ปัญหาการศึกษาของไทยกำลังเข้าขั้นน่าเป็นห่วง สะท้อนผ่านดัชนีชี้วัดหลายตัว ทั้งจำนวนเด็กที่หลุดจากระบบการศึกษาที่เพิ่มขึ้นเป็นปีละกว่าแสนคน ไปจนถึงคะแนนสมรรถนะนักเรียนมาตรฐานสากล (PISA) ที่ค่าเฉลี่ยคะแนนนักเรียนไทยต่ำกว่าค่าเฉลี่ยขององค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (Organisation for Economic Co-operation and Development) หรือ OECD ทั้ง 3 ด้าน คือ การอ่าน คณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ โดยเฉพาะด้านการอ่านที่มีคะแนนต่ำสุดเป็นประวัติการณ์
ส่วน ‘หลักสูตรฐานสมรรถนะ’ ที่คนในแวดวงการศึกษา พยายามผลักดันให้เกิดขึ้น เพื่อเปลี่ยนโฉมการศึกษาไทย ก้าวทันการพัฒนาในศตวรรษที่ 21 ก็ไม่สามารถเดินหน้าไปสู่เป้าหมาย รูปแบบการเรียนการสอนของโรงเรียนส่วนใหญ่ยังวนอยู่กับเนื้อหาและวิธีการเดิมๆ ที่ไม่ตอบโจทย์ทั้งการเรียนรู้และตลาดแรงงานที่เปลี่ยนแปลงไป ส่วนนโยบาย ‘พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา’ ก็ยังไม่เห็นภาพความเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจน
โครงสร้างประชากรไทย
ด้าน ‘นโยบายเรียนฟรี’ ที่ถือเป็นสวัสดิการขึ้นพื้นฐาน แต่ก็กำลังถูกตั้งคำถามถึงความไม่ฟรีจริง ยังมีค่าใช้จ่ายแฝงที่มาในรูปแบบต่าง ๆ และเป็นภาระให้กับผู้ปกครอง ในขณะที่ ปัญหาครูขาดแคลน ภาระครูที่นอกเหนือจากการเรียนการสอน ก็ยังเป็นปัญหาที่แก้ไม่ตก ทำให้ไม่อาจก้าวข้ามไปสู่การแก้ปัญหาการพัฒนาทักษะครูได้อย่างเต็มศักยภาพ
แม้ที่ผ่านมา รัฐบาลจะพยายามทุ่มงบประมาณเพื่อไปแก้ปัญหากับการศึกษา โดยกระทรวงศึกษาเป็นกระทรวงที่ครองแชมป์ได้รับงบประมาณมากที่สุดตั้งแต่ ปี 2542 โดยข้อมูลจากสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงศึกษาธิการ ระบุว่า งบประมาณรายจ่ายด้านการศึกษาตั้งแต่ปี 2555 - 2564 อยู่ที่ 4.4 - 5.5 แสนล้านบาทต่อปี หากรวมกับภาพเอกชนจะตกประมาณ 8 แสนล้านบาท
ไทยลงทุนด้านการศึกษา
ตั้งแต่ปี 2551-2561 ประเทศไทยลงทุนรายจ่ายด้านการศึกษาเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง หรือคิดเป็นร้อยละ 5.77 - 5.04 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) นับว่าค่อนข้างสูงเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศในกลุ่ม OECD ซึ่งมีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 4.9 ต่อ GDP แต่ผลลัพธ์ที่ได้กลับมาดูจะแตกต่างกับเม็ดเงินที่ลงทุนไปอย่างสิ้นเชิง
พรรคการเมืองหาเสียง วนอยู่กับ ‘เรียนฟรี’ มองข้าม ”คุณภาพ ”
