็ต้องฟัง
นอกจากนี้ พูดถึงแอปพลิเคชันเป๋าตังด้วย นายกฯ ยอมรับว่า มีส่วนร่วมแน่นอน เพราะเป็นเรื่องของการให้ความสะดวก และง่ายให้กับประชาชนใช้นโยบายนี้ได้อย่างสบายใจ
นิด้าโพลหนุนปลดล็อกเงื่อนไขเกณฑ์คนรวย
ขณะที่ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เผยผลสำรวจของประชาชน เรื่อง “หลักเกณฑ์การแจกเงินดิจิทัลวอลเลต” ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 31 ต.ค.-2 พ.ย.นี้ จากประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป กระจายทุกภูมิภาค ระดับการศึกษา อาชีพ และรายได้ ทั่วประเทศ จำนวน 1,310 หน่วยตัวอย่าง เกี่ยวกับหลักเกณฑ์การแจกเงินดิจิทัลวอลเลต การสำรวจอาศัยการสุ่มตัวอย่าง
จากการสำรวจเมื่อถามประชาชน ถึงหลักเกณฑ์การแจกเงินดิจิทัลวอลเลต 10,000 บาท มีดังนี้
- 50.08% ระบุว่า จ่ายทุกกลุ่มโดยไม่ต้องมีเกณฑ์เงินเดือน หรือเงินฝากในบัญชีมาเป็นข้อจำกัด
- 26.64% ระบุว่า จ่ายเฉพาะกลุ่มผู้มีรายได้น้อย ซึ่งมีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ
- 14.66% ระบุว่า ตัดสิทธิ์ผู้ที่มีรายได้เกินเดือนละ 50,000 บาท หรือมีเงินฝากในบัญชีตั้งแต่ 500,000 บาท
- 8% ระบุว่า ตัดสิทธิ์ผู้ที่มีรายได้/เงินเดือน เดือนละ 25,000 บาท หรือมีเงินฝากในบัญชีตั้งแต่ 100,000 บาท
- 0.61% ระบุว่า ไม่ทราบ/ไม่ตอบ/ไม่สนใจ
ด้านเกณฑ์พื้นที่/รัศมีการใช้จ่ายเงินดิจิทัลวอลเลต 10,000 บาท มีดังนี้
- 69.85% ระบุว่า ควรใช้จ่ายในร้านค้าใดก็ได้ ในประเทศไทย โดยไม่มีข้อจำกัดด้านพื้นที่/รัศมีมากำหนด
- 14.50% ระบุว่า ต้องใช้จ่ายในร้านค้าภายในจังหวัด (ตามทะเบียนบ้าน)
- 13.59% ระบุว่า ต้องใช้จ่ายในร้านค้าภายในอำเภอ (ตามทะเบียนบ้าน)
- 2.06% ระบุว่า ต้องใช้จ่ายในร้านค้ารัศมี 4 กิโลเมตร (ตามทะเบียนบ้าน)
อ่านข่าว คลังตั้ง 3 เกณฑ์ "คนรวย" หมดสิทธิ "ดิจิทัล วอลเล็ต"
เมื่อถามถึงระยะเวลาในการใช้จ่ายเงินดิจิทัลวอลเลต 10,000 บาท มีดังนี้
- 62.60% ระบุว่า ต้องใช้จ่ายเงินภายใน 6 เดือน
- 37.09% ระบุว่า ต้องใช้จ่ายเงินภายใน 1 ปี
- 0.31% ระบุว่า ไม่ทราบ/ไม่ตอบ/ไม่สนใจ
เมื่อพิจารณาลักษณะทั่วไปของตัวอย่าง มีดังนี้
- 8.55% มีภูมิลำเนาอยู่กรุงเทพฯ
- 18.55% มีภูมิลำเนาอยู่ภาคกลาง
- 18.01% มีภูมิลำเนาอยู่ภาคเหนือ
- 33.44% มีภูมิลำเนาอยู่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
- 13.74% มีภูมิลำเนาอยู่ภาคใต้
- 7.71% มีภูมิลำเนาอยู่ภาคตะวันออก
สำหรับกลุ่มตัวอย่าง
- 8.32% ประกอบอาชีพข้าราชการ/ลูกจ้าง/พนักงานรัฐวิสาหกิจ
- 17.48% ประกอบอาชีพพนักงานเอกชน
- 21.07% ประกอบอาชีพเจ้าของธุรกิจส่วนตัว/อาชีพอิสระ
- 11.91% ประกอบอาชีพเกษตรกร/ประมง
- 15.72% ประกอบอาชีพรับจ้างทั่วไป/ผู้ใช้แรงงาน
- 20.23% เป็นพ่อบ้าน/แม่บ้าน/เกษียณอายุ/ว่างงาน
- 5.27% เป็นนักเรียน/นักศึกษา
นอกจากนี้มีรายได้ดังนี้
- 23.28% ไม่มีรายได้
- 20.92% รายได้เฉลี่ยต่อเดือนไม่เกิน 10,000 บาท
- 27.63% รายได้เฉลี่ยต่อเดือน 10,001-20,000 บาท
- 9.92% รายได้เฉลี่ยต่อเดือน 20,001-30,000 บาท
- 5.04% รายได้เฉลี่ยต่อเดือน 30,001-40,000 บาท
- 3.82% รายได้เฉลี่ยต่อเดือน 40,001 บาทขึ้นไป
- 9.39% ไม่ระบุรายได้
อ่านข่าว
"เศรษฐา" ขอ ปชช.รอฟัง "ดิจิทัลวอลเล็ต" ม้วนเดียวจบ