วันนี้ (2 ต.ค.2566) น.ส.ทิวาพร ผาสุข รองอธิบดีกรมบัญชีกลาง ในฐานะโฆษกกรมบัญชีกลาง เปิดเผยว่า ตามที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบการปรับวิธีการจ่ายเงินเดือนข้าราชการและลูกจ้างประจำ จากเดือนละ 1 รอบ เป็นเดือนละ 2 รอบ
กรมบัญชีกลางได้แต่งตั้งคณะทำงานปรับเงื่อนไขการจ่ายเงินเดือนและค่าจ้างประจำ 2 รอบ เพื่อขับเคลื่อนการดำเนินงานตามมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าว โดยมีการประชุมร่วมกับหน่วยงานและสถาบันการเงินที่เกี่ยวข้องกับข้อมูล หักรายจ่ายและข้อมูลหักหนี้ของส่วนราชการ เพื่อหารือในส่วนของข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับแต่ละหน่วยงาน การส่งข้อมูลหักรายจ่ายและข้อมูลหักหนี้ให้กับส่วนราชการ
และการปรับระยะเวลาการปฏิบัติงานของส่วนราชการ โดยกรมบัญชีกลางได้ตระหนักและให้ความสำคัญกับกระบวนการขั้นตอนการปฏิบัติงานของส่วนราชการ เพื่อไม่ให้เป็นการเพิ่มภาระให้เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานของส่วนราชการ และได้รับผลกระทบในการเปลี่ยนแปลงขั้นตอนกระบวนงานน้อยที่สุด
ซึ่งการจ่ายเงินเดือนและค่าจ้างประจำเป็น 2 รอบต่อเดือน เป็นทางเลือกตามความสมัครใจสำหรับข้าราชการและลูกจ้างประจำ หากมีความประสงค์จะรับเงิน 2 รอบจะต้องกรอกแบบแจ้งความประสงค์ขอเปลี่ยนแปลงการรับเงินเดือน/ค่าจ้างประจำ ตามแบบฟอร์มที่กรมบัญชีกลางกำหนด ยื่นต่อส่วนราชการของตนเองภายในระยะเวลาที่กำหนดไว้ คือ ข้าราชการให้ยื่นตั้งแต่วันที่ 1 - 15 ธ.ค.2566
และลูกจ้างประจำให้ยื่นตั้งแต่วันที่ 1 - 15 ก.พ.2567 สำหรับในปีงบประมาณ พ.ศ.2567 ซึ่งเป็นปีแรกที่เริ่มโครงการ กรมบัญชีกลางจึงกำหนดให้ผู้ที่ไม่ประสงค์จะเปลี่ยนแปลงการรับเงินเดือน/ค่าจ้างประจำ (รับ 1 รอบเช่นเดิม) ไม่ต้องยื่นแบบแสดงความประสงค์แต่อย่างใด
ในส่วนการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่กองคลังของส่วนราชการด้านการจัดทำข้อมูลเบิกจ่ายเงินเดือนและค่าจ้างประจำ ยังคงมีขั้นตอนการปฏิบัติงานเหมือนเดิม คือ การบันทึกข้อมูลเงินเดือน ข้อมูลรายจ่าย ข้อมูลหนี้ในระบบ e-Payroll รวมถึงการส่งข้อมูลให้กรมบัญชีกลาง เพื่อเบิกจ่ายเงินเป็น 1 ครั้งต่อเดือนเช่นเดิม
เพียงแต่ในการปฏิบัติงานดังกล่าว เจ้าหน้าที่กองคลังของส่วนราชการ จะต้องปฏิบัติงานให้เร็วขึ้นตามปฏิทินการปฏิบัติงานที่กรมบัญชีกลางกำหนดไว้ในแต่ละเดือน ส่วนการคำนวณเพื่อโอนเงินเข้าบัญชีข้าราชการและลูกจ้างประจำในแต่ละรอบ กรมบัญชีกลางจะเป็นผู้ดำเนินการ โดยระบบจะนำเงินเดือน รวมเงินอื่นที่จ่ายในลักษณะเดียวกับเงินเดือน (ถ้ามี) หักยอดข้อมูลรายจ่ายตามที่กฎหมายกำหนดให้หัก (ภาษี/เงินสะสม กบข./เงินสะสม กสจ./หนี้ กยศ. ฯลฯ) และยอดข้อมูลหนี้ตามที่มีหนังสือยินยอมให้หักเงิน (หนี้สหกรณ์ออมทรัพย์/หนี้สถาบันการเงิน ฯลฯ) จะได้เท่ากับ ยอดเงินสุทธิ