นโยบายด้านการศึกษาอาจไม่ใช่นโยบายซื้อใจชาวบ้านเท่ากับปัญหาปากท้อง หรือ สุขภาพ แต่จากการสำรวจนโยบายด้านการศึกษาของ 18 พรรคการเมือง ที่มีที่นั่งในสภาฯ มีถึง 15 พรรคที่มีการนำเสนอนโยบายด้านการศึกษา รวม 110 นโยบาย โดย หมวดหมู่ “เรียนตามความต้องการ-ทันสมัย และ หมวดหมู่ ”เรียนฟรี” ล้วนแต่เป็นนโยบายที่พรรคการเมืองให้ความสำคัญ มุ่งหวังว่าจะพัฒนาหลักสูตรให้ทันสมัย ส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตทั้งในและนอกห้องเรียน
ส่วนนโยบายใน หมวดหมู่งบประมาณ , กระจายอำนาจโรงเรียน, โรงเรียนไร้อำนาจนิยม, เรียนตามต้องการ ทันสมัย, โรงเรียนหลายภาษา, ลดเวลาเรียน, เลือกที่เรียนตามต้องการ และ สื่อเรียนสอนทันสมัย ซึ่งมีผลโดยตรงต่อคุณภาพทางการศึกษาของเด็กไทย กลับมีจำนวนพรรคการเมืองที่เสนอเพียง 2 - 5 พรรคต่อ 1 หมวด
ท้ายที่สุดคือนโยบายยกระดับคุณภาพครูมีพรรคการเมืองที่เสนอเพียง 4 พรรคและมีจำนวนนโยบายเพียง 10 นโยบาย ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 9 จากจำนวนนโยบายทั้งหมด
สวนทางกับเสียงสะท้อนจาก เวทีภาคประชาสังคม หน่วยงานเพื่อการศึกษา และข้อเสนอของกลุ่มประชาชนที่มองเห็นว่า การพัฒนาการศึกษาไทยต้องส่งเสริมโอกาสทางการศึกษาควบคู่ไปกับการยกระดับหลักสูตรและคุณภาพครูไปพร้อมกัน เพื่อให้การศึกษาสามารถพัฒนาทุนมนุษย์และพาคนหลุดพ้นจากความยากจนได้
ส่วนนโยบายเรียนฟรี พบว่าเสียงสะท้อนจากทางฝั่งเวทีภาคประชาชน ‘Post Election’ ซึ่งเป็นเวทีที่จัดขึ้นในหลายพื้นที่ทั่วประเทศ ในระดับภูมิภาครวม 8 ครั้ง ก่อนเลือกตั้งใหญ่ปี 2566 พบว่ามีนโยบาย ‘เรียนฟรีที่แท้จริง และสวัสดิการด้านการศึกษาต่าง ๆ’ เนื่องจากพบว่านโยบายเรียนฟรีที่ผ่านมานั้นไม่ได้ครอบคลุมทุกสภาพปัญหาที่ทำให้เด็กไม่สามารถเข้าเรียนได้ และหวังให้มีการส่งเสริมสวัสดิการด้านการศึกษาอื่น ๆ ที่นอกเหนือไปจากการเรียนรู้ในห้องเรียน เพื่อให้การเรียนฟรีสามารถทำได้ทุกที่และทุกวัย ให้สังคมไทยเป็นสังคมของการเรียนรู้ปราศจากค่าใช้จ่ายอย่างแท้จริง
พัฒนาทักษะครู นโยบายที่พรรคการเมืองยังไม่พูดถึง
ในมุมของบุคลากรทางการศึกษา นโยบายด้านการศึกษาที่พวกเขาอยากเห็นคือการพัฒนาทักษะครู จากรายงานของ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา (สกสค.) ในปี 2557 ระบุว่าใน 1 ปี ครูใช้เวลา 84 วัน จาก 200 วันในปีการศึกษา (42%) ที่ถูกใช้ไปกับงานนอกห้องเรียน ทั้งงานเอกสาร งานธุรการ งานพัสดุ การนอนเวรเฝ้าโรงเรียน การประเมิน/อบรม การเข้าร่วมโครงการที่ไม่จำเป็น
ต่อมาในปี 2559 ผลสำรวจเผยว่า ครูได้เวลาคืนมา 19 วัน เหลือเวลานอกห้องเรียนที่ครูต้องใช้เพียง 65 วัน
แต่จากนโยบาย 110 นโยบายด้านการศึกษาที่ถูกเสนอโดยพรรคการเมืองในสภาฯ พบว่ามีนโยบายยกระดับคุณภาพครูเพียง 10 นโยบาย จาก 4 พรรคการเมืองเท่านั้น โดยแบ่งเป็นนโยบายค่าตอบแทน-แก้หนี้ครู 3 นโยบาย และนโยบายยกระดับคุณภาพการสอนครูอีก 7 นโยบาย
ถ้าพิจารณาถึงรายละเอียดจะพบว่ามีพรรคการเมืองที่เสนอให้ลดชั่วโมงการทำงานนอกเหนือการสอน-คืนครูให้ห้องเรียนเพียง 2 พรรคเท่านั้น ตอกย้ำว่าพรรคการเมืองมองเห็นถึงปัญหาภาระงานของครูนั้นมีน้อยมาก
อีกมิติหนึ่ง ครูไทยยังได้รับการส่งเสริมทักษะการสอนที่ไม่ตรงจุด ทางเครือข่าย ‘ครูขอสอน’ ทำผลสำรวจด้านพื้นที่ช่วยครูเรียนรู้ในปี 2564 พบว่า พื้นที่ซึ่งทำให้ครูเกิดการเรียนรู้มากที่สุด ร้อยละ 36 คือ โครงการอื่น ๆ ตามความสมัครใจ รองลงมาร้อยละ 30 คือ บทสนทนากับเพื่อนครูในโรงเรียน และร้อยละ 26 บทสนทนากับเพื่อนครูนอกโรงเรียน ส่วนโครงการของกระทรวงศึกษาธิการและเขตพื้นที่การศึกษา ทำให้ครูเกิดการเรียนรู้เพียงร้อยละ 7 เท่านั้น
ผศ. อรรถพล อนันตวรสกุล อาจารย์ประจำคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สะท้อนภาพ ครูจบใหม่ต้องเผชิญกับความผันผวนในวิชาชีพ ต้องใช้พลังไปกับการปรับตัวในสภาพแวดล้อมใหม่ รับมือกับงานเอกสาร-งานประเมินครู อีกทั้งต้องรับงานสอนนอกโรงเรียนเพื่อให้ตัวเองมีเงินมากพอสำหรับการดำรงชีพ ทำให้ครูหมดไฟและแทบไม่มีแม้แต่เวลาพัฒนาการสอน
ทางแก้ไขปัญหาใน 2 ระยะ คือ 1) ระยะก่อนเป็นครู รัฐต้องทบทวนระบบการผลิตครูที่เน้นปริมาณแต่ขาดศักยภาพ เพื่อให้ครูรุ่นใหม่จบมาพร้อมตอบโจทย์กับห้องเรียนยุคปัจจุบัน และ 2) ระยะหลังเป็นครู รัฐต้องทบทวนระบบอบรมครู เน้นสร้างการอบรมที่เปิดโอกาสให้ครูเรียนรู้ในสิ่งที่ตนสนใจ ตลอดจนผลักดันให้ครูชำนาญการที่มีอายุงานเยอะ ผันตัวไปเป็นผู้ฝึกสอน (Coach)
หลักสูตรไทยไม่ก้าวหน้า ติดกับดัก ‘ความรู้’ ไม่มุ่งสู่ ‘ทักษะ’
จากหมวดหมู่นโยบายการศึกษาทั้ง 13 หมวด ถูกแบ่งไปเป็นนโยบายที่เกี่ยวกับ ‘พัฒนาคุณภาพหลักสูตรและการเรียนรู้’ ไปแล้ว 8 หมวดหมู่ และมีนโยบายในหมวดเหล่านี้ถึง 71 นโยบาย หรือคิดเป็นร้อยละ 65 ของนโยบายทั้งหมด
แต่ทุกพรรคไม่ได้มองการพัฒนาคุณภาพหลักสูตรและการเรียนรู้ไปในทิศทางเดียวกัน ซึ่งต่างจากนโยบายเรียนฟรีที่ค่อนข้างเป็นฉันทามติร่วมกัน
ในรายละเอียดนโยบายข้างต้นโดยมากจะเป็นการสร้างหลักสูตรให้ตอบโจทย์ตลาดแรงงานมากขึ้นเพื่อประกันการจบมามีงานทำ เน้นสมรรถนะวิชาชีพ และทักษะชีวิต มีการเพิ่มการใช้เทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ในการเรียนการสอน เช่น อินเทอร์เนต, แท็บเล็ต, แพลตฟอร์มในการเรียนรู้ ตลอดจนการเสริมสร้างพลเมืองดิจิทัล
แม้จะมีความพยายามในการปรับหลักสูตรให้เท่าทันโลกาภิวัตน์ แต่ฐานคิดของการศึกษาไทยยังคงมีปัญหาอยู่ที่การยึดติดกับความรู้มากกว่าทักษะ
เกียรติอนันต์ ล้วนแก้ว อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ระบุว่า ปัจจุบันกระทรวงศึกษาธิการใช้ทักษะในปี 2558 ในการจัดการศึกษา และใน 5 ปีต่อมา ทักษะบางอย่างไม่ได้ติด 10 อันดับแรกที่โลกต้องการอีกแล้ว ชี้ว่า ทุกคนต่างอยู่ในโลกที่หมุนเร็วและไม่แน่นอน ทักษะจะหมดความสำคัญและถูกผลัดใบเร็วขึ้น