จากนั้นระบบจะแบ่งครึ่งยอดเงินสุทธิเป็น 2 ยอดเท่ากัน เพื่อโอนเข้าบัญชีเงินฝากธนาคารให้ข้าราชการและลูกจ้างประจำในรอบแรกและรอบสองตามระยะเวลาที่กำหนดไว้ ดังนั้น การปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่กองคลังของส่วนราชการจึงยังปฏิบัติงานเหมือนเดิม แต่ต้องปฏิบัติงานให้เร็วขึ้น และส่งข้อมูลให้กรมบัญชีกลางเร็วขึ้น
โฆษกกรมบัญชีกลาง กล่าวเพิ่มเติมว่า มติคณะรัฐมนตรีดังกล่าวเป็นทางเลือกสำหรับข้าราชการและลูกจ้างประจำที่รับเงินเดือนและค่าจ้างประจำผ่านระบบจ่ายตรงเงินเดือนและค่าจ้างประจำของกรมบัญชีกลาง (ระบบ e-Payroll) เท่านั้น และข้อมูล ณ เดือน ต.ค.2566 ปัจจุบันมีข้าราชการและลูกจ้างประจำในระบบ e-Payroll 1,335,818 คน เป็นข้าราชการ 1,291,212 คน และลูกจ้างประจำ 44,608 คน (ไม่รวมข้าราชการและลูกจ้างประจำของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน ศาล องค์กรอัยการ องค์การมหาชน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น)
กำหนดเริ่มจ่ายเงินเดือนข้าราชการ 2 รอบ ตั้งแต่เดือน ม.ค.2567 และจ่ายค่าจ้างลูกจ้างประจำ 2 รอบ ตั้งแต่เดือน มี.ค.2567 เป็นต้นไป วันจ่ายเงินรอบแรกกำหนดโอนเงินวันที่ 16 ของทุกเดือน หากวันที่ 16 ตรงกับวันหยุดราชการจะเลื่อนเป็นวันทำการก่อนวันที่ 16
สำหรับวันจ่ายเงินรอบสองกำหนดโอนเงินในวันทำการก่อนวันทำการสุดท้ายของเดือน 3 วันทำการ (กำหนดวันเดิม) ทั้งนี้ กรมบัญชีกลางจะจัดฝึกอบรมให้ความรู้กับเจ้าหน้าที่ของส่วนราชการงานด้านบุคลากร และงานด้านกองคลังในรูปแบบ Onsite และ Online ช่วงเดือน พ.ย. - ธ.ค.2566 และจะมีคู่มือการปฏิบัติงานเพื่อให้เจ้าหน้าที่ของส่วนราชการใช้เป็นแนวทางการปฏิบัติงาน
โฆษกกรมบัญชีกลาง กล่าวทิ้งท้ายว่า การปรับการจ่ายเงินเดือนและค่าจ้างประจำ 2 รอบ เป็นทางเลือกสำหรับข้าราชการและลูกจ้างประจำที่รับเงินเดือนและค่าจ้างประจำผ่านระบบจ่ายตรงเงินเดือนและค่าจ้างประจำของกรมบัญชีกลาง (ระบบ e-Payroll) เท่านั้น ไม่รวมการจ่ายเบี้ยหวัดบำนาญของผู้รับบำนาญ
ดังนั้น ขอเตือนภัยผู้รับบำนาญอย่าหลงเชื่อมิจฉาชีพที่แอบอ้างเป็นเจ้าหน้าที่จากกรมบัญชีกลางหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ โทรหาและแจ้งเรื่องการจ่ายเงินเดือนหรือบำนาญ 2 รอบ แล้วให้ดำเนินการต่างๆ เช่น สอบถามความคิดเห็นว่าเห็นด้วยหรือไม่ แล้วให้กด 9 เป็นต้น อย่ากดและอย่าดำเนินการใดๆ เพราะกรมบัญชีกลางไม่มีนโยบายส่งข้อความหรือโทรศัพท์หาผู้รับบำนาญเพื่อให้ดำเนินการใดๆ เกี่ยวกับการจ่ายบำนาญ 2 รอบ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
จ่ายเงินเดือนข้าราชการ 2 รอบ เป็นทางเลือก เปิดให้ยื่นแบบได้ 1 - 15 ธ.ค.66