เกียรติอนันต์ แนะว่าเด็กทุกวันนี้ไม่ต้องเก่งทุกอย่าง แต่ต้องเก่งเรื่องนำเครื่องมือและเทคโนโลยีมาใช้ประโยชน์ และตั้งคำถามว่าระบบการศึกษาไทยในวันนี้สร้างเด็กแบบนี้หรือเปล่า หรือยังสร้างเด็กแบบเดิม ๆ มีความคิดแบบเดิมในโลกที่กำลังทิ้งเราไว้ข้างหลังเรื่อย ๆ
โรงเรียนหลายภาษาก็เป็นอีกหนึ่งนโยบายที่ทางภาคประชาชนให้ความสำคัญบนเวที HACK Thailand 2023 แต่กลับยังมีจำนวนพรรคที่เสนอนโยบายค่อนข้างน้อย โดยมีเพียง 5 นโยบายจาก 4 พรรคการเมืองเท่านั้น รวมทั้งนโยบายกระจายอำนาจโรงเรียน ซึ่งมีเพียงแค่พรรคการเมืองเดียวเท่านั้นที่มองเห็นปัญหาของการรวมศูนย์ของระบบการศึกษาไทย
ต่างจากเวทีภาคประชาชน Post Election ชี้ให้เห็นภาคประชาชนต้องการมองเห็นถึงนโยบายการกระจายอำนาจทางการศึกษา งบประมาณด้านการศึกษา ตลอดจนการปฏิรูประบบการศึกษาไทยให้ตอบโจทย์โลกยุคปัจจุบันมากยิ่งขึ้น
นโยบายการศึกษา
‘ปฏิรูปการศึกษา’ ความหวังสุดท้ายในรัฐบาลปฏิเสธการปฏิรูป
คำแถลงนโยบายของคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 11 กันยายน 2566 ถูกตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับการปฏิรูปการศึกษาไม่มีความชัดเจน แม้นโยบายจะระบุนโยบายปฏิรูปการศึกษา
แต่เมื่อวันที่ 14 กันยายน 2566 พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ แถลงนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการ แต่กลับไม่พบคำว่า ‘ปฏิรูปการศึกษา’ อยู่ในแนวนโยบาย มีเพียงการมุ่งเน้นลดภาระครูและนักเรียน
จากความสับสนในเรื่อง “ปฏิรูปการศึกษา” ของรัฐบาลว่าจะดำเนินการอย่างไร ระหว่างนโยบายรัฐบาลกับนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวง ทำให้การปฏิรูปการศึกษากลับสู่วังวนเดิมอีกครั้ง กล่าวคือ การเปลี่ยนแปลงในระบบการศึกษาไทยเป็นไปอย่างไร้ทิศทาง และไม่ตอบโจทย์การเปลี่ยนแปลงของสังคมไทย
การดำเนินนโยบายของรัฐบาลก็ติดกับ “รัฐบาลผสม” ที่ขาดเอกภาพทางด้านนโยบาย ในขณะที่มักจะกล่าวถึงการศึกษาไทยว่าเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการพัฒนาประเทศ แต่ในทางปฏิบัติจริง การแก้ปัญหาในแวดวงการศึกษาไทยก็ยังคงอยู่จุดเดิม ฝ่ายการเมืองยังคงดำเนินนโยบายแต่ในเรื่องเฉพาะหน้าที่เห็นว่าได้คะแนนนิยม
การปฏิรูปการศึกษา นับเป็นประเด็นที่มีการกล่าวถึงกันมากที่สุดในบรรดานโยบายสำคัญของประเทศ แต่กลับเป็นนโยบายที่ได้รับการขับเคลื่อนน้อยที่สุด ซึ่งจากนโยบายของรัฐบาลและนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาคนปัจจุบัน ชี้เห็นว่านโยบายการปฏิรูปการศึกษา เป็นนโยบายที่ท้าทายอย่างยิ่งสำคัญสังคมไทยภายใต้กระแสการเปลี่ยนแปลง
อ่านข่าวอื่นๆ